เดินหน้าสู่ การจัดการน้ำทางเลือก

เดินหน้าสู่ การจัดการน้ำทางเลือก

หลังจากกรมชลประทานได้ถอน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แล้วบทบาทมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ดำเนินการแล้วและจะทำต่อไปนั่นคือผลักดันแนวคิด “การจัดการน้ำทางเลือก” ให้เกิดความสำเร็จในรูปธรรมแก่พื้นที่

จากการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรพยายามผลักดัน “การจัดการน้ำทางเลือก” ให้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ พร้อมนำเสนอโมเดลการจัดการน้ำทางเลือกเรื่อยมาตั้งแต่ปลายปี 2556 จนเกิดเวทีประชุมเพื่อหาทางออกกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายครั้ง

กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ ตลอดจนนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ชาวบ้านในพื้นที่ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากประชาชนในพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการ พิจารณาลักษณะพื้นที่ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้นำเสนอโมเดลการจัดการน้ำทางเลือก และร่วมกันหาทางออก นำไปสู่การประชุมระดับกระทรวงต่อไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560

ผลประชุมวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชลประทานโครงการเขื่อนแม่วงก์ ออกเป็น 3 แนวทาง คือ (1) สร้างเขื่อนแม่วงก์ ในตำแหน่งเดิมและขนาดเท่าเดิม (2) สร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยลดระดับกักเก็บน้ำเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านป่าไม้น้อยลง และพิจารณาเก็บกักน้ำที่บริเวณเขาชนกัน เพื่อชะลอและกระจายน้ำให้กับประชาชน บริเวณพื้นที่ อ.แม่วงก์ และ (3) ไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่บริหารการจัดการน้ำทางเลือก ด้วยมาตรการการใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง

ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการแนวทางที่ (3) คือ การไม่สร้างเขื่อน และหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อาจดำเนินการตามแนวทางที่ (2) และ (1) ต่อไป โดยวาระการประชุมครั้งนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลำน้ำแม่วงก์และสาขา โดยมีรองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทองเปลว และผู้ว่าราชการ จ.นครสวรรค์ ร่วมเป็นประธาน และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยู่ในคณะทำงานดังกล่าว

จากการประชุมครั้งนี้ “การจัดการน้ำทางเลือก” จึงได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนระดับนโยบาย นำไปสู่การปฏิบัติงานระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

กรมชลประทาน ได้สรุปปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลาดยาว ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยกรมชลประทานจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งได้นำข้อมูลสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เคยทำการสำรวจและนำเสนอมมาผนวกลงในแผนการทำงานด้วย

การปฏิบัติงานในพื้นที่ ภายใต้ชื่อ โครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ หรือที่เราเรียกกันว่า “การจัดการน้ำทางเลือก” ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ อบต.ลาดยาวเป็นผู้ประสานงาน อบจ.ให้ยืมรถ และมีภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ เทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ ทำงานสนับสนุนแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณ กำลังคน และอุปกรณ์ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรช่วยสนับสนุนในส่วนของงบประมาณที่ขาดเหลือในบางส่วน

ภายในปี 2560 ได้ดำเนินการ “ระยะเร่งด่วน” แล้ว ตั้งแต่การสำรวจ ตรวจสอบพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกเส้นทางน้ำและเบี่ยงทางน้ำ

คุณอรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิขาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่า “สิ่งที่องค์การบริหารตำบลส่วนตำบลลาดยาวได้ดำเนินการในการจัดการน้ำทางเลือกไปแล้วมีการขุดลอกคลองม่วงระยะทาง 10 กิโลเมตร ปิดคลองขม โดยปิดเพียงบางส่วนและใส่ท่อเพื่อลดปริมาณน้ำเพราะมีชาวนาบางส่วนจำเป็นต้องใช้น้ำ ปิดทางแยกฝายวังชมพู เปิดคลองแห้ง และขุดลอกเหมืองลาว”

ผลของการดำเนินการการจัดการน้ำทางเลือก หัวหน้าฝ่ายวิชาการให้ความเห็นว่า “เมื่อพิจารณาจากปีที่ผ่านมา (2559) ที่ยังไม่มีการจัดการอะไรเลย เกิดน้ำท่วมอำเภอลาดยาว 5 ครั้ง ส่วนปี 2560 นี้ ท่วมช่วงหนึ่งบริเวณหน้าการไฟฟ้าแต่ไม่เข้าพื้นที่อำเภอลาดยาว นี่คือน้ำจากคลองม่วงล้วนๆ เพราะมันไม่มีการจัดการ และช่วงวันที่ 20 ตุลาคม ได้เกิดน้ำหลากประมาณ 12 ชั่วโมงในบริเวณพื้นที่อำเภอลาดยาว ซึ่งการทำงานอันเต็มไปด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องของงบประมาณ อุปกรณ์ และกำลังคน แต่สามารถทำได้ขนาดนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างว่ามันมีทางเลือกอื่นที่สามารถทำได้”

จะเห็นว่าการบรรเทาอุทกภัยนั้นสามารถทำได้โดยทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องสร้างเขื่อน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะเร่งด่วน เพิ่งเริ่มดำเนินการเท่านั้น ในระยะต่อๆ ไป เชื่อว่า การจัดน้ำทางเลือกในพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแนวคิดสำคัญที่นำไปสู่การจัดการน้ำในพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดปัญหาแทนที่การสร้างเขื่อนที่จะส่งผลกระทบมากกว่าทั้งกับคนและผืนป่า

 


 

บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร