ก่อนจะถึง 30 ปี : ดาบลุงหม่องเปตอนที่ 4

ก่อนจะถึง 30 ปี : ดาบลุงหม่องเปตอนที่ 4

ระหว่างทางเดินกลับจากหมู่บ้านจะแก หมู่บ้านที่ลึกที่สุดของป่าทุ่งใหญ่กลับมายังหมู่บ้านทิไล่ป้าของลุงหม่องเป เป็นเส้นทางที่เกิดองค์ความรู้ และรูปแบบการจัดการพื้นที่ที่น่าสนใจถูกปรึกษาหารือระหว่างผม พี่หลง และลุงหม่องเปมาตลอดทางระหว่างเดินและที่พักกลางทาง มีดเดินป่าจากอยุธยาของผม ใช้ตัดไม้ไผ่ ตัดฟืนเพื่อต้มกาแฟกินกัน มิตรภาพ ความสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างประทับใจบนควันไฟและควันยามวนแล้วมวนเล่าระหว่างประโยคสนทนา

ผมกลับมาพักค้างบ้านลุงหม่องเปอีกหนึ่งคืนก่อนเดินทางไกลกลับ วินาทีที่ผมจำได้คือลุงหม่องเปเดินไปหยิบของบางอย่างมาจากในห้อง มายื่นให้ผมและบอกว่าแลกกันกับมีดเดินป่าบ้านอรัญญิกของผมที่เครื่องหมายมูลนิธิสืบนาคะเสถียรปั๊มลึกอยู่บนใบมีด ผมขนลุกซู่ยกมือไหว้ขอบคุณลุง พร้อมทั้งรับวัตถุนั้นมาพิจารณา

สิ่งที่ลุงขอแลกกับผมเป็นมีดเล่มแคบยาวด้ามไม้ไผ่เก่าสีเหลืองอ่อนมันเลื่อมอยู่ในฝักไม้ที่ทำโดยการใช้ไม้สองซีกเหลาเรียบประกอบกันมันไว้ด้วยวงถักหวายสามวง  เมื่อชักออกจากฝักก็ปรากฏเป็นดาบแคบสั้นปลายแหลม ส่วนท้องของมีดเว้าแคบกว่าส่วนหัวดาบเล็กน้อย รูปทรงตรงตรงเป๊ะสวยงาม ใบมีดและคมดาบยังสภาพดีแม้จะเห็นร่องรอยความเก่าแก่ที่ผ่านการใช้งานมา

ลุงเล่าว่าดาบเล่มนี้ตีจากเหล็กลูกระเบิดของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ป่าทุ่งใหญ่เมืองกาญฯ เองก็ไม่รอดพ้นการทิ้งระเบิดของเครื่องบินในสงครามโหดครั้งกระโน้น เมื่อลุงเป็นหนุ่มขึ้นมาเป็นช่างเหล็กก็เก็บมาตีมีดดาบเล่มนี้และใช้มาตลอด น่าจะหลายสิบปี เมื่อผมดูจากดาบทรงดาบเล่มนั้นก็เห็นว่าเป็นดาบที่เหมาะสมมากในการใช้ในป่า เพราะไม่ยาวเกินไปสามารถใช้ได้เพื่อการต่อสู้ป้องกันตัวแบบสมัยก่อน หรือ ใช้ตัดไม้เจียกฟืนก็พอได้ในเล่มเดียว

เช้าวันกลับจากหมู่บ้านทิไล่ป้า อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ และแผลทากกัด แผลเสียดสีที่ขาหนีบจากกางเกงยีนส์บรรเทาไปมากแล้ว ผมถอดโครงเหล็กเป้ที่เอาทิ้ง เอาเสื้อผ้าอาหารที่เหลือยังไม่ใช้ทั้งหมดให้ชาวบ้านไป และแกล้งลืมไฟฉาย กระปุกยา รวมถึงทุกสิ่งอย่างที่ไม่จำเป็นไว้ที่บ้านลุง แม้กระทั่งกางเกงยีนส์ตัวเก่งที่ทำเป็นซักตากไว้ไม่แห้ง ก็แกล้งลืมไว้ ในกระเป๋าเป้เหลืออุปกรณ์แผนที่ เข็มทิศที่จำเป็น แปรงสีฟัน พร้อมยาสีฟันที่บีบออกเหลือใช้เพียงสองครั้ง ไม่มีสบู่ ยาสระผม แป้ง หรือของอื่นใดที่เป็นภาระน้ำหนักให้ผมต้องเดินทางไกลจากบ้านทิไล่ป้า กลับมายังบ้านพี่หลงที่กองม่องทะในระยะทางราวๆ 50 – 60 กิโลเมตรที่ผมจะเดินต่อในวันนี้

สิ่งที่ไม่ลืมไว้แน่ๆ ก็คือดาบของลุงเล่มนั้น

ตลอดทางขากลับฝนกระหน่ำลงมาเป็นระยะๆ ผมค่อยๆปรับจังหวะการเดินให้ชินกับเส้นทางได้แล้ว ไม้เท้าไม้ไผ่ของพี่หลงขิ่งโพ่ ยังทำหน้าที่ประคองน้ำหนักผมให้ผ่านไปทีละเมตร เป้บนหลังผมเบาหวิวไร้สัมภาระที่ไม่จำเป็น ย่ามใบใหญ่ใส่สัมภาระที่หยิบใช้บ่อยๆ สะพายอยู่ที่หัวไหล่ ด้ามดาบของลุงโผล่ขึ้นมาจากย่ามพอดิบพอดี

ไม่น่าเชื่อว่าขากลับ ฝนกระหน่ำตกลงมาแทบไม่เห็นทาง พื้นดินแข็งในขามากลับกลายเป็นทางโคลนเละลื่น รองเท้าผ้าใบพื้นบางของผมยังเป็นปัญหาลื่นพอสมควร แต่ไม้เท้าและทักษะการประคองตัวที่ฝึกหนักมาหลายวัน ก็พาร่างกายที่ปราศจากสัมภาระรกเรื้อให้กลับมาถึงหมู่บ้านกองม่องท่ะได้ในที่สุด โดยไม่มีอาการกระย่องกระแย่งบาดเจ็บแต่อย่างใดเหมือนขามา กระทั่งเมื่อถึงหมู่บ้านพี่หลงที่ใกล้ออกจากป่า ผมดูเวลาและพละกำลังแล้ว ก็ขอลากลับไปทำภาระกิจที่กรุงเทพฯ โดยการขับรถออกจากป่าในค่ำนั้น และขับรถทบทวนเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในอีกดินแดนหนึ่งที่ผ่านมาในเจ็ดแปดวัน เมื่อออกจากอำเภอสังขละบุรีถึงเมืองกาญจนบุรีตอนใกล้ผ่านเที่ยงคืน ผมตัดสินใจหาที่พักในเมืองที่คุ้นเคย แวะซื้อสำลี แอลกอฮอร์ ยาใส่แผล เพื่อสำรวจแข้งขาที่ยังเจ็บจากแผลทาก และรองเท้ากัด ขากางเกงสีขาพับ และรอยหนาม รอยแมลงกัดทั่วร่างกาย ผมเช็ดแผลด้วยแอลกอฮอร์ที่แทบจะเรียกว่าอาบก็ได้ และแต้มยาสีใส่แผลสีส้ม แปะพลาสเตอร์หลายแผ่นทั่วเท้า ขา แขน และส่วนอื่นๆของลำตัวเป็นสิบๆ จุด

ผมใช้เวลาหลับไปจากเที่ยงคืนถึงเที่ยงวันรวดเดียวก่อนพาร่างกายและบาดแผลกลับกรุงเทพ พร้อมประสบการณ์ล้ำค่าที่มาพร้อมกับดาบเล่มนั้น

…………………………………………………………………………………………..

ผมจำได้ว่าในปีเดียวกันนั้นผมมีงานที่ต้องเดินทางไกลในป่าอีกหลายครั้ง และทำงานในป่าต่อเนื่องอย่างเข้มข้นกับชุมชนนับสิบชุมชน ทริปเดินป่ายาวๆ ของผมจะมีดาบของลุงเล่มนั้นติดตัวไปเสมอ ผมมีรองเท้ายางแบบกะเหรี่ยงพร้อมอุปกรณ์ป้องกันทากไปอย่างดี กางเกงยีนส์หนา และเป้โครงเหล็กเป็นสิ่งที่ผมรังเกียจและหวาดกลัวมันอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงชีวิตที่แทบไม่รอดกลับมาในทริปนั้น

ดาบกับประสบการณ์ พาผมบุกป่าทำงานอย่างปลอดภัย ในการเดินทางไกลแบบมืออาชีพมาอีกหลายปี

จำแม่นว่าครั้งหนึ่งในการเดินทางโดยเส้นทางน้ำ เรือลำเล็กที่ชาวบ้านขับพาผมทวนน้ำผ่านแก่งใหญ่เสียท่าให้กับ ความแรงของน้ำผ่านแก่งกลางป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก อีกฝากฝั่งของป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกบ้านลุงหม่องเป เรือถูกน้ำพักวูบเข้าท้ายเสียหลักจะล่ม ผมมีสติชูย่ามที่มีกล้องถ่ายรูป และดาบลุงหม่องเปเล่มนั้นไว้เหนือน้ำในขณะที่กระโดดสละเรือ แม้จะเสียเรือและเครื่องยนต์ไป แต่ผมดีใจอย่างยิ่งที่ดาบเล่มนี้ไม่จมน้ำไป

………………………………………………………………………………………………

ผมแวะไปหาลุงหม่องเปหลายครั้งในช่วงสิบปี ทำโครงการอนุรักษ์ร่วมกันหลายโครงการ โดยที่ลุงเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้วางหลักการต่างๆ ให้ลงตัวเพื่อให้หมู่บ้านทิไล่ป้าสามารถสำรวจแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นไร่หมุนเวียนของพี่น้องกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกับกติกาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้

โครงการของเราสิ้นสุดไปหลายปีแล้ว ผมเองไม่ได้เดินทางเข้าป่าไปหาลุงมาหลายปี หลายครั้งลุงฝากถามสารทุกข์สุกดิบผ่านมากับเจ้าหน้าที่ภาคสนามของเรา แต่ภารกิจมากมายในเมืองกรุงก็ทำให้ผมไม่พบลุงมาหลายปีจนได้ข่าวว่าลุงป่วยและเสียชีวิตแล้วในหมู่บ้านทิไล่ป้าในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ภาพผู้เฒ่าช่างเหล็กกะเหรี่ยงร่างผอมเกร็ง ยิ้มกว้างพร้อมยื่นดาบซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกระเบิดสังหารในสงครามโหดของโลก แลกกับมีดอรัญญิก แหล่งดาบนักรบอยุธยา โดยมิตรภาพของเราครั้งนั้นยังติดตา และตรึงใจ

 

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ


เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เนื้อหาส่วนใหญ่เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ไฟป่า” ในนิตยสาร a day ปี 2558 และรวมเล่มในหนังสือ “ไฟป่า” โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี 2560