ภารกิจขนน้ำขึ้นเขาสมโภชน์… เติมใจอาสาให้บ้านของเลียงผา

ภารกิจขนน้ำขึ้นเขาสมโภชน์… เติมใจอาสาให้บ้านของเลียงผา

หากพูดถึงสัตว์ประจำถิ่นที่จังหวัดลพบุรี ไม่ว่าใครก็ย่อมนึกถึง “ลิง” เป็นอย่างแรก เพราะที่นี่เป็นแหล่งอาศัยของลิงสุดเฟี้ยวแก่นแก้วขึ้นชื่อไปไหนต่อไหน

…แล้วใครจะไปคิดว่าลพบุรีจะมี “เลียงผา” ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ที่พบเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น อาศัยอยู่ที่นี่กับเขาด้วย

การเดินทางครั้งนี้เรามากันที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี (เขาสมโภชน์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ 4 ตำบล คือ ต.ซับตะเคียน ต.หนองยายโต๊ะ ต.บัวชุม ต.นาโสม และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 8,440 ไร่) เป็นการเดินทางมาสมทบกับเหล่าจิตอาสาอีกราวๆ 50 ชีวิต ที่ต่างมาด้วยจุดประสงค์เดียวกัน คือเพื่อช่วยกันเติมแหล่งน้ำให้เจ้าเลียงผา และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนเขาสมโภชน์แห่งนี้

เมื่อก่อนบริเวณนี้มีปัญหาเรื่องเลียงผาออกไปกินพืชไร่ของชาวบ้าน ทำให้เกิดปัญหาต่อเลียงผาที่เผลอไปกินสารฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ไร่ทำให้ตายไปบ้างบางส่วน อีกทั้งปัญหาจากการล่าเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยาตามความเชื่อต่างๆ นานา จนพี่ต๋อย สุทธิพงษ์ แกมทับทิม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ได้ทำการล้อมรั้วป้องกันไม่ให้เลียงผาออกมาหากินบริเวณนอกเขตห้ามล่าฯ อันเป็นพื้นที่ที่มีไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย ไร่มันสัมปหลัง ประชิดกับแนวเขต ก็ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับชาวบ้านลงไป

แต่ด้วยพื้นที่แห่งนี้มีสภาพเป็นภูเขาหินปูน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ และไม่มีแหล่งน้ำใดๆ บนภูเขา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์จึงได้หารือกับทางชมรมฅนรักสัตว์-ป่า นำทีมโดยน้าหมู สาริกา และพี่หมึก จากกลุ่ม Trash Hero ในการจัดทำแหล่งน้ำให้เลียงผา ซึ่งต่อมาช่วงต้นปี 2560 ได้มีการรวมพลคนอาสาจากหลายภาคส่วน นำโดยทีมคนมันส์พันธุ์อาสา จากทางทีวีบูรพา ชมรมฅนรักสัตว์-ป่า และ กลุ่ม ฅ. ฅนทำทาง มาร่วมกันสร้างจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และการจากตั้งกล้อง camera trap พบว่าช่วงที่ผ่านมาเลียงผา และสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้มาใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ทำไว้อย่างต่อเนื่อง

ภาพเลียงผาใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่อาสาสมัครสร้างไว้ / PHOTO camera trap เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์

ในครั้งนี้ (วันที่ 2-3 ธันวาคม 2560) เหล่าอาสาสมัครได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อสานต่องานที่เคยได้เริ่มทำไว้จากครั้งที่แล้ว โดยในวันแรกทุกคนทำหน้าที่ช่วยกันแบกน้ำขึ้นยอดเขา เพื่อไปเติมในบ่อน้ำที่ 1 (บ่อน้ำบนเขาสมโภชน์มีด้วยกัน 2 บ่อ และมีบ่อซีเมนต์อีก 200 กว่าบ่อใน 20 จุดรอบเชิงเขา ซึ่งในวันที่สองของกิจกรรมอาสาสมัครจะช่วยกันเติมน้ำในจุดวางบ่อน้ำรอบเชิงเขา)

ทางขึ้นลงเป็นภูเขาหินปูนที่สูงชัน ประมาณ 60 องศา เกือบตลอดทั้งเส้นทาง อาสาสมัครจะต้องสะพายแกลลอนน้ำ ขนาดบรรจุประมาณ 20 ลิตร ขึ้นไปบนยอดเขา บางช่วงต้องมุดลอดซุ้มไม้ บางช่วงต้องปีนก้อนหินขึ้นไป

ระหว่างทางเราพบอาสาสมัครตัวน้อยจากกลุ่มกองทัพมด อ.ชัยบาดาล และกลุ่มรองเท้าเตะ ลพบุรี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแก๊งเจ้าถิ่นที่มาช่วยงานในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง… เห็นเด็กๆ มาทำงานอาสาด้วยความสนุกสนานแบบนี้แล้ว ผู้ใหญ่ทั้งหลายสบายใจได้เลย สิ่งดีๆ ที่พวกท่านทำเป็นตัวอย่างเอาไว้ได้มีคนรุ่นใหม่ๆ มาสานต่ออย่างแน่นอน

น้องจากกลุ่มรองเท้าแตะ ลพบุรี

ภารกิจในครั้งนี้นอกจากเลียงผาและสัตว์ป่าแห่งเขาสมโภชน์จะได้ประโยชน์แล้ว บรรดาอาสาสมัครที่มาร่วมกิจกรรมในส่วนใหญ่เหมือนจะได้กลับมาเจอเพื่อนพี่น้องคนคุ้นหน้าที่เคยผ่านงานอาสาด้วยกัน เคยลำบากไปด้วยกัน และสนุกด้วยกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่ต้องเหนื่อยยากด้วยกันในป่า มีรอยยิ้ม บทสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวธรรมชาติ แม้จะพบเจอเพียงไม่กี่วัน แต่มิตรภาพก็ยังคงเหนียวแน่น ซ้ำยังดูเหมือนยิ่งจะก่อตัวขึ้นเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งกว่าเก่า

สำหรับคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรกก็รู้สึกเหมือนได้เข้ามาอยู่ในสังคมอีกสังคมหนึ่งที่อบอุ่น ได้เข้ามารับพลังงานด้านบวกและความอิ่มเอมใจกลับไป ความเป็นกันเองของอาสาที่เป็นคนเดียวกัน ทำให้หลายๆ ครั้งดูราวกับว่าแต่ละคนได้รู้จักกันมานานเป็นปีๆ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความสุขที่เราได้ลงมือทำกันในวันนี้… ยังเป็นการแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ฯ และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ได้อีกด้วย

เป็นหนึ่งในความภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยดูแลรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้ได้ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปในอนาคต

ทำความสะอาดบ่อน้ำ ก่อนจะเติมน้ำที่ขนขึ้นไปต้องทำความสะอาดเสียก่อน โดยการเอากิ่งไม้ใบไม้ที่ทับถมลงในบ่อออกไปให้หมดเสียก่อน
กิจกรรมในวันที่สองนั่งรถไปตามจุดวางบ่อน้ำรอบเชิงเขาจำนวน 20 บ่อ เมื่อถึงจุดเติมน้ำ อาสาช่วยกันแบกน้ำเดินเข้าไปเติม ส่วนนี้ไม่ไกล และไม่ทรมานสังขารเท่าวันแรก
ระยะทาง 30 กิโลเมตรไม่ไกลเท่าไหร่ ถ้าใจเราลุยไปด้วยกัน

 


 

เรื่อง / ภาพ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร