โครงการสนับสนุนเวชภัณฑ์แก่เครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนลุ่มแม่น้ำแม่จัน

โครงการสนับสนุนเวชภัณฑ์แก่เครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนลุ่มแม่น้ำแม่จัน

ชุมชนลุ่มน้ำแม่จัน ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ประกอบด้วยชุมชน 14 ชุมชน ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำแม่จันในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง 7 ชุมชน และอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก (มรดกทางธรรมชาติของโลก) 7 ชุมชน มีประชากรรวม 381 ครอบครัว 3,385 คน เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มาอย่างยาวนาน และยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เนื่องด้วยความเข้มแข็งของคนในชุมชนที่เคยเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเป็นชุมชนกลางป่าใหญ่ที่ห่างไกลจากตัวอำเภออุ้มผาง จึงมีความยากลำบากในการเดินทางเข้าและออก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนประมาณปีละ 6 เดือน ที่เกือบจะไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เช่น มาลาเรีย ท้องร่วง ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ จึงเป็นปัญหาสำคัญและได้คร่าชีวิตคนในชุมชนมาแทบทุกปี

จากอดีตการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจะพึ่งพิงสมุนไพรจากป่าโดยมีหมอยาสมุนไพรที่ได้รับความรู้มาจากบรรพบุรุษ ต่อมาเมื่อชุมชนเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำให้มีการอบรมให้ความรู้แก่หมอและพยาบาลในชุมชนที่สามารถรักษาการเจ็บป่วย ฉีดยา ทำคลอด จนถึงการผ่าตัดจากการสู้รบได้ และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังคงช่วยเหลือคนเจ็บป่วยถึงทุกวันนี้ แต่ปัญหาของหมอกลุ่มนี้คือขาดเครื่องมือและเวชภัณฑ์ในการรักษา และการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยจิตสาธารณะทำให้หมอกลุ่มนี้ไม่มีเวลาทำกิน

ปัจจุบันนี้บ้านมอทะและบ้านแม่จันทะใหม่ที่มีอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อ.ส.ม.) ที่สาธารณะสุข อำเภออุ้มผางให้การสนับสนุน โดยมีค่าตอบแทนจากเทศบาลตำบลแม่จันมอบให้ แต่ก็ยังไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง

ในช่วง เมษายน 2547 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตกขึ้น โดยมูลนิธิสืบฯ เข้ามามีบทบาทในการประสานงานและสนับสนุนชุมชนในผืนป่าให้เกิดความเข้มแข็งสามารถดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ และมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ในการดูแล บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

14 ชุมชนลุ่มน้ำแม่จันก็เป็นชุมชนเป้าหมายในการดำเนินโครงการ จึงมีการจัดทำแนวเขตชุมชนกับป่าให้เกิดความชัดเจนป้องกันการขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปในป่าอนุรักษ์ การตั้งกรรมการชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และการหนุนเสริมความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เช่น การตั้งกองทุนเกลือแลกพริก กลุ่มผ้าทอสีธรรมชาติเสริมรายได้ และเข้ามาประสานงานกับหมอยาสมุนไพร หมอปฏิวัติ อ.ส.ม. ในการจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนลุ่มแม่น้ำแม่จันขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรรมในลักษณะจิตสาธารณะนี้ เช่น การจัดประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชนการสร้างเครือข่ายช่วยกันทำงาน การทบทวนความรู้ และการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีอาสาสมัครในโครงการ จำนวน 34 คน

การดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนลุ่มแม่น้ำแม่จันก่อให้เกิดพลังขึ้นในชุมชนเป็นอย่างมาก เริ่มจากอาสาสมัครชุดนี้ เป็นที่รู้จักของคนในชุมชนมากขึ้น และมีผู้เข้ามารับการรักษามากกว่า 500 คนต่อปี สามารถลดอัตราการตายได้ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550-2551 พบว่าไม่มีผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและในปี พ.ศ. 2552 มีผู้เสียชีวิตจากการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย จำนวน 2 คน) รวมถึงโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น ได้รับการสนับสนุนเครื่องตรวจหาเชื้อมาลาเรีย ชุดรักษาพยาบาลเบื้องต้นจาก วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี การช่วยเหลือข้าวให้อาสาสมัครฯ จากกองทุนข้าวเปลือกในชุมชน การสนับสนุนชุดทำคลอดและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลอุ้มผาง และบริษัทเอกชน ในปี พ.ศ. 2553 เครือข่ายได้ดำริจะจัดตั้งธนาคารน้ำเกลือที่บ้านหม่องกั๊วะ เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางรวบรวมน้ำเกลือที่ได้รับบริจาค ทั้งจากวัดท่าซุง จำนวน 200 ขวดต่อชุมชน และจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จำนวน 300 ขวด

การดำเนินงานอาสาสมัคร สุขภาพชุมชนไม่มีงบประมาณสนับสนุนโดยตรงจากโครงการใดแต่มูลนิธิสืบฯ ยังคงทำหน้าที่ประสานการจัดประชุมทบทวนความรู้ ปีละ 1 ครั้ง และประสานการสนับสนุนเวชภัณฑ์จากบุคคลและองค์กรภายนอกผู้มีจิตกุศล มอบให้แก่อาสาสมัคร (นัดหมายปีละ 2 ครั้ง คือเดือนเมษายน และธันวาคม ของทุกปี)

สำหรับอุปสรรคในการทำงานของเครือข่ายฯ ไม่ใช่การขาดองค์ความรู้ด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ แต่เป็นการขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะสุขเนื่องจากระยะทาง ขาดข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ทางสาธารณะสุขอย่างต่อเนื่อง และขาดปัจจัยเอื้อที่กลายเป็นปัจจัยหลักของสังคมเมืองคือทุนรอนในการจัดหายา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทางการแพทย์ การดำเนินโครงการฯ จึงเป็นการแสวงหาแนวร่วมเพื่อสนับสนุนการทำงานให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปอีกทางหนึ่ง

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ประชาชนลุ่มน้ำแม่จัน 14 ชุมชน มีหมอชุมชนและเวชภัณฑ์ดูแลรักษาผู้ป่วย
2. เพื่อฟื้นฟูความรู้และให้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพแก่อาสาสมัคร
3. สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ทางการแพทย์
4. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเครือข่าย
5. เพื่อพบปะสังสรรค์และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

 

กลุ่มเป้าหมาย

1. ประชาชน 3,400 คน ใน 14 ชุมชนของลุ่มน้ำแม่จัน (ได้รับการดูแลเมื่อเจ็บป่วย)
2. อาสาสมัครสุขภาพชุมชนลุ่มแม่น้ำแม่จันจาก 14 ชุมชน จำนวน 34 คน (มีเวชภัณฑ์รักษาผู้ป่วย)

 

ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินโครงการนี้แล้ว