[PHOTO] ผ้าทอจอมป่า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ในผืนป่าตะวันตก

[PHOTO] ผ้าทอจอมป่า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ในผืนป่าตะวันตก

ภายใต้โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชนควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรของชุมชน

 

 

อดีตกาลนานมาชาติพันธุ์โผล่วและปกาเกอะญอในผืนป่าตะวันตก เคยมีภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไว้ใช้สวมใส่ และใช้ในงานพิธีกรรม-ความเชื่อ ด้วยเส้นใยและกลวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ออกมาเป็นลวดลายสละสลวยเฉพาะพื้นถิ่น ลายที่ทอ สีที่ใช้ ต่างมีความหมายที่บ่งบอกถึงวิถีความเป็นอยู่ มาจนถึงทุกวันนี้ชาติพันธุ์โผล่วและปกาเกอะญอในผืนป่าตะวันตกหลายชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งวิถีอันดีงามเหล่านี้ไม่ให้เลือนหายไปไหน

กว่าจะได้ชุดผ้าทอสวยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีกระบวนการหลากหลายขั้น เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย ใช้เวลา 1 ปีกว่าจะได้เก็บเกี่ยว ได้มาก็เก็บเมล็ดออก เอาฝ้ายไปตีให้ฟู หญิงสาวต้องใช้ความอดทนสูงเพราะจะเจ็บมือเอามากๆ จากนั้นต้องอาศัยความชำนาญในการดึงด้ายให้เป็นเส้นเสมอกันไม่เป็นปม แล้วจึงนำไปย้อมด้วยสีธรรมชาติ ได้มานำไปม้วนเป็นก้อนกลมเพื่อสะดวกในการนำมาขึ้นด้ายหรือวนได้แล้วจึงเริ่มการทอให้เป็นผืนผ้า

 

 

ความเชื่อบนผืนผ้า
เรื่องราวที่มากกว่าลวดลาย

“ชุดกะเหรี่ยง” สามารถสวมใส่ได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพราะมีลักษณะเหมือนกันทั้งสองด้าน เปรียบเหมือนกับ “การทำความดี” คนกะเหรี่ยงจะสอนลูกหลานให้ทำความดีทั้งต่อหน้าและลับหลังนั่นเอง

รู้ไหม ทำไมเสื้อกะเหรี่ยงไม่มีกระเป๋า ที่ไม่มีกระเป๋าจึงไม่ต้องมีอะไรซุกซ่อน ซ่อนเร้น อำพราง

และเสื้อกะเหรี่ยงไม่มีคอปก แขนเสื้อ กระดุม วิถีกะเหรี่ยงจึงเรียบง่ายสมถะ กินพออิ่ม นุ่งพออุ่น

 

เสื้อเซโม่ซู หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เชซู”

เชซู เป็นพื้นที่การนำเสนออัตลักษณ์ตัวตน
เชซู เป็นพื้นที่แสดงพลังการเป็นผู้สร้างของผู้หญฺง
เชซู เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะของผู้หญิง
เชซู เป็นพื้นที่การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม
บทบาทหน้าที่ของ เชซู คือเป็นเครื่องมือการส่งต่อ
บทบาทหน้าที่ของ เชซู คือการให้การศึกษา
บทบาทหน้าที่ของ เชซู เป็นเครื่องมือควบคุมและรักษาแผนของสังคม
บทบาทหน้าที่ของ เชซู คือสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนปาเกอญอ

 

 

ชุดเชวา
อัตลักษณ์ของหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้แต่งงาน

บริเวณแขนและลำคอที่เย็บด้วยด้ายสีแดงนั้นสื่อว่าห้ามชายหนุ่มล่วงเกิน จับหรือสัมผัสบริเวณนี้ของหญิงสาวโดยเด็ดขาด สีแดงคือไฟ เจอสีแดงก็ต้องหยุด บางครั้งอาจถัดทอด้วยสีอื่นๆ

 

โครงการผ้าทอจอมป่า
สืบสานวิถีชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่า

ภายใต้แนวคิดที่ว่า ป่าและสัตว์ป่าจะอยู่ได้ คนก็ต้องอยู่ได้ด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีความเห็นตรงกันว่าการส่งเสริมภูมิปัญญา วัฒนธรรมการทอผ้าจะสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยตรง จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนวิถีการทอผ้าจนเกิดเป็นโครงการผ้าทอจอมป่าขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

1. เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนกลับมาใช้วิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นมิตรกับผืนป่าในการทอเครื่องนุ่งห่ม เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การลดการพึ่งพิงป่าใหญ่ในการใช้ทรัพยากรเพื่อหารายได้

2. เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และหวงแหนในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง สร้างความซื้อสัตย์ และการเก็บออมเงินในชุมชน

3. เพื่อให้คนในชุมชนเกิดรายได้ พอเพียงต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การเกื้อหนุนพึ่งพาและหมุนเวียนรายได้ในชุมชน

 


เรื่อง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ วรกร พัวพัน / พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร / พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร