จากป่าทุ่งใหญ่ฯ สู่ถนนราชดำเนิน : เมื่อการล่าสัตว์ของพรานบรรดาศักดิ์ นำมาซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ ‘วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม’

จากป่าทุ่งใหญ่ฯ สู่ถนนราชดำเนิน :  เมื่อการล่าสัตว์ของพรานบรรดาศักดิ์ นำมาซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ ‘วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม’

เหตุการณ์สำคัญหลายครั้งที่เกิดขึ้นบนบาทวิถีแห่งประชาธิปไตย ล้วนเกิดจาก ‘เสียง’ ที่ดังกึกก้องของมวลชน และ ‘ราชดำเนิน’ ถือเป็นถนนอีกหนึ่งเส้นที่เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกทางความคิดของประชาชนมาหลายยุคหลายสมัย

สำหรับ ‘ฌ็องเซลิเซ่เมืองไทย’ อย่างถนนราชดำเนินนี้เคยมีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่มีผลจาก ‘การล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’ เมื่อปี พ.ศ. 2516 จนเกิดเป็นชนวนแห่งปรากฏการณ์การแสดงออกบนท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ 2516 ในช่วงเวลาบ่ายเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อเบลล์ของกองทัพบก หมายเลข ทบ.6102 ตกที่เขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 ราย และพบซากสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะกระทิง 

ข่าวดังกล่าวจองพื้นที่กรอบหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ภายหลังได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ได้เข้าพื้นที่ไปกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัย (เดินทางมาสังเกตการณ์อยู่ก่อนแล้ว) ซึ่งได้มีการยืนยันว่า มีคณะนายทหารตำรวจและนายทุนจำนวนประมาณ 50 คน เดินทางเข้ามาล่าสัตว์ในบริเวณ ‘ทุ่งใหญ่นเรศวร’ โดยมีการใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำเป็นพาหนะและลำเลียงซากสัตว์ออกจากผืนป่า

ในขณะที่ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า คณะบุคคลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องเฮลิคอปเตอร์ตกนั้น ตายขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันเป็นงานลับที่เปิดเผยไม่ได้ เนื้อสัตว์ที่อยู่ในนั้นอาจเป็นของที่คนอื่นฝากมา 

การให้ข้อมูลของจอมพลถนอมส่งผลให้ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปกป้องผู้กระทำความผิดของฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากมีบุคคลในคณะหลายคนที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้มีอำนาจ 

อย่าง พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร รวมไปถึงพันโทสุภัทร สารสิน บุตรชายของนายพจน์ สารสิน ผู้เป็นนายทหารคนสนิทของจอมพลประภาส จารุเสถียร และหลายคนในคณะก็เป็นทหารตำรวจและพ่อค้าที่สนิทสนมกับคนในรัฐบาล

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจต่อประชาชน จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ออกมาปกป้องผู้กระทำผิด และต่อมาได้มีการตีพิมพ์หนังสือ ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ โดยกลุ่มปัญญาชนนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาไปในทิศทาง ‘เปิดโปง’ เรื่องราวของบรรดานายทหาร – ตำรวจจำนวนหนึ่ง เดินทางไปล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ พร้อมดาราและนักร้อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเข้าไป ‘ใช้พื้นที่’ ในทางที่ผิดบนผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้มีการอภิปรายต่อกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมฟังนับหมื่นคน รวมถึงได้มีการโจมตีพฤติกรรมของรัฐบาลอย่างดุเดือด

ปกหนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่ฯ

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ที่ถูกตีพิมพ์ออกมา 5,000 เล่ม ถูกซื้อจนหมดแผงไปภายในเวลาไม่นาน ต่อมาได้มีการขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้มีการตีพิมพ์หนังสือ ‘มหาลัยที่ไม่มีคำตอบ’ ซึ่งในหน้า 6 ได้มีข้อความในเชิงวิจารณ์บุคคลสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้นว่า

“ด้วยสถานการณ์ในทุ่งใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงเสนอต่ออายุการทำงานของกระทิงจ่าฝูงเป็นเวลาอีก 1 ปีกระทิง จากสภารักษาความปลอดภัยแห่งชาติกระทิง” 

ข้อความข้างต้นมีเจตนาเสียดสีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่เกษียณอายุราชการเมื่อต้นปี 2516 แต่สภากลาโหมมีมติให้ต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และยังกลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในเดือนมิถุนายน และผู้จัดทำหนังสือถูกลบชื่อออกจากสถานะนักศึกษา

ภายหลังมีการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อนักศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ดำเนินการประท้วง จนในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ โดยได้ยกเลิกการลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คน และให้อธิการบดีพิจารณาตัวเองลาออก 

ต่อมาทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทน (ศนท.) ได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังคนหนุ่มสาว อันเป็นเชื้อไฟสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน จนส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการ ‘3 ทรราช’ ต้องพ้นจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศไทยในเวลาต่อมา

 

 


ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก สถาบันพระปกเกล้า
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร