บันทึก(ไม่)ลับ จากทุ่งใหญ่

บันทึก(ไม่)ลับ จากทุ่งใหญ่

กลางคืนหนาวในเดือนมีนาคมที่ความสูงกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นอกเสียจากกองไฟที่ก่อไว้เพื่อให้แสงและความอบอุ่น รอบกายของเรามืดสนิทตัดกับแสงดาวนับล้านดวงบนฟ้าที่กำลังส่องสกาวอยู่ไกลโพ้น สมเกิด คำปาน หรือพี่เกิด พิทักษ์ป่าหนุ่มใหญ่แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก ที่นั่งอยู่ตรงข้ามกับผมก็เอ่ยบทสนทนาออกมาทำลายความเงียบขณะที่สายตามองผ่านไหล่ไปยังความมืดว่า “งานพิทักษ์ป่ามันเหมือนงานที่ทำอยู่ในมุมมืดไม่ค่อยมีใครมองเห็นกันหรอก”

“วันก่อนพี่ไปซื้อของที่ตลาด แม่ค้าถามพี่ว่า ป่าไม้นี่เขาทำงานอะไรกัน วันวันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย เจอหน้ากันกี่ทีก็มาซื้อเหล้าไปกิน เมากันอยู่ได้ทุกวัน” พี่เกิดพูดต่อ สายตาเขายังไม่ละไปจากมุมมืด

ในวัย 42 สมเกิด คำปาน ผู้ผ่านร้อนหนาวกับการเป็นเจ้าหน้าที่อนุรักษ์มากว่า 24 ปี บอกว่ามุมมืดในความหมายของเขาคือการทำงานอยู่แต่ในป่า ป่าที่คนทั่วไปไม่ได้เข้าไปสัมผัสถึงข้างใน และคงไม่แปลกหรอกที่เขาจะไม่รู้ ไม่เข้าใจในทบาทหน้าที่ของพิทักษ์ป่า แต่สิ่งที่ฟังดูน่าเศร้าในอีกเหตุผลหนึ่งที่คนไม่เห็นคุณค่าของพิทักษ์ป่า ก็เพราะทุกวันนี้คนเรายังมองไม่เห็นคุณค่าของป่า

 

“ลองเปรียบเทียบดูนะ ถ้าพี่ไปเป็นครู สอนหนังสือให้ความรู้เด็ก พอเด็กอ่านออกเขียนได้ คนก็มองเห็นคุณค่าของครู หรือถ้าพี่ไปทำงานเป็นหมอ พอรักษาคนไข้หาย คนเขาก็มองเห็นคุณค่าของหมอ ไม่เหมือนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ที่คนทั่วไปยังไม่รู้ว่ารักษาป่าแล้วได้อะไร…”

 

จริงอย่างที่พี่เกิดเล่ามา ถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัสป่า หรือไม่เข้าใจความหมายแห่งคุณค่าของป่าและสัตว์ป่า ก็คงไม่เข้าว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำงานอะไรกัน ทุกวันนี้เวลาเราออกเที่ยวป่า หรือเข้าพักแรมกางเต้นท์ในช่วงเทศกาลก็จะเห็นเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ผลัดเปลี่ยนมาทำหน้าที่ดูแลให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งนั่นเป็นเพียงหน้าที่หนึ่งเท่านั้น และมันก็ไม่ได้สบายเหมือนอย่างงานบริการที่เราเห็นๆ กัน

ในโลกของการทำงานอย่างเข้มข้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าวิ่งเทียวไปเทียวมาอยู่กลางป่า เดือนละ 25 วันเป็นมาตรฐานของวันทำงาน ไม่ได้มีหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือเลิกงานห้าโมงเย็นอย่างเราๆ การออกไปทำหน้าที่ประจำการอยู่ตามหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ กลางป่าลึกที่ใช้เวลาในการเดินทางจากตัวที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปยังจุดที่ประจำการไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง ยิ่งช่วงฝนมาดินแดงที่เคยคลุ้งไปด้วยฝุ่นกลับแปรสภาพเป็นโคลนตมคอยดักล้อไม่ให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแล้วก็ยิ่งกินเวลาการเดินทางเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เรื่องจะโผล่หน้าออกมาให้เห็นระหว่างนั้นนะหรือ แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

 

และในระหว่าง 25 วันที่อยู่ในป่า ก็ไม่ได้เข้าไปประจำการเพียงแค่ตามหน่วยพิทักษ์ป่าที่ตัวเองสังกัดอยู่เท่านั้น แต่หมายถึงหน้าที่ที่ต้องออกลาดตระเวนตรวจตราสภาพพื้นที่ เก็บข้อมูลสิ่งที่พบเห็น โดยใน 1 เดือน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะออกลาดตระเวนตรวจตราพื้นที่กันเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5-7 วัน อาจน้อยกว่านั้นตามความยากง่ายของการเข้าพื้นที่หรือแล้วแต่สถานการณ์เฉพาะหน้า

ระหว่างลาดตระเวนคือช่วงเวลาของการใช้ชีวิตกลางป่าจริงๆ ไม่มีเตียง ไม่มีหมอนนุ่มๆ ให้หนุน ไม่มีทีวีให้ดูละครหลังข่าว ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ให้บอกลูกเมียว่าคิดถึง ออกเดินย่ำเท้าตั้งแต่เช้าพอถึงเวลาตะวันเริ่มคล้อยลงต่ำก็มองหาแหล่งน้ำ หุงข้าวทำอาหารจากเสบียงที่เตรียมไปโดยไม่แอบขโมยเอาของป่ามากินแม้ว่าจะเป็นสัตว์น้ำอย่างปลาที่ว่ายยั่วน้ำลายอยู่ในลำห้วย ถ้าจะหยิบจับอะไรเอาในป่าอย่างมากก็แค่ยอดผักยอดหมุนไพรเอามาลวกให้สุกแล้วจิ้มน้ำพริกกิน กินอิ่มก็ผูกแปลนอนกับต้นไม้ในเวลาที่ข่าวภาคค่ำยังไม่ทันจบ

ทุกครั้งที่ออกลาดตระเวนนอกจากอาหารประทังความหิว สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่ต้องพกติดตัวไปด้วย จะมี อาวุธปืน กล้องถ่ายภาพ แผนที่ เข็มทิศ  จีพีเอส (Global Positioning System: GPS) สำหรับบอกพิกัดที่เราอยู่ ปากกา สมุดจด เอกสารสำหรับบันทึกสิ่งที่พบเห็นระหว่างการลาดตระเวน

ในระหว่างเดินอยู่ในป่า ทุกนาทีมีโอกาสพบเจออันตราย พี่เกิดบอกว่า ถ้าไม่เกิดจากพราน ก็เกิดจากสัตว์ป่า และในบางครั้งนั่นอาจหมายถึงหนึ่งชีวิตที่ต้องจากไปอย่างไม่คืนกลับ

 

 

กลางกันยายน 2556 เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออกเสียชีวิต 2 นาย จากการเข้าปะทะกับพรานล่าเสือโคร่งในพื้นที่ และคล้อยหลังอีกไม่กี่วันในเดือนเดียวกัน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับพรานเช่นกัน มันเป็นสองเรื่องราวที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน และยังชวนให้รู้สึกหดหู่ทุกครั้งที่เผลอไปนึกถึงมัน

ขณะเดียวกัน ในเรื่องราวของสัตว์ป่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 หัวหน้าชุดลาดตระเวนอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จ.ตราด ก็ถูกช้างป่าทำร้ายจนเสียชีวิต ข่าวนี้ดังมาถึงป่าทุ่งใหญ่ฯ แม้ไม่ใช่คนรู้จักกัน แต่ด้วยหน้าที่การงานเหมือนกัน เราก็ต่างรู้สึกเหมือนกับว่าได้สูญเสียเพื่อนของเราไปคนหนึ่งเช่นกัน

“แล้วในเขตทุ่งใหญ่ฯ มีใครเคยได้รับบาดเจ็บจากสัตว์ป่าบ้างไหม” เราถามด้วยความสงสัย

“ที่นี่เจอบ่อยๆ อยู่ 2 อย่าง” พี่สมเกิดตอบแบบไม่ต้องคิด “หน้าร้อนเจอเห็บ หน้าฝนเจอทาก” วงสนทนาคลายความตรึงเครียดลงมาบ้างจากมุกที่ไม่คิดว่าจะโผล่งออกมาในระหว่างที่อารมณ์กำลังจะดิ่งลงด้วยเรื่องชวนดราม่า แต่ก็ได้รับคำอธิบายที่ทำให้เรารู้สึกใจชื้นว่า เจ้าหน้าที่ที่นี่ค่อนข้างจะโชคดีที่ไม่เจออะไรแรงๆ จากสัตว์ป่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เหตุการณ์ที่ถูกสัตว์ป่าเข้าทำร้ายก็มีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่ไหวตัวทัน สามารถหลบหลีกให้พ้นได้ก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว

แม้ชีวิตที่เดินเท้าอยู่กลางป่าจะค่อนข้างเสี่ยงอันตราย แต่ตอนนี้อาชีพพิทักษ์ป่าก็ยังไม่มีสวัสดิการอะไรมาช่วยเหลือมากมายสักเท่าไหร่นัก หรือจะพูดว่าอาจจะไม่มีเลยก็ได้

มาถึงตรงนี้เราเริ่มเข้าใจความรู้สึกของพี่สืบ นาคะเสถียรขึ้นมาบ้างแล้วว่า ทำไมเขาถึงทุ่มเทกำลังทรัพย์ของตัวเองไปให้กับลูกน้องอย่างมากมาย และยิ่งกว่านั้นในบางครั้งถึงกับคำรามวาจาอย่าโทสะให้ผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ว่า “ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูเลยดีกว่า”

หลังจากค่อนเดือนที่อยู่กลางป่า ผ่านวันที่ใช้แรงมาอย่างหนักหน่วง ก็ถึงวันที่ต้องใช้ความคิดกันบ้าง เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยจะต้องนำผลการลาดตระเวนออกมารายงานสรุปให้หัวหน้าและเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ ฟัง เป็นการประชุมร่วมกันประจำเดือนถึงสถานการณ์ในพื้นที่ที่ตัวเองกำลังรับผิดชอบ ข้อมูลที่ได้จะประโยชน์ต่องานวิชาการ ตลอดจนแนวทางป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในพื้นที่ซึ่งเป็นภารกิจหลักในการทำงานของที่นี่

 

 

สมปอง ทองสีเข้ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก อธิบายผ่านสไลด์ให้เราเห็น ‘ผล’ ของการทำงานว่า ช่วงเวลากว่า 25 วันที่เจ้าหน้าที่อยู่ในป่านั้น เขาทำอะไรและเจออะไรบ้าง

“ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน เราจะให้เขาบันทึกไว้หมดว่าระหว่างทางที่เดินไปเจออะไรมาบ้าง ถ้าเขาเจอร่องรอยของสัตว์ป่าอย่างรอยเท้าสัตว์ รวมถึงมูล หรือร่องรอยของพรานที่เขามาเพื่อล่า เขาจะบันทึกไว้หมดพร้อมกับระบุพิกัดเอาไว้ว่าเจอร่องรอยนั้นที่ตรงไหน”

 

 

“เราใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวนำการทำงาน ทำให้ได้งานออกมาอย่างเป็นระบบ จากข้อมูลที่เขาบันทึกมา เราจะเห็นได้เลยว่าสัตว์ป่าชนิดไหนกระจายตัวอยู่ตรงไหน ที่ไหนที่มีร่องรอยของพรานเราก็จะรู้ และข้อมูลทั้งหมดเราก็จะนำมาเป็นแผนในการออกลาดตระเวนของเดือนต่อๆ ไป”

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น จากกรณีที่พรานชาวเวียดนามได้เข้ามาล่าเสือโคร่งที่ทุ่งใหญ่เมื่อปี 2554 ได้มีการนำข้อมูลจากชุดลาดตระเวนมาใช้ในการแกะหาร่องรอย พร้อมกับข้อมูลวิชาการของทีมวิจัยเสือโคร่ง และยังผนวกข้อมูลร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ข้างเคียงทำให้ตามจับพรานคนดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้

อย่างไรก็ตามการลาดตระเวนและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบที่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาหลักของการทำงานในส่วนนี้คือเรื่องของปัจจัยที่ต้องใช้สอยระหว่างทำงาน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มีไม่พอต่อจำนวนเจ้าหน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เลวร้ายไปกว่านั้นคือไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารในการลาดตระเวนจนเจ้าหน้าที่ถึงกับต้องควักเงินเดือนตัวเองออกมาจ่ายไปก่อน

หัวหน้าสมปองอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เพราะงบประมาณที่ได้มามีจำกัด เพียงแค่จ่ายค่าจ้างพนักงานและค่าน้ำมันสำหรับเดินทางก็ทำให้เหลือส่วนสำหรับนำมาใช้ในการทำงานไม่มาก อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนเสบียงจึงเป็นการขอรับสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเสียมากกว่า

แต่ก่อนที่จะออกไปขอใคร หัวหน้าสมปองพูดกับลูกน้องของเขาไว้อย่างชัดเจนว่า “คุณต้องทำงานให้เขาเห็นก่อน”

ซึ่งผลของการทำงานก็ทำให้วันนี้เจ้าหน้าที่ที่นี่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ค่อนข้างจะพร้อม แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่ก็พอให้สามารถทำงานได้อย่างไม่ขาดมากเหมือนอย่างในอดีต

 

 

8-11 มีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำทีมโดยอาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิฯ ออกเดินทางมุ่งสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก เพื่อเยี่ยมเยียนและมอบขวัญกำลังใจ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แก่หน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ทุ่งใหญ่

 

 

กิจกรรมออกเยี่ยมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ออกเดินทางไปปีละแห่ง สลับกันเป็นวงรอบ 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก และทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก พื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกที่ยังคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของป่าและสัตว์ป่ามากมาย

ในการออกเยี่ยมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ นั้นทำให้ได้ข้อมูลว่าพิทักษ์ป่าทำอะไร อยู่กินกันอย่างไร อะไรที่ขาดและยังจำเป็น ทางมูลนิธิฯ ก็จะทำหน้าที่จัดหามาเติมให้เต็ม ในบางครั้งก็เป็นการขอรับการสนับสนุนจากบุคคล หรือองค์กรที่สนใจอยากจะช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่มาร่วมกันเติมส่วนที่ขาด

“ดิฉันพาคำขอบคุณจากคนเมืองมาให้ค่ะ” อาจารย์รตยา กล่าวประโยคนี้ในทุกหน่วยพิทักษ์ป่าที่แวะเยี่ยม และในฐานะคนที่ทำงานปกป้องป่าเช่นกัน ประธานมูลนิธิสืบฯ ในวัย 83 รู้สึกอิ่มเอมหัวใจเมื่อเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยพิทักษ์ป่า เล่าเรื่องราวการทำงานออกมาให้ฟังว่า เจอสัตว์ป่าบ่อยขึ้น และคิดว่าจำนวนน่าจะเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนด้วยเช่นกัน

ในเย็นวันหนึ่งที่คณะของมูลนิธิสืบฯ เข้าพัก ณ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำเขียว ระหว่างกำลังรออาหารเย็น เราเห็นกวางป่า 2 ตัวกำลังเดินออกจากป่าเพื่อมากินโป่งที่ทำไว้ยังหน้าที่ทำการหน่วย แต่ดูเหมือนทั้ง 2 ตัวนี้จะรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในระยะไม่ไกลจากแหล่งอาหารของมัน กวางป่าทั้งสองจึงหันหลังเผ่นกลับเข้าป่าไปตามสัญชาตญาณเสียก่อน ทิ้งไว้เพียงความเสียดายของผู้มาเยือนที่ได้ชมสัตว์ป่าจริงๆ เพียงเวลาไม่ถึงนาที

อีกครั้งที่หน่วยพิทักษ์ป่าจะแง่คี หลังจากพูดคุยทักทายกับเจ้าหน้าที่กันพอหอมปากหอมคอแล้ว เจ้าหน้าที่นายหนึ่งก็หยิบกล้องถ่ายภาพออกมาจากย่ามแล้วโชว์ภาพเสือโคร่งตัวหนึ่งที่เพิ่งถ่ายได้ไม่กี่วันก่อนที่คณะจะเดินทางเข้ามาเยี่ยม “มันเดินผ่านหลังบ้านพักเจ้าหน้าที่ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนนี่เองครับ ผมเห็นมันวนเวียนอยู่สองวัน แต่ไม่รู้ว่าใช่ตัวเดียวกันหรือเปล่า”

ภาพถ่ายเสือโคร่งนั้นสร้างความตื่นเต้นให้กับคนที่ได้เห็น เพราะความหมายของการได้พบเสือโคร่งนั้นแสดงให้เห็นว่าป่ายังอุดมสมบูรณ์ เพราะป่าที่จะมีเสือโคร่งนั้นต้องเป็นป่าที่มีสัตว์กีบ เหยื่อของเสือโครงอาศัยอยู่ และหากมีสัตว์กีบนั่นก็หมายความว่าพืชพรรณในป่าก็ย่อมต้องสมบูรณ์ตามไปด้วย

ซึ่งนี่ก็น่าจะบอกได้ว่าอะไรคือคุณค่าของพิทักษ์ป่า ในวันที่ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยตัว

 

 

 

ในคืนที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก พี่เกิดกับลูกน้องช่วยกันก่อกองไฟขับไล่ความหนาวยาม แกบอกว่าคืนนี้พี่จะนอนตรงนี้แหละ เขาบอกว่าชอบนอนข้างกองไฟเพราะมันอุ่นกว่าการนอนแปล หลังจากจัดการกับที่หลับที่นอนเรียบร้อย ปูผ้ายาง สวมถุงเท้า และหยิบถุงนอนมาวางไว้ข้างตัว พี่สมเกิดก็เริ่มเล่าเรื่องการทำงานอีกครั้ง

 

“พี่ทำงานที่นี่ ทำงานรักษาป่า พี่มีความสุข ถึงจะไม่มีมีใครมองเห็น แต่ถ้าเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ เราก็รู้สึกมีความสุขและภูมิใจในสิ่งที่เราทำ”

 

พี่เกิดหันไปมองเจ้าหน้าที่รุ่นน้องคนหนึ่งที่นั่งล้อมวงอยู่ด้วยกัน แล้วหันกลับพูดต่อว่า น้องๆ หลายคนที่เข้ามาทำงานเป็นพิทักษ์ป่าก็คิดเหมือนกันกับเขา บางคนที่บ้านอยู่กินกันอย่างสบาย ไม่ขัดสนหรือลำบากอะไร แต่เขาก็เลือกที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะเขารักและหวงแหนป่า สัตว์ป่า และไม่อยากให้มันหมดไป

“ทุกวันนี้กระแสโลกมันเปลี่ยนไปเร็วนะ โทรศัพท์ต้องสามจีสี่จี โทรเข้าออกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเล่นไลน์ได้ด้วย แต่ยิ่งเทคโนโลยีไปข้างหน้าเร็วเท่าไหร่ ป่าก็คงหมดไปเร็วเท่านั้น” ประโยคนี้เป็นข้อความท้ายๆ ที่พี่เกิดพูดก่อนจะขออนุญาตล้มตัวลงนอนเอาแรงเพื่อตื่นมาปฏิบัติภารกิจในวันต่อไป

ผมกับเจ้าหน้าที่สองสามคนนั่งมองเปลวไฟที่กำลังลุกโชนต่ออีกสักระยะ ก่อนจะแยกย้ายไปเข้านอนตามมุมที่ตัวเองถนัด

ระหว่างการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของเวลา หากไม่ลุกขึ้นมาเติมเชื้อให้กับไฟไม่นานก็คงมอดไหม้ไปจนหมดเหลือไว้เพียงเถ้าถ่านที่ฟุ้งกระจายไปกับสายลมจนมองไม่ออกว่าครั้งหนึ่งมันเคยให้แสงสว่างและความอบอุ่นไว้แค่ไหน

สิ่งที่เคยสร้างไว้ ก็คงหลบอยู่ไปในมุมมืดอีกครั้ง เช่นหน้าที่ของพิทักษ์ป่า

  • เผยแพร่ครั้งแรก 14 มีนาคม 2014

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม