บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ สืบ นาคะเสถียร

บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ สืบ นาคะเสถียร

ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งย่านทุ่งมหาเมฆ ราว 2 เดือนก่อน สืบ นาคะเสถียร ได้พูดคุยกับ ’สารคดี’ เกี่ยวกับปัญหาการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานและทัศนะต่อปัญหาการสร้างเขื่อนแก่งกรุง ตลอดจนปัญหาการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรา

และนั่นคือการให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของเขา

เราหวังว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ คงสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานและความคิดเห็นในเรื่องการ อนุรักษ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 


 

สารคดี : ในฐานะที่คุณสืบเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน อยากให้ลองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนเชี่ยวหลาน

สืบ : เดิมทีผมคิดว่าป่าบริเวณนั้นเป็นป่าที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นที่รวมของความอุดมสมบูรณ์มาก… หมายถึงเป็นพื้นที่ที่รวมพวกธาตุอาหารของพื้นที่ลุ่มน้ำไว้ คือ ลักษณะของพื้นที่ที่ต่ำกว่าส่วนของพื้นที่ที่เป็นที่รับน้ำ ปกติมีคำจำกัดความว่าบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ สูงไม่เกิน 300 เมตร ในกรณีที่ภูมิประเทศโดยทั่วไปสูงโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 100-1,000 เมตร ที่ลุ่มต่ำก็คือบริเวณที่ต่ำระดับประมาณ 300 เมตรลงไป ลักษณะของอ่างเก็บน้ำที่คลองแสงมันรวมเอาความอุดมสมบูรณ์ โดยที่น้ำจะชะตะกอน ดิน ธาตุอาหารอะไรต่างๆ ลงสู่ลุ่มน้ำคลองแสง แล้วก็ไหลไปรวมกันที่คลองพุมดวง บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะบริเวณทางภาคใต้ เป็นที่รวมความอุดมสมบูรณ์ของป่าดงดิบ ที่ลุ่มของแม่น้ำตาปีตอนบน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด การไฟฟ้าเคยสำรวจไว้ว่ามีสัตว์ป่า 100 กว่าชนิด แต่ที่เราสำรวจตามอีกครั้งเพื่อประเมินผลกระทบก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อน เราพบว่ามี 200 กว่าชนิด พอเอาเข้าจริงๆ หลังจากที่ได้มีการช่วยเหลือและสำรวจเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองแสง ปรากฏว่ามีสัตว์ป่าถึง 300 กว่าชนิด ซึ่งบริเวณนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ที่รวมเอาความหลากหลายไว้ อันนี้ไม่รวมถึงพวกพืชนะ เพราะว่าไม่มีใครสำรวจกันว่ามีพืชที่หายากหรือเปล่า แล้วมีกี่ร้อยชนิด เพียงแต่มีการสำรวจว่าไม้ในบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำจะมีปริมาตรเท่าไร คิดเป็นเงินต่อลูกบาศก์เมตรเท่าไร ไม้ชนิดไหนบ้าง ในแง่การประเมินคุณค่าของทรัพยากรไม่ได้ทำ เหมือนกับสัตว์ป่า มีการสำรวจชนิดออกมาบ้าง แต่ผลกระทบอย่างจริงจังไม่สามารถจะบอกได้อย่างชัดแจ้ง เพราะยกตัวอย่างจำนวนชนิด เราไม่สามารถบอกได้ชัดว่ามีอะไรบ้าง การประเมินผลกระทบย่อมทำได้ยาก

หลังจากที่ได้มีการช่วยเหลือสัตว์ป่าช่วงที่มีการกักเก็บน้ำแล้ว ทำให้เราเห็นว่ามีสัตว์ตั้งหลายชนิดที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้หนีน้ำออก ไปได้ อย่างพวกเม่น กระจง หรือสัตว์ใหญ่หายากอย่างพวกเลียงผา ถึงแม้มันจะอาศัยอยู่บนเขาที่เป็นหน้าผาชัน แต่ว่าพื้นที่ตอนล่างอย่างบริเวณที่เป็นที่ลุ่ม มีดิน บริเวณตีนเขาหินปูนมีความสำคัญมากต่อการที่มันจะมีชีวิต และหาอาหารกินได้ เพราะมันจะต้องลงมาหาอาหารข้างล่างแล้วขึ้นไปอาศัยนอนข้างบนตามถ้ำ

เราพบว่าสัตว์ป่าได้รับผลกระทบมาก การแก้ไขโดยการช่วยเหลือเพื่อเอาสัตว์ป่าที่เหลือรอดชีวิตบางตัวออกมาจาก ส่วนที่ติดค้างบนเกาะยังทำได้น้อยมาก ถ้าประเมินว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าแล้ว การช่วยเหลือมันบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่ามีสัตว์กี่ร้อยตัว และช่วยออกมาได้กี่ตัว แต่จากการทำงานในช่วงที่ช่วยเหลือ เราทำได้ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่หรือเกาะทั้งหมดเท่านั้นเอง เกาะใหญ่ๆ เราไม่สามารถจะต้อนจับสัตว์ใหญ่ๆ ออกมาได้หมด มีสัตว์ที่หลงค้างอยู่อีกมาก

ผลของการที่มีราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่ มีผลกระทบต่อสัตว์มาก ถ้าเราไม่ช่วยเหลือสัตว์ออกมา พวกราษฎรที่เข้าไปอยู่ทุกแห่งบริเวณอ่างเก็บน้ำก็ถือโอกาสล่าสัตว์เหล่านี้

สัตว์ที่ช่วยมาส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอ่อนแอ อาจจะเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือว่าอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อนำไปปล่อย มันก็จะต้องไปปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่ใหม่ เรียกว่าจะต้องไปต่อสู้แก่งแย่งกับสัตว์ชนิดเดียวกัน

หรืออาจจะต้องประสบภัยกับการที่มีศัตรูตามธรรมชาติ ซึ่งความอ่อนแอของมันทำให้มันตกเป็นเบี้ยล่างของศัตรูได้ง่าย

การอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน / สืบ นาคะเสถียร

ยังมีปัญหาเรื่องการแก่งแย่งพื้นที่ สัตว์แต่ละอย่างย่อมมีอาณาเขตในการยึดครองพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการมีอาหาร เพียงพอ หรือมีสถานที่ที่ปลอดภัยในการเลือกคู่ผสมพันธุ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มันต้องแก่งแย่งกัน

แล้วในบริเวณที่ลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์มาก มันย่อมมีพืชอาหารมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มากชนิด เมื่อเราเอาน้ำท่วมพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มนี้แล้ว ส่วนที่เหลือคือบริเวณที่ระดับสูง ความอุดมสมบูรณ์จะน้อยกว่า ที่อยู่อาศัยจะลำบากมากกว่า สัตว์ที่ปรับตัวอยู่ในที่ลุ่มมานานแล้วมันจะไม่สามารถขึ้นไปอาศัยอยู่ในที่ ระดับสูงได้ เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีระดับในการหากินแตกต่างกัน ฉะนั้นการที่เราจะเอาสัตว์ที่หากินบริเวณที่ลุ่มขึ้นไปอยู่ที่ยอดเขา คงเป็นไปไม่ได้ในการปรับตัว นั่นเป็นอันหนึ่งที่มีผลกระทบมาก

แม้แต่พวกที่สามารถอยู่ได้ทั้งบนเขาและข้างล่าง เมื่อพื้นที่ในการอยู่อาศัยลดลง จำนวนมันก็จะลดลงตามด้วย เหมือนที่อยู่อาศัยที่สามารถรับคนให้อยู่ได้เพียง 100 คน แล้วพื้นที่ถูกตัดออกไป ส่วนที่เหลือ 100 คนก็จะไม่สามารถอาศัยได้อย่างปลอดภัย สุขสบายเหมือนเก่า

เรื่องการปรับตัวของสัตว์ เราประเมินไม่ได้ว่าสัตว์ที่ปล่อยไปสามารถที่จะปรับตัวได้ไหม บางอย่างอาจจะปรับตัวได้ แต่ใช้เวลานานเท่าไรไม่ทราบ แล้วอีกอย่างการปรับตัวนั้น ถ้าสัตว์สามารถมีชีวิตรอดได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถอยู่รอดได้นานจนกระทั่งสืบพันธุ์จนมีลูกมีหลานต่อไปได้ ไม่สามารถคงจำนวนประชากรไว้ได้ นั่นก็ถือเป็นผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไข เพราะมันไม่สามารถจะสร้างประชากรกลับมาเหมือนเดิม

ที่เห็นชัดอีกอันก็คือ เมื่อมีกิจกรรมของมนุษย์เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่เข้าไปในป่า หรือการที่มีการคมนาคมสะดวกขึ้นทำให้มีมนุษย์เข้าไปใช้พื้นที่ป่า ป่าจะถูกรบกวนมากขึ้น การล่าโดยผิดกฎหมาย หรือการเข้าไปตัดไม้ ไปจับปลาบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทุกอย่างมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสัตว์ป่าจากเดิมที่เคยอยู่อย่างสบาย ไม่มีใครรบกวน

การที่มนุษย์แทรกตัวเข้าไปในป่า ทำให้สัตว์ป่าหนีห่างออกไปจากบริเวณอ่างเก็บน้ำมากขึ้น และบริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำที่เหลืออยู่ก็ถูกบีบด้วยถนนและการบุกรุกทางด้านที่ทำกินจากชาว บ้านข้างนอก กรณีอ่างเก็บน้ำนี่ก็เหมือนกับว่าเราไปเปิดจากข้างในออกมาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้พื้นที่ที่เป็นธรรมชาติถูกจำกัดล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างหรือการกระทำ ของมนุษย์มากขึ้น

สารคดี : ถ้าจะพูดไปแล้ว การแก้ปัญหาด้วยการช่วยเหลือสัตว์ป่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเราก็ไม่สามารถประเมินได้เต็มร้อยว่า สัตว์ที่เราช่วยนี่จะรอดชีวิตหรือเปล่า อีกประการคือ ยังมีสัตว์อีกมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งคงจะเป็นจำนวนมากกว่าที่เราช่วย

สืบ : ครับ อาจจะมากกว่า เพราะเราช่วยในจังหวะที่น้ำเริ่มขึ้นแล้ว บางส่วนก็จมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่ที่เราช่วยเหลือเป็นแค่ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดมันก็ยังมีสัตว์ป่าเหลืออยู่ ไม่สามารถช่วยเหลือมันออกมาได้ เพราะว่าพื้นที่มันเป็นเกาะขนาดใหญ่

สารคดี : ช่วงแรกที่ช่วยสัตว์ป่า มีปัญหาสัตว์ตายในระหว่างการอพยพมากไหม

สืบ : ครับ ในแบบที่ว่าสัตว์ป่าที่เราไปช่วยมันติดค้างอยู่ อดอาหาร แล้วก็ต้องต่อสู้กับสภาวะอากาศ ขาดที่หลบภัยที่เหมาะสมอะไรต่างๆ มันไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะปล่อย แต่ว่าการที่เราเก็บสัตว์เอาไว้นาน ก็มีผลทำให้เกิดความเครียด เมื่อนานๆ เข้าการที่จะทำให้มันฟื้นคืนสภาพแล้วกลับไปปล่อยก็มีผลต่อการอยู่รอดใน พื้นที่ใหม่ด้วย เพราะว่ายังต้องไปปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

ช่วงแรกๆ ที่น้ำเริ่มขึ้น มันบีบทำให้พื้นที่เป็นเกาะเล็กบนยอด การช่วยจะทำได้เกือบจะทั้งหมด เพราะว่าพื้นที่มีขนาดเล็ก สัตว์ทุกอย่างเกือบทุกชนิดที่ติดค้างอยู่เท่าที่เราเห็นจะได้รับการช่วยหมด แต่ถ้าเป็นเกาะใหญ่ๆ ช่วงหลังๆ ความยุ่งยากจะมากขึ้น เช่น การจะต้อนกวางจากพื้นที่ 3 ใน 4 ของหนึ่งตารางกิโลเมตรทำได้ยากมาก เราจะช่วยเหลือได้บางตัวเท่านั้นที่จะต้อนเข้ามาให้ติดตาข่าย ต้อนให้เขาหนีลงน้ำแล้วเราตามไปจับ

หลังจากวันที่กลับไปทำงานช่วงที่สองพยายามที่จะติดตามสัตว์ที่ติดค้างอยู่บนเกาะ แต่ว่าอุปกรณ์ที่จะติดตามคือเครื่องมือส่งสัญญาณวิทยุ เพิ่งจะขอซื้อจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะสิ้นโครงการอยู่แล้วก็ยังไม่ได้เครื่องมือมา ที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็เป็นที่ขอยืมมาจากเพื่อน ก็ติดตามไปได้บ้าง อย่างพวกเก้ง เลียงผา แต่จำนวนไม่มากนัก ผมคิดว่าการติดตามจะต้องทำต่อเนื่องกันในระยะที่นานพอเพื่อจะบอกได้ว่าสัตว์มันปรับตัวได้แค่ไหน

การอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน / สืบ นาคะเสถียร

สารคดี : ราษฎรที่เข้าไปจับปลาในอ่างเก็บน้ำ มีส่วนทำให้สัตว์ถูกล่าเพิ่มขึ้นด้วยใช่ไหม

สืบ : ก็มีทั้งที่อ้างว่าเข้าไปจับปลาแล้วก็ไปรับจ้างตัดไม้ให้บริษัท คือตามปกติแล้วตามแผนควรจะเลิกก่อนการเก็บกักน้ำ ถ้าไม่มีราษฎรเข้าไปตัดไม้ ก็จะทำให้งานทางด้านการช่วยเหลือสัตว์สามารถทำได้ง่าย การที่มีคนเข้าไปในอ่างฯ มากๆ นี่ทำให้สัตว์ตื่น ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราเข้าไปก็เหมือนกับเราจะเข้าไปทำร้ายมัน มันจะหนี ตื่นกลัว จะได้รับความกดดันมาก ทำให้ยุ่งยากในการจับขึ้นไปอีก คนที่เข้าไปมีทั้งที่บริสุทธิ์ที่จะเข้าไปรับจ้างจริงๆ ไปจับปลาจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพบว่ามีการล่าสัตว์ด้วย

สารคดี : แล้วทำไมถึงยังมีการตัดไม้ในอ่างเก็บน้ำอีก

สืบ : การตัดไม้นี่ผมไม่ทราบ หลังจากที่มีการต่ออายุการตัดไม้มา 3 ปี เดิมจะสิ้นเมื่อเมษายน 2529 ก็มาสิ้นสุดเมื่อเมษายน 2532 ทางกรมฯ ก็ไม่อนุญาตให้มีการทำไม้ต่อไป เพราะมีการทำไม้ที่ไม่ถูกต้อง ตัดนอกเขต เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผมไม่ทราบว่าตอนนี้ยังมีการทำไม้อยู่หรือเปล่า

มีกรณีที่ชาวบ้านเข้าไปหาประโยชน์จากการจับจองพื้นที่บริเวณขอบอ่างด้วย จะเห็นได้ว่ามีการทำเครื่องหมายเอาไว้ว่าจองแล้วตามบริเวณขอบอ่างที่เกิน เหนือแนวน้ำท่วมไปโดยประมาณ

สารคดี : จับจองทั้งที่เป็นเขตพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงน่ะหรือ

สืบ : นั่นน่ะสิ เขาเขียนว่าจอง เอาสีมาร์กไว้ มีตัวอักษร ก ข ตัวเจ ตัวพี อะไรอย่างนี้ ไม่รู้ใครจอง แล้วก็ทำลูกศรหรือว่ามีรอยที่เป็นแนวคล้ายกับว่าบริเวณนั้นเป็นเขตจับจอง มีมากหรือเปล่านี่ผมไม่ทราบ เพราะว่าไม่ได้ขึ้นดูทุกจุด

การที่คนเข้าไปก็ยากในการควบคุม อย่างเช่นเขาจะไปล่าสัตว์จากข้างบน แล้วเอาส่วนของสัตว์ที่ล่าได้มาลงเรือ แล้วใส่มาในลังน้ำแข็งที่ใส่ปลา แล้วก็กลบด้วยน้ำแข็ง เราจะไปตรวจเรือทุกลำได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่งบริเวณนั้นเมื่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำแล้ว ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่านี่ มันขัดกันก็เลยต้องเพิกถอนพื้นที่ ทำให้เราไม่สามารถควบคุม พ.ร.บ. ในพื้นที่เพิกถอน อันนี้เป็นปัญหา

สารคดี : จริงๆ แล้วพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำใครเป็นผู้รับผิดชอบ

สืบ : พื้นที่บริเวณอ่างก็ต้องเป็นของการไฟฟ้าฯ ถ้าเผื่อไม่ใช่ในส่วนที่กรมป่าไม้รับผิดชอบ แต่ในส่วนที่เดิมเป็นอุทยานไม่ได้เพิกถอนก็ยังเป็นของอุทยาน มองง่ายๆ ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของอ่างเป็นอุทยาน อีกครึ่งหนึ่งเป็นที่เพิกถอน ก็น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฯ ส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงก็คือ เหนือจากระดับน้ำขึ้นมาประมาณ 20 เมตร

บริเวณขอบๆ อ่าง การกระทำผิดมันเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบแนวว่าขอบอ่างมันอยู่ตรงไหนแน่ การทำเครื่องหมายก็มีเพียงว่าเอาสีแดงไปมาร์กจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปต้นไม้อีก ต้นหนึ่ง ซึ่งมันยากลำบากในการควบคุม แล้วในการเข้าไปถ้าไม่เข้าไปจริงๆ จะไม่เห็นเลยว่ามีราษฎรอยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า เพราะบางทีก็เอาเรือแทรกเข้าไปซุกเอาไว้เราไม่สามารถเข้าไปตรวจได้ทุกจุด

สารคดี : แล้วถ้าป่าแก่งกรุงถูกทำลาย สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแค่ไหน

สืบ : มันต้องเปลี่ยนแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะว่าป่าตรงนั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ผลการสำรวจในบริเวณนั้น ปริมาณไม้ต่อพื้นที่หนาแน่นมาก และเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก เป็นที่รวมของสัตว์ป่านานาชนิดมากมาย เพราะฉะนั้นเราบอกได้เลยว่า ถ้าส่วนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดอย่างลักษณะของป่าที่ลุ่มน้ำแก่งกรุงถูกทำลายไป บริเวณที่เป็นลุ่มน้ำตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จะต้องถูกทำลายไป ส่วนที่เหลืออยู่ก็จะเหลือเพียงบริเวณภูเขาตอนบนซึ่งความอุดมสมบูรณ์มันน้อยกว่า

ตรงนี้มันสำคัญสำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำตาปี เพราะว่าน้ำจากคลองยันมันเชื่อมกับแม่น้ำตาปี ดูจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานแล้วปรากฏว่าคุณภาพน้ำเท่าที่ทราบมันเสียไป ผมก็ไม่ทราบในรายละเอียดว่าผลกระทบอันนั้นมันมากน้อยแค่ไหน รู้สึกว่ามันมีผลกระทบในแง่ว่าสภาพน้ำ น้ำเสียอะไรต่างๆ

 

จากอันนี้ผมคิดว่าถ้าเขื่อนที่สร้างมาแล้วทั้งหมดในเมืองไทย
ไม่สามารถที่จะควบคุมให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้
ในแผนว่าจะต้องแก้ไขผลกระทบ แล้วจะสร้างทำไม

 

ผมคิดว่าผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนอันใหม่ไม่แตกต่างกัน แล้วมันจะมีผลทำให้น้ำในลุ่มน้ำตาปีเสื่อมสภาพลง มันจะเสียทั้งพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำ แล้วเมื่อกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ คุณภาพของน้ำที่จะปล่อยลงแม่น้ำก็ยังเสียไปด้วย

ป่าในเมืองไทยก็เหลือเพียงประมาณร้อยละ 20 ครอบคลุมไปด้วยป่าอนุรักษ์ประมาณร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือก็เป็นป่าสงวน อย่างที่แก่งกรุงนี่ก็เป็นป่าสงวนที่อยู่รอบนอกของป่าอนุรักษ์ เราควรจะช่วยกันรักษาป่าอนุรักษ์ไว้ในเมื่อมันยังสมบูรณ์ในแง่ของธรรมชาติ

สารคดี : ในฐานะนักวิชาการป่าไม้ จากเดิมที่ภาคใต้เป็นเขตป่าดิบชื้น ไม่เคยมีไฟไหม้ป่ามาก่อน แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นแล้วที่เขื่อนเชี่ยวหลาน กรณีนี้เป็นเพราะอะไร

สืบ : ถ้าในป่าธรรมชาติไฟมันไม่เกิดหรอก มันน้อยมากที่ไฟจะเกิดขึ้น แต่ว่าการที่มีคนเข้าไปไม่ว่าจะเข้าไปเพราะรู้ว่าบริเวณนั้นมีการก่อสร้าง อะไรต่างๆ การจับจองพื้นที่ มีการแผ้วถางป่า ลักษณะไฟไหม้ไปดูได้ มักจะเกิดในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ ป่าดงดิบล้มหมดแล้ว โอกาสที่ไม้จะแห้งแล้วถูกเผามีอยู่ทั่วไป

อย่างภาคใต้นี่มันจะมีผลกระทบมากถ้าป่าหมด เพราะสภาพธรรมชาติถูกเปลี่ยนไปเป็นพวกไร่กาแฟ หรือสวนปาล์ม พวกต้นไม้ที่ถูกตัดออกไปตอนแรกคงถูกเผาเพื่อกำจัดเศษไม้ เพราะฉะนั้นมันเป็นไปได้ที่ไฟจะเกิดจากมนุษย์ที่เข้าไปเผาป่า ถึงแม้จะเป็นป่าดงดิบชื้นมันก็ไหม้ เพราะว่าต้นไม้มันแห้ง มันถูกตัดให้ล้มเพื่อทำให้แห้ง

สารคดี : ป่าดงดิบชื้นมีความสำคัญอย่างไรบ้างในแง่นิเวศวิทยา

สืบ : มันเป็นที่รวมของความหลากชนิดของพืช ของต้นไม้ ซึ่งทำให้เป็นแหล่งที่อยู่ที่สำคัญของสัตว์ป่าโดยเฉลี่ยในพื้นที่ที่เท่ากัน ถ้าเทียบกับในป่าเขตร้อนชื้นจะมีจำนวนชนิดมากกว่าเขตอบอุ่นมากมาย ลักษณะแบบนี้เมื่อถูกทำลายไปไม่เฉพาะต้นไม้ แต่พวกพืช สัตว์ป่าที่เคยอาศัยอยู่จะมีผลกระทบมาก เนื่องจากมันมีจำนวนชนิดอยู่มาก

สารคดี : ตอนนี้ในโลกมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งใช่ไหม

สืบ : ตอนนี้เหลืออยู่น้อย ตัวเลขเท่าที่ทราบกัน ป่าเขตร้อนทั้งโลกที่ยังคงอยู่มีประมาณร้อยละ 7 ของพื้นที่ ในปัจจุบันมันถูกทำลายไปอย่างน้อยๆ ก็ร้อยละ 30 ทำให้ป่าที่เคยต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ ถูกทำลายแบ่งแยกออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย ต่อไปในอนาคตความหลากหลายจะต้องถูกกระทบแน่นอน เพราะว่าการที่เราไปแบ่งป่าออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย การต่อเนื่องของการเคลื่อนย้ายประชากร โดยเฉพาะกับสัตว์ป่าชนิดใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

ป่าเขตร้อนถือว่าสำคัญ เพราะในเขตอบอุ่นป่าธรรมชาติแทบจะหาไม่ได้ เหลือน้อยมาก ทั้งยังมีการตัดป่าธรรมชาติออกไป แล้วปลูกไม้เศรษฐกิจขึ้นมาทดแทนป่าธรรมชาติซึ่งอุดมไปด้วยความหลากชนิดของ สัตว์ป่า พืชพันธุ์ทั้งหลายแทบจะหาไม่ได้

ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ 20 แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึงเก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อม อะไรต่างๆ เป็นแหล่งผลิตพวกธาตุอาหารหรือความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน ธาตุอาหารในดินก็จะไม่ได้ถูกผลิตเพิ่มขึ้นเลย ก็มีแต่ใช้ไป ใช้ไป เมื่อป่าถูกเปิดแล้ว โอกาสที่หน้าดินจะถูกชะล้างไปลงทะเลก็มีมากขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีอยู่หายไป มันไม่มีตัวที่จะสร้างขึ้นมาใหม่

สารคดี : ในโลกเรา ป่าร้อนชื้นก็มีแค่แถวเอเชียอาคเนย์ ไทย มาเลเซีย

สืบ : ทวีปแอฟริกา เอเชียตอนล่าง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อยู่ในส่วนของป่าเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อนชื้นจะมีอยู่สองลักษณะ เป็นทั้งป่าชื้นไม่ผลัดใบและผลัดใบ ประเทศไทยเรามีทั้งสองแบบ

สารคดี : เท่าที่มองแล้ว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถ้าตรงนี้มันค่อยๆ ถูกทำลายไป มันจะเป็นไปได้ไหมที่ความแห้งแล้งจะเข้ามา

สืบ : มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แม้ว่าส่วนของป่าที่ต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่จะยังคงเป็นป่าธรรมชาติอยู่ ยังสามารถทำให้เกิดความสมดุลในแง่ของการควบคุมปริมาณน้ำฝน ปริมาณความชื้นอะไรต่างๆ ทางภาคใต้อาจจะมีปริมาณฝนตกมากเหมือนเดิม แต่การที่ฝนตกลงมาโดยที่ป่าไม้ถูกทำลายไป น้ำที่ตกลงมาก็จะไม่มีป่าไม้ที่จะรองรับโอบอุ้มน้ำไว้ น้ำจะไหลลงมาหมด ไม่มีตัวที่จะคอยซับความชุ่มชื้นแล้วค่อยทยอยปล่อยออกมาได้ตลอดทั้งปีเหมือนที่เคย เราก็อาจจะได้รับความแห้งแล้งในฤดูที่ไม่มีฝน ถึงแม้ว่าภาคใต้จะเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์สักเท่าไรก็ตาม

อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อน้ำฝนตกลงมาเท่าเดิม แต่ว่าเขื่อนที่จะกักเก็บน้ำไว้จะเก็บน้ำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องปล่อยลงทะเลไป หลังจากนั้นก็จะไม่มีน้ำสำรองให้อีก น้ำที่กักเก็บได้คือน้ำที่ต้องใช้ไปตลอดทั้งปี

ในแง่ของสัตว์ป่า ผมคิดว่าการสร้างเป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำทำให้เกิดการตัดขาดของประชากร เพราะเมื่อก่อนเคยเชื่อมกันด้วยคลอง หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วสัตว์จะข้ามไปมาไม่ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปใช้อ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวบีบไม่ให้สัตว์ ออกมา แล้วมันก็ออกไปไหนไม่ได้ มันจะออกนอกเหนือจากป่าที่อยู่ก็ไม่ได้ เพราะว่าข้างนอกเป็นถิ่นที่มีราษฎรอยู่ ฉะนั้นมันจะถูกจำกัดให้มีประชากรลดลงตามขนาดของพื้นที่ที่ลดมา มีผลมากในแง่การดำรงเผ่าพันธุ์ และอาจทำให้กลุ่มประชากรที่เหลืออ่อนแอ โอกาสที่จะสูญพันธุ์จากโรคระบาดหรือการลดของประชากรอย่างทันทีทันใดก็มีมากขึ้น

 

อย่างกรณีป่าถูกทำลาย ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย
ประชากรของสัตว์ได้ลดจำนวนลง ถึงขนาดที่บางชนิดใกล้จะสูญพันธุ์
เนื่องจากเราไม่สามารถรักษาป่าดั้งเดิมตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นๆ ไว้ได้

 

ในแง่ของการอนุรักษ์ คือ การที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้นจะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมชาติให้มันปรับตัวแล้วเพิ่มประชากร โดยตัวของมันเองได้นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์

แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมันมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะสูญพันธุ์ก็ง่ายขึ้น

สารคดี : ตามทัศนะของคุณสืบเอง ถ้าไม่สร้างเขื่อน การไฟฟ้าฯ จะเอาไฟฟ้ามาจากไหน

สืบ : ผมคิดว่าการไฟฟ้าฯ น่าจะเป็นคนตอบคำถามว่าจะหาไฟฟ้าได้อย่างไร แต่ในแง่ของคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องป่าไม้ สัตว์ป่า เรามองกันว่าในปัจจุบันทรัพยากรส่วนนี้มันเหลืออยู่พอหรือไม่ในการที่จะควบ คุมสภาวะการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ถ้าเรามองว่าทรัพยากรมันจำกัด ป่าไม้เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 20 เราจะเก็บส่วนนี้ไว้ได้หรือไม่ แล้วก็พัฒนาพลังงานด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างอื่น ด้วยพลังงานอย่างอื่น ควบคุมให้เกิดมาตรการในการที่จะใช้พลังงานอย่างถูกต้อง หมายถึงการประหยัดพลังงาน

ข้อแก้ตัวว่าต้องผลิตด้วยพลังน้ำอย่างเดียวโดยที่อย่างอื่นอาจมีราคาสูง หรือว่าอัตราเสี่ยงที่จะเกิดภัยอะไรต่างๆ นั้น ถ้าคิดถึงว่าในอนาคต สมมติอีก 30 ปีข้างหน้าไม่มีป่าเหลืออยู่แล้ว เราจะทำอย่างไร ทำไมเราถึงไม่คิดตั้งแต่วันนี้ว่าเราจะหาทางในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างไร โดยที่จะยังคงป่าธรรมชาติเอาไว้ให้สามารถอำนวยประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ที่ยัง ต้องอาศัยสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต

ผมว่ามันต้องเอามาพิจารณา ป่าที่เหลืออยู่สามารถที่จะใช้ได้ต่อไป ถึงจะไม่สร้างเขื่อน เราจะใช้ป่าต่อไปอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแนวทางที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า จะปรับปรุงประสิทธิภาพของเขื่อนหรือเครื่องมือในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีใน ปัจจุบันให้ได้พลังงานตามที่กำหนดไว้ รวมถึงเรื่องการประหยัดพลังงานด้วย


นิตยสารสารคดี ฉบับ 68 ปีที่ 6 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2533