รำลึก สุรพล สุดารา โดย รตยา จันทรเทียร

รำลึก สุรพล สุดารา โดย รตยา จันทรเทียร

ตามตราสารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หมวดที่ 5 การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ ข้อที่ 9 ระบุว่า มูลนิธิดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 30 คน ประกอบด้วยประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานกรรมการมูลนิธิ 3 คน เลขาธิการมูลนิธิ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ รองเลขาธิการ และตำแหน่งอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร

ข้อที่ 11 วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิ ให้ปฏิบัติดังนี้ คือ ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควร

ข้อที่ 12 กรรมการดำเนินงานของมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี

ข้อที่ 15 กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยจับฉลากในวาระแรก อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก

จะเห็นได้ว่า ตราสารมูลนิธิได้กำหนดวิธีการเปลี่ยนตัวกรรมการมูลนิธิไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้เขียนรับหน้าที่ประธานมูลนิธิใกล้ครบ 10 ปี และอายุย่างเข้า 70 ปี ได้พิจารณาว่ามูลนิธิสืบฯ​น่าจะได้มีประธานกรรมการที่หนุ่มกว่า สดกว่า และมีความสามารถเหมาะสมกับงานที่มูลนิธิสืบฯ กำลังจะทำต่อไป

วาระการประชุมเรื่องตำแหน่งประธานจึงลงความเห็นให้ ผศ.ดร.สุรพล สุดารา ซึ่งเดิมเป็นรองประธานมาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิแทน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2544

ผศ.ดร.สุรพล สุดารา เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อก่อนและเป็นอาจารย์ก็ได้เข้าร่วมกับวง CU Band ที่ชาวจุฬาฯ ในยุคนั้นจำได้ดี ตอนปี ๒๕๑๔ ได้ทุนไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกชีววิทยาทางทะเล University of Hawaii U.S.A. และทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกาอีก 7 ปี เมื่อกลับประเทศไทยก็ได้ทำหน้าที่อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นอาจารย์ที่รักและชื่นชมของเหล่าลูกศิษย์

ผศ.ดร.สุรพล ยังเป็นนักสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของประเทศ ได้ก่อตั้งชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม ในคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล ดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศในทุกมิติ มิได้สนใจใฝ่รู้เฉพาะเรื่องทะเลและชายฝั่ง เรื่องป่าเขาสัตว์ป่า ต้นน้ำ เหมืองแร่ ก็ให้ความสนใจ เรื่องที่ทำให้คนทั่วไปได้ยินชื่อ ผศ.ดร.สุรพล ก็คือเหตุการณ์ “แทนทาลั่ม ภูเก็ต”

เมื่อเรื่องการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนกลับมาเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2528–2530 เราจึงมีผู้ทรงความรู้ และพร้อมอธิบายถึงความไม่คุ้มค่าในการแลกทรัพยากรธรรมชาติของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกับเขื่อนน้ำโจน

ผศ.ดร.สุรพล สุดารา ได้ร่วมงานกับคุณสืบ นาคะเสถียร และนักวิชาการอีกหลายท่านในการจัดทำข้อมูล ให้เหตุผลชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกรณีนี้ ผศ.ดร.สุรพล ได้เคยบันทึกความประทับใจต่อเรื่องนี้เอาไว้ว่า ในวันประชุมที่มีมติให้ชะลอโครงการเขื่อนน้ำโจนไปก่อน และคุณสืบเมื่อทราบถึงกับกระโดดกอด ผศ.ดร.สุรพล พูดพร้อมน้ำตาซึมว่า “เราทำได้แล้ว เราทำได้แล้ว”

งานใหญ่อีกงานหนึ่งที่ ผศ.ดร.สุรพล มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรม คือ การจัดสัมมนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “สิ่งแวดล้อม 33” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2533 ในงานนี้คุณสืบได้บรรยายพร้อมภาพสไลด์เรื่อง “ปัญหาและแนวทางแก้ไขสัตว์ป่าของห้วยขาแข้ง” คุณสืบได้กล่าววลีที่พูดกันมาจนถึงวันนี้ คือ “ผมพูดในนามของสัตว์ป่า” ก็มี ผศ.ดร.สุรพล เป็นเลขาธิการการจัดงาน หรือเรียกว่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันงานในทุกๆ ขั้นตอน

ผลสัมฤทธิ์ของงานนับว่าได้ผลดียิ่ง มีหลายเรื่องที่ปัญหาได้รับการคลี่คลาย ขณะที่งานสิ่งแวดล้อมก็ถูกจัดต่อเนื่องและใหญ่ขึ้นทุกปี จากปีแรกมี 15 องค์กรร่วมจัด ปีที่สอง “สิ่งแวดล้อม 34” เพิ่มเป็น 30 องค์กรร่วมจัด และเพิ่มขึ้นอีก จำนวนคนที่เข้าร่วม ต้องการการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องที่พัก การเดินทาง สถานที่พัก ฯลฯ ยังมีเรื่องงานวิชาการ เอกสารสัมมนาต่างๆ และที่สำคัญคือ แหล่งทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกที จนท้ายที่สุดงานสิ่งแวดล้อมประจำปี โดย องค์กรเอกชนร่วมกันจัดก็เกิดภาวะลูกโป่งแตก

ผศ.ดร.สุรพล สุดารา เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทสำคัญในการศึกษาทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล ผศ.ดร.สุรพล มีความสามารถในการกลั่นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ เป็นแผนงาน และกิจกรรม เป็นผู้บุกเบิกเผยแพร่ความรู้ด้านแนวปะการังและหญ้าทะเล และได้สร้างลูกศิษย์เป็นนักวิชาการ นักวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลอีกจำนวนมาก

ผศ.ดร.สุรพล สุดารา ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งแต่ 18 กันยายน 2544 เป็นช่วงที่มูลนิธิกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 กำลังเตรียมเข้าทำงานในฐานะองค์กรกลางระหว่างชุมชนในป่ากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกำลังทำการสำรวจวิจัยเกาะพระทองเพื่อการอนุรักษ์นกตระกรุมซึ่งบ้านของเขากำลังเหลืออยู่เพียงสองแห่งในประเทศไทย คือ ที่เกาะพระทอง และพรุโต๊ะแดง

ในฐานะประธาน ผศ.ดร.สุรพล ได้ย้ายที่ทำการสำนักงานมูลนิธิสืบฯ จากอาคารนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตร (สมก.) ถนนพหลโยธิน ใกล้กรมป่าไม้ มาอยู่ที่ อาคารหมายเลข 4 เป็นตึกสามชั้น ที่ตั้งเดิมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยศเส ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบ มีพื้นที่กว้างขวางกว่าเดิมแต่ค่าเช่าย่อมเยากว่ามาก

ขณะเดียวกันก็ได้เสริมความเข็มแข็งการทำงานให้กับมูลนิธิสืบฯ โดยได้เชิญ ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี ลูกศิษย์และเลขาธิการชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิด้วย

ในช่วงกลางปี 2546 น้องๆ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ และผู้เขียนสังเกตว่า ผศ.ดร.สุรพล ผอมลงมาก แต่ก็ยังสดชื่นมีชีวิตชีวาเหมือนเคย ไม่มีอาการของคนป่วย จึงต่างมีความเข้าใจว่าเธอกำลังลดความอ้วน มาได้ข่าวว่า ผศ.ดร.สุรพล จากไปด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งทุกคนที่มูลนิธิต่างตกใจและเสียใจมาก ทราบว่าอาจารย์ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลจริงๆ ประมาณหนึ่งเดือนก็ถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2546

การจากไปของ ผศ.ดร.สุรพล ทำให้ต้องเลือกตั้งประธานมูลนิธิคนใหม่ จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อดำเนินการตามตราสาร

มูลนิธิมีกรรมการที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นประธานมูลนิธิได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทว่าแต่ละคนซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมก็มีกิจการให้ดูแลหลายด้านพร้อมกันไปเช่นกัน มีแต่ผู้เขียนซึ่งมีเวลาพอ ที่ประชุมจึงมอบหน้าที่ประธานให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 18 กันยายน 2546 เป็นปีที่ 13 ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้เขียนก็ทำหน้าที่ประธานมาตลอดจนถึงปีที่ 25 จึงลาออกและที่ประชุมจึงเลือกให้ อ.ศศิน เฉลิมลาภ อดีตเลขาธิการมูลนิธิเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิตั้งแต่ 18 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

แม้ ผศ.ดร.สุรพล สุดารา จะจากไปหลายปีแล้ว แต่เชื่อว่าชาวมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตลอดจนเหล่าลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงาน ต่างยังคงระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ทั้งแก่องค์กร ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา ทะเล อยู่อย่างมิเคยเสื่อมคลาย

 


ผู้เขียน

+ posts

พร้อมที่จะทำงานในมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานเจตนาของคุณสืบ ผู้เสียสละได้แม้ชีวิตของตน เพื่อชีวิตของสัตว์ป่าและป่า และเพื่อสนองคุณแด่ทุกพระองค์และทุกท่านที่มีศรัทธาต่อคุณสืบ ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ร่วมทำงาน รวมถึงบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อให้ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการสืบสานเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียร ไปนานเท่านาน