พบ ‘แมงมุมฝาปิดโบราณ’ ชนิดใหม่ของโลกที่แม่วงก์

พบ ‘แมงมุมฝาปิดโบราณ’ ชนิดใหม่ของโลกที่แม่วงก์

คณะผู้วิจัยจากภาควิชาชีววิทยาและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกีฏวิทยาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ทำการสำรวจและค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

แมงมุมฝาบิดโบราณ เป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต และเป็นหนึ่งในกลุ่มของแมงมุมที่หายากที่สุดในโลก ในปัจจุบันมีการค้นพบแล้ว 96 ชนิด (จากแมงมุมกว่า 46,000 ชนิดทั่วโลก) โดยพบอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแมงมุมฝาปิดโบราณ คือ แมงมุมชนิดนี้จะสร้างฝาปิดทางเข้าออกรังเพื่ออำพรางตัวจากผู้ล่าและซุ่มรอเพื่อจับเหยื่อ โดยกลุ่มที่อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการสร้างใยลักษณะพิเศษคล้ายรัศมีแผ่ออกจากปากทางเข้าออกรังใช้รับแรงสั่นสะเทือนซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการล่าเหยื่อของมัน

รายงานระบุว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีรายงานการค้นพบแมงมุมในกลุ่มนี้มากที่สุด โดยมีรายงานการค้นพบแล้วทั้งสิ้น 32 ชนิด อย่างไรก็ตามแมงมุมนี้จัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง และยังไม่มีแนวทางในการอนุรักษ์อย่างชัดเจน โดยแต่ละชนิดมักสามารถพบได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นต่อความจำเพาะต่อแหล่งอาศัย และความสามารถในการกระจายพันธุ์ที่จำกัดของพวกมัน

ในปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับแมงมุมฝาปิดโบราณยังมีอยู่น้อยทำให้ไม่เป็นที่รู้จัก และไม่มีข้อมูลสำหรับการวางแผนอนุรักษ์

สำหรับการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้ ทางคณะผู้วิจัยจากภาควิชาชีววิทยาและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกีฏวิทยาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ นิสิตระดับปริญญาโท (สัตววิทยา) และดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ทำการสำรวจและค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ผลงานวิจัยการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Journal of Arachnology โดยทางผู้วิจัยได้ตั้งชื่อให้กับแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดนี้ว่า “แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์” หรือ Liphistius maewongensis Sivayyapram et al., 2017 เพื่อเป็นเกียรติให้แก่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และสำคัญต่อสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่ง และนกประจำถิ่นนานาชนิด

การค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแมงมุมฝาปิดโบราณทุกชนิดเป็นผู้ล่าที่ดำรงชีวิตโดยการขุดโพรงอยู่ใต้ดิน ซึ่งพบได้ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และมีปริมาณของแมลงที่เป็นอาหารของพวกมันมากพอเท่านั้น

 


ข้อมูลจาก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร