ป่า เจ็บป่วยได้ไหม

ป่า เจ็บป่วยได้ไหม

5 พฤษภาคม 2561 เวทีตลาดนัดฅนรักษ์ป่า

แขกรับเชิญสำคัญคนหนึ่งของงาน คือ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ชวนหมอล็อตมาเล่าเรื่องสุขภาพของป่า และไขข้อข้องใจว่าป่าป่วยได้เหมือนคนเราหรือเปล่า แล้วการล่าสัตว์ป่ามีผลต่อการเจ็บไข้ของป่าอย่างไร

ก่อนเข้าเรื่องขอเท้าความถึงคำว่า ‘สุขภาพป่า’ กันก่อน

พูดถึงคำนี้ บางคนอาจคุ้นหูมาบ้างจากรายงานสุขภาพป่าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำเสนอไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 และเบื้องหลังของการจัดทำรายงานสุขภาพป่าก็มีหมอล็อตเป็นทีมงานผู้ทรงคุณวุฒิในการออกไอเดียและร่วมวิเคราะห์เนื้อหาก่อนนำออกมาเสนอ

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สุขภาพป่า

กลับมาที่เรื่องสุขภาพป่าในวันงาน ในทัศนะของหมอล็อต สุขภาพป่า หมายถึง สภาพแวดล้อมที่อยู่ในป่าทั้งหมด การเปลี่ยนแปลง ปัจจัยคุกคาม เหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้างในป่าของประเทศไทย แล้วในแต่ละปีมีการเยียวยา รักษาอย่างไร และสุขภาพสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับชีวิตของเรา

“ตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ป่าไม้ที่ถูกทำลายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วมนุษย์จะไม่ได้รับผลกระทบ”

เพราะฉะนั้นสุขภาพป่าก็คือสุขภาพเรา

 

 

แล้วอะไรคือสิ่งที่กำลังคุกคามสุขภาพป่าบ้าง

หมอล็อต ยกตัวอย่างในเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นว่าเป็นมะเร็งร้ายที่แฝงตัวอยู่ในป่า มีทั้งสัตว์และพืช สัตว์อาจมาจากสัตว์เลี้ยงต่างถิ่นที่ถูกคนเอาไปปล่อยในระบบนิเวศ ส่วนกรณีของพืช เช่น สาบเสือ หรือต้นเถาวัลย์บางชนิดที่รุกรานหลายพื้นที่ป่า จนเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ป่าล้อมทุ่งหญ้า หรือป่ายุบจากการขึ้นของเถาวัลย์เป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ คือมะเร็งร้ายที่เข้าไปกัดกินและทำลายระบบนิเวศ และจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพป่า

อีกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานตลาดนัดฅนรักษ์ป่า คือเรื่องของการเข้าไปล่าสัตว์ในป่า

ถ้าเอเลี่ยนสปีชีส์ คือมะเร็งร้าย การล่าสำหรับหมอล็อต เปรียบได้กับการทำลายอวัยวะให้เกิดบาดแผล หรือทำให้ขาดหาย หรือพิการ

 

เพราะสัตว์ป่าแต่ละชนิดก็เหมือนอวัยวะที่เป็น
องค์ประกอบของป่า สัตว์ป่าแต่ละชนิดที่ขาดหายไป
มันก็ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของรูปร่างป่า

 

อีกเรื่องคือโรคระบาด

หมอล็อต อธิบายว่า เรากำลังถูกห้อมล้อมด้วยโรคระบาดและโรคติดต่อ สาเหตุมาจากการใช้พื้นที่ที่ซ้อนทับกัน ระหว่างการทำปศุสัตว์กับพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หลายๆ พื้นที่มีการทำปศุสัตว์รุกล้ำปล่อยวัวควายเข้าไปปล่อยในพื้นที่ป่า มีโอกาสที่เชื้อโรคจากการทำปศุสัตว์จะติดสู่ป่า สู่สัตว์ป่า และสามารถส่งต่อสู่คนได้เช่นกัน

“เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามมองว่าสุขภาพป่าก็คือสุขภาพเรา แล้วมันก็เหมือนสุขภาพมนุษย์ที่มีทั้งมะเร็ง อุบัติเหตุ มีทั้งเรื่องของความสูญเสีย พิกลพิการ หรือแม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บ ที่สามารถเข้าไปทำลายสุขภาพป่าได้ตลอดเวลา”

สำหรับมุมมองของหมอรักษาสัตว์ป่า เมื่อพบเจอสัตว์ถูกทำลาย หรือถูกล่าอย่างเช่น กรณีเสือดำ แล้วรู้สึกอย่างไร

“มันเป็นเรื่องที่เรารู้สึกสลดใจ กับกรณีของสัตว์แต่ละชนิดที่เวลาบาดเจ็บหรือป่วย เวลาสัตว์ป่าเจ็บหรือป่วยเขาจะดูแลตัวเองก่อน หาที่หลบซ่อนกินอาหารที่เป็นพืชสมุนไพร ดูแลรักษาตัวเขาเอง แต่พอรักษาตัวเองไม่ได้ เขาจะออกมาให้คนเห็น การรักษาแต่ละครั้งล้วนเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสภาพปางตายแล้วทั้งสิ้น เพราะกว่าที่เราจะรักษาให้เขาได้เราใช้เวลานานกว่าจะหาตัวเขาเจอ แต่กับการสูญเสียง่ายๆ โดยคนเข้าไปล่านี่เราโกรธมาก และเราเสียดายสุขภาพป่าที่ได้รับผลกระทบ”

“แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราคิดอยู่ในใจ คือเราให้ความรู้เขาดีหรือยัง สิ่งที่เขาคิดเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ว่าการไปล่าสัตว์หรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเพราะคิดว่ามันมีสรรพคุณต่างๆ นานา มันจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่จริง เราจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอย่างไรให้เขารับรู้ข้อเท็จจริงได้”

“เหตุผลส่วนหนึ่ง เรายังโทษตัวเราเองอยู่ แท้ท้ายที่สุด คือ รู้สึกสงสาร เราสงสารคนที่เป็นผู้ล่า เพราะในสัตว์ป่ามันมีเชื้อโรคแหล่งโรคอยู่ในตัวเขา เมื่ออยู่ในตัวเขาไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือป่วย แต่ถ้าเกิดคนจับมาชำแหละ คนพวกนี้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อโรคจากสัตว์ป่าทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ว่าแหล่งป่าเป็นยารักษาโรค แหล่งพืชอาหาร แหล่งอะไรที่เขาคิดต่างๆ นานา มันคนละเรื่อง เป็นความเสี่ยงด้วยซ้ำไป”

“คนเหล่านี้จึงควรจะได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ” นายสัตวแพทย์สัตว์ป่าอาจทิ้งท้ายถึงใครสักคน

 


เรื่อง เอกวิทย์เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียงจาก เวที ป่ากับเมืองเรื่องเดียวกัน กิจกรรมตลาดนัดฅนรักษ์ป่า 5 พฤษภาคม 2561