ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ฉากสุดท้ายวิถีสตูล

ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ฉากสุดท้ายวิถีสตูล

โรงละครฉากใหญ่คลี่ม่านหลังการเดินทางร่วม 12 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯสู่จังหวัดสุดท้ายปลายด้ามขวานฝั่งอันดามัน ชื่อ ‘สตูล’ อาจคุ้นหูหากคุณเป็นนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบความงามใต้ผืนน้ำ แต่น้อยคนที่จะเคยมาเยือนและเรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายและงดงามของชนชาวมุสลิมที่อยู่ร่วมกับชาวพุทธอย่างสงบสุข

สตูล มาจากคำมลายูว่า ‘สโตย’ หรือกระท้อน ผลไม้พื้นถิ่นที่มีอย่างชุกชุม แม้พื้นที่จังหวัดจะมีขนาดเล็กติดอันดับท้ายๆของประเทศไทย แต่ก็นับเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวครบครัน ทั้งถ้ำ น้ำตก และทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยระบบ ‘เศรษฐกิจ 3 ขา’ คือภาคเกษตรกรรม การประมง และการท่องเที่ยว

น่าเสียดาย ที่วิถีชีวิตเรียบงามของลูกชาวเลอาจต้องพลิกผัน เพราะแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทย ที่จะเปลี่ยนภาคใต้ตอนล่างเป็นดินแดนแห่งอุตสาหกรรม เน้นการผลิตและการส่งออก โดยมองข้ามทุนทางธรรมชาติและทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม

การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ อ.ละงู จ.สตูล นับเป็น ‘ก้าวแรก’ ของภาพฝัน ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ พื้นที่อุตสาหกรรมครบวงจรที่จะทำให้ ‘นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด’ เป็นเพียงสนามเด็กเล่น

“บางคนที่อยากเห็นความเจริญเขาก็อยากให้สร้าง แต่บางทีเขาอาจไม่รู้ว่าความเจริญเติบโตที่เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องแลกมากับวิถีชีวิตดั้งเดิมและธรรมชาติของสตูล” สมาชิกสมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์กรที่ยืนกรานว่าคัดค้านท่าเรือน้ำลึกสุดตัวบอกกับผมหลังจากสอบถามถึงสถานการณ์

‘สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์’ คำขวัญที่แสนเรียบง่ายของจังหวัดสตูล น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า คนสตูลต้องการท่าเรือน้ำลึกหรือไม่

ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ฉากสุดท้ายวิถีสตูล เรื่อง/ภาพ : กล่มนักสารคดีอิสระสายลม

ปะการังอ่อนสีสันสวยงามที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ในบริเวณร่องน้ำจาบัง ระหว่างเกาะอาดัง และเกาะหลีเป๊ะ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ และตะกอนจากการเดินเรือสมุทรขนาดใหญ่ หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา / PHOTO อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง

 

ฉากที่ 1 ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา

ผมเดินเข้าฉากขณะที่ฝนหลงฤดูยังไม่ขาดเม็ด ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา อ.ละงู นับเป็นจุดหมายปลายทางของคนต่างถิ่นที่อาจจะโด่งดังกว่าสถานที่ท่องเที่ยวบนบกของเมืองสตูลเสียด้วยซ้ำ เพราะที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่หมู่เกาะอันสวยงามภายในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งมีจุดเด่นคือกลุ่มปะการังที่เรียกกันว่า ‘ปะการัง 7 สี’ หรือปะการังอ่อนสีสันสวยงามและยังคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์บริเวณเกาะอาดัง-ราวี และเกาะหลีเป๊ะ

ไม่ไกลกันนักจากบริเวณท่าเรือโดยสาร ยังเป็นที่จอดเรือของชาวประมงพื้นบ้านที่ยังคงต้องพึ่งพาและพึ่งพิงทะเลเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ โดยมีสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างปลาเก๋า ปูม้า และปลาหมึก

วันนี้ท่าเรือดูไม่ครึกครื้นนัก ทั้งที่ปกติฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงพฤษภาคม ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับมะหรือคุณน้าตามภาษาถิ่น ที่กำลังกุลีกุจอจัดแจงจองที่นั่งให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

“ช่วงนี้คนมาเที่ยวไม่เยอะ เจอฝนเขาก็หนีกันหมด” มะพูดกับผมด้วยภาษากลางพลางยิ้มให้ ใบหน้าใต้ฮิญาบสีหม่นบอกผมว่า เธอน่าจะอายุประมาณปลายสายสิบ เมื่อเห็นท่าทีเป็นมิตร ผมจึงเริ่มถามความเห็นเรื่องท่าเรือน้ำลึก

“ก็รู้บ้างนะแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะได้ข้อมูลจากพวก NGOs อย่างเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเดินขบวนกันไป เราไม่อยากให้สร้าง คิดว่าผลกระทบมันเยอะ ถ้าสร้างจริงนักท่องเที่ยวคงไม่เหลือ ธรรมชาติที่มีอยู่ก็ไม่แน่ว่าจะเหลือ ส่วนภาครัฐเองก็ไม่เคยลงมาให้ข้อมูล ที่เรารู้ก็มาจาก NGOs ทั้งนั้น”

มะไม่ใช่คนพื้นที่จังหวัดสตูล แต่เมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจเลยมาเปิดกิจการขายแพ็คเกจทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาเที่ยวที่เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งหากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก บริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นเส้นทางผ่านของเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทั้งคราบสารเคมี การฟุ้งกระจายของตะกอน และกระแสคลื่นจากเรือเดินสมุทรขนาด 70,000 ตันกรอส

ยังไม่นับการขุดลอกทะเลบริเวณเขื่อนกันคลื่น การขุดลอกฐานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล และการขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือ คิดเป็นปริมาณดินกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะถูกนำไปทิ้งไว้อีกสถานที่หนึ่งซึ่งห่างจากบริเวณหมู่เกาะตะรุเตาประมาณ 30 กิโลเมตร

ผลกระทบเหล่านี้ ถูกซ่อนไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ฉบับมิถุนายน 2552 ที่มีตัวตั้งตัวตีคือกรมเจ้าท่า แต่ถูกชะลอโดยสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่มีคำสั่งให้ทบทวนรายงานดังกล่าว และศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อประกอบเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) โดยกรมเจ้าท่าตั้งเป้าว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 ภายในปี 2559

รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้รับการอนุมัติไปอย่างเงียบเชียบ กระทั่ง วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เดินทางไกลร่วม 900 กิโลเมตร เพื่อยื่นหนังสือแสดงความไม่ชอบธรรมในรายงานดังกล่าวร่วม 20 ประเด็น โดยมีประเด็นใหญ่ที่คนในพื้นที่ต่างขมวดคิ้วสงสัย คือความอุดมสมบูรณ์ของปากบารา ที่ต่ำเกินความเป็นจริง

ขณะที่รายงานเล่มใหม่กำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง การมีส่วนร่วมของประชาชนและการให้ข้อมูลโดยภาครัฐกลับหยุดนิ่งชะงักงัน ปล่อยความไม่รู้ให้โบยตีประชาชนอย่างโหดร้าย

“ถ้าสร้างก็คงต้องย้าย ไปหาที่อยู่ใหม่ เริ่มธุรกิจใหม่” มะพูดด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย

ผมกล่าวลามะเจ้าของกิจการทัวร์ ก่อนเตรียมพร้อมเดินทางเข้าสู่ตัวอำเภอละงู พื้นที่เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย และพร้อมจะเปิดรับการเติบโตของเม็ดเงินที่น่าจะไหลสะพัดหลังการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

การหาหอยเสียบริมชายหาดปากบารา เป็นหนึ่งในงานอดิเรกของแม่บ้านและเด็กสาวชาวละงู โดยใช้อุปกรณ์เช่นช้อนหรือทัพพี ขูดไปตามผืนทรายริมหาดเพื่อหาหอยเสียบที่สามารถนำไปเป็นอาหารในครัวเรือน หรือของฝากให้เพื่อนบ้าน

 

ฉากที่ 2 ในร้านน้ำชา ตลาดละงู

หากคิดจะหาข้อมูล พูดคุย หรือนั่งถกเถียง สำหรับภาคใต้ สถานที่แรกที่นึกถึงคงไม่พ้นร้านน้ำชา ศูนย์รวมของชายตั้งแต่วัยหนุ่มถึงวัยชรา และที่สำคัญคือไม่มีเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ขายตามวิถีมุสลิมอันเคร่งครัด

ผมเดินเข้าร้านที่อยู่ไม่ไกลจากใจกลางตลาดละงู ส่งเสียงผ่านม่านไอน้ำสั่งกาแฟร้อนและโรตีใส่ไข่ ก่อนจะมุ่งตรงไปหาบังที่กำลังนั่งคุยเรื่องการเมืองอย่างสนุกปาก เขาชะงักเล็กน้อยก่อนจะทักทายด้วยรอยยิ้ม ผมสัมผัสมือของชายเบื้องหน้าก่อนจะมาแตะที่หน้าอกซ้าย นี่คือการทักทายที่ชาวพุทธอาจไม่คุ้นชิน แต่สะท้อนความเข้มข้นของวิถีมุสลิมที่จะไม่นับถือกราบไหว้สิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์

“พี่ไม่ได้มาที่นี่เกือบปีแล้ว สงสัยเป็นชะตาที่ทำให้เรามาเจอกัน”

บังเป็นคนละงูโดยกำเนิด แต่ตอนนี้ไปทำงานอยู่ที่มาเลเซีย นานๆ จึงจะได้กลับบ้าน แต่หากถามถึงท่าเรือน้ำลึกปากบารา บังก็อธิบายให้ผมฟังซะละเอียด ในฐานะคนหนึ่งที่เคยไปเยือนท่าเรือมาเลเซีย

“มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้าสร้างจริงแน่นอนว่าเศรษฐกิจมันดีขึ้นแน่ๆ เพราะคนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สตูลจะไม่เหมือนเดิม คงไม่มีแล้วกับการออกทะเลไปหาปลา ทุกคนคงทำงานโรงงานกันหมด แต่ถ้ามันคุ้มทุน ถ้ามองไปที่อนาคต ยังไงการพัฒนาก็คงจะเลี่ยงไม่พ้น แต่ที่สำคัญคือต้องมีระเบียบ ที่มาเลเซียท่าเรือเขาจัดการดีมาก พี่กลัวว่าไทยจะสู้เขาไม่ได้” บังจบประโยคด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนจะบุ้ยใบ้ให้ลองไปคุยกับวง ‘ผู้ใหญ่’ ที่นั่งอยู่หน้าร้าน

ท้องทะเลอ่าวปากบารา บริเวณที่จะถูกถมเป็นท่าเรือน้ำลึก โดยมีความโดดเด่นคือเกาะเขาใหญ่ที่โอบล้อมหน้าอ่าว ชื่อ ‘ปากบารา’ มาจากช่องแคบระหว่างเกาะเขาใหญ่ที่เรือสามารถสัญจรไปมาได้ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในรอบหนึ่งปี จะมีหนึ่งวันที่พระอาทิตย์จะตกกึ่งกลางระหว่างช่องแคบพอดี

 

“ถ้าสร้างท่าเรือน้ำลึกจริง ก็ต้องถามว่าชาวสตูลจะได้อะไร” ศิริศักดิ์ ประทีปรัศมีกุล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ทักทายผมด้วยคำถาม ท่ามกลางวงล้อมของชายในวัยปลายกลางคน

“ชาวสตูลไม่ได้อะไรหรอก เพราะจะให้เราไปทำงานโรงงาน เข้าแปดโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็น ไม่มีใครทำหรอก สุดท้ายโรงงานก็ต้องไปจ้างพม่า พวกนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานแฝง ไม่ได้เข้ามาแบบถูกกฎหมาย เทศบาลก็แบกรับค่าขยะ ค่าการจัดการเข้าไป แต่พวกนี้ไม่ได้เสียภาษีให้เราสักบาท”

พี่ศิริศักดิ์อธิบายให้ผมฟังอย่างชัดเจน ก่อนจะพูดติดตลกว่า หลายคนที่เรียกเขาว่าเป็นพวกเอ็นจีโอ

“บางคนพอได้ยินว่าจะมีรถไฟผ่าน ก็ดีใจ นึกว่าราคาที่ดินจะขึ้น แต่ที่ไหนได้ เขามีไว้แค่ขนของอย่างเดียว นอกจากที่จะโดนเวนคืน ราคาที่ดินอาจจะตกด้วยซ้ำ”

รถไฟดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะใช้รถไฟรางคู่เป็นสะพานแผ่นดินเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล กับท่าเรือน้ำลึกสวนกงที่ จ.สงขลา ซึ่งทั้งสองแห่งอยู่ในขั้นตอนการสำรวจและศึกษาผลกระทบ

อีกข้อกังวลหนึ่งคือ นอกจากคนสตูลจะไม่ได้อะไร ประเทศชาติก็อาจจะต้องขาดทุนมหาศาล เพราะการส่งออกภาคใต้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่มีทางทำให้ท่าเรือคุ้มทุน ต้องอาศัยชาวต่างชาติ ซึ่งพวกเขาเลือกได้ว่าจะไปท่าเรือไหน อย่างท่าเรือ Kelang ของมาเลเซีย หรือท่าเรือของสิงคโปร์ที่เป็นท่าเรือขนาดใหญ่กว่าปากบารา ระบบบริหารจัดการดีกว่าเพราะเขาเชี่ยวชาญ

“แล้วอะไรคือข้อยืนยันว่าเขาจะเลือกเรา” พี่ศิริศักดิ์ตั้งคำถาม ก่อนที่จะปล่อยให้ทั้งวงสนทนาตกอยู่ในความเงียบ

คำตอบนี้คงไม่มีใครตอบได้ แม้แต่กรมเจ้าท่าผู้เป็นเจ้าของโครงการ เพราะในเล่มรายงานการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดของการประมาณการ

หรือนี่อาจเป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณร่วมแสนล้าน เพื่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งความอัปยศ

 

ฉากที่ 3 ย้อนเวลา ที่ทุ่งหว้า

ถ้าจะพูดถึงซากฟอสซิลสัตว์โบราณที่โด่งดังในประเทศไทย น้อยคนที่จะนึกถึงจังหวัดเล็กๆติดชายแดนอย่างสตูล ทั้งที่ในความเป็นจริง สตูลถือเป็นแหล่งโบราณคดีทางชีววิทยาที่มีความหลากหลายและสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจังหวัดทางภาคอีสาน

ศศิน เฉลิมลาภ นักธรณีวิทยา เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยเขียนถึงพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ชั้นหินตลอดชายฝั่ง ภูเขาหลายลูก รวมถึงเกาะในทะเลของสตูล เช่น เกาะเขาใหญ่ มีความสำคัญในเชิงธรณีวิทยาเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์เป็นจำนวนมาก”

สิ่งที่ยืนยันคำกล่าวนั้นคือการค้นพบฟอสซิลจำนวนมากในเขตอำเภอละงูและเขตอำเภอทุ่งหว้า และที่โดดเด่นคือ ฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณ เช่น ไทรโลไบต์ หรือแมงดาทะเลโบราณ สโตรมาโตไลต์ หรือหินสาหร่าย นอติลอยด์ หรือหอยงวงช้าง แกรปโตไลต์ เทนทาคูไลต์ และฟอสซิลหอยสองฝาโบราณ ซึ่งกระจายอยู่ตามภูเขาหินปูนในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะกลุ่มหินตะรุเตา ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นกลุ่มหินตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือมีอายุราว 540 ล้านปีก่อน

“อำเภอละงู มีความหลากหลายทางธรณีวิทยามากกว่า Geopark บนเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซีย มียุคทางธรณีครบทุกยุคในมหายุคพาลีโอโซอิก คือยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวิเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคดีโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และ ยุคเพอร์เมียน ในพื้นที่ไม่เกิน 30 กิโลเมตร อาจเรียกได้ว่า เป็นแหล่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้”

ฟอสซิลฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์สเตโกดอน อายุราว 1.8 ล้านปี ฟอสซิลสัตว์งวงชิ้นแรกที่ค้นพบในภาคใต้ สะท้อนคุณค่าทางธรณ๊วิทยาของอำเภอทุ่งหว้าและอำเภอละงู นอกจากจะพบฟอสซิลชิ้นนี้แล้ว บริเวณดังกล่าวยังเป็นแหล่งรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ โดยมีการค้นพบฟอสซิลสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ครบทุกยุคทางธรณีในมหายุคพาลีโอโซอิก นับว่าเป็นความหลากหลายที่โดดเด่นกว่าเกาะลังกาวี พื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอุทยานธรณีระดับโลก

 

ครูนก หรือ ธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ธรณีวิทยาและฟอสซิลในจังหวัดสตูลภาคชุมชุนอธิบาย

Geopark หรืออุทยานธรณี เป็นพื้นที่ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาหรือยูเนสโกได้ให้นิยามว่า ‘ประกอบด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา คุณค่าทางด้านโบราณคดี (Archaeology) นิเวศวิทยา (Ecology) และทางวัฒนธรรม (Culture)’ ซึ่งในปัจจุบัน Geopark ในระดับโลกมีทั้งสิ้น 100 แห่งใน 29 ประเทศสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก

สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณีเริ่มทำงานรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอพื้นที่อุทยานธรณีที่พื้นที่จังหวัดสตูล ตั้งแต่ปี 2553 พื้นที่จังหวัดเลย อุบลราชธานี และขอนแก่น ในปี 2554 ซึ่งราวเดือนตุลาคมปี 2556 ทีผ่านมา อุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทยก็ถือกำเนิดขึ้น ที่ผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี

ชาวสตูลเองก็ขับเคลื่อนเรื่องฟอสซิลอย่างเต็มที่ โดยจัดงาน ‘สตูลแลนด์ แดนฟอสซิล ครั้งที่ 1’ ที่บริเวณองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุ่งหว้า โดยมีพระเอกในงานคือเหล่าฟอสซิลสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์หลากชนิด และฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์สเตโกดอน อายุราว 1.8 ล้านปี ฟอสซิลสัตว์งวงชิ้นแรกที่ค้นพบในภาคใต้

แต่ในขณะที่หน่วยงานและชุมชนกำลังศึกษาเพื่ออนุรักษ์ โครงการพัฒนาใหญ่ก็กำลังมุ่งหมายจะทำลายความฝัน

ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ได้ระบุว่าต้องระเบิดภูเขา 10 ลูกและดูดทรายจากพื้นที่ 2 แห่งเพื่อถมทะเล

จากบทความ ‘ฟอสซิล 800 ล้านปี สมบัติล้ำค่าเมืองสตูล’ ในหน้าเว็บไซต์สำนักข่าวประชาไทระบุว่า เขาจุหนุงนุ้ย ในบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนทัง–เขาเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนทัง–เขาขาว ภูเขาที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า และหาดทรายบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ ที่เป็นแหล่งอันอุดมด้วยซากฟอสซิลที่อาจหาไม่ได้ที่ไหนในประเทศไทย ยังไม่นับเกาะตะรุเตา และเกาะเขาใหญ่ ที่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการก่อสร้างท่าเรือ

“พูดตรงๆ ว่าเสียดาย ไม่อยากให้ระเบิดภูเขาเอาฟอสซิลไปถมทะเล สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ครูนก หนึ่งในผู้รักฟอสซิลให้สัมภาษณ์กับ มูฮำหมัด ดือราแมและ ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ สองนักข่าวผู้ตามติดแผนพัฒนาภาคใต้อย่างใกล้ชิด

บางคนอาจมองว่านี่คือคำพูดที่เห็นแก่ตัว คำพูดของพวกขัดขวางการพัฒนา

แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเรารักษาในสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี สิ่งที่มีคุณค่าเพื่อนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ แทนที่จะมุ่งพัฒนาโดยไม่ลืมหูลืมตา

เดินหน้าเหยียบย่ำ ไปบนเส้นทางที่ประเทศพัฒนาแล้วเคยผิดพลาด

 

ฉากที่ 4 วิถีประมง บ้านบ่อเจ็ดลูก

ราวสามสิบนาทีที่รถรับส่งพาผมเดินทางจากท่าเรือปากบารา ตัดผ่าไปในใจกลางป่าชายเลนผืนใหญ่ก่อนจะทะลุเข้าสู่หมู่บ้านชาวประมงริมชายทะเลที่มีอยู่ราว 300 ครัวเรือน หมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งต้องติดต่อค้าขายผ่านทางเรือ

บ้านบ่อเจ็ดลูกหรือ ‘ลากาตูโยะ’ ตามภาษามลายู มีที่มาจากเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์ว่าครั้งบรรพบุรุษชาวน้ำอพยพมาจากเกาะเพื่อตั้งรกราก ขุดบ่อเท่าไรก็ไม่มีน้ำ กระทั่งขุดบ่อที่เจ็ด จึงจะมีน้ำออกมา บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า ‘บ่อเจ็ดลูก’ โดยมีหลักฐานคือโบราณสถานบ่อน้ำเจ็ดบ่อที่มีอายุกว่า 200 ปี

“ที่นี่เราหากินกับทะเล ส่วนใหญ่ก็เป็นปลา บางฤดูก็แมงกระพรุน แต่ที่ราคาดีที่สุดคือหอยตะเภา ขายได้กิโลละ 200 – 300 บาท ในไทยจะมีที่นี่ กับหาดปากเมง จังหวัดตรัง” บังชาวบ่อเจ็ดลูกอธิบายก่อนพาเราไปดูความอุดมสมบูรณ์ที่สะพานปลา

“นี่แหละ หอยตะเภา” บังชี้ไปยังหอยสีน้ำตาลปนเขียวหน้าตาประหลาด ด้วยขนาดประมาณเท่ากำปั้น และลักษณะเหมือนหอยแครงแต่รูปทรงคดโค้งคล้ายพัด แม้จะไม่ได้ลองชิมรส แต่คนในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อร่อยมาก’

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงตัวเลขอย่างชัดเจนว่า กว่าครึ่งของสตูลเลี้ยงชีพด้วยการประมงและการเกษตร โดยมีเรือประมงที่ทำการประมงพื้นบ้านบริเวณอ่าวปากบาราราว 500 ลำ และสัตว์ทะเลเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างปลาเก๋าและปูม้า

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในศูนย์วิจัยทางทะเลและชายฝั่งให้ข้อมูลกับผมว่า หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา สัตว์ทะเลเหล่านี้มีแนวโน้มจะสูญหายไป เพราะแรงดันน้ำจากเรือขนาดใหญ่จะทำลายสัตว์หน้าดิน รวมทั้งตะกอนจากการเดินเรือจะทำให้แพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนสัตว์ทะเล ไม่สามารถเจริญเติบโตได้

นั่นหมายถึงการถอนรากห่วงโซ่อาหารขนาดใหญ่ในทะเลสตูล

ผลกระทบเหล่านี้แทบไม่มีการพูดถึงในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐสักรายที่จะลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชน

ผมเดินลัดเลาะไปตามหมู่ไม้ท่ามกลางแดดยามสาย ก่อนจะมุ่งไปตามเสียงหัวเราะกังวานใสที่ล่องลอยมาตามสายลมริมทะเล สนามด้านหน้ามัสยิดบ่อเจ็ดลูกถูกจับจองด้วยเหล่าเยาวชนมุสลิมที่กำลังหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ผมยืนมองภาพเบื้องหน้า ก่อนที่ก๊ะในเดรสสีครีมและฮิญาบสีสดใสเดินเข้ามาทักทายผมอย่างเป็นมิตร

“ที่นี่เขาเรียกว่าตาดีกา เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้นให้กับเด็กๆ ทั้งภาษามลายู ภาษาอาหรับ หลักศาสนา และคัมภีร์อัลกุรอาน โดยมีครูอาสาสมัคร มาดูแลในวันเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิก” เธอกล่าวก่อนพาผมเดินไปดูนักเรียนในห้องที่กำลังอ่านตำราอย่างขะมักเขม้น

‘ตาดีกา’ เป็นคำภาษามลายู ตา มาจากคำว่า ตามัน หมายถึงอุทยาน ดี มาจากคำว่า ดีเดะกัน หมายถึงการอบรม และกา มาจากคำว่า กาเนาะ หมายถึงเด็ก คำว่า ‘ตาดีกา’ จึงหมายถึงสถานที่อบรมสำหรับเด็ก และเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นชาวมุสลิมที่ดี

“นี่คือบ้านของเรา เราไม่ยอมย้ายไปไหนแน่” ก๊ะสาวพูดกับผมด้วยสายตาแน่วแน่เมื่อเอ่ยถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จะต้องใช้ทรายจากแหล่งบ่อเจ็ดลูก บ้านของเธอ

ตามที่ระบุในโครงการ ทรายที่จะนำไปใช้มีทั้งหมด 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขุดจากสองแหล่งคือแหล่งบ้านปากละงู และแหล่งบ้านบ่อเจ็ดลูก กินเนื้อที่รวมราว 9 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบง่ายๆคือราว 1,000 สนามฟุตบอลมาตรฐาน ที่จะกลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ ผ่านกระบวนการเวนคืนที่ดิน

ยังไม่นับพื้นที่โดยรอบที่อาจมีปัญหาพื้นดินยุบตัว หรือปัญหามลภาวะทั้งทางเสียงและทางอากาศ ที่อาจรบกวนจนถึงขั้นอยู่อาศัยไม่ได้

น่าเสียดาย ที่วิถีชีวิตเรียบงามของชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกกำลังถูกรุกรานโดยโครงการขนาดใหญ่ ภัยเงียบที่รอวันปะทุ

ผมจากบ้านบ่อเจ็ดลูกมาโดยใช้เส้นทางลาดยางที่ตัดผ่านป่าชายเลน เส้นทางอย่างดีที่เสมือนขนมหวานเคลือบยาพิษ เชื่อมต่อหมู่บ้านชาวเลกับตัวเมือง โดยมีจุดประสงค์แฝงเร้นคือเตรียมไว้ขนทรายเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

เด็กๆ ชาวมุสลิมกำลังหัดอ่านเขียนเรียนรู้หลักศาสนาเบื้องต้นในตาดีกา มัสยิดบ่อเจ็ดลูก บริเวณที่จะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อขุดทรายไปใช้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ‘ตาดีกา’ หรือศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด ที่จะสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้นให้กับเด็กๆ ทั้งภาษาอาหรับ หลักศาสนา และคัมภีร์อัลกุรอาน โดยมีครูอาสาสมัคร มาดูแลในวันเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิก

 

ฉากที่ 5 ชีวิตติดผืนทราย อ่าวปากบารา

ยามสายของวันหยุดยาว ผมเดินเลาะไปตามชายฝั่งอ่าวปากบารา แม้หาดแห่งนี้จะไม่ได้กอปรด้วยทรายขาวละเอียด แต่ทรายเลนสีดำก็สะท้อนถึงซากอินทรีย์สารที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของสัตว์หน้าดิน จุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารขนาดใหญ่ในท้องทะเล

ท่ามกลางเปลวแดด ผมสะดุดตากับเหล่าหญิงมุสลิมในผ้าคลุมฮิญาบสีหม่นที่กำลังก้มหน้าก้มตาขูดทรายบนชายหาดโดยมีถังพลาสติกวางไว้ข้างกาย

“มาหาหอยเสียบเป็นงานอดิเรกน่ะ เอาไว้กินเองบ้าง แจกเพื่อนบ้านบ้าง แต่ก่อนนี่ตัวใหญ่กว่านี้นะ แต่เดี๋ยวนี้ได้แต่ตัวเล็กๆ” หญิงวัยต้นสี่สิบกล่าวกับผมพลางขยับทัพพีเหล็กในมือขูดทรายเป็นจังหวะ ข้างกายคือเด็กน้อยในฮิญาบสีชมพูสดใส ในมือถือข่ายพลาสติกที่ตุงแน่นด้วยหอยเสียบ

“พวกนี้เราเอาไปผัดบ้าง ต้มบ้าง ดองบ้าง พอกินได้ไปมื้อหนึ่ง” มะอีกคนที่อยู่ไม่ไกลกันกล่าวเสริม

วิถีพื้นถิ่นที่ดูแทบจะไร้มูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นเส้นเลือดเล็กๆที่หล่อเลี้ยงทุกคนในชุมชนให้มีอยู่มีกินโดยไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่าย และแน่นอนว่า หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทุกอย่างก็จะต้องซื้อหาด้วยเงินตราเพียงอย่างเดียว

อ่าวแห่งนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตแล้ว ยังเป็นบริเวณที่โดดเด่นในด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอีกด้วย

“สตูลอยู่ในช่องแคบมะละกา มีทั้งแหล่งหญ้าทะเล แหล่งปะการังอุดมสมบูรณ์ เป็นแนวปะการังอ่อนที่สวยงาม ตรงนี้เป็นบริเวณที่ผสมผสานกันของความอุดมสมบูรณ์ ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก” ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แสดงทรรศนะเมื่อกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสตูล

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ความไม่เหมาะสมในพื้นที่ตั้ง’ เพราะบริเวณปากบารานั้น แตกต่างจากบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งดร.ศักดิ์อนันต์ให้ความเห็นว่า

 

บริเวณที่ตั้งของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีภูเขาเกาะแก่งล้อมรอบ ต่างกับทะเลที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่นั่นถ้าน้ำมันรั่วหรือมีมลพิษไหลลงทะเล มันจะถูกคลื่นพัดพาไปหมด เพราะด้านหลังไม่มีภูเขา แต่บริเวณชายฝั่งแถบอันดามันตอนล่าง ทุกอย่างจะถูกพัดเข้ามาสะสมที่ชายฝั่งทั้งหมด

 

นี่คืออีกหนึ่งประเด็นที่ภาครัฐไม่เคยพูดถึง คือมลภาวะทั้งหมดจะถูกซัดกลับมาสะสมอยู่ในบริเวณชายฝั่ง จุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารของทะเลสตูล ซึ่งหากไม่มีการควบคุมดูแลอย่างเป็นระบบ สัตว์ทะเลที่เคยเป็นแหล่งรายได้หลัก อาจกลับกลายเป็นยาพิษที่บั่นทอนชีวิตผู้บริโภค

แม้กรมเจ้าท่าจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ระบุว่าจะมีการขนส่งสินค้า ‘อันตราย’ โดยไม่ระบุรายละเอียดว่าเป็นสินค้าชนิดใด

ในคำกล่าวอ้าง ท่าเรือแห่งนี้จะใช้ขนส่งยางพาราเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง จากสถิติปี 2554 ปริมาณการขนส่งสินค้า เมืองท่าชายทะเล ประเภทเรือค้าชายฝั่ง กว่าร้อยละ 84 เป็นสินค้าปิโตรเลียม

จึงยากจะปฏิเสธว่า หากจะให้ท่าเรือแห่งนี้คุ้มทุน การขนส่งสินค้าปิโตรเลียมคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ บริเวณหาดปากบารายังมีการค้นพบปูทหารชนิดใหม่ของโลก ซึ่งมีลักษณะพิเด่นคือ กระดองใหญ่โค้งนูนสีเทาอมฟ้า ก้ามสีครีมเหลือง กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่จะออกมาเดินขบวนเกลื่อนหาดในช่วงเวลาน้ำลงของทุกๆ วัน

ในประเทศไทย มีการค้นพบปูทหารทั้งสิ้น 13 ชนิด ซึ่งในประเภทปูทหารยักษ์นั้นเคยมีการค้นพบเพียงแค่ชนิดเดียวที่ จ.ชลบุรี ซึ่งไม่มีหลักฐานและตัวอย่างแน่ชัด การค้นพบปูทหารยักษ์ปากบาราจึงถือเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพิ่มเติม และเตรียมเสนอขอพระบรมราชานุญาตพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมฉลอง 84 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะตั้งชื่อปูชนิดใหม่ของโลกว่า “ปูทหารแห่งพระราชา”

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงอนาคตของปูทหารชนิดใหม่หลังการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกว่า

 

ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะผลกระทบของท่าเรือน้ำลึกนั้นใหญ่และกว้างมาก ทั้งมลพิษ ทั้งตะกอนในทะเล ซึ่งปูทหารแห่งพระราชาค่อนข้างเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยง เพราะเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในปากบารา มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะผู้กินซากพืชซากสัตว์ และยังมีความสามารถในการสะสมโลหะหนักในตัวสูงเช่นเดียวกับหอยนางรม

 

ผมเดินตามกลุ่มแม่บ้านมุสลิมที่กำลังทะยอยเดินทางกลับพร้อมกับหอยเสียบในปริมาณที่พอจะแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ท่ามกลางการหยอกล้อระหว่างหญิงสองวัย ในใจผมกลับสงสัย ว่าหากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเสร็จสิ้น ชายหาดและเวิ้งอ่าวแห่งนี้ จะยังสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับพวกเธอได้อีกหรือไม่

 

ฉากสุดท้าย ทางที่ไม่ได้เลือก

‘ไม่เคยได้รับข้อมูลจากภาครัฐ’ คือคำตอบที่ได้รับตรงกันจากคำถามถึงท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือชาวบ้านที่อยู่ในตัวเมืองอำเภอละงู

มะวัลลา หนึ่งในแกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกบอกกับผมว่า “กว่าจะรู้ว่าจะมีการก่อสร้าง รายงานก็ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยสงสัยว่ามาปักหมุดทำไมกัน ตอนนี้พอรู้ก็ถอนทิ้งหมด เราจะไม่ยอมให้ใครมาปักอีก” มะเอ่ยถึงหมุดทองเหลือง จุดบอกแนวเขตการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

ยิ่งเมื่อได้พูดคุยกับหนึ่งในหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ยิ่งสะท้อนชัดเจนถึงแนวคิดแบบเก่าที่ดำเนินการแบบ ‘เป็นกลาง’ มองข้ามความคิดเห็นจากประชาชน โดยรับคำสั่งดำเนินการจากด้านบนเพียงถ่ายเดียว

น่าเสียดาย ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุถึงสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมากมาย แต่น้อยครั้งที่ข้อความสวยหรูจะถูกนำมาปรับใช้จริง

แม้แต่รายละเอียดโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารายังไม่มีใครทราบ คงไม่ต้องไปกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์หลังการก่อสร้างท่าเรือ ที่เล็งเปลี่ยนแปลงพื้นที่ 150,000 ไร่ในอำเภอละงู ไม่ใกล้ไม่ไกลจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมละงู รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของท่าเรือ

ยังไม่รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนคลองช้าง ที่ตำบลทุ่งนุ้ย และคลังน้ำมันที่บ้านปากบาง อำเภอละงู ที่นับเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาแบบบูรณาการทั้งระบบ เรียกได้ว่าเป็นแผนพลิกโฉมหน้าเมืองสตูลให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเต็มตัว

ละครใกล้เข้าถึงฉากสุดท้ายโดยไร้บทสรุป ท่ามกลางเสียงโพนทะนาถึงความดีงามของท่าเรือน้ำลึก ในขณะที่เงาหายนะแห่งความขัดแย้งเริ่มกล้ำกลาย ทาบทับแววตาสงสัยของสังคม

‘สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์’ คำขวัญประจำจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2532 คงจะเป็นหนึ่งเสียงที่สามารถพูดแทนชาวสตูล ว่าพวกเขาต้องการอะไร

แม้ว่าจะไม่มีใครได้ยินก็ตาม…

ลายเส้นบางๆ ขีดพาดบนผืนทรายที่ชายหาดปากบารา สะท้อนความรักออกมาเป็น ‘รูปธรรม’ ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

หาดปากบารา อ.ละงู จ.สตูล หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเลมาหลายชั่วอายุคน ทั้งเป็นแหล่งนันทนาการในยามเยาว์วัย และเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงครอบครัวและชีวิตเมื่อเติบใหญ่ คงไม่น่าแปลกใจที่คนละงูจะบอก ‘รัก’ หาดแห่งนี้ได้อย่างเต็มปาก

น่าเสียดาย ที่พื้นที่ดังกล่าวกำลังจะถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘มาบตาพุดแห่งที่ 2’ โดยจุดเริ่มต้นของโครงการขนาดยักษ์คือการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่เท่าท่าเรือแหลมฉบัง ถมทะเลกว่า 500 ไร่ โดยมีความยาวหน้าท่า 1 กิโลเมตร

สิ่งที่เราต้องคิดคือมันคุ้มค่าหรือไม่ที่จะแลกวิถีชีวิตชาวเล แหล่งอาหาร และธรรมชาติบริสุทธิ์ กับเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

 


ขอบคุณ : โครงการ Silent Power มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สมาคมรักษ์ทะเลไทย จ.สตูล, เครือข่ายประชาชนต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา, อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง, ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์