เสือดำแห่งป่าอุ้มผาง

เสือดำแห่งป่าอุ้มผาง

ภาพเสือดำเล่นกล้องที่ปรากฏออกสื่อสาธารณะเมื่อราวปลายเดือนมีนาคม 2560 ทำให้เกิดความสนใจในหมู่สาธารณชนเป็นอย่างมาก และทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเองก็มีความยินดีไม่แพ้กัน

ซึ่งจุดที่พบเสือดำตัวดังกล่าวคือบริเวณเส้นคลองลานอุ้มผาง หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ซึ่งปิดถนนเส้นนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2520

ภาพเสือดำเล่นกล้องที่ออกสื่อ ชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ภายหลังการปิดถนนได้อย่างชัดเจนนายมงคล คำสุข หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ชี้แจงให้ฟังว่า เสือดำเป็น 1 ในสัตว์ 10 ชนิด (เสือโคร่ง เสือดาวเสือดำ ช้าง สมเสร็จ เก้งหม้อ กวาง เลียงผา กระทิง วัวแดง หมี) ที่อยู่ในระหว่างการติดตามการฟื้นฟูและการกระจายตัวของสัตว์ป่าในพื้นที่แห่งนี้

พฤติกรรมของเสือดำที่เราเรียกว่าเล่นกล้องหัวหน้ามงคล อธิบายว่า เพราะสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์กินเนื้อ (Carnivore) ที่ประกาศอาณาเขตการมีสิ่งแปลกปลอมในที่นี้คงเป็นกลิ่นมือของเจ้าหน้าที่ที่ติดอยู่กับกล้องมันจึงเข้ามาดมด้วยความสงสัยอยากรู้

ไม่เพียงแต่เสือดำตัวนี้เท่านั้นที่เล่นกล้อง แต่ยังมีสัตว์หลายชนิดที่เข้าใกล้กล้องเมื่อดมแล้วแสดงออกแต่ต่างกันไป บางประเภทอย่างหมูป่าดมแล้วถอยจนหงายหลังเลยก็มี เสือโคร่งมานอนหอบแฮกหน้ากล้องก็ยังมี เราก็ได้เห็นพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์มากขึ้น

 

 

เป้าประสงค์ของการติดกล้องดักถ่ายภาพมีขึ้นเพื่อการตรวจติดตามการฟื้นฟูการกระจายตัว การเดินทางเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า และตรวจสอบภัยคุกคาม ที่จะนำไปประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลในการจัดการบริหาร และป้องกันที่มีความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่น เรานำกล้องไปติดในพื้นที่หนึ่งระยะเวลาหนึ่งเดือน แต่ไม่มีสัตว์ผ่าน แต่อีกจุดหนึ่งที่เราตั้งกลับพบว่ามีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ข้อมูลที่ได้นี้จะนำไปสู่การออกแบบดูแลพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันไป

หากเป็นเสือโคร่งจะสังเกตได้ชัดเจน เนื่องจากเสือโคร่งมีลายบนตัวที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละตัว ทำให้เราสามารถจำแนกได้ว่าเป็นเสือโคร่งตัวเดียวกันหรือไม่ เมื่อทราบว่าเป็นตัวเดียวกันพบมันเดินผ่านกล้องจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ก็ทำให้เรารู้ข้อมูลการเคลื่อนย้ายของมัน

รวมทั้งหากเสือโคร่งที่อาศัยในพื้นที่ไม่ปรากฏภาพในกล้องของพื้นที่ หมายถึงว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเสือโคร่งตัวนั้น เช่น อยู่จุดที่ไม่ได้ติดตั้งกล้อง ถูกล่า หรือมันแค่เดินทางไกลไปอยู่ในพื้นที่อื่น หากมีการประสานและพบว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวไปปรากฏในกล้องดักถ่ายภาพของหน่วยงานพื้นที่อื่นๆ นั่นแหละคือคำตอบว่ามันได้เดินทางไกลออกจากพื้นที่ไปแล้วนั่นเอง เช่น กรณีหนึ่งเมื่อต้นปี 2560 เสือโคร่งบุญเหลือ หรือรหัส HKT178 ที่เคยเป็นเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งและไปพบตัวอีกทีที่ อ.เถิน จ.ลำปาง

สิ่งเหล่าแสดงให้เห็นว่าภาพจากกล้องดักถ่ายภาพ มิได้เป็นเพียงภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าต่อการจำแนกตัว (ในกรณีเสือโคร่ง) การติดตามประชากร การติดตามการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่าแต่ละชนิด การตรวจสอบภัยคุกคาม และข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์นำไปประกอบการวิเคราะห์วางแผนการป้องกันดูแลแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องปรามภัยคุกคามต่างๆ และประเมินการตั้งจุดตรวจหรือด่านตรวจได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งหัวหน้ามงคลยังบอกเพิ่มเติมว่า ภาพที่ได้สามารถนำไปประกอบสื่อต่างๆ เพื่องานประชาสัมพันธ์ได้อีกด้วย

และภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพนี้ ไม่ได้สร้างความยินดีให้แก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเองก็แสดงความยินดีไม่แพ้กัน

 

เจ้าหน้าที่บางคนทำงานมาเป็นสิบกว่าปีเพิ่งได้เห็นทั้ง ช้าง กระทิง เสือโคร่ง มันมีอยู่ในพื้นที่จริงๆ ทั้งที่ผ่านมาเดินตามแต่รอยมันมาตลอด โดยที่ไม่รู้ว่าตัวมันอยู่ไหน ไม่รู้ว่าที่อนุรักษ์รักษาที่ทำไปมันทำฟรีรึเปล่า ขาก็เริ่มพัง หลังก็เริ่มไป ที่ดูแลกันมาขนาดนี้นี่ยังไม่เพียงพออีกหรือ ที่จะบอกว่าป่ามันสมบูรณ์

 

นี่คือความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ที่นำเสนองานให้หัวหน้ามงคลฟัง มันบ่งบอกว่าสิ่งที่เขาทำมามันไม่สูญเปล่า จากในอดีตที่เดินไปเรื่อยๆ เห็นร่องรอยก็เก็บข้อมูลไม่เคยเจอตัว ไม่รู้มีหรือไม่มี พอพบภาพที่ช่วยยืนยันตรงนี้ก็มีกำลังใจตามมามาก ช่วยสร้างกำลังใจในการทำงานที่จะรักษาทวีคูณ

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร