มองผลงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านลายเสื้อยืด

มองผลงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านลายเสื้อยืด

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่วันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ ของตำนานนักอนุรักษ์ผู้ล่วงลับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อรักษาป่าผืนใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านโครงการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผืนป่า ตลอดจนการส่งเสริมความรู้และรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีความห่วงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่ ดังที่ปรากฎในหน้าสื่อขององค์กรตลอดจนสื่อสาธารณะต่างๆ

ในกิจกรรมที่มูลนิธิสืบนาคะสเถียรได้ดำเนินการ ทางมูลนิธิฯ ได้นำเสนอ และบันทึกเรื่องราวผ่านสื่อหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร โปสเตอร์ ไปจนถึงสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์และช่องทางบนโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้เลย คือการบอกเล่าเรื่องราวลงบน ‘เสื้อยืด’ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสื่อหลักชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการสื่อความหมายตลอดระยะเวลาของการทำงาน

เมื่อวาระครอบรอบ 25 การจากไปของสืบ นาคะเสถียร และการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์นั้น (พ.ศ. 2558) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำการรวบรวม ‘เสื้อยืด’ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมเพื่องานอนุรักษ์ และกิจกรรมระดมทุนต่างๆ จัดแสดงไว้ในนิทรรศการ “เสื้อยืด เราทำงานให้พี่สืบ” ในงานรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร วันที่ 4-6 กันยายน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อบอกเล่าช่วงตลอดระยะเวลาที่เราได้ส่งต่อเปลวไฟแห่งการอนุรักษ์ให้ลุกโชนมาถึงปี 25

เสื้อยืดที่นำมาจัดแสดงนั้นเป็นเพียงบางส่วนจากผลงานทั้งหมดที่ได้จัดทำ ซึ่งได้คัดเลือกมาจากงานกิจกรรม การฝึกอบรม งานรณรงค์คัดค้าน ตลอดจนงานระดมทุน

ลองมาดูกันว่า มูลนิธิสืบฯ ทำกิจกรรมใดบ้าง ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวลงบนลายเสื้อยืด

หมายเหตุ เสื้อยืดที่แสดงในหน้านี้ เป็นสินค้าเก่าที่ไม่มีจำหน่ายแล้ว ผู้สนใจสนับสนุนกิจกรรมรักษาป่าผ่านของที่ระลึกองค์กรอื่นๆ สามารถเข้าไปชมรายละเอียดได้ที่ www.seub.or.th/gift/

 

เสื้อตราสัญลักษณ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เสื้อยืดพิมพ์ลายตราสัญลักษณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ภาษาอังกฤษ) ผลิตเมื่อแรกก่อตั้งองค์กร โดยการริเริ่มของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการในสมัยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อหารายได้สมทบกองทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นเสื้อยืดตัวแรกขององค์กร มีข้อสังเกตว่าเขียนชื่อ Seub สลับเป็น Sueb

 

เสื้อ Stop EHIA Maewong

เสื้อยืดสีขาวแขนยาว จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 เพื่อใช้ในกิจกรรมเดินเท้ารณรงค์ ‘หยุด! อีเอชไอเอ โครงการเขื่อนแม่วงก์’ จากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯ เป็นเวลา 13 วัน ในเดือนกันยายน พ.ศ.2556 โดยเสื้อยืดตัวนี้ได้รับความสนใจจาก สาธารณะชนเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการผลิตซ้ำหลายครั้ง ในครั้งแรก เสื้อ Stop EHIA Maewong ครั้งแรก ผลิตเพียง 100 ตัวและพิมพ์คำว่า Maewong เป็น Meawong

 

เสื้อ แม่วงก์ กด Like No Dam

เสื้อกิจกรรมรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบ จากมติครม. 10 เมษายน 2555 หลังจากนั้นอีกเดือนมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้จัดกิจกรรมเสวนาและงานรณรงค์ขึ้นพร้อมทั้งผลิตเสื้อยืดเพื่อจำหน่ายและแสดงออกทางจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าอย่างเขื่อนแม่วงก์ โดยหยิบเอาเรื่องราวของโซเชี่ยล มีเดียมาใช้ในการรณรงค์ให้ป่าแม่วงก์กด LIKE คำว่า NO DAM เสื้อลายนี้ผลิตออกมา 2 สี และเป็นอีกหนึ่งลายที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

 

เสื้อ ขอทางเลือกจัดการน้ำ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์

ผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ใช้ในการรณรงค์ให้มีการจัดการน้ำในทางเลือกอื่น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในผืนป่าอนุรักษ์ และใช้เป็นสัญลักษณ์ในการทำกิจกรรม “นั่งให้กำลังใจสผ.” ซึ่งนำโดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในขณะนั้น ในระหว่างวันที่ 17 – 19 พ.ย. 2557 เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างเป็นธรรม

 

เสื้อ สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย

เสื้อยืดที่ระลึกจัดทำขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2553 ในวาระรำลึก 20 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร โดยเป็นการนำเอาท่อนหนึ่งจากบทเพลง ‘สืบ ทอดเจตนา’ ของยืนยง โอภากุล ซึ่งเป็นบทเพลงแรกที่ได้มีการเขียนถึง สืบ นาคะเสถียร มาจัดทำเป็นลายเสื้อ

 

เสื้อ สืบ นาคะเสถียร

เสื้อภาพวาดลายเส้นหน้า สืบ นาคะเสถียร ผลิตครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2548 ด้านหน้าเป็นภาพวาดลายเส้นหน้าสืบ นาคะเสถียร ด้านหลังนำเอาคำพูดของสืบ นาคะเสถียร มาวางไว้เพื่อบ่งบอกตัวตนของคนในเสื้อ ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าขายดีขององค์กร และมีการผลิตซ้ำทุกปีจนถึงปัจจุบัน

 

เสื้อ แนวคิด สืบ นาคะเสถียร

ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยเป็นการนำเอาภาพหน้าสืบ นาคะเสถียร ที่เดิมใช้ผลิตโปสเตอร์สำหรับมอบเป็นของที่ระลึกให้กับผู้บริจาคทุนสนับสนุนให้กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และได้นำมาผลิตเป็นเสื้อลายภาพสืบ นาคะเสถียร เสื้อตัวนี้ เป็นเสื้อภาพสืบ นาคะเสถียร ลายที่ 2 ต่อจากลายแรกภาพเดียวกันนี้ที่เดิมเป็นสีขาวดำ

 

เสื้อ โครงการจอมป่า

เสื้อยืดโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือโครงการจอมป่า ผลิตขึ้นเพื่อมอบให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา รูปแบบของเสื้อแสดงแผนที่พื้นที่คุ้มครอง 17 แห่งของกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการดำเนินโครงการ นอกจากเสื้อสีดำนี้แล้ว ยังมีการผลิตเสื้อตัวนี้ซ้ำออกมาอีกหลายครั้ง ในสีที่แตกต่างออกไป และในบางครั้งก็ผลิตเป็นเสื้อแขนสั้น

 

เสื้อ อบรมผู้พิทักษ์ป่า

ระหว่างปี พ.ศ. 2542 – 2546 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ (WEFCOM) ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ของกลุ่มป่าตะวันตกทั้ง 17 แห่ง เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานทั้งในด้านการป้องกันและปราบปราม ซึ่งเสื้อยืดตัวนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นของที่ระลึกแก่ผู้เข้าร่วมอบรม

 

เสื้อคณะกรรมการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก

เป็นเสื้อยืดที่ผลิตขึ้นเพื่อมอบให้เครือข่ายคณะกรรมการชุมชนในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่มีส่วนสำคัญในการทำงานโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (จอมป่า) ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ผลิตและแจกเมื่อปี พ.ศ. 2553 ใน ช่วงที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำบันทึกข้อตกลงโครงการจอมป่า ครั้งที่ 2 ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

เสื้อ นกตะกุม

เสื้อยืดลายนกตะกุม ผลิตปี พ.ศ. 2548 ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้คนรู้จักนกชนิดนี้ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ขณะเดียวกันในปี พ.ศ.2546 – 2547 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินโครงการ “อนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่เกาะพระทอง จ.พังงา” มีเป้าหมายสำรวจ และศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั้งด้านลักษณะกายภาพและชีวภาพ ทำให้พบ ว่าพื้นที่เกาะพระทองเป็นถิ่นอาศัยและแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกชนิดนี้

 

เสื้อ ที่เก็บน้ำชั่วคราว ที่เก็บน้ำชั่วชีวิต

เสื้อยืด ‘ที่เก็บน้ำชั่วคราว ที่เก็บน้ำชั่วชีวิต’ ใช้เป็นกิจกรรมรณรงค์ให้สาธารณชนเห็นว่าป่าคือที่เก็บน้ำที่ดีที่สุด ส่วนด้านหลังแสดงภาพกลุ่มป่าที่เหลืออยู่ของประเทศไทย โดยนอกจากเสื้อลายนี้ ยังได้ผลิตเสื้อที่มีข้อความว่า ‘ไม่มีป่าไม่มีน้ำ’ ขึ้นมาจำหน่ายพร้อมกัน ผลิตในปี พ.ศ. 2544

 

เสื้อ คัดค้านการตัดถนนผ่าป่า

เสื้อรณรงค์คัดค้านการตัดถนนผ่าป่านำภาพจากโปสเตอร์รณรงค์ที่ออกแบบโดยบริษัท Leo Burnett เป็นภาพถนนที่ลากเส้นเป็นรูปสัตว์ป่าอยู่กลางป่า สื่อถึงสิ่งที่จะสูญเสียหากมีการตัดถนนผ่าเข้าไปในป่าอนุรักษ์ ผลิตจำหน่ายปี พ.ศ. 2545

 

เสื้อ หยุดการพัฒนา ทำลายป่าทุ่งใหญ่ฯ

เสื้อยืดรณรงค์คัดค้านการตัดถนนผ่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยภาพเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ว่าสัตว์เหล่านี้จะตกอยู่ในอันตรายหากมีการตัดถนนผ่าเข้าไปในป่า

 

เสื้อ สัมมนาสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 8

เสื้อรณรงค์ในการประชุมสัมมนาสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 5 – 6 มิ.ย. 2547 เป็นการรณรงค์เรื่องที่รัฐบาลในยุคนั้นมุ่งเน้นให้แต่ละจังหวัดและร่วมกันจัดเป็นกลุ่มจังหวัดเพื่อของบประมาณดำเนินโครงการรวมกันแต่ในแผนยุทธศาสตร์แฝงโครงการที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาเรียกร้องกันอยู่ในขณะนั้น รวมถึงโครงการที่มีความ เกี่ยวเนื่องกับโครงการที่มีผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ

 

เสื้อ เสือโคร่ง

เป็นอีกหนึ่งเสื้อยืดที่ได้รับความนิยมและถูกผลิตบ่อยครั้ง เสื้อยืดลายเสือโคร่งผลิตเพื่อใช้ในกิจกรรมระดมทุนเข้ากองทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเพื่อรณรงค์ให้สาธารณะชนเห็นความสำคัญของเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารในผืนป่า

 

เสื้อ สัตว์ป่าสงวน (แรด)

เสื้อยืดสัตว์ป่าสงวนของเมืองไทย เป็นการนำเอาภาพสัตว์ป่าสงวนทั้ง 15 ชนิดของไทย มาผลิตเป็นลายเสื้อ พร้อมระบุความสำคัญของสัตว์ชนิดนั้นๆ เป็นเนื้อหาเชิงความรู้ประกอบภายใต้ภาพ เพื่อใช้เป็นกิจกรรมรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักและเห็นความสำคัญของสัตว์ป่า และเพื่อใช้ในการระดมทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยสัตว์ ทั้ง 15 ชนิดได้มีการหมุนเวียนผลิตครั้งละ 4 ลาย ลายที่ได้รับความ นิยมจะเป็นเสื้อลายแรดและควายป่า

 

เสื้อ BIG 7 (ควายป่า)

BIG 7 หรือ 7 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งผืนป่าตะวันตก เป็นเสื้อสัตว์ป่ารุ่นล่าสุดที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยนำเอามาสัตว์ป่า 7 ชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตก ได้แก่ เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง ช้าง สมเสร็จ นกยูง และควายป่า มาดีไซน์รูปแบบใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาที่อธิบายถึงความสำคัญของสัตว์ชนิดนั้นเอาไว้ เสื้อรุ่น BIG 7 ดีไซน์ออกมา 7 ลาย 7 สี ตามลักษณะสีเด่นของสัตว์แต่ละชนิด ควายป่าเป็นลายที่ขายดีที่สุด

 

เสื้อ คอนเสิร์ต ฟื้นป่า

เสื้อยืดที่ระลึกงานคอนเสิร์ต ‘ฟื้นป่า สืบทอดเจตนา สืบ นาคะเสถียร’ จัดขึ้นในวาระครบรอบ 8 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่ ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2541 มีศิลปินเข้าร่วมบรรเลงในงาน คือ แอ๊ด คาราบาว และหงา คาราวาน

 

เสื้อ คอนเสิร์ต รำลึก 10 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดที่ระลึกคอนเสิร์ตครบรอบ 10 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ชื่องาน 10 คนดนตรี 10 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดขึ้นในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2543 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

เสื้อ คอนเสิร์ต รำลึก 15 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 15 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ วันที่ 3 ก.ย. 2548 เป็นการแสดงดนตรี ของ 3 ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังของเมืองไทย ประกอบไปได้ หงา สุรชัย จันทิมาธร, หมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และแอ๊ด ยืนยง โอภากุล ภายใต้ชื่องานว่า “สืบภู สืบไพร สืบใจ 15 ปี สืบ นาคะเสถียร”

 

เสื้อ คอนเสิร์ต รำลึก 16 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดที่ระลึกคอนเสิร์ตครบรอบ 16 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 2 ก.ย. 2549 ใช้ชื่อคอนเสิร์ตว่า ‘เดือนหงายกลางป่า’ บรรเลงโดยพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

 

เสื้อ คอนเสิร์ต รำลึก 18 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดที่ระลึกงานคอนเสิร์ตครบรอบ 18 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดที่โรงละครกลางแจ้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 19 เม.ย. 2551 ใช้ชื่องานว่า ‘เสียงจากป่าตะวันตก’ นอกจากกิจกรรมดนตรี ยังมีงานเผยแพร่ความรู้จากคนทำงานในพื้นที่ และการแสดงศิลปพื้นบ้านจากชุมชนในผืนป่าตะวันตก เสื้อลายนี้ผลิตออกมา 2 สี คือ สีขาวและสีดำ

 

เสื้อ ก้าวสู่ปีที่ 20

เสื้อยืดก้าวสู่ปีที่ 20 สืบ นาคะเสถียร (SEUB 2010) จัดทำในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงรำลึก 19 ปี สืบ นาคะเสถียร แต่ได้เปลี่ยน ไปใช้คำว่า ‘ก้าวสู่ปีที่ 20’ แทน เพื่อนำเรื่องราวไปสู่กิจกรรมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป ถือได้ว่าเป็นเสื้อตัวแรกที่ผลิตขึ้นในวาระ 20 ปี สืบ นาคะเสถียร จากจำนวนเสื้ออีกหลายๆ ตัวที่ผลิตขึ้นในวาระดังกล่าว

 

เสื้อ คอนเสิร์ต รำลึก 20 ปี สืบ นาคะเสถียร

จัดทำขึ้นเป็นสินค้าที่ระลึกคอนเสิร์ต 20 ปี สืบ นาคะเสถียร วันที่ 16 ก.ย. 2553 ณ หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวงคาราบาวและวงคาราวานเป็นวงหลัก พร้อมกับมีการอ่านกวีบทใหม่ของจิระนันท์ พิตรปรีชาในงานวันนั้นด้วย เสื้อตัวนี้จัดทำขึ้น 2 รุ่น คือ สำหรับจำหน่ายและสำหรับแจกทีมงาน ซึ่งแบบหลังจะมีคำว่า STAFF เพิ่มเข้าไปที่ด้านหลังของเสื้อ

 

เสื้อ จากป่า สู่เมือง

เสื้อยืดที่ระลึกจำหน่ายภายในงาน ‘จากป่า สู่เมือง’ รำลึก 21 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน พ.ศ. 2554 ณ หอศิลป์ กรุงเทพฯ โดยงานนี้ต้องการสื่อสารเรื่องราวการทำงานภายในป่าของ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาเผยแพร่สู่คนเมือง ซึ่งหลังจากงานครั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้จัดกิจกรรม ‘จากป่า สู่เมือง’ เรื่อยมาจน ถึงปัจจุบัน

 

เสื้อ รำลึก 22 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดที่ระลึกจำหน่ายภายในงานรำลึก 22 ปี สืบ นาคะเสถียร ธรรม ธรรมชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 กันยายน พ.ศ. 2555 ณ หอ จดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ โดยในปีนี้ทางมูลนิธิได้ผลิตเสื้องาน รำลึกออกมา 2 รุ่น ด้านหน้าเป็นภาพ สืบ นาคะเสถียรเหมือนกัน ส่วนด้านหลัง จะมีข้อความ “เราทำงานให้พี่สืบ” สำหรับมอบให้สตาฟฟ์และวิทยากรที่เข้าร่วมงาน

 

เสื้อ ฅนรักษ์ป่า

เสื้อยืดฅนรักษ์ป่า จัดทำขึ้นในวาระ ครบรอบ 23 ปี จากการไปของ สืบ นาคะเสถียร โดยในปีดังกล่าวมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่ได้จัดกิจกรรมใดๆ ในกรุงเทพฯ แต่ได้ทำกิจกรรมรณรงค์ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย โดยเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายสาขามากล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเล่าเรื่องของสืบ นาคะเสถียร ในมุมมองของแต่ละคนผ่านคลิปวีดีโอขนาดสั้น และบุคคลในคลิปทั้งหมดต่างสวมเสื้อฅนรักษ์ป่าทำให้เสื้อยืดลายนี้เป็นอีกหนึ่งลายที่ได้รับความนิยม

 

เสื้อ รำลึก 24 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดที่ระลึกจำหน่ายภายในงานรำลึก 24 ปี สืบ นาคะเสถียร พ.ศ. 2557 โดยเป็นการผลิตและใช้งานร่วมกันระหว่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทั้งใช้เป็นสินค้าจำหน่ายในงาน และเสื้อสำหรับสตาฟฟ์และแขกรับเชิญที่เข้าร่วมงาน

 

เสื้อ รำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสื้อยืดแขนสามส่วนรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสินค้าที่ระลึกในกิจกรรมรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย. ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และวันที่ 4 – 6 ก.ย. 2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 

หมายเหตุ เสื้อยืดที่แสดงในหน้านี้ เป็นสินค้าเก่าที่ไม่มีจำหน่ายแล้ว ผู้สนใจสนับสนุนกิจกรรมรักษาป่าผ่านของที่ระลึกองค์กรอื่นๆ สามารถเข้าไปชมรายละเอียดได้ที่ www.seub.or.th/gift/