ก่อนจะถึง 30 ปี : สามสหาย ผู้พิทักษ์ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

ก่อนจะถึง 30 ปี : สามสหาย ผู้พิทักษ์ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

 

การทำงานคัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าครั้งสำคัญในรอบสิบปี คืองานเคลื่อนไหวหาทางหยุดถนนจากด่านเจดีย์สามองค์ ที่สังขละบุรี จากจังหวัดกาญจนบุรี ทะลุป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกไปสู่เมืองอุ้มผางจังหวัดตาก ในช่วงปี 48 ที่เสนอเข้าไปในผังเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ที่จนถึงปัจจุบันผมยังจำความรู้สึกที่ผมกับหัวหน้าเขตได้เข้าไปแสดงเจตนาและข้อมูลเหตุผลไม่เห็นด้วยในเวทีจังหวัด และในที่ประชุมก็ยุติโครงการนี้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ผมจำบรรยากาศการทำงานต่างๆได้ดีตั้งแต่การทำเอกสารเผยแพร่ความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การจัดเวทีให้ข้อมูลผลกระทบของการตัดถนนผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหน้าศาลหลักเมืองกาญจนบุรีร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์เมืองกาญฯ เป็นเวทีใหญ่มีคนเข้าร่วมมากมาย จนกระทั่งผมและหัวหน้าเอิบ เชิงสะอาด หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในขณะนั้น เป็นตัวแทนฝ่ายคัดค้านเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชุมผังเมืองซึ่งเป็นต้นเรื่องการตัดถนนที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี และในที่ประชุมเมื่อเห็นว่ามีการคัดค้านจึงได้ยกวาระการพิจารณาโครงการนี้ออกไปจากการประชุมผังเมือง และยกเลิกโครงการนี้มาถึงปัจจุบัน

ผมบันทึกเหตุการณ์คัดค้านถนนครั้งนี้ไว้ในรูปแบบการอ้างถึงบุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักในการอนุรักษ์ป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีนั่นคือเพื่อร่วมรุ่นคณะวนศาสตร์รุ่น 35 สามคน ที่ต่างมีบทบาทในการรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตั้งแต่อดีตมาจนถึงในช่วงเวลานั้น

……………………………………………………………………………………………………………………….. 

วันนั้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีชายวัยเลยกลางคนชื่อพยางค์เดียวว่า เอิบ นามสกุล เชิงสะอาด ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก่อนหน้านี้เขาได้ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าดูแลพื้นที่อนุรักษ์ที่อื่นๆ มาแล้วนานนับสิบปี เขตอนุรักษ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยแห่งนี้ เป็นดินแดนที่พี่เอิบตั้งใจจะทำหน้าที่นักอนุรักษ์ครั้งสำคัญก่อนลาจากชีวิตราชการ ชื่อเสียงของพี่เอิบเท่าที่คนรุ่นหลังได้ยินมาคือความเรียบง่าย ซื่อสัตย์ ใจดี ไม่เคยโกรธใคร แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รักษาผืนป่าโดยเฉพาะผลงานการเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่เอาจริงเอาจังจนสามารถรักษาสถานะภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทยเอาไว้ได้ท่ามกลางความกดดัน ที่รุมล้อม ตั้งแต่โครงการสัมปทานไม้ ตัดถนน ทำเขื่อน เซาะหินประดับ ตัดไม้ไผ่ ล่าสัตว์ ตลอดจนการถากถางพื้นที่ทำไร่ การดำรงตำแหน่งอยู่ที่สลักพระสิบปีของพี่เอิบเป็นสิ่งที่หลายคนมองเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ป่าสลักพระยังคงมีสภาพอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน วันนั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ นับว่าได้ “มือดี” ที่สุดคนหนึ่งของกรมอุทยานฯ ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์และปกป้องคุณค่าระดับโลกของป่าผืนนี้เอาไว้ 

เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่ นักอนุรักษ์ได้ยินชื่อเสียงมากที่สุดโดยเฉพาะในช่วงการคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน มีชื่อว่า วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ เป็นหนุ่มใหญ่ตัวเล็กนักเดินเท้าเข้าป่าที่ทรหดอดทนเป็นเลิศ มีความสามารถพิเศษที่สำคัญคือ การเข้ากับชุมชนพื้นถิ่นดั้งเดิมทั้งกะเหรี่ยงโพล่ว กะเหรี่ยงปากะญอ ได้อย่างดี สามารถประสานวิถีชีวิตการทำไร่ข้าวของชุมชนให้สอดคล้องกับงานอนุรักษ์ได้อย่างลงตัว และที่สำคัญคือในระหว่างสงครามระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีป่าทุ่งใหญ่เป็นสมรภูมิสำคัญแห่งหนึ่ง พี่วัธ อาจจะเป็นข้าราชการคนเดียวที่เดินข้ามพรมแดนความขัดแย้งเข้าไปทำหน้าที่รักษาผืนป่าเอาไว้ได้โดยการยอมรับของทั้งสองฝ่าย วันนี้หากถามชุมชนคนในป่าว่าอยากให้ใครที่อยู่ในเมืองเดินทางเข้าไปเยี่ยมบ้าง แน่นอนว่าหัวหน้าวีรวัธน์เป็นชื่อแรกที่ชาวบ้านเรียกร้องคิดถึง การรักษาผืนป่าทุ่งใหญ่ให้พ้นภัยจากเขื่อนน้ำโจน ข้อมูลและแผนงานการเคลื่อนขบวนของพี่วัธ นับเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญ ในระหว่างการทำหน้าที่ข้าราชการ พี่วัธยังมีบทบาทในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน ถ่วงดุล นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยไม่เคยมีวันหยุดพัก และไม่เคยเอาสถานะและอนาคตทางราชการมาจำกัดอุดมการณ์และบทบาท งานเคลื่อนไหว วันนี้พี่วัธลาออกจากราชการทำหน้าที่ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติที่ไม่รับเงินเดือนมูลนิธิใช้บำนาญเลี้ยงชีพเพื่อทำงานเคลื่อนไหวเชิงนโยบายอย่างเต็มที่แล้ว ยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย 

เมื่อกว่าสิบห้าปีก่อน มีนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเดินข้ามเทือกเขาสูงแห่งผืนป่าห้วยขาแข้งมาร่วมกับหัวหน้าวีรวัธน์ สำรวจคุณค่าของป่าทุ่งใหญ่ที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันกับป่าห้วยขาแข้ง จนได้ผลงานวิชาการชิ้นสำคัญเสนอให้ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งได้รับการเลือกให้เป็นมรดกโลก แม้ว่าเขาผู้นั้นจะไม่ได้อยู่จนเห็นความสำเร็จของการประกาศมรดกโลกแต่เชื่อว่าข้อมูลที่ได้พบของเขาทำให้เขาเชื่อว่านี้คือสิ่งที่จะอยู่ช่วยปกป้องผืนป่าสำคัญผืนนี้เอาไว้ได้ ขาดอยู่เพียงสิ่งเดียวก็คือจะทำอย่างไรให้สาธารณะชนคนไทยรับรู้และให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์เอาไว้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 2533 

หลังจากเขียนรายงานคุณค่าของผืนป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งเสร็จสิ้น สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจยิงตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการรักษาผืนป่าและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรต่อเนื่องกับป่าห้วยขาแข้งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมือวันที่ 9 ธันวาคม 2534 

เอิบ เชิงสะอาด วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ และสืบ นาคะเสถียร เป็นเพื่อนร่วมรุ่น เรียนในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาด้วยกัน ทั้งสามสหายต่างก็มีส่วน “เสียสละ” ลงแรงกายแรงใจเพื่อรักษา “ป่าทุ่งใหญ่” มรดกของโลกให้กับมนุษยชาติ ได้รับความลำบากทุกข์ยากมากน้อยต่างกันตามแต่สภาพการณ์ของแต่ละคนเช่นเดียวกับผู้คิดทำดีเอาจริงเอาจังในบ้านเมืองเราก่อนหน้านี้เคยได้รับมาแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ได้เกิดสถานการณ์ที่สั่นคลอนความมั่นคงทางชีวภาพของทุ่งใหญ่ครั้งใหม่ขึ้นอีก โดยร่างแผนผังเมืองของจังหวัดกาญจนบุรีที่ใช้เวลาศึกษากว่า 2 ปีได้กำหนดแนวถนนจาก อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตัดผ่านทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกเข้าสู่ทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งก็คือ ผ่าป่ามรดกโลกเป็น 2 ซีกนั่นเอง สังคมไทยได้ปะทะสังสรรค์กันในประเด็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมานานกว่า 30 ปี นักต่อสู้ นักอนุรักษ์ทั้งสาม ได้เสียสละความเหนื่อยยาก หรือกระทั่งได้เสียสละชีวิต เช่น สืบ นาคะเสถียร 

 

ภัยคุกคามทั้งจากนโยบายรัฐ และเอกชนยังจับจ้องเข้าใช้ประโยชน์จากป่าทุ่งใหญ่ตลอดมา ในวันนี้และในสถานการณ์เช่นนี้สังคมไทยจะคิดอย่างไรและจะทำอะไรบ้าง เพื่อรักษาป่าทุ่งใหญ่ 

หมายเหตุ : การตัดถนนได้ถูกยกเลิกไปภายหลังที่ภาคีอนุรักษ์ต่างๆได้ทำการคัดค้านเมื่อปลายปี 2548

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ


เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ
บันทึกและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันปลายปี 2548 และรวมเล่มในหนังสือ “ผมทำงานให้พี่สืบ” สำนักพิมพ์อินสปายร์ ในเครือนานมีบุ๊คส์ พ.ศ.2557