“โอรังอัสลี Orang Asli” ในวันที่ความเจริญรุกคืบเข้าใกล้ผืนป่า

“โอรังอัสลี Orang Asli” ในวันที่ความเจริญรุกคืบเข้าใกล้ผืนป่า

ครั้งนี้เราพาคุณผู้อ่านลัดเลาะไปตามทิวเขาสันกาลาคีรีแนวเขตไทย – มาเลเซีย ไปกับเรื่องราวจากบทสัมภาษณ์ของนักเขียนที่มีร่างสองเป็นนักวิจัยชุมชน ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ คนนราธิวาสโดยกำเนิด เขาตัดสินใจพาตัวเองเข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของคนไพร ที่เรียกตัวเองว่าโอรังอัสลี ชุมศักดิ์เริ่มต้นเรื่องราวด้วยที่มาที่ไปของโอรังอัสลีว่าในประวัติศาสตร์โอรังอัสลีมีความสัมพันธ์ผูกติดกับโลกมาลายู โอรังอัสลี  เป็นภาษามาลายู “โอรัง” แปลว่าคน  “อัสลี” แปลว่าดั้งเดิม โอรังอัสลีคือคนดั้งเดิมที่เป็นชาวบูกิตหรือชาวป่า ในจังหวัดยะลาและนราธิวาสมีประมาณ 6 กลุ่ม ฝั่งจังหวัดยะลา 3 กลุ่มและนราธิวาสอีก 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนสมาชิก 20 – 30 คน รวมทั้งหมดราว 200 คน

 

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ PHOTO : A-lisa Daoh

ข้อมูลเพิ่มเติมบอกว่า โอรังอัสลีเป็นมนุษย์โบราณสันนิษฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน 1,500 – 10,000 ปี มาแล้ว ลักษณะเด่นคือรูปร่างเตี้ย ผิวดำ ฝีปากหนา ท้องป่อง น่องสั้นเรียว ผมหยิกเป็นก้นหอยติดศีรษะ ชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือ เนกริโต ตระกูลออสโตร – เอเชียติก อยู่กระจายกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ราว 7 – 60 คน ในรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) สหพันธรัฐมาเลเซีย พื้นที่ส่วนลึกของนิวกินี ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามัน เรียกตนเองว่า ‘มันนิ’ (Mani) ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า เงาะป่า ซาแก โอรังอัสลี หรือ กอย พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในป่ามีวิถีแบบพึ่งพิง ใช้ประโยชน์ป่าควบคู่กับดูแลรักษาเพราะที่นั่นคือบ้านของพวกเขา


วิถีคนไพรกับงานอนุรักษ์

ชุมศักดิ์ บอกกับเราว่า “โอรังอัสลีเขามีความเชื่อเรื่องของวิญญาณเมื่อมีคนตายเขาจะเชิญวิญญาณคนตายให้ไปสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาไม่เลือกตัดต้นไม่ใหญ่และยังใช้ชีวิตสอดคล้องกับวิถีป่าโดยจะสร้าง ”ทับ” หรือที่อยู่อาศัยไม่เป็นหลักปักฐาน สร้างเป็นรูปวงกลม ตีเป็นคอกด้วยไม้ไผ่ เพื่อการเคลื่อนย้ายได้ง่าย ระยะเวลาต่อที่ประมาณ 1 สัปดาห์ และย้ายไปที่อื่นต่อเมื่อไม่มีหัวเผือก หัวมันในบริเวณทับให้ขุดได้แล้ว โดยปกติโอรังอัสลีจะไม่กินสัตว์ใหญ่เพราะเชื่อว่าสัตว์ใหญ่มีดวงวิญญาณจะกินเพียงสัตว์เล็กๆการดำรงชีวิตในผืนป่าด้วยวิถีเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนว่า “พวกเขาไม่ใช่ผู้ทำลายธรรมชาติและยังเป็นการอนุรักษ์ไปโดยไม่รู้ตัว”

 

‘ทับ’ คือชื่อเรียกของที่พัก มีลักษณะเป็นเพิงชั่วคราว ใช้ไม้ไผ่เป็นเสาหลัก หลังคามุงด้วยใบไม้

จากการคลุกคลีและเก็บข้อมูลทำให้นักวิจัยผู้นี้พบว่าเหตุแห่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยข้อสันนิษฐานแรกซึ่งเป็นสิ่งเราคิดมาตลอดก่อนหน้านี้คือเพราะทรัพยากรธรรมชาติลดลง แหล่งอาหารไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตเป็นผลให้พวกเขาต้องออกมาหาอาหารข้างนอก แต่ไม่นานมานี้กลับพบข้อสันนิษฐานอีกประเด็นซึ่งเป็นข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าการออกมาปฏิสัมพันธ์กับคนเมืองเป็นการแสดงอำนาจของผู้นำในกลุ่มของโอรังอัสลี ชุมศักดิ์กล่าวว่าอย่างไรก็ตามนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเราจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้ต้องใช้เวลา

 

 

ระหว่างบทสนทนาผ่านชุดข้อมูลงานวิจัย ชุมศักดิ์หยิบยกเรื่องราวของเด็กน้อยซาไกคนหนึ่งที่ถูกนำมาเลี้ยงในวัง ชื่อว่า “คะนัง” เล่าให้ฟังว่าในอดีตคนเมืองปฏิสัมพันธ์กับคนที่อาศัยอยู่ในป่ามานานแค่ไหน คะนังเป็นคนป่า มีสีผิวดำ แต่ไม่ดำสนิทอย่างคนแอฟริกันยังมีสีน้ำตาลแก่เจืออยู่มาก ผมหยิกเป็นสปริงขอดติดหนังหัวจมูกแบน ปากหนาตัดกับฟันขาว เป็นเด็กร่าเริงฉลาดเฉลียว เจ้าเมืองทางใต้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าตามพระราชประสงค์ รัชกาลที่ 5 เลี้ยงคะนังตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ หลังจากนั้นพระองค์ทรงนำชีวิตของคะนังผูกเรื่องราวเอาไปแต่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” กล่าวถึงความรักของนางลำหับกับชายคู่รักและชายที่เป็นคู่หมั้น โดยมีคะนังเป็นน้องชายของลำหับ

 

คะนังได้รับการชุบเลี้ยงจากรัชกาลที่5 ให้อยู่ในพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็ก PHOTO : เพจคําไทย

ข้อมูลเพิ่มเติมเขียนไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงให้ โรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz) ถ่ายรูปคนังในเครื่องแต่งกายชุดต่าง ๆ รูปของคะนังได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมาก โดยนำรูปภาพออกจำหน่ายเงินที่ได้โปรดฯ ให้นำไปบำรุงการกุศลวัดวาอาราม

สามจังหวัดชายแดนใต้เงาะป่าหรือโอรังอัสลีที่ออกมาปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เช่น มารับจ้างทำสวนยาง เป็นแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตเขาค่อย ๆ เปลี่ยนไป ในอดีตประมาณ ปี 2535 รัฐไทยต้องการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เนื่องจากเขาอยู่ในป่าโดยเข้าไปตั้งเป็นนิคมอยู่ที่บ้านธารโต จ.ยะลา เรียกนี้ว่า “หมู่บ้านซาไก” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานนามสกุลว่า “ศรีธารโต” นี่สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการของรัฐไทยพยายามให้บัตรประชาชนกับเขา ให้สิทธิกับเขา เพื่อจัดระเบียบ แต่ขณะเดียวกันในความประสงค์ดีกลับส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ซึ่งต่อมาหมู่บ้านที่นี่ล่มสลาย ทุกวันนี้แทบไม่มีคนอยู่ ส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่ฝั่งมาเลเซีย เพราะมาเลเซียตั้งเป็นหมู่บ้านมีนิคม 2 – 3 แห่ง โดยดูแลพวกเขาดีกว่ารัฐไทย

 

วิถีโอรังอัสลี ประเทศมาเลเซีย กลันตัน – เปรัค – ปะหัง
วิถีโอรังอัสลี ประเทศมาเลเซีย กลันตัน – เปรัค – ปะหัง

ปัจจุบันเรามักพบเห็นความแปลกแยกของโอรังอัสลีหลาย ๆ กรณีเช่นการเอาโอรังอัสลีไปแร่แสดงตามงานต่าง ๆ กลายเป็นเหมือนละครสัตว์ หรือเอาเขาไปแสดงโชว์ให้คนเห็นเป็นของแปลก หรือให้เขาไปนั่งตามพื้น โดยไม่ให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปดูพวกเขาเยอะขึ้น “ สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือการเอามนุษย์มาเป็นสินค้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก “ ชุมศักดิ์กล่าว


ยุคสมัยเปลี่ยนจะอนุรักษ์หรือพัฒนา
?

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ บอกอีกว่า มีกรณีตัวอย่างที่หมู่ 9 บ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำภอเบตง จังหวัดยะลา ตอนนี้รัฐกำลังเข้าไปทำบัญชียืนยันว่าโอรังอัสลีกลุ่มนี้มีตัวตนในพื้นที่ เพื่อให้เขาได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชุมชน นี่เป็นความเจตนาดีของรัฐอยากเข้าไปช่วยแต่ต้องศึกษากันต่อไป โอรังอัสลีกลุ่มนี้เริ่มปลูกมัน ปลูกพืช แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องย้ายไปเรื่อย ๆ เราไม่สามารถจะหยุดยั้งให้เขาอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้ตลอดชีวิตเขาก็ต้องเข้าป่าไปเมื่อเขาเริ่มหาอาหารในป่ายาก เขาก็จะกลับมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ต่อ

 

หมู่บ้านโอรังอัสลีที่รัฐไทยสร้างเป็นที่อยู่อาศัยให้
โอรังอัสลีเลือกเดินทางด้วยเรือสัญจรของเจ้าหน้าที่แทนการเดินทางด้วยเท้าเพื่อย่นระยะเวลา
โอรังอัสลีจะสวมเสื้อผ้าเมื่อออกมาพบปะผู้คนภายนอก

ส่วนกลุ่มโอรังอัสลีที่อาศัยกลางผืนป่าฮาลาบาลา อำเภอธารโต จังหวัดยะลา กลุ่มนี้เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือเยอะ ทุกวันนี้เขาก็เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิต เขาเริ่มกินยาสมัยใหม่ ต้องการเสื้อผ้าไปสวมใส่ จะออกมาอยู่ตามบริเวณตำรวจตะเวนชายแดน เพื่อมาขอสิ่งของ พอได้เสื้อผ้า ได้ข้าวสาร เขาจึงออกมาข้างนอกมากขึ้น และด้วยความคุ้นชินเมื่อได้รับข้าวสารแจกบ่อยครั้งตอนนี้โอรังอัสลีเริ่มรู้แล้วว่าข้าวสารมีหลายคุณภาพ พอช่วงหลังๆถ้าเขาได้ข้าวสารคุณภาพไม่ดี เขาก็รู้ มีบางครั้งเขาก็ถามมาว่า “ทำไมไม่เอาข้าวแบบนั้นมาอีกเพราะมันอร่อย” แต่เรากลับกล่าวหาว่า คนพวกนี้เริ่มหัวหมอ เริ่มเลือกของดีแล้ว “สิ่งนี่คือเราไปดูถูกเขา จริง ๆ แล้วในความเป็นมนุษย์ตัวเขาเองมีสิทธิที่จะเลือก”

 

การล่าสัตว์จะมีอาวุธคือการเป่าลูกดอกที่ส่วนปลายอาบไว้ด้วยยาพิษ ซึ่งจะทำโดยผู้ชายในเผ่าเท่านั้น
เมื่อขุดเผือก มัน ในบริเวณทับไม่ได้เเล้ว โอรังอัสลีจะย้ายไปสร้างทับที่อื่นต่อ


ชุมศักดิ์
ตั้งคำถามให้เราลองช่วยกันตอบว่า เมื่อได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับโอรังอัสลี เราจะเข้าไปช่วยเหลือเขาอย่างไรในเมื่อบางคนบอกว่า อย่าเข้าไปขัดวิถีของเขาเลยอย่าพยายามไปเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เขาอยู่ในวิถีดั้งเดิมแต่ต้องกลับมาถามว่า เราเคยถามเขาไหมว่าเขาต้องการวิถีที่ดีขึ้นไหม แต่จะดีขึ้นอย่างไร ประมาณไหน ถ้าในประมาณที่เปลี่ยนวิถีชีวิตเขาไปเลยถามว่าเขายอมรับได้ไหม อันนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญอยู่ เราลองช่วยกันคิดว่าจะควรทำอย่างไรระหว่างการ “อนุรักษ์กับพัฒนา”

คำถามนี้อาจยังไม่มีคำตอบชัดเจนในเวลานี้คงต้องใช้เวลาเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจทุกคน ทุกฝ่าย มองด้วยสายตาที่เห็นพวกเขาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเรา ชุมศักดิ์ทิ้งทายบทสนทนาไว้ว่า

“ผมเชื่อว่าเขาเองเขาก็ต้องการความสะดวกสบาย ตรงจุดนี้เราจะเลือกอย่างไร เราเป็นคนเลือกหรือเขาเป็นคนเลือก”

 


ที่มา : เรียกข้าฯ ว่า… โอรังอัสลี

บทความ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพปก samesouls.com
ภาพประกอบบทความ ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์