หากคุณสามารถรักษาผืนป่าให้กับโลกใบนี้ได้ คุณอยากทำอะไรบ้าง ? ชวนอ่านการทำงานเชิงรุกของ กรมป่าไม้ เพื่อดูแลป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่า

หากคุณสามารถรักษาผืนป่าให้กับโลกใบนี้ได้ คุณอยากทำอะไรบ้าง ? ชวนอ่านการทำงานเชิงรุกของ กรมป่าไม้ เพื่อดูแลป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่า

ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 11 กิโลกรัมต่อวัน และยังสามารถดูดซับก๊าซอื่น ๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ คอยดักจับมลพิษทางอากาศบางชนิด เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่าง ๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี และเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนที่คนและสัตว์จำเป็นต้องใช้ในการหายใจเข้า-ออก ได้ถึง 200,000 – 250,000 ลิตรต่อปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 2 คนต่อปี

ลองนึกสภาพของโลกใบนี้ดูว่าหากไม่มีต้นไม้สักต้น สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้จะยังมีชีวิตอยู่ได้ไหม ?

 

จากข้อมูลปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 458 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 69.3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยเป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขี้น

แผนงาน กรมป่าไม้ เพื่อดูแลป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15

เป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 หากจะเพิ่มพื้นที่ป่าตามเป้าหมายที่วางไว้จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่

กรมป่าไม้วันนี้ได้เปลี่ยนระบบการทำงานจาก หน่วยป้องกันรักษาป่า เป็น หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้  มีเป้าหมายเพื่อการปกป้องพื้นที่ป่า เพิ่มบทบาทการมีส่วนรวมของชุมชนให้เป็นกลไกในการเพิ่มพื้นที่ป่า อีกทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลพื้นที่ป่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยี Thailand 4.0

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า

“การทำงานเชิงรุกของกรมป่าไม้ มี 3 ส่วนหลัก ๆ คือหนึ่งเรื่องขององค์กร และบุคคลที่ต้องเพิ่มศักยภาพ อันที่สองคือหลักวิชาการ อย่างเช่นเรื่องระเบียบมาตรา 7 ที่ต้องปรับรายละเอียดระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ อันที่สามคือเรานำเทคโนโลยีมาใช้กับการทำงาน เป็นการทำ Big data ในระดับเบื้องต้น” นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของป่าไม้แนวใหม่ แต่จะมีการยกระดับศักยภาพจากการทำงานแบบเดิมมากขึ้น ส่วนการดำเนินงานหลังจากนี้คือการเพิ่มความเข้มแข็งของหน่วยและทีมทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ เช่น เร่งประกาศพื้นที่ป่าชุมชนที่ยังตกค้าง โครงการจัดสรรที่ดินทำกิน ตามแนวทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เร่งพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทำงานร่วมกัน

“วันนี้กรมป่าไม้จะเดินเดี่ยว ๆ ไม่ได้ จะต้องมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน วันนี้ก็มีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ช่วยกันคิดเมื่อ 2-3 ปีก่อน รูปแบบของหน่วยป้องกันและพัฒนารูปแบบนี้ก็ต้องมาสังเคราะห์ว่ามันเกิดจากอะไร เพื่อนำไปปรับใช้ต่อไป

เรามุ่งมั่นที่จะรักษาผืนป่าที่ยังอยู่ไม่ให้ถูกทำลายลง สองคือดูแลเรื่องไม้มีค่า ส่งเสริมให้คนปลูกไม้มีค่าเยอะ ๆ พื้นที่สีเขียวจะได้เพิ่มขึ้น กรมป่าไม้ไม่มีงบประมาณไปปลูกหรอก แต่โครงการนี้จะเป็นการปลดล็อคอะไรบางอย่าง กรมป่าไม้เองดูแลไม่ได้ทั้งหมดก็ต้องเอาป่าส่วนหนึ่งฝากให้พี่น้องดูแล แต่มันก็มีกลไกในการดูแลร่วมกัน” นายชีวะภาพ กล่าวเสริม

บทบาทหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้กับภารกิจใหม่ของกรมป่าไม้ยุค 4.0 

 

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ส่วนการดำเนินงานของมูลนิธิสืบฯ หลังจากนี้ จะมีการผลักดันเชิงนโยบายให้ไปสู่กรรมการป่าไม้แห่งชาติ พื้นที่ที่เป็นป่าเศรษฐกิจ 15% ต้องถูกจัดการจากกระบวนการพื้นฐานของหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าที่มีการจัดสรรที่ดิน คทช.

“วันนี้กรมป่าไม้มาถูกทางแล้วแต่เดิมเป็นหน่วยป้องกันรักษาป่า มาเป็นหน่วยป้องกันและพัฒนารักษาป่า ซึ่งต้องทำงานร่วมกับชุมชนด้วย เรื่องของที่ดินทำกินเพื่อในอนาคตจะต้องมาส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การที่มีหน่วยพัฒนาที่แข็งแรง และมีความพร้อมในการทำงาน อันนี้เป็นหน่วยพื้นฐานที่สุด ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ของการเพิ่มพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจ ประชาชนเองก็มีพื้นฐานที่ดีจากผลผลิตจากป่า

พื้นที่ป่าสงวนแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกจะเป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่ร่วมดูแลกับภาครัฐ ส่วนที่สองคือพื้นที่ที่ประชาชนได้ประโยชน์ไปแล้ว หรือ คทช. จะมีแนวทางอย่างไรให้ประชาชนลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้ได้มากที่สุด และเกิดความยั่งยืนในทรัพยากรป่าไม้เพื่อลูกหลานในอนาคต รวมถึงฟื้นระบบเศรษฐกิจการตัดไม้เชิงพาณิชย์ เป็นประเทศที่มีไม้ส่งออกกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ประชาชนมีงานทำและเป็นไม้ที่ถูกกฎหมาย ทุกคนยินดีที่จะตัดไม้แต่ไม่ทำลายป่า” นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นไม้แต่ละต้นได้ให้คุณค่ากับสิ่งมีชีวิตมากมายบนโลกใบนี้ แต่สิ่งมีชีวิตเดียวที่พยายามทำลายป่าไม้ก็คือมนุษย์ ส่วนคนที่จะสามารถฟื้นฟูป่าไม้กลับมาได้นั้น ก็เป็นมนุษย์อีกเช่นเดียวกัน ภาพการทำงานของกรมป่าไม้ในวันนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และขยายไปสู่การสร้างรายได้ ป่าไม้มีค่าแบบถูกกฎหมายให้กับคนท้องที่

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ณัฐพล สุวรรณภักดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร