โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

ความเป็นมา

ผืนป่าตะวันตก เป็นผืนป่าที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 12 ล้านไร่ โดยประกอบไปด้วยลักษณะการจัดการโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ท้องที่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง ท้องที่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ท้องที่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความกว้างใหญ่ของผืนป่าตะวันตก หากต้องการที่จะรักษาไว้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้น ระหว่างปี 2547 – 2557 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ในผืนป่าตะวันตกขึ้น เพื่อจัดทำฐานข้อมูลชุมชนเพื่อการบริหารจัดการคุ้มครอง ให้เกิดข้อมูลที่ชัดเจน และยอมรับร่วมกัน รวมถึงมีการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มีการสร้างกติกาโดยมีคณะกรรมการชุมชนร่วมกันดูแล มิให้มีการขยายพื้นที่ชุมชนเข้าไปในป่าผืนใหญ่ โดยมีคณะกรรมการชุมชนร่วมเดินลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งมีการหนุนเสริมวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปกติสุข สำหรับพื้นที่บริเวณแนวกันชนของพื้นที่คุ้มครอง มูลนิธิฯ ได้เข้าทำงานร่วมกับชุมชนสร้างการมีส่วนร่วมดูแลรักษาพื้นที่ป่ากันชนที่อยู่รอบแนวขอบพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบการจัดตั้งป่าชุมชน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในพื้นที่คุ้มครอง และเกิดกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

เมื่อโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตกเสร็จสิ้นลง แต่ภารกิจการมีส่วนร่วมในการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม การหนุนเสริมกลุ่มอาชีพในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถดำเนินอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่าได้อย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการผืนป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ ทั้งในพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่รับผิดชอบโดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงดำเนินโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนและเสริมศักยภาพงานอนุรักษ์ให้กับพื้นที่คุ้มครองในผืนป่าตะวันตกทั้ง 17 แห่ง อย่างมีส่วนร่วม รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผืนป่าตะวันตกให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกับทั้งผืนป่าตะวันตกไป

 

วัตถุประสงค์

พัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบกลุ่มป่า โดยกระบวนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและรับผลได้จากการจัดการอย่างยั่งยืนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และสาธารณชนทั่วไป วางเป้าหมาย ให้ดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมใน 3 เป้าหมาย คือ

1. สนับสนุนการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพแบบมาส่วนร่วมในกลุ่มพื้นที่เป้าหมายเพื่อการรักษาคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกและการทำงานร่วมกับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในผืนป่าตะวันตก 131 ชุมชน ร่วมสนับสนุนพื้นที่คุ้มครองในการบริหารจัดการชุมชน ไม่ให้มีการขยายพื้นที่ออกจากฐานข้อมูลชุมชนที่ดำเนินการไว้ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ระยะที่ 2 และสนับสนุนชุมชนบริเวณแนวขอบพื้นที่คุ้มครอง 154 ชุมชน ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวป่ากันชนของพื้นที่คุ้มครอง และการเชื่อมระบบนิเวศทางธรรมชาติ

2. สนับสนุนคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองทั้ง 17 พื้นที่คุ้มครองในผืนป่าตะวันตก ยังคงอยู่และมีบทบาทสำคัญในการร่วมพิจารณาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง

3. การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ในฐานข้อมูลชุมชนเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับกลุ่มอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่าและการนำรายได้มาเป็นกองทุนใช้สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่ารวมถึงศึกษาและพัฒนาแนวทางการนำเอาหลักการของค่าแทนคุณระบบนิเวศ หรือ Payments for Ecosystem Services (PES) มาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับประโยชน์ร่วมให้เกิดความยั่งยืน

 

องค์ประกอบของโครงการ

การดำเนินโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก มุ่งรักษาคุณค่าความสำคัญของผืนป่าตะวันตกให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ตามแผนการจัดการผืนป่าตะวันตกที่จัดทำขึ้นในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก โดยการดำเนินงานจะเชื่อมร้อยการบริหารจัดการพื้นที่รูปแบบที่ต่างกัน
โดยใช้คุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศเป็นข้อพิจารณาดำเนินการ

บริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่การจัดการผืนป่าตะวันตก โดยใช้งานลาดตระเวนเป็นเครื่องมือ โดยพิจารณาพื้นที่ที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศที่สำคัญในผืนป่าตะวันตก และใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพแบบกลุ่มพื้นที่อย่างสม่ำเสมอมาเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนงาน เพื่อติดตามข้อมูล โดยจะมีพื้นที่คุ้มครองหลักในแต่ละกลุ่มพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบและถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการลาดตระเวนสู่พื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ในกลุ่มรวมถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

การบริหารจัดการผืนป่าตะวันตกอย่างมีส่วนร่วม เป็นประสานการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงาน ในพื้นที่คุ้มครอง กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ คณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ และชุมชนในผืนป่าตะวันตก ได้มี ส่วนร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่

การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน เน้นต่อยอดการส่งเสริมกลุ่มอาชีพที่ดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจากโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ให้เกิดความเข้มแข็ง มีตลาดที่ชัดเจน สามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนโดยกลุ่มสมาชิก และขยายกลุ่มภายในชุมชนเอง จนนำมาสู่การสร้างกองทุนคืนกลับมาใช้ในการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรภายในชุมชนรวมถึงศึกษาและพัฒนาแนวทางการนำเอาหลักการของค่าแทนคุณระบบนิเวศ หรือ Payments for Ecosystem Services (PES) มาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับประโยชน์ร่วมให้เกิดความยั่งยืน

 

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

รวม 4 ปี (1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562)

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. คุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกได้รับการดูแลรักษา ฟื้นฟู ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนโดยการทำงานร่วมกับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในผืนป่าตะวันตก และชุมชนบริเวณแนวขอบพื้นที่คุ้มครองของผืนป่าตะวันตก

2. คณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองทั้ง 17 พื้นที่คุ้มครองในผืนป่าตะวันตก ยังคงอยู่และ มีบทบาทสำคัญในการร่วมพิจารณาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง

3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง สามารถนำรายได้มาเป็นกองทุนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่ารวมถึงพัฒนานำหลักแทนคุณระบบนิเวศ หรือ Payments for Ecosystem Services (PES) มาใช้นำร่องในผืนป่าตะวันตก

 

โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร