วิเชียร ชิณวงษ์ ที่รู้จักและได้ร่วมงาน

วิเชียร ชิณวงษ์ ที่รู้จักและได้ร่วมงาน

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ชื่อของวิเชียร ชิญวงษ์ คงไม่ใช่ชื่อที่ใครหลายคนจะคุ้นหูมากนัก

แต่กลับคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงป่าไม้ หรือคนทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ เราต่างรู้ได้ว่านี่คือชื่อของข้าราชการตัวจริงคนหนึ่ง ที่มีผลงานด้านปราบปรามการผู้กระทำความผิดด้านการบุกรุกป่ามาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่มรดกโลกหรือพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ของประเทศ ซึ่งผู้อ่านหลายคนคงได้รับฟังกิตติศัพท์ของหัวหน้าวิเชียรผ่านสื่อต่างๆ มาแล้วไม่น้อย

ในทีนี้เราจะไม่ขอเล่าซ้ำในเรื่องราวเหล่านั้น แต่จะชวนคนทำงานอนุรักษ์ที่มีโอกาสคลุกคลีกับหัวหน้าวิเชียรมาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานร่วมกับชายคนนี้ให้ฟัง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวน นริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก และมนตรี กุญชรมณี เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พื้นที่กาญจนบุรี ที่ปัจจุบันทำงานประสานงานกับหัวหน้าวิเชียรโดยตรงเพื่อพัฒนาระบบงานอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมในผืนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ตรงนี้

 

.

นริศ บ้านเนิน

“ผมเป็นผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่คุ้มครอง ทำงานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหัวหน้าวิเชียร ชินวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกอยู่ คือการประสานงานลาดตระเวนให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู

“ซึ่งมีเป้าหมายพื้นที่หลัก 3 แห่ง ได้แก่ (1) โซนทินวย เพื่อลดภัยคุกคาม ซึ่งจะมีชุมชนคลิตี้อาศัยอยู่ทางเข้าเขตทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (2) โซนเขาเขียวเขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสูงทั้งสัตว์ป่านานาชนิด เป็นพื้นที่แบ่งเขตระหว่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และ (3) โซนป่าโปตาน่าซึ่งเป็นการลาดตระเวนเพื่อนกเงือก”

“จากที่ได้ทำงานร่วมกัน ในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทุกครั้ง หัวหน้าวิเชียรเข้าร่วมตลอดและไม่เคยทิ้งการประชุมเลย และยังให้ข้อเสนอแนะ รับฟังปัญหา ซึ่งแรกๆ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของหัวหน้าวิเชียรในเรื่องการลาดตระเวนว่าลาดตระเวนกันอย่างไร เพราะที่หัวหน้าเชียรเคยทำงานที่แห่งอื่นอาจเป็นการลาดตระเวนเดี่ยว แต่เมื่อมารับหน้าที่ในผืนป่าตะวันตกหัวหน้าวิเชียรจะต้องปรับตัว เนื่องจากรอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ รายล้อม และมีชุมชนอยู่รอบๆ

“รวมถึงปรับเรื่องของวิธีการทำงาน เท่าที่ผมเห็นหัวหน้าวิเชียรมาช่วงแรกเขาทำการบ้านเยอะมาก ทั้งหาข้อมูล รับฟังปัญหา พยายามติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง พยายามสังเกตว่าใครทำงานที่ไหนอย่างไร เป็นการเปิดตัวที่ดีสำหรับการทำงานในเขตพื้นที่ใหญ่เช่นนี้

 

 

“จากที่สัมผัสด้วยกันเพียงไม่กี่เดือนนี้ผมมองว่าหัวหน้าวิเชียรเร็ว คือเขารู้ว่าการทำงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกต้องทำงานกับใครบ้าง เขาทำงานเร็ว ซึ่งปรกติการที่จะทำข้อมูลพื้นฐาน ดูเรื่องความสำคัญ สิ่งที่มันจะเอื้อต่อบริหารพื้นที่มันจำเป็นต้องใช้เวลานะ เขาไม่ได้ทำเพียงงานที่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือชักชวนให้คนร่วมกันดูแลรักษาทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเท่านั้น หัวหน้าวิเชียรยังทำงานดึกๆ ดื่นๆ ทุกคืน ทั้งงานเอกสาร การบริหารภายใน บริหารคน เขาทำทุกเรื่องทั้งที่เขาอายุเพียงเท่านี้ ผมจึงมองว่าสิ่งที่เขาทำได้คือ เขามีความตั้งใจจึงทำให้สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง

“ผมถามเขาหลายครั้งว่าหัวหน้าเชียรไม่เหนื่อยบ้างหรือคำตอบของคำถามนี้คือผมรักป่า ผมมีแรงทำผมต้องพยายามทำให้ได้บางทีเที่ยงคืน ตีหนึ่งเขายังไม่ได้นอนเราก็คุยไลน์ด้วยกัน เขาบอกผมว่าผมเพิ่งกลับจากตรงนั้นตรงนี้ ผมเพิ่งกลับจากสำนักมานี่คือสิ่งที่ได้สัมผัสกับหัวหน้าวิเชียร

“เมื่อมาอยู่ด้วยกันผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่มีแนวคิดที่จะปกป้องป้องกัน เรียกได้ว่าหาวิธีการทุกวิถีทาง ซึ่งต้องทำงานกับคนเป็นร้อยดูแลป่าเป็นล้านจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และปัญหาก็มีเยอะ ผมมองว่าปัญหาเกิดจากขอบๆ ป่า และตัวชุมชนในทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเองหัวหน้าวิเชียรก็ไม่ทิ้งเขาเข้าหาชุมชนเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชุมชนโดยไม่เคยละทิ้งเลย”

“และอีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสคือความรอบคอบ เรื่องคดี เรื่องวิธีการบริหาร เขาทำงานเป๊ะมาก ซึ่งจากประสบการณ์ ด้วยอายุขนาดนี้ไม่น่าจะเป๊ะขนาดนี้ แต่ความเป๊ะนี้ไม่ได้หมายถึงการบ้าอำนาจนะ แต่เป็นการหาวิธีบริหารที่มันเหมาะสมต่อบริบทต่างๆ

 

มนตรี กุญชรมณี 

“หัวหน้าวิเชียรเข้ามารับตำแหน่งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกได้เกือบปีหนึ่งแล้ว จะครบปีในเดือนมีนาคมนี้ เขาเป็นคนตั้งใจทำงาน บางสิ่งบางอย่างเขาก็ลงพื้นที่เองเพื่อเก็บข้อมูล หาข้อมูล เพื่อที่จะดำเนินการ อย่างเรื่องของกรณีการบุกยึดพื้นที่ 160 ไร่ สจ.เมืองกาญจน์ที่รุกพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกหัวหน้าวิเชียรเป็นคนไปขลุกอยู่ในพื้นที่วิ่งหาข้อมูลซึ่งนั่นถือเแป็นคดีแรกของการเข้ามาเป็นหัวเขตที่นี่มาใหม่ๆเขาไปออกเยี่ยมตามหน่วยได้เห็นสภาพพื้นที่ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องตัวเอง”

“หัวหน้าวิเชียรเป็นคนที่ออกหน้าแทนลูกน้องยกตัวอย่างหากเกิดปัญหาหัวหน้าก็จะเร่งที่จะแก้ไขเรียกลูกน้องเข้าแถวประชุมวางแผนและปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว”

“จากที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสจากการทำงานร่วมกับหัวหน้า ซึ่งก็เคยได้มีโอกาสประสานงาน เดินสำรวจพื้นที่ทำงานร่วมกัน เขาเป็นคนตั้งใจทำงาน อ่อนน้อมถ่อมตน มีอะไรก็ออกรับหน้าแทนลูกร้อน รักลูกน้อง ซึ่งหลายคนอาจจะเห็นจากที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อช่องทางต่างๆ หัวหน้าวิเชียรจะไม่เคยออกหน้าว่าเขาเป็นคนทำคนเดียว เขาทำคนเดียวไม่ได้ คนที่ทำเป็นเจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่ เขาไม่ได้อยากจะได้รับความดีความชอบอะไร แต่หากพอมีอะไรเกิดอะไรขึ้นเขาก็ออกหน้าแทนคนอื่น” 

 

 

“คิดว่าส่วนหนึ่งคนที่จะเข้ามาทำงานอยู่ทุ่งใหญ่นเรศวรน่าจะได้รับการคัดกรองมาในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ที่มีความสะดวกสบาย ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรมากมาย การเดินทางก็ลำบาก หากเป็นคนที่รักความสะดวกสบายเขาสามารถเลือกที่จะไปอยู่ที่อื่นก็ได้

“รู้สึกว่าเขาทำงานหนัก ไม่ได้พักหรอก ยิ่งเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นมา เดี๋ยวก็เดินทางไปให้ปากคำ เดี๋ยวก็เก็บหลักฐานเพิ่ม ทั้งหัวหน้าและพี่ๆ พิทักษ์ป่าที่ทำงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งหมดก็วุ่นวายกันพอสมควร ตอนนี้ก็ยังไม่หยุดวุ่นวาย เดี๋ยวก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ อีก การดูแลงานช่วงนี้จึงดรอปลงหน่อยนึง แต่ว่าก็ไม่ถึงกับโหลดมาก หัวหน้าสามารถบริหารงานได้

จากการได้ร่วมงานกันทำให้ผมได้เห็นการวางแผนการทำงานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็น ยกตัวอย่างเช่นการวางแผนและปฏิบัติการเดินลาดตระเวนก็จะมีความซับซ้อนขึ้น แต่เนื่องจากเป็นเทคนิคการปฏิบัติงานจึงขอปิดไว้ถือเป็นเรื่องดีในการปฏิบัติงาน ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ที่อาจไม่ได้คุ้นชินพื้นที่ก็จะได้รับทราบพื้นที่ด้วย และส่วนหนึ่งก็คือจะมีการปรับเวลาเดินลาดตระเวน อาจมีภารกิจด่วน ภารกิจลับ แทนที่จากที่ปรกติเจ้าหน้าที่อาจจะออกลาดตระเวนตอนเช้า ผ่านหมู่บ้านเขาก็จะรู้ว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วงใด หัวหน้าก็จะมีการปรับเวลาเรื่อยๆ จากการวางแผนการทำงาน แอคทีฟ ไฟแรง ขยัน ตั้งใจ ใส่ใจ แกเป็นคนง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไร ไม่ได้ทำตัวเป็นหัวหน้าแบ่งยศอะไร นั่งกินข้าวกับลูกน้อง เป็นกันเอง”

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร