‘กล้องเอ็นแคป’ เทคโนโลยีต่อสู้การลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้

‘กล้องเอ็นแคป’ เทคโนโลยีต่อสู้การลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้

เมื่อปัญหาลักลอบล่าสัตว์และตัดไม้ยังไม่หมดไปจากป่า การต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ายังคงดำเนินต่อไป แต่นอกเหนือไปจากการเฝ้าระวังและตั้งรับกลุ่มผู้ไม่หวังดีเพียงอย่างเดียวแล้ว อุทยานแห่งชาติทับลานยังนำเทคโนโลยีแบบใหม่ ‘กล้องเอ็นแคป’ มาช่วยปกป้องทรัพยากรก่อนจะถูกปู้ยี่ปู้ยำจนไม่สามารถคืนกลับสู่ธรรมชาติได้

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ในงานสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย ครั้งที่ 38 ณ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำเสนอหัวข้อ “การใช้เทคโนโลยีที่แม่นยำในการสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ในอุทยานแห่งชาติทับลาน”

ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน

ปัญหาการล่าสัตว์ตัดไม้เกิดขึ้นมาช้านาน และยังไม่หมดไปจากสังคมไทย สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพรรณไม้ โดยเฉพาะไม้หอม ไม้พะยูง ที่มักตกเป็นเหยื่อเสมอ

อุทยานแห่งชาติทับลานถูกรบกวนและได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวน้อย เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทับลานที่อยู่ตรงใจกลางผืนป่าจึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านป่าไม้และสัตว์ป่า แต่สิ่งที่ตามมาของความสมบูรณ์คือคนที่เข้ามาล่าสัตว์ตัดไม้ ต่อมาคือเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลจับกุมคนเหล่านี้ ซึ่งมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลักลอบทำไม้ และการทำไม้นั้นจะมีอาวุธสงครามมาด้วย

การนำเทคโนโลยี “ระบบกล้องเอ็นแคป” (Network Centric Anti – Poaching System: NCAPS) ที่พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS ประเทศไทย) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาผนวกการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อย่างดี

เมื่อกล้องเอ็นแคปส่งภาพแจ้งเตือนมายังระบบเครือข่ายศูนย์กลาง แล้วพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการปฏิบัติงานตามแผนงานนำไปสู่การสามารถเข้าจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที ซึ่งช่วยตอบโจทย์การป้องกันรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรก่อนจะถูกตัดหรือถูกล่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ปรากฏในข่าวจับก่อนตัดตามหน้าสื่อต่างๆ

การปฏิบัติงานปฏิบัติงานมิใช่การหวังพึ่งเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ทำงานควบคู่กันภายใต้องค์ประกอบทั้ง 4 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่ (1) การวางแผนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ (2) อุปกรณ์และเทคโนโลยี (3) ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และ (4) การบังคับใช้กฎหมายอย่างรัดกุม

คุณประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ กล่าวว่า “การใช้ระบบกล้องเอ็นแคปทำให้เกิดแนวทางที่ดีคือมาตรการจับก่อนตัด ช่วยรักษาทรัพยากรก่อนที่จะถูกทำลาย โดยสิ่งที่เราจะได้มาคือการดำเนินคดีได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ นำไปสู่การขยายผลไปสู่ต้นตอผู้บงการกระทำความผิด ทรัพยากรได้รับการคุ้มครอง และยังช่วยสร้างความปลอดภัยในการทำงานและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย”

นอกจากจะกล้องเอ็นแคปจะจับภาพการกระทำผิดได้แล้ว กล้องเอ็นแคปบริเวณทางเชื่อมต่อผืนป่า (Corridor) ยังปรากฏภาพสัตว์ป่าขยับเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้ทางเชื่อมแสดงให้เห็นถึงความหวังและมีโอกาสที่สัตว์ป่าจะใช้ประโยชน์จากทางเชื่อมต่อป่าต่อไปในอนาคต

 


 

บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร