ฤดูร้อน แห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

ฤดูร้อน แห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อน

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเราได้ทราบข่าวพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งเกิดไฟไหม้ สร้างความเสียหายกับพืชพันธุ์นานาชนิด และสัตว์ป่าถูกไฟคลอกตาย เนื่องจากไฟป่าที่มาไวและรุนแรงกว่าทุกปี

หลายบริเวณในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ถูกไฟไหม้ไปไม่น้อยเช่นกัน

ระหว่างเดินทางเข้าไป เราเห็นพื้นที่ป่าสองข้างทางแห้งเตียน มีเพียงต้นเต็ง รัง ที่ลำต้นมีรอยไหม้และใบโกร๋น ตั้งแต่ริมถนนจนกระทั่งมองลึกเข้าไปสุดสายตา

จริงๆภาพเหล่านี้ไม่ได้แปลกอะไรนัก เพราะเมื่อฤดูร้อนมาเยือน ไฟป่าก็จะตามมาด้วยเช่นกัน

ตลอดสองข้างทางที่รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ เคลื่อนตัวผ่านไป เราผ่านลำห้วยสายเล็กๆ หลายแห่งน้ำแห้งขอด ช่วงที่ยังพอมีน้ำ เราเห็นนกลงมาเล่นน้ำดับร้อน เก้ง และกวาง ที่มาดื่มน้ำ ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง

เส้นทางในป่าช่วงนี้ไม่ค่อยสะดวกนัก หลังไฟเข้า ต้นไม้หลายต้นล้มขวางทาง ทำให้ต้องหยุดรถและลงมาจัดการกับต้นไม้เหล่านั้น

โชคดี ในวันที่เราเข้าไป เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าส่วนหนึ่งได้เข้าไปจัดการกับต้นไม้ใหญ่ที่ล้มขวางทาง ทำให้การเดินทางในช่วงต้นๆ ผ่านไปด้วยดี

บ่ายสองโมงครึ่ง เราเดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นที่พักในวันนี้ ทันทีที่ลงจากรถเราก็สัมผัสกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว บวกกับการนั่งรถที่กระเด็นกระดอนมาตลอดทาง ก็ทำเอาปวดหัวตึบๆ และนั่งจ๋อยไปพักใหญ่

สำหรับวันนี้เราไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากเดินสำรวจรอบๆบริเวณหน่วยฯ จัดแจงเลือกที่พัก และลงมือทำอาหารเย็น

ที่พักสำหรับ 6 วันที่นี่เราเลือกเอาเรือนไม้ไผ่ สภาพไม่ดีนัก เหมือนจะไม่ได้ถูกใช้งานมาพักใหญ่ๆแล้ว บนเรือนไม่มีการกั้นห้อง ผนังมีเพียงสองฟาก นอกนั้นเปิดโล่ง ด้านหน้าและด้านข้างมีส่วนกะโหลกและเขาของควายป่าแขวนอยู่ ซึ่งเขาเหล่านี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเก็บมาจากการเดินลาดตระเวน และนำมาไว้ที่เรือนเพื่อแสดงว่าที่แห่งนี้คือบ้านหลังหนึ่งของควายป่า สำหรับเรือนนี้พวกเราเรียกกันเองว่า เรือนมหิงสา

สามทุ่มกว่าๆ เราได้ยินเสียงสัตว์เดินลุยน้ำ และกระทุ่มน้ำอยู่ในลำห้วย ซึ่งอยู่ถัดลงไปจากเรือนที่เราพักไม่ไกล

นั่นคือเสียงของเหล่าควายป่า ที่ออกมานอนแช่ปลักอยู่เป็นประจำในบริเวณนี้ เสียงนั้นดังอยู่พักใหญ่ๆ ระคนไปกับเสียงร้องของนกตบยุง เสียงคำรามของเสือที่แว่วมาเป็นระยะ และนานๆครั้งก็มีเสียงช้างป่าร้องกึกก้องออกมาจากราวป่า

คืนนั้นเป็นคืนที่เรานอนหลับอย่างมีความสุขท่ามกลางเสียงจากพงไพร

 

เผชิญหน้าควายป่า

ช่วงเช้ามืดอากาศที่นี่ค่อนข้างเย็น เบื้องหน้าเป็นลำขาแข้งคดเคี้ยวไปมา ต่อด้วยผืนป่าไกลสุดลูกหูลูกตาจรดภูเขาทะมึน

หน้าแล้งเช่นนี้ ปริมาณน้ำในลำขาแข้งมีไม่มาก ทำให้เห็นหาดทรายและหญ้าอยู่ริมตลิ่ง

ยามเช้าสายหมอกปกคลุมอยู่เหนือบริเวณลำขาแข้ง เราเห็นนกยูงเดินไปเดินมาอยู่ริมหาด มองถัดออกไปเราสังเกตเห็นก้อนสีดำ ๆ ตะหง่านนิ่งอยู่บนผืนทราย เมื่อนกยูงเดินเข้าไปใกล้ วัตถุดำก้อนนั้นกลับขยับได้ ทำให้เรารู้ว่านั่นคือ ควายป่า เมื่อมันค่อยๆ ทยอยกันลุกขึ้นเดินเล็มหญ้าตามริมหาด

ก่อนหน้านี้เรารู้เรื่องราวของควายป่าจากหนังสือ ชีวิตไพรห้วยขาแข้ง และหนังสือ 50 ปี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งช่างภาพสัตว์ป่าต้องใช้เวลาอยู่หลายวัน ในการซุ่มดูและติดตามรอย กว่าจะได้ภาพและเรื่องราวของเจ้ามหิงสา มาเขียนให้บรรดานักอ่านได้รับรู้เรื่องราวอันเป็นปริศนาของพวกมัน

แต่เช้านี้เราได้เจอกับควายป่าทันทีที่ตื่นนอน โดยไม่ต้องเดินไปไหน ไม่ต้องนั่งซุ้มบังไพร และไม่ต้องนั่งลุ้นว่าจะได้เจอกันหรือเปล่า

สะท้อนให้เห็นว่าการพบเจอสัตว์ป่าในปัจจุบันไม่ได้ยากเย็นดังในอดีต

ในกรณีของควายป่าเอง แม้จะเหลืออยู่เพียง 4 ฝูงสุดท้ายของโลก และหนึ่งใน 4 ฝูงนั้น อยู่ที่ประเทศไทยเพียง 60 กว่าตัว ในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้เท่านั้น แถมที่อยู่อาศัยก็เพียงบริเวณจำกัด คือ บริเวณป่าที่ราบริมลำห้วยขาแข้งตอนล่างเพียงแห่งเดียว

แต่ด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าด้วยระบบที่เข้มข้น ทำให้วันนี้เรายังรักษาผืนป่าอันเป็นบ้านของควายป่าฝูงสุดท้ายเอาไว้ได้สำเร็จ

และสำหรับที่นี่ ดูเหมือนว่าเจ้าควายป่าเหล่านั้นจะไว้วางใจมนุษย์ในระดับหนึ่ง จึงสามารถออกมาเดิน และเล็มหญ้ากินอย่างชิล ๆ ได้เช่นนี้

 

 

ควายป่าถือเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 15 ชนิด นอกจากที่นี่ประชากรควายป่าที่ยังเหลืออยู่กระจายตัวอยู่ที่ประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน และไทย ประมาณการว่าทั้งหมดมีประมาณ 4,000 ตัวเท่านั้น

และหากจะกล่าวว่า ควายป่า ทำให้ผืนป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้ มีสถานภาพเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็คงไม่ผิดนัก เพราะจากบันทึกตอนหนึ่งในหนังสือ ชีวิตไพรห้วยขาแข้ง ได้เขียนถึงควายป่าเอาไว้ว่า…

ในสมัยที่นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ยังมีชีวิตอยู่ท่าก็คิดว่าควายป่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ต่อมา ในปี พ.ศ. 2507 ข่าวการบุกรุกทำลายป่าและล่าสัตว์ในป่าห้วยขาแข้งก็เริ่มขึ้น และเมื่อเป็นที่รับรู้โดยแพร่หลาย ทางกรมป่าไม้จึงได้สั่งการให้ฝ่ายจัดการสัตว์ป่าแห่งชาติดำเนินการร่วมสำรวจป่าห้วยขาแข้ง

ภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าจำนวนมากได้ถูกถ่ายทำและออกอากาศเผยแพร่สู่สายตาประชาชนในปี พ.ศ. 2508

หลายคนตื่นตากับภาพที่ได้เห็นและสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการสำรวจครั้งนั้นคือ การพบควายป่า สัตว์ที่ได้ชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว แม้ว่าจะเป็นเพียงซากควายป่าที่ถูกพรานฆ่าตายแล้วก็ตาม

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจ ได้มีการเขียนรายงานถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า รวมทั้งสัตว์ป่าจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ นกยูง โดยเฉพาะควายป่า
ด้วยหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนทำให้ทุกคนเชื่อได้ว่า ผืนป่าลำขาแข้งแห่งนี้คือถิ่นอาศัยของควายป่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย และตั้งแต่นั้นมา กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการจัดตั้งป่าห้วยขาแข้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 นับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งที่ 5 ของประเทศไทย

 

 

ลัดเลาะไปบนหาดทราย

มีโอกาสมาเยือนบ้านของควายป่าทั้งที ขอนั่งดูให้เต็มตาสักครั้ง…

พวกเราเตรียมตัวออกจากที่พักไปนั่งบังไพรในยามสายของวัน เพื่อหวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นควายป่าออกมา

นอนแช่น้ำหรือเดินเล่นเป็นฝูงตามริมหาด ดั่งภาพสารคดีที่เคยได้ชมก่อนมาพบของจริง

หลังตระเตรียมตัวเองเรียบร้อย เราเดินลัดเลาะไปตามพื้นทราย ที่เมื่อหลายเดือนก่อนมีสภาพเป็นลำห้วย แต่ด้วยการหมุนผ่านของฤดูกาลทำให้ตอนนี้เหลือเพียงสายน้ำตื้น ๆ ไหลมาตามหาดทราย บางแห่งน้ำอาจสูงหน่อย แต่ก็ลึกไม่เกินเข่า

ระยะทาง 500 เมตรจากหน่วยพิทักษ์ป่าไปยังซุ้มบังไพร ไม่ใช่ทางที่ไกลนัก แต่เมื่อต้องเดินบนหาดทรายและข้ามลำห้วยไปสลับไปมาตลอดเส้นทาง บวกกับแสงแดดจ้าและอากาศอบอ้าวทำให้รู้สึกราวกับว่าระยะทางมันช่างไกลเสียเหลือเกิน

บนหาดทรายที่เราเดินผ่านมีรอยเท้าสัตว์ป่ามากมายย่ำทิ้งไว้เกลื่อนเต็มหาด ยิ่งหากตลิ่งข้างทางเป็นด่านสัตว์ก็ยิ่งเห็นรอยเท้าจำนวนมากย่ำซ้ำรอยกันไว้ดูสับสนไปหมด

ก่อนถึงจุดหมาย ระหว่างข้ามสายน้ำตื้น ๆ สายหนึ่ง งูจงอางตัวเขื่องได้เลื้อยจากหาดทรายลงในน้ำ และทำท่าว่าทิศทางของมันจะมาหาพวกเรา พวกเราจึงหยุดเดินและรอให้จงอางตัวนั้นเลื้อยไปให้ไกลก่อน แล้วค่อยเริ่มเดินทางกันต่อ

เมื่อถึงที่หมาย เราเลือกที่เหมาะ ๆ บนตลิ่งสูงสำหรับจัดการกางบังไพรที่เตรียมมา ขึงกับต้นไม้ จัดเก้าอี้สนามให้ได้ทิศทางพอดีกับที่เราต้องการจะมอง แล้ว 3 ชีวิตก็พากันเข้าไปนั่งในบังไพรแคบ ๆ

บทสนทนาระหว่างกันในบังไพรเป็นไปอย่างเบาที่สุด เพื่อไม่ได้เกิดเสียงแปลกปลอมที่อาจทำให้สัตว์ป่าไม่กล้าเข้ามาใกล้ ส่วนเรื่องกลิ่นอาจไม่ใช่ปัญหาเพราะจุดที่ตั้งบังไพรอยู่สูงขึ้นมาเหนือหาด

การเฝ้าดูสัตว์ป่าจากบังไพรเช่นนี้เป็นการหลบซ่อนเร้นให้พ้นจากสายตาของสัตว์ป่า นอกจากนั้นเรายังต้องไม่ทำให้สัตว์ป่าหวาดระแวง หรือกระทำอะไรที่เป็นการรบกวนต่อสัตว์ป่า หากยึดถือกฎตรงนี้ เราจะมีโอกาสได้พบเจอกับสัตว์ป่าได้มากขึ้น

ไม่ต่างอะไรกับการไปเยี่ยมเยือนบ้านคนอื่น หากเราเคารพ และให้เกียรติเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านย่อมให้การต้อนรับเรา

 

โลกในบังไพร

หลายชั่วโมงผ่านไปในบังไพรแคบ ๆ ที่อากาศร้อนอบอ้าว

การนั่งบังไพรครั้งแรกกับสภาพอากาศเช่นนี้ไม่ง่ายนักสำหรับมือใหม่

ที่ด้านนอก หาดทรายมีเพียงความว่างเปล่า แสงแดดยามเที่ยงร้อนแรง สายลมนิ่งสนิท มีเพียงสายน้ำเท่านั้นกำลังเคลื่อนไหว

บ่ายแก่ ๆ นกยูงสองสามตัวเดินออกมาหากินริมหาด นกกระแตหาดแผดเสียงจ๊อกแจ๊กจ้าละหวั่น

เม่นตัวอวบอ้วนเดินอุ้ยอ้ายออกมาจากพุ่มไม้ มุ่งหน้ามายังหาดทรายด้านหน้าที่พวกเราเฝ้าอยู่ หลังจากนั้นก็เดินลัดเลาะริมหาดจนลับหายเข้าชายป่าไป

ไม่กี่นาทีต่อมา เสือดำตัวมะเมื่อมเดินออกมาจากพุ่มไม้ตรงจุดเดียวกับเม่นตัวเมื่อครู่ มุ่งตรงมายังชายหาดด้านหน้าพวกเรา มันเดินวนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้นหลายนาที

เราสังเกตเห็นบางสิ่งติดอยู่ที่ปากของเจ้าเสือดำตัวนี้ เมื่อเพ่งชัด ๆ จึงรู้คือ ‘ขนเม่น’ นั่นเอง

ขนเม่นที่ปากทำให้เสือดำหุบปากไม่ได้ มันจึงแสยะปากอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะหาทางจัดการกับเจ้าขนเม่นนั้นได้

ไม่นานนักเสือดำก็เดินลับหายเข้าพุ่มไม้ไป ผ่านไปครึ่งชั่วโมงเสือดำตัวเดิมเดินกลับมาที่หาดอีกครั้ง มันวนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น สุดท้ายก็เดินหายลับเข้าป่าไปตามทางด่าน

เสียงช้างป่า ดังแว่วมาจากราวป่าเบื้องหน้า

มีเสียงคำรามของเสือ ซึ่งไม่รู้เป็นของเสือดำตัวเดิมหรือเปล่า

เสียงไก่ป่า ดังสลับไปมา ระหว่างฝั่งที่พวกเรานั่งกับฝั่งตรงข้าม ที่คั่นด้วยลำห้วยขาแข้ง

ไม่นานนักมีเสียงลุยน้ำดังขึ้นไกล ๆ ด้านซ้ายมือ เรียกสายตาให้เราหันไปเจอหมูป่า 5-6 ตัว วิ่งตั้งแถวลุยน้ำข้ามฝั่งไปอย่างเป็นระเบียบ

ด้านขวามือฝูงหมูป่าตัวน้อย 4 ตัว ทำท่าจด ๆ จ้อง ๆ ไม่กล้าข้ามน้ำ เดินวนไปวนมา แล้วก็ลัดเลาะสายน้ำขึ้นไปหาช่วงตื้น ๆ ที่พอจะข้ามได้

จนพบที่เหมาะก็ตั้งขบวนลุยน้ำกันเป็นแถว

เบื้องหลังของภาพ คือ แดดบ่ายกระทบกับสายน้ำที่ไหลผ่านไปเป็นริ้ว ๆ ที่ค่อย ๆ กระเซ็นซ่านเป็นประกายเพราะฝีเท้าของฝูงหมูป่าทั้ง 4 ยิ่งทำให้ดูสวยงาม เป็นภาพที่ชวนสะกดตาสะกดใจ ราวกับอยู่ในความฝันที่แสนมหัศจรรย์

 

 

สี่วันกับการเฝ้าดูสัตว์ป่า

ตลอดสี่วันที่เฝ้ารอควายป่าอยู่ในบังไพรจบลงด้วยความผิดหวังเล็ก ๆ

เรามีโอกาสได้พบกับควายป่าเพียงแค่ช่วงเช้าตรู่ บริเวณหาดทรายหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า พอสายหมอกเริ่มจางหายไป ควายป่าฝูงนั้นก็เคลื่อนลับกลับไปในป่าใหญ่

หรือในตอนหัวค่ำ ที่เราได้ยินเพียงเสียงฝูงลงเล่นน้ำมาจากลำห้วยด้านล่างของที่พัก ขณะที่บางคืนอาจมีควายป่าสักตัวแวะเวียนมาเล็มหญ้ากินตอนดึก ๆ ดื่น ๆ ไม่ไกลที่พัก ก็พอได้เห็นเงาตะคุ่ม ๆ ภายใต้แสงจันทร์อ่อน ๆ แทน

ถึงภาพที่เห็นจะไม่ชัดนัก แต่ผลประกอบการที่ได้รับจากบังไพรยังถือว่าคุ้มค่า แม้จะไม่พบกับควายป่า แต่ในทุก ๆ วันเราได้เห็นการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ท่ามกลางฤดูร้อนของปีเป็นสิ่งทดแทน

…เพียงเท่านั้น หัวใจของพวกเรา ผู้มาเยือนผืนป่าทั้งสามคน ก็พองโตกลับบ้านไปอีกหลายวันหลายคืน

สุดท้าย ต้องขอบคุณพี่ ๆ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่คอยแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ และคอยปกป้องดูแลรักษาผืนป่า และสัตว์ป่า ด้วยหัวใจ…

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพพลิเคชั่น TrueMoney Wallet แบบครั้งเดียว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ร่วมรักษาป่าใหญ่กับ TrueMoney Wallet


เรื่อง / ภาพ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร