เดินเทรลอาณาจักรนกหัวขวานในงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร

เดินเทรลอาณาจักรนกหัวขวานในงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร

ระหว่างการเดินบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติอาณาจักรนกหัวขวานนั้นดูจะอบอ้าวเล็กน้อยด้วยแดดบ่ายคล้อยเมฆลับหายไปจากน่านฟ้า เหลือเพียงแต่แดดอุ่นร้อนแต่ไม่ระคายผิวนักเนื่องจากใบไม้ช่วยบดบัง

ป่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่เดิมที่เป็นส่วนหนึ่งใน 3 แสนไร่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่กรมป่าไม้ในสมัยนั้นอนุมัติให้บริษัทไม้อัดไทยเข้ามาทำไม้ก่อนจะยกเลิกการสัมปทานไม้ทั่วประเทศในเวลาต่อมา เรื่องราวดังกล่าวผ่านมา 30 ปีแล้ว ต้นไม้ใหม่ๆ ได้เติบโตสูงชะลู่กลายเป็นโรงอาหารและบ้านของสัตว์ป่า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเส้นทางไว้ศึกษาธรรมชาติในอาณาจักรแห่งนี้

คณะเดินทางประกอบไปด้วยทีมเยาวชน ครอบครัวนักดูนก นำทีมเดินทางด้วยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ไม่ลืมจะพกพาอาวุธประจำกาย กล้องส่องทางไกลหรือไบนอค มาพร้อมให้ลูกทีมหยิบยืมตามสะดวก 

ระหว่างทางพบเจอทั้งร่องรอยสัตว์ป่า เสียงนกนานาๆ ขับขานแต่แฝงเร้นกาย ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับมือสมัครเล่นที่ริอ่านมาดูนกมักประสบภัยด้วยการหานกไม่เจอและต้องนกไปตามระเบียบ ตัวผู้เขียนก็เช่นกัน ดังนั้น จึงยกกล้องถ่ายวิวทิวทัศน์ระหว่างทางไปเรื่อยเปื่อย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นนี้มีระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ไต่ขึ้นเนินบ้างแต่ไม่ใคร่สูงชัน เดินได้สบายทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

เราเดินไปได้พักใหญ่พบทั้งรอยเท้าสัตว์ป่าคุ้ยดินริมทาง กอไผ่ขวามือเสียดสีกันพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชี้ชวนดูไปใต้กอไผ่พร้อมเล่าว่า นั่นหน่อไม้ที่ช้างชอบ อนึ่งข้างทางที่ผ่านมานั้นปรากฏรั้วพังช่วงหนึ่ง นั่นก็ฝีมือพี่ช้างแสนซน ผู้เขียนกลืนน้ำลายหวังในใจว่าช้างแสนซนจะขี้อายขึ้นอีกหน่อย

หากชื่นชอบการดูนกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต้องยกให้เส้นทางนี้ จุดพักระหว่างทางนั้นเพียงแค่เหลียวซ้ายแลขวาผู้เขียนก็ได้ถ่ายนกได้เป็นตัวแรกของวัน ซึ่งแม้ว่าเลนส์ NIKKOR 70-300mm จะไม่ใช่ระยะที่เอื้ออำนวยนัก แต่ก็พอกล้อมแกล้มให้หัวใจได้พองชื้นพอสมควร

ครอบครัวนักดูนกบอกว่านกชนิดนี้ชื่อ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ เธอบอกระหว่างขอให้ซูมหางเพื่อยืนยันความแน่ใจอีกหนหางโค้งประมาณนี้แหละ แต่ถ้าเป็นบ่วงเล็กห่างจะเป็นแบบนี้เธอกล่าวพร้อมวาดมือให้เห็นภาพ

เดินถึงร่องน้ำที่สายธารแห้งตามฤดูกาลพบร่องรอยสัตว์กีบ จำพวก กระทิง เก้ง กวาง

เดินไปเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่บรรยายสรรพคุณพืชที่พบระหว่างทางบ้างกินได้บ้าง แม้แต่สัตว์ยังไม่กินบ้าง นำไปใช้เป็นยารักษาโรคท้องอืดท้องเฟ้อหรือห้ามเลือด น้องนักดูนกรุ่นเยาว์เลยอยากทดสอบประสิทธิภาพของสมุนไพรด้วยการบอกให้แม่เป็นแผลจะได้นำสมุนไพรไปทดลองด้วยความกระตือรือร้นจนแม่ ญาติ และเจ้าหน้าที่หัวเราะเสียงใส

ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่พบจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก มักจะเป็นต้นเต็ง ต้นรัง เพราะบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรัง เปลือกไม้ปรากฏร่องรอยการผ่านไฟป่ามาแล้วมีสีส้มบ้าง รอยไหม้บ้าง ดั่งรอยแผลของมนุษย์บนร่างกายที่มีรอยขีดข่วนให้เห็นตามประสบการณ์ สิ่งที่พบเจอ ก่อนจะจางหายไปตามการเวลาเมื่อระบบร่างกายการรักษาแผล

ต้นไม้ชนิดนี้เองก็เช่นกัน ในป่าเต็งรังตามธรรมชาติมักเกิดไฟป่าขึ้นตามวาระธรรมชาติ นั่นคือโลกของป่าเต็งรังที่ต้นเต็งต้นรังนั้นคุ้นเคย ต้นไม้ที่จะเติบใหญ่และมีที่ยืนในสังคมนี้อย่างเต็งรังจึงต้องเป็นต้นไม้ที่ทนไฟ ร่างกายของต้นเต็งหรือต้นรังจึงมีเปลือกไม้หนาสามารถทนไฟ เมื่อเกิดไฟจึงไหม้เพียงแค่เปลือก เนื้อไม้ยังแข็งแรง ต้นไม้สามารถเติบใหญ่ได้ต่อไปตามวัฏจักรของตนเอง

ส่วนหญ้าตามพื้นดินหรือลูกไม้ต่างๆ หลังป่านี้ถูกไฟไหม้ไปก็รอฝนเติมความสดใสก่อนจะผลิบานงอกขึ้นมาเป็นหญ้าอ่อนใหม่ให้สัตว์กีบได้กินอย่างเอร็ดอร่อย

สำหรับมนุษย์แล้ว การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมเองก็คงไม่ต่างกันเท่าใดนักที่ต้องยืนให้ได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ฝนตกก็กางร่มกันฝน แดดร้อนก็ทาครีมป้องกันรังสีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ เป็นต้น

บริเวณนี้ซึ่งเป็นที่ชุกชุมจนสามารถเรียกได้ว่านี่คืออาณาจักรนกหัวขวานนั้น พบนกหัวขวานพลุบๆ โผล่ๆ จำนวนมาก ยิ่งยืนนาน ยิ่งรักษาความสงบเงียบ ดวงตาจดจ้องในระดับสายตา ก็จะเห็นนกหัวขวานหลายจุด

พวกมันขยับพลุบโผล่เร็วชนิดที่ยกกล้องขึ้นมาถ่ายไม่ทัน ยืนมองด้วยตาเปล่าตามเหล่านักดูนกที่ยกมือชี้พิกัดเป็นเรื่องง่ายกว่า แต่ที่ยากคือบางจุดก็ไกลเกินกว่าระยะสายตา หรือคิดอีกทีสีของพวกมันอาจกลมกลืนกับต้นไม้จนแยกเองไม่ออกก็เป็นได้

ว่ากันว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้สามารถพบนกหัวขวานได้ถึง 12 ชนิด ด้วยกัน ดังนี้ นกหัวขวานจิ๋วคิ้วขาว นกหัวขวานด่างแคระ นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง นกหัวขวานเขียวหัวดำ นกหัวขวานแคระจุดรูปหัวใจ นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกหัวขวานสีตาล นกหัวขวานเล็กหงอนเหลือง นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง นกหัวขวานใหญ่สีดำ และนกหัวขวานใหญ่สีเทา

แน่นอนว่าผู้เขียนเห็นแค่หลังไวๆ สีดำๆ ผลุบๆ โผล่ๆ ในระดับสายตาเท่านั้นเอง อย่างดีหน่อยก็เห็นในระยะไม่ไกลนัก แต่ก็เลิกความคิดที่จะถ่ายพวกมันไปแล้ว ปลอบใจตัวเองว่าอย่างน้อยก็เคยเจอและถ่ายนกหัวขวานสามนิ้วหลังทองระแวกบ้านพักคุณสืบ นาคะเสถียรมาแล้ว

แต่บริเวณนี้ไม่ได้พบแค่นกหัวขวานเท่านั้น ยังมีนกชนิดอื่นๆ พบรังจอมปลวกขนาดใหญ่ ร่องรอยกวางลับเขากับต้นไม้อีกด้วย ระแวกนี้ไม่ไกลจากถนนทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านัก จึงได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์เดินทางผ่านเข้ามาอยู่บ้าง บางคันเสียงดังไปหน่อยในความรู้สึกส่วนตัว สัตว์ป่าไม่น่าจะปลื้มใจนัก

ถัดออกไปหน่อยพบค้างคาวจำนวนหนึ่งห้อยหัวงีบหลับยามบ่ายแก่ๆ เจอพวงหางพญากระรอกที่หลบลี้หนีหน้าอยู่บนง้ามต้นไม้สูง สายลมหอบความเย็นสดชื่นมาพร้อมเสียงเสียดสีของแมกไม้ การงีบยามนี้จึงเป็นเรื่องน่ากระทำตามสัตว์ทั้งหลาย

การทายชนิดนกของเด็กน้อยและเจ้าหน้าที่ดูจะเป็นสิ่งรื่นเริงบันเทิงใจพอสมควร เพราะหลังเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติเสร็จทั้งคู่ก็พากันเดินพูดคุยเคียงคู่ไปกับเจ้าหน้าที่เขต น้องเล่าว่าแถวบ้านก็เจอนกหลายชนิดเช่นกัน

การเดินทางเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอาณาจักรนกหัวขวานครั้งนี้แม้ไร้นกหัวขวานในภาพถ่าย แต่ธรรมชาติที่แวดล้อมระหว่างทางทำให้ผู้เขียนได้อิ่มเอมใจอย่างน่าประหลาด

หากไม่มีเวลาออกเดินทางไปเที่ยวไกลๆ ลองเงี่ยหูฟังเสียงแล้วเดินตามหานกในระแวกบ้านอย่างที่ผู้เขียนโดนนกกางเขนมาปลุกทุกเช้าตรู่แล้วคุณจะพบว่าธรรมชาติอยู่ใกล้แค่เอื้อม

 


เรื่อง/ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร