ก่อนจะถึง 30 ปี : ถนนคลองลาน-อุ้มผาง

ก่อนจะถึง 30 ปี : ถนนคลองลาน-อุ้มผาง

เวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาผมพบว่างานประสานงานชุมชนในโครงการภาคสนามในป่าตะวันตกนำความลำบากกาย และเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางประสานงานมากมายนั้นไม่สามารถเทียบได้ความลำบากใจในการต่อสู้คัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าโดยนโยบายของรัฐบาลเองโดยพัฒนาโครงการจากนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่นบนพื้นฐานสัญชาตญานมนุษย์ที่มีความต้องการทรัพยากร และความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ๆ อย่างไม่สิ้นสุดของชาวบ้านรอบป่า

ปี 2547 เป็นช่วงเวลาของการเสนอโครงการตัดถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ซึ่งเคยมีแนวถนนตัดไปถึงกลางทางและได้หยุดดำเนินการไปก่อนที่จะทะลุอุ้มผาง เนื่องจากเหตุผลในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่า ในช่วงเวลานั้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำโดยคุณนพรัตน์ นาคสถิต เลขาธิการมูลนิธิสืบ ฯ ในขณะนั้น ร่วมกับ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า และนายเขมทัศน์ ปาลเปรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการได้ตัดสินใจเดินเท้าจากช่องเย็น อุทยานแห่งชาติคลองลานเพื่อสำรวจการฟื้นตัวของป่าบนแนวถนนเก่าเส้นนี้ ซึ่งแทบไม่มีสภาพถนนเหลือให้เห็นและมีรองรอยสัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์พื้นที่มากมาย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเราทำรายงานวิชาการการสำรวจและข้อเสนอแนะเพื่อทักท้วงการพัฒนาโครงการต่อรัฐบาล

ส่วนการทำงานกับประชาชนเป็นงานของผมซึ่งเป็นรองเลขาธิการในคณะนั้น ตัวผมจำสนามแรกของการทดสอบฝีมือตนเองได้ดี ในวันที่ต้องพาสื่อมวลชนไปดูแนวถนนคลองลานอุ้มผางบนช่องเขาลมแรงที่ชื่อ ช่องเย็น บนสันเขาภูเขาสูงของรอยต่อสามพื้นที่อนุรักษ์กลางป่าตะวันตก ป่าแม่วงก์ คลองลาน และอุ้มผาง และไม่นานก็ได้ไปให้ข้อมูลผลกระทบของการตัดถนนกับนักเรียนโรงเรียนอุ้มผาง ในบรรยากาศความขัดแย้งรุนแรงของฝ่ายที่ต้องการพัฒนาแนวถนนผ่าป่าในปีนั้น ทั้งจากนักการเมืองระดับชาติของจังหวัดกำแพงเพชรที่ประสานเป็นทีมแนบแน่นกับการเมืองท้องถิ่นที่อุ้มผางเสนอโครงการต่อรัฐบาล และมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าจะสำเร็จ

เวทีทดสอบฝีมือเวทีแรกของผมย้อนทวนเหตุการณ์ไปได้ดังนี้

เราตัดสินใจรับคำชวนของนักอนุรักษ์ในพื้นที่อุ้มผางทันทีที่ได้ยินว่าจะช่วยประสานให้เกิดเวทีชี้แจงข้อมูลและแสดงความเห็นเรื่องโครงการถนนผ่าป่าสายคลองลาน-อุ้มผาง ที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ

วันนี้กระแสทำถนนเพื่อความเจริญกำลังปะทุโหมกันอย่างหนักจากกลุ่มทุนท้องถิ่น

และนี่ก็เป็นสาเหตุให้กองกำลัง 5 คนของเราเดินทางจากกรุงเทพมาถึงแม่สอดกลางดึก ก่อนเดินทางต่อมายังอำเภออุ้มผางตั้งแต่เช้าฝ่าฝนผ่านเส้นทางถนนสายลอยฟ้าแม่สอด-อุ้มผางอันสวยงามในวันที่ 9 กันยายน 2547 

แม้จะรู้ว่าสถานการณ์วันนี้เหมือนบุกถ้ำเสือและทางไกลแสนไกลสมกับข้ออ้างของฝ่ายสนับสนุน แต่ภาพของการถางป่าทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เกิดจากทั้งชาวบ้านและค่ายผู้อพยพเวิ้งว้างที่อำเภอพบพระที่เป็นทางผ่านก็เป็นแรงกระตุ้นพวกเราให้ทำหน้าที่

อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมประกาศให้นักเรียนมารวมกันที่ห้องประชุมใต้อาคารเรียนหลังจากที่เรามีเวลาเตรียมตัวอยู่ไม่นานนักเมื่อใกล้เวลาบ่ายโมง

ห้องประชุมของโรงเรียนแคบแต่ยาวพอที่จะจุนักเรียนระดับ ม.1 ถึง ม.6 ได้ 400-500 เสียงและความสนใจภาพสไลด์ที่เราเตรียมไว้หน้าห้องที่ถือเป็นอาวุธหนักอย่างเดียวของเราคงมีประสิทธิผลไปไม่ถึงไหน

มีรถปิคอัพคันหนึ่งเลี้ยวเข้าโรงเรียนตามมาสมทบจากแม่สอด… พี่ ๆ คณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกที่เพิ่งโดนข้อหาว่าคัดค้านตัดถนนเพราะกลัวอุ้มผางเจริญกว่าแม่สอดลงมาจากรถ เราไม่มีเวลาทักทายกันมากนัก แต่นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับคำว่า “กำลังใจ”

พวกเราตั้งใจและปรับใช้เทคนิคทุกอย่างที่มีอยู่ในการบอกเล่าให้เห็นความสำคัญของผืนป่าใกล้โรงเรียนที่มีสถานภาพเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางอันเป็นต้นสังกัดของน้ำตกนามกระเดื่องอย่างทีลอซู ที่พวกเด็ก ๆ รู้จักดี ต่อด้วยพยายามคุยถามถึงความรู้และความสัมพันธ์ของคนอุ้มผางกับป่าอุ้มผาง และคนไทยกับผืนป่าอุ้มผาง

เราตั้งใจเล่าถึงความเชื่อมโยงของผืนป่าข้ามสันปันน้ำไปถึงผืนป่าแม่วงก์ และความเชื่อมโยงกับป่ามรดกโลกอย่างห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และพื้นที่ป่าอื่นๆ รวม 17 แห่ง ที่ประกอบเชื่อมกันเป็นผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในเชิงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

จนกระทั่งเล่าถึงความเป็นมาของความคิดการตัดถนนจากฝั่งโน้นเข้ามาจะมีผลกระทบอะไรบ้างกับระบบนิเวศและชุมชน และอธิบายความเป็นมาว่าถนนเส้นนี้เคยตัดขึ้นในอดีตให้ทหารมารบกับคอมมิวนิสต์ แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จเพราะเลิกรบกันก่อนจึงไม่ได้ใช้งาน และปัจจุบันมีมาถึงแค่สันปันน้ำที่ยอดเขาช่องเย็นที่ป่าแม่วงก์ ส่วนที่เหลือก็ปิดตายมาหลายปี

ลองฉายภาพถนนที่ไม่เหลือสภาพหลังจากถูกปิดตายเนื่องจากภาครัฐในอดีตเห็นความสำคัญของการรักษาผืนป่า ปล่อยให้ธรรมชาติน้ำดินเซาะถมจนมีต้นไม้ฟื้นขึ้นเต็มแล้วถามเด็กว่ารูปอะไร แน่นอนว่า…คำตอบต้องเป็น “ป่า” ไม่ใช่ “ถนน”

นักการเมืองกำแพงเพชรเสนอนายกในการทัวร์ภาคเหนือเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมทีผ่านมาว่าขอโครงการ “ซ่อมถนน” เส้นนี้ และนายกคงไม่รู้ข้อมูลจึงอนุมัติงบฯกลางไปให้ นักการเมืองท้องถิ่นอุ้มผางก็สร้างกระแสรับขึ้นมาอย่างทันควัน

ถ้าถนนเส้นนี้สำเร็จจริง อาจจะเกิดการไถผ่าป่าที่ฟื้นคืนสภาพสมบูรณ์โดยไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบ ถือได้ว่านายกและประเทศไทยถูกหลอกครั้งใหญ่เลยทีเดียว

นอกจากผลกระทบต่อป่าที่ต้องถูกถนนตัดออกจากกันแล้ว ต่อไปแนวคิดจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่มาอุ้มผางทีลอซูให้มีความยั่งยืนจะกลายสภาพไปสู่การท่องเที่ยวแบบล้างผลาญและเปลี่ยนรูปแบบของการเที่ยวอุ้มผางที่ต้องค้างหลายวันเพื่อใกล้ชิดธรรมชาติ มาเป็นทางผ่านแบบฉิ่งฉาบทัวร์

ในช่วงสุดท้ายหลังจากเสียงเพลงจากสต๊าฟผู้ทำหน้าที่วงดนตรีจำเป็นของเราจบลง สต๊าฟฝ่ายกิจกรรมของมูลนิธิได้ขอร้องให้นักเรียนอุ้มผางช่วยกันเขียนความรู้สึกลงในโปสการ์ดของมูลนิธิเพื่อลองประเมินผลดู พร้อมกันนั้นให้ช่วยเขียนลงในกระดาษโสเตอร์แผ่นใหญ่อีกหลายแผ่นด้วย

ข้อความในการ์ดที่กลับมาถึงเรา มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านต่อโครงการถนนสู่อุ้มผางในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่มีหลายคนที่ได้แสดงความเห็นถึงความคิดที่ต้องการการพัฒนาที่พอดี และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนก็เขียนตรง ๆ ว่า

“ชอบความเจริญแต่ไม่อยากทำลายป่า”

นี่เป็นครั้งแรกๆของเราที่เข้าไปสื่อสารต่อระดับเยาวชนที่อุ้มผาง

ไม่เห็นด้วย 100 % เพราะถ้ามีถนน ป่าไม้ก็หมด สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย ป่าก็รักชีวิตเหมือนเรา ความเจริญทางด้านวัตถุ สู้ความเจริญทางด้านจิตใจไม่ได้หรอก”

 

“ทำไมเราไม่นำเงินที่จะสร้างถนนตั้งพันกว่าล้านมาพัฒนาอุ้มผางในด้านต่างๆ ไม่ดีกว่าหรือยังไง ไม่จำเป็นต้องตัดถนนเส้นนี้อุ้มผางก็เจริญได้…คนเราต้องคิดให้ไกลๆ อย่าคิดเพียงแค่ผลจะกลับมาทันที ส่วนความคิดที่ว่าเวลาชาวอุ้มผางเกิดเจ็บป่วยแล้วต้องเดินทางไปแม่สอดและบางทีไปตายกลางทาง มันก็จริง แต่ทำไมไม่นำเงินสร้างถนนมาพัฒนาทางด้านการแพทย์ให้มากกว่านี้ คนเราจะอยู่ที่ไหนก็ต้องตายทุกคนไม่ว่าจะอยู่หน้าโรงพยาบาลก็หยุดไม่ให้ตายไม่ได้”

“เรามาร่วมกันผลักดันให้อุ้มผางมีความสมบูรณ์พร้อมอย่างพอดีๆ โดยไม่ต้องตัดถนนกันดีไหม”

นี่คือความคิดเห็นบางส่วนของเยาวชนอุ้มผาง

หมายเหตุ : ในปี 2548 รัฐบาลมีคำสั่งชะลอโครงการนี้ไว้ จนถึงปี 2556 ก็มีการฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ผมเคยไปทำงานวันนั้นก็ประกาศตัวสนับสนุนถนนเส้นนี้ด้วย แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของโครงการมากนัก

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ


เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน พ.ศ. 2547 และรวมเล่มในหนังสือ ผมทำงานให้พี่สืบ 2557