การสร้างความตระหนักรู้ในงานอนุรักษ์ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนภายในและโดยรอบพื้นที่อนุรักษ์มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ คือหนทางลดปัญหาและผลกระทบที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

พื้นที่โดยรอบและภายในของผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนหลายสิบแห่ง มีประชากรรวม 2,405 ครัวเรือน 10,299 คน ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีบางส่วนเก็บหาของป่า แต่ก็กระทำภายใต้ข้อตกลงที่กำหนดร่วมกัน

ข้อตกลงที่ว่าเกิดจากกิจกรรมการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน นับแต่อดีต อาทิ โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2547-2553) ที่เป็นงานแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชนในป่าอนุรักษ์ จนเกิดข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย

โครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านอาชีพที่ไม่เบียดเบียนผืนป่า หรือโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก (พ.ศ. 2558-2562) ที่ต่อยอดมาจากสองโครงการข้างต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในลักษณะการทำงานเป็นกลุ่มอาชีพ

จวบจนปัจจุบัน ได้ต่อยอดมาเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทำงานกับชุมชนภายในและโดยรอบพื้นที่มรดกโลก ประกอบด้วย ชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 7 ชุมชน ชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก 7 ชุมชน และชุมชนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 5 ชุมชน

โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนฯ ดำเนินการบนภารกิจหลัก 3 ด้าน

งานส่งเสริมและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากร การสร้างความเข้าใจต่อการบังคับใช้ระเบียบ การป้องกัน และกติกาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชุมชน

งานพัฒนาอาชีพสร้างความมั่นคงในชีวิตแก่ชุมชนทั้งภายในและโดยรอบพื้นที่อนุรักษ์

งานลาดตระเวนร่วมและสนับสนุนการร่วมดูแลพื้นที่อนุรักษ์ระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ

ภารกิจที่ 1
สร้างความตระหนักรู้ให้ชุมชน

PHOTO กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชนให้มีองค์ความรู้ ทั้งความรู้ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชน

“หาจุดร่วมที่พอจะอะลุ่มอะล่วย อะไรได้ อะไรไม่ได้ แล้วมากำหนดเป็นกติการ่วมกัน”

เธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 นครสวรรค์ กรมป่าไม้

งานส่งเสริมและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากร หลักสำคัญใหญ่คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ ผ่านกิจกรรมอบรม ทั้งในเชิงวิชาการและการปรับทุกข์ผูกมิตรกันอย่างฉันท์เพื่อน

หัวใจหลักของกิจกรรม คือ การค้นหาแนวทางร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนจะสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยมีความตระหนักรู้ และสามารถมีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายฟากรัฐ โดยมีจุดร่วมที่ตรงกัน อยู่บนฐานความพอดี และเป็นไปได้จริง

เธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 นครสวรรค์ กรมป่าไม้ อธิบายว่า บริบทของพื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประกอบด้วยผู้คน 3 ฝ่าย คือ ชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และกรมป่าไม้ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หน่วยงานรัฐก็ถือเอาภารกิจของตัวเองเป็นหลัก อย่างชุมชนก็ยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ทำให้การดูแลทรัพยากรกลายเป็นเรื่องความขัดแย้ง

จนกระทั่งได้ปรับวิธีทำงาน หันมาสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน ชวนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกันงาน ความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรก็ลดลง

“เราเริ่มกิจกรรมด้วยการที่มาคุยและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนก่อน เราชวนชุมชนมาร่วมลาดตระเวน มาตรวจสอบดูพื้นที่ ดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ขณะเดียวกันเราก็รับฟังสภาพปัญหาความต้องการของชุมชนแล้วมาช่วยกันปรับแก้ไข เมื่อเราได้ทำงานร่วมกัน ได้พูดคุยกันแล้วเราได้กติกามีการร่างกติกาออกมาว่า ชุมชนที่จะใช้ทรัพยากร สามารถใช้ได้อะไรได้บ้าง และใช้อย่างไร เรามีการช่วยกันรักษากติกา ซึ่งเกิดจากการเข้าไปช่วยกันดูว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น แก้ปัญหาอย่างไร”

ผลการดำเนินงานนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวม 15 ฉบับใน 3 พื้นที่ เกิดคณะกรรมการร่วมรักษาทรัพยากรกับเจ้าหน้าที่รวม 302 คน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์ของชุมชนมากถึง 1,276 คน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 300 คน

ตัวอย่างกติกาชุมชน

ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชุมชนโซน 7 กลุ่มบ้าน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

  • พื้นที่ผ่อนปนสามารถใช้ประโยชน์ได้เฉพาะราษฎรในชุมชนนั้นๆ เท่านั้น
  • ห้ามมิให้มีการซื้อขายที่ดินทั้งใน  และนอกพื้นที่ผ่อนปนโดยเด็ดขาด
  • การใช้พื้นที่ในเขตพื้นที่ผ่อนปนสามารถใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาก่อนเท่านั้น
  • ห้ามมิให้แผ้วถางป่านอกเขตพื้นที่ผ่อนปนโดยเด็ดขาด
  • ห้ามมิให้แผ้วถางป่า ซึ่งเป็นป่าสมบูรณ์ (ป่าใหม่) ในเขตพื้นที่ผ่อนปนโดยเด็ดขาด
  • ห้ามล่าสัตว์ป่าโดยเด็ดขาด
  • ห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยเด็ดขาย
  • การสร้างที่อยู่อาศัย ต้องขออนุญาต และผ่านการพิจารณาความเหมาะสมของคณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ก่อน
  • ชุมชนต้องร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตชุมชนของตนเอง และชุมชนอื่นๆ
  • หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ตามข้อ 1 – 9 ให้คณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมกันพิจารณาบทลงโทษตามเห็นสมควร หรือดำเนินการตามกฎหมาย

“งานอนุรักษ์ดำเนินไปได้ ชาวบ้านอยู่ร่วมได้ ทั้งเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน สามารถเดินทางร่วมกันได้”

ปิยะ ภิญโญ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ภารกิจที่ 2
พัฒนาศักยภาพอาชีพ

ดังที่กล่าวไปตอนต้น ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งภายในและโดยรอบพื้นที่มรดกโลก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชไร่ แต่เดิมเป็นการเพาะปลูกเพื่อทำกินในครัวเรือนก่อนเปลี่ยนมาเป็นการค้าตามพลวัตทางสังคมที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลชุมชนในอดีตพบว่า นอกจากการประกอบอาชีพหลักแล้วชุมชนต่างๆ มีทักษะการงานด้านอื่นๆ ประกอบ เช่น กลุ่มสตรีในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและตะวันตกมีทักษะการทอผ้าที่สืบทอดภูมิปัญญามาแต่เก่าก่อน หรือชุมชนในเขตรักษาพันธุ์ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกปลูกและขายเมล็ดกาแฟเป็นรายได้เสริม

ขณะที่ชุมชนรอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็มีความสนใจเรื่องการปลูกสมุนไพรอินทรีย์แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ได้รับผลกระทบจากกรณีสัตว์ป่าออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์

เรื่องราวเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘ต้นทุน’ ที่ชุมชนพึงมี และถูกพัฒนาให้กลายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้แก่ครัวเรือนภายใต้แนวคิด ‘วิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า’ ดำเนินการโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาก่อนแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ก็คือการต่อยอดอาชีพต่างๆ ขึ้นอีกระดับ

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ตัวโครงการจึงเลือกพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนด้วยกัน 3 อาชีพ ประกอบด้วยงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์กาแฟ ผ้าทอ และสมุนไพรอินทรีย์

การปลูกกาแฟ ชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกมีการปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าอยู่แล้ว แต่เดิมจะส่งให้กับพ่อค้าที่เข้าไปรับซื้อ โดยชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษา หรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงทำให้ขายเมล็ดกาแฟให้พ่อค้าคนกลางได้ในราคาถูก เนื่องจากเมล็ดกาแฟเป็นเมล็ดที่ไม่ได้คุณภาพ

การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (โผล่ว) ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทั้งการทอผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้สำหรับงานประเพณี ด้วยเส้นใยและกลวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ออกมาเป็นลวดลายสละสลวยเฉพาะพื้นถิ่น ลายที่ทอ สีที่ใช้ ต่างมีความหมายที่บ่งบอกถึงวิถีความเป็นอยู่ ในอีกนัยหนึ่งยังมีคำกล่าวว่า “สาวบ้านไหนทอผ้าไม่เป็น จะไม่มีชายมาสู่ขอ” เพราะแต่งงานไปก็จะไม่มีเสื้อผ้าใส่

การปลูกสมุนไพร ภายใต้ต้นกาแฟที่มีการปลูกอยู่แล้วนั้น ยังมีพืชสมุนไพรที่ถูกปลูกไว้เพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ โดยพืชสมุนไพรเหล่านี้เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคได้ และยังสามารถพัฒนาให้กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชน

แผนที่แสดงที่ตั้งกลุ่มอาชีพ และชุมชนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

แนวทางส่งเสริมพัฒนาอาชีพ
ดำเนินการภายใต้เงื่อนไข

มองหาศักยภาพมาต่อยอด

มองหาศักยภาพมาต่อยอด

ต้องเป็นอาชีพหรือกิจกรรมที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ เป็นกิจกรรมที่ใช้สอยพื้นที่น้อย เพื่อลดปัญหาการขยายพื้นที่ทำกินในป่าอนุรักษ์ แต่สามารถเพิ่มศักยภาพให้เป็นอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคงได้

มองหาคนทำงาน

มองหาคนทำงาน

หมายถึงผู้ที่มีความสนใจจะร่วมดำเนินงาน ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มให้ดำเนินไปได้ด้วยดี

มองหาเครือข่าย

มองหาเครือข่าย

จำเป็นต้องมีการหาเครือข่ายที่พร้อมจะสนับสนุนให้การทำงานดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งภาคประชาชน รัฐ และเอกชน

มองหาตัวอย่างที่ดี

มองหาตัวอย่างที่ดี

คือ การศึกษาดูงานเพื่อนำมาปรับใช้กับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เปิดโลกทัศน์เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่สามารถจำหน่ายหรือส่งออกได้

มองหาเอกลักษณ์

มองหาเอกลักษณ์

เพื่อสร้างจุดขายและความน่าสนใจให้กับตัวผลิตภัณฑ์ จึงต้องสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้เกิดจุดขายที่น่าสนใจ และมีความโดดเด่นในเรื่องราวเฉพาะตัว

มองหาช่องทางจำหน่าย

มองหาช่องทางจำหน่าย

นอกจากมองหาตลาดที่เหมาะสมกับสินค้าแล้ว ยังต้องสร้างกระบวนการเพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมและตรงเป้า

ออกแบบให้ตรงกับตลาด

ออกแบบให้ตรงกับตลาด

เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น จะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย มีบรรจุภัณฑ์ที่ดูสะอาด ได้มาตรฐาน และพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

ช่องทางประชาสัมพันธ์

ช่องทางประชาสัมพันธ์

เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ต้องทำประชาสัมพันธ์สม่ำเสมอ ใช้ทั้งช่องทางออนไลน์ หรือการออกร้านตามอีเว้นท์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์

เพิ่มมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์

เพิ่มมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์

เช่น การกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การรับรองของหน่วยงานต่างๆ หรือการส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด ให้เราเห็นถึงจุดเด่น จุดด้อยของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในอนาคต

มองหาความรู้ใหม่เสมอ

มองหาความรู้ใหม่เสมอ

ชุมชน แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่ หรือองค์กรเครือข่าย จะต้องมีการพูดคุย แลกเปลี่ยน พัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อได้เรื่อยๆ

จากกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ได้แก่ กาแฟไล่โว่ ผ้าทอจอมป่า และสมุนไพรอินทรีย์ชุมชนจอมป่า ก่อให้เกิดการสร้างรายได้จากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 136 ครัวเรือน (5.35 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนทั้งหมด) จาก 3 พื้นที่เป้าหมาย เป็นเงินทั้งสิ้น 5,772,420 บาท ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564

แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มกาแฟ 915,000 บาท กลุ่มผ้าทอ 478,570 บาท และกลุ่มสมุนไพร 4,378,850 บาท

จากข้อมูลรายได้ สามารถแจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่า กลุ่มกาแฟมีรายได้ที่เติบโตขึ้นทุกปี มีปัจจัยเกี่ยวเนื่องจากจำนวนผลผลิตที่ผลิดอกออกผลเพิ่มมากขึ้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งกาแฟของกลุ่มเกษตรไล่โว่ยังได้รับรางวัลการันตีคุณภาพ ประกอบด้วย

ปี 2562 ส่งกาแฟสารเข้าประกวดได้รับรางวัลที่ 3 ของประเภท Sweet และ Balance ในงาน Siam Caffea Canephora Symposiam ที่ เขาหลัก จ.พังงา (ได้คัดเลือกให้ไปต่อที่ Host Milano, Italy แต่ติดสถานการณ์โควิด-19)

ปี 2564 ส่งกาแฟสารเข้าประกวดในงาน Thai Coffee Excellence 2021 การประกวดสุดยอดกาแฟไทย จัดโดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ ได้รับรางวัลที่ 4 ของประเทศ ประเภทกาแฟโรบัสต้า

ผ้าทอ ถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ต่ำสุด เพราะเป็นสินค้าที่ใช้เวลาการผลิตภัณฑ์นาน ทำให้มีปริมาณสินค้าออกมาไม่มากนัก รวมถึงบริบทของการทอผ้า ผู้ทอจะทำเฉพาะในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ (ซึ่งเป็นอาชีพหลัก) จึงมีเวลาในการผลิตน้อย เปรียบได้กับการทำอาชีพเสริมมากกว่าเป็นงานหลัก อย่างไรก็ตาม ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ลวดลายอันงดงาม จึงการันตีได้ว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นทุกชิ้นสามารถขายได้

สมุนไพรอินทรีย์ เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สร้างได้รายมากที่สุด แต่รายได้จะคงตัวที่ประมาณปีละ 1 ล้านบาท เนื่องจากมีตลาดรองรับที่แน่นอน (มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร) ซึ่งมีอัตราราคาและจำนวนการรับซื้อที่ถูกกำหนด เป็นหลักประกันรายได้ที่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละกลุ่มอาชีพจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อุปสรรคแตกต่างกันไป แต่ทุกผลิตภัณฑ์ยังมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจได้ หากมีการพัฒนาและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องของรายได้แล้ว ผลที่เกิดยังดีกับสุขภาพของคนในชุมชนและสุขภาพของระบบนิเวศ

“ถ้าเราใช้เคมีต่อไป คงไม่ไหว เพราะว่าร่างกายเราเริ่มแย่”

โซทินี่ เสริมศิริพร เกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

“กาแฟก็คือป่าชนิดหนึ่ง แต่เป็นป่าที่กินได้”

วันชัย สุดก้องหล้า ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตกาแฟตำบลไล่โว่

ภารกิจที่ 3
ร่วมรักษาป่าใหญ่

รูปธรรมใหญ่ของกิจกรรมลาดตระเวนร่วมกันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ คือจำนวนวันของการลาดตระเวนร่วมทั้ง 3 พื้นที่ เป็นเวลารวม 444 วัน ซึ่งมีกิจกรรมประชุมและสรุปผลกันเป็นประจำทุกเดือน

และผลการประชุมติดตามการเดินลาดตระเวนยังนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ เช่น พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ได้เกิดคำสั่งการให้ทุกหน่วยพิทักษ์ป่ามีการลาดตระเวนร่วมกับชุมชน หรือในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ได้จัดทำมีระบบการตรวจสอบการเข้าออก ของบุคคลภายนอกบริเวณหน่วยทีชอแมอย่างเป็นระบบ

ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากกิจกรรมที่กล่าวไป จะถูกนำไปวางแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต และถือเป็นการวางรากฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มรดกโลกอย่างมีส่วนร่วม

ตัวอย่างเส้นทางและสิ่งที่พบระหว่างกิจกรรมลาดตระเวนร่วมของชุมชนกับหน่วยงานอนุรักษ์ในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การวางแผนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต

“ถ้าเรามีการประสานงานร่วมกัน การดูแลทรัพยากรก็จะดียิ่งขึ้น”

ศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

จากภารกิจทั้งหมดที่ดำเนินภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนงานที่ต้องใช้แรงรอนแรมกลางป่าเขา แต่ละงานล้วนส่งผลสอดรับต่อกันและกัน

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมดูแลรักษาทรัพยากร ผ่านการลาดตระเวนอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน การสร้างความตระหนักรู้ของชุมชนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความมั่นคงทางด้านความเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยการประกอบอาชีพอย่างเป็นมิตรกับผืนป่าที่เกื้อกูลกันระหว่างการทำเกษตรอย่างยั่งยืน จนมาถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และส่งเสริมช่องทางการตลาด

เหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่าชุมชนสามารถอยู่ในพื้นที่คุ้มครองควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

เมื่อชุมชนเป็นสุข มรดกโลกก็จะสมดุล

ขอขอบคุณ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สหภาพยุโรป
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย
คุณเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์
คุณศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ
คุณปิยะ ภิญโญ
คุณโซทินี่ เสริมศิริพร
คุณวันชัย สุดก้องหล้า
และคุณมนตรี กุญชรมณี

เอกสารอ้างอิง
แนวทางส่งเสริมพัฒนาอาชีพชุมชน ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร)
โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน