ค้างคาว ผู้พิทักษ์ธรรมชาติยามราตรี

ค้างคาว ผู้พิทักษ์ธรรมชาติยามราตรี

หนังสือ ค้างคาว ผู้พิทักษ์ธรรมชาติยามราตรี และปัจจัยสำคัญในการอนุรักษ์ เขียนโดย มาร์ค โรบินสัน และ สาระ บำรุงศรี เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย เบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์

คู่มือการอนุรักษ์ค้างคาวเล่มนี้เป็นผลงานส่วนหนึ่งของโครงการค้างคาวไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ริเริ่มและดำเนินการ โดยร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับกรมป่าไม้

โครงการค้างคาวเป็นผลจากโชคหลายๆ อย่าง คุณสืบ นาคะเสถียร และข้าพเจ้าเริ่มสนใจเรื่องค้างคาวมากขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เราช่วยกันดำเนินเรื่องเพื่อเสนอให้ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก ก่อนหน้านั้น เราทั้งสองไม่ทราบมาก่อนเลยว่าค้างคาวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศของป่า และก็ไม่เคยทราบด้วยว่าประเทศไทยเป็นแหล่งถิ่นอาศัยแห่งใหญ่ของค้างคาว โดยเฉพาะเขตทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เราทราบเพียงว่า ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก ค้างคาวถูกคุกคามและถูกทำร้ายจากพฤติกรรมของมนุษย์ตลอดมา

ในปีถัดมาคือปี 2534 กองวิจัยสัตว์ป่า กรมป่าไม้ ได้ให้ความสนใจกับสถานภาพที่กำลังแย่ของค้างคาวในประเทศไทย และแนะนำว่าค้างคาวหลายชนิดควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายถ้าต้องการให้พวกมันอยู่รอด ในขณะที่ค้างคาวบางชนิดหาได้ยากมากแล้ว ก็ยังมีการค้นพบชนิดใหม่ๆ อยู่

ข้าพเจ้าเกิดความกลัวเมื่อคิดว่าสักวันหนึ่งค้างคาวจะหมดไปโดยที่เราไม่รู้เลยว่าพวกมันเคยอยู่ในโลกนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเราควรพยายามศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับค้างคาวในเขตทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งนี้

ไม่นานหลังจากนั้น สถานทูตอังกฤษแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่ามีเงินทุนอยู่จำนวนหนึ่งสำหรับโครงการอนุรักษ์ และถามว่ามีโครงการวิจัยที่ต้องการเงินสนับสนุนหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงได้เสนอร่างโครงการค้างคาวเข้าไป ข้าพเจ้าไม่ได้หวังมากนัก เพราะข้อเสนอจากทางสถานทูตอังกฤษดูดีเกินกว่าจะเป็นจริง แต่ในหนึ่งปีต่อมา โครงการนี้ได้รับการอนุมัติ ในระหว่างที่รออนุมัติ ข้าพเจ้าได้รับการติดต่อจาก คุณมาร์ค โรบินสัน นักวิจัยค้างคาวจากประเทศอังกฤษ ซึ่งต้องการศึกษาค้างคาวในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้เงินสนับสนุนจึงได้ติดต่อกับเขาทันที

ส่วนสำคัญอีกส่วนของโครงการค้างคาวก็คือ คุณสาระ บำรุงศรี นักศึกษาปริญญาโท ที่ได้เข้ามาร่วมงานและมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับค้างคาวพร้อมกับฝึกฝนทักษะในการทำงานวิจัย ข้าพเจ้าคิดว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก และอาจจะมีประโยชน์มากกว่าข้อมูลเกี่ยวกับค้างคาวในทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งที่ได้มาเสียอีก ข้อมูลเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การที่จะได้ข้อมูลต่างๆ มาจำเป็นจะต้องมีการวิจัยค้นคว้า ซึ่งเราต้องการทั้งนักวิจัยและคนที่จะสามารถนำความรู้ต่างๆ จากการวิจัยไปสอนผู้อื่นให้ช่วยกันต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์ เป็นไปไม่ได้ที่คนจะต่อสู้ตามลำพังคนเดียวไปเรื่อยๆ

โครงการค้างคาวดำเนินงานในนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณสืบที่มีต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ คุณสืบเป็นนักวิจัยสัตว์ป่าที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากคนหนึ่ง แต่ที่ต่างจากนักวิจัยท่านอื่นๆ ก็คือ คุณสืบเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย คุณสืบได้แลกชีวิตของเขาเพื่อชีวิตของสัตว์ป่า และเพื่อปกป้องสิทธิ์ของพวกมันที่จะมีชีวิตอยู่ในป่า ในความรู้สึกของเขา เรื่องนี้เป็นเรื่องของความยุติธรรมและคุณธรรม สัตว์ป่าใช้ชีวิตมานานกว่ามนุษย์ และป่าก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าไม่มีพวกมัน สัตว์ป่าเป็นผู้รักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศของธรรมชาติ ถ้าไม่มีพวกมัน นอกจากธรรมชาติจะอยู่ไม่นอดแล้ว มนุษย์ก็ไม่สามารถจะอยู่รอดได้เช่นกัน

แม้ว่าคุณสืบจะไม่มีความรู้เรื่องค้างคาวมากนัก แต่เขาทราบดีถึงบทบาทที่สำคัญของพวกมันในธรรมชาติ และคงต้องการรู้เรื่อค้างคาวมากขึ้นด้วย เขาคงประหลาดใจถ้าได้ทราบถึงบุคคลิกที่อ่อนโยนและพฤติกรรมต่างๆ ของพวกมันที่มีต่อไม้ดอกและไม้ผลในป่า คงเป็นเรื่องเศร้าสำหรับคุณสืบถ้าเขาต้องทราบว่า ทั้งๆ ที่พวกมันมีคุณต่อมนุษย์มาก มนุษย์กลับรังเกียจและทำร้ายพวกมันด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

โครงการค้างคาวเป็นโครงการวิจัยโครงการแรกที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรริเริ่ม และให้เงินสนับสนุนโดยลำพัง แต่โครงการนี้จะไม่สำเร็จลงได้ถ้าปราศจากผู้ให้ความสนับสนุนเหล่านี้ คือ สถานทูตอังกฤษ บริติช เคาน์ซิล สมาคมส่งเสริมพรรณไม้และสัตว์ป่าของสหราชอาณาจักร บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท ลีเวอร์บราเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พวกเรารู้สึกซาบซึ้งในความช่วยเหลือซึ่งทำให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา และขอขอบคุณฝ่ายบริหารของเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและกองวิจัยสัตว์ป่าของกรมป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด โดยเฉพาะ ดร.ชวาล ทัฬหิกรณ์ คุณชัชวาลย์ พิศดำขำ คุณวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ และคุณศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ คุณสืบเคยเป็นสมาชิกของทั้งสองหน่วยงาน จึงนับว่าเป็นเกียรติที่ได้ทำโครงการนี้ในนามของคุณสืบ และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เคยร่วมงานกับเขา พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คู่มือการอนุรักษ์ค้างคาวนี้จะสามารถช่วยพวกมันและสัตว์อื่นๆ ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทยด้วย

 

ที่มาโครงการอนุรักษ์ค้างคาว เขียนโดย เบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์ สมาชิกคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้จัดการโครงการค้างคาว