ปีที่ 3 งานพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในป่าตะวันตก

ปีที่ 3 งานพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในป่าตะวันตก

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่อง ป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ (พ.ศ. 2559 – 2562) มูลนิธิสืบฯ ได้ให้ความสำคัญกับกิจรรม งานพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol ไว้เป็นงานลำดับต้นๆ ของแผนงาน

โดยบทบาทหลักของมูลนิธิสืบฯ ที่ได้วางแผนในเริ่มแรกของการดำเนินงานนั้น กำหนดว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะสนับสนุนการเดินลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ ระหว่าง 17 พื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก โดยกำหนดพื้นที่การลาดตระเวนไว้ทั้งหมด 13 พื้นที่ คัดเลือกจากพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่สำคัญ หรือพื้นที่ที่มีภัยคุกคามสูงเป็นตัวกำหนด

ปีแรกของการทำงานจะเป็นเรื่องของการพัฒนาการเก็บฐานข้อมูลพื้นที่ พัฒนาศักยภาพบุคลากร เพราะลาดตระเวนเชิงคุณภาพในผืนป่าตะวันตกจะดำเนินงานอยู่ในพื้นที่มรดกโลกเสียเป็นส่วนใหญ่ ในพื้นที่อื่นๆ อาจมีบ้างแต่ไม่เข้มข้นเท่า จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนและระบบการจัดการให้พร้อมเสียก่อน ซึ่งผลของการลาดตระเวนที่ออกมานั้น เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณภาณุเดช เกิดมะลิ ยอมรับว่าเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น แต่ก็ถือว่าได้เริ่มต้นและสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างดีในปีที่สอง

“จากที่ปีแรกเดินลาดตระเวนแล้วได้ข้อมูลออกมาน้อยมาก พอมาปีที่สอง ชุดลาดตระเวนในแต่ละเส้นสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น และนำมารายงานในการประชุมเพื่อวางแผนลาดตระเวนครั้งในเดือนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น”

ซึ่งในปีที่สองของการทำงานนั้น ข้อมูลที่ได้มานอกจากสามารถให้พื้นที่สามารถวางแผนการจัดการพื้นที่ของตัวเองได้แล้ว มูลนิธิสืบฯ ยังถือโอกาสนำข้อมูลเหล่านั้น มาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการบริหารจัดการกลุ่มป่าในอนาคต และนำมาใช้ในการวิเคราะห์สุขภาพกลุ่มป่าตะวันตก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานสุขภาพกลุ่มป่าประเทศไทยในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ในปีที่สองของการสนับสนุนงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพร่วมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ทราบว่ากลุ่มป่าตะวันตกมีพื้นที่ที่ขาดการเฝ้าระวังอยู่อีกหลายแห่ง จึงได้หารือเพื่อเพิ่มการสนับสนุนเส้นทางการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้น จากเดิม 13 เส้นทาง เป็น 25 เส้นทาง เพื่อให้เกิดการดูแลป่าอย่างทั่วถึง

สำหรับในปีที่สามนี้ งานของมูลนิธิสืบฯ จะเน้นไปที่ระดับนโยบายเป็นหลัก เพื่อให้การสนับสนุนงานลาดตระเวนสามารถเกิดกระบวนได้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ซึ่งก็คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยจะผลักดันการประชุมเรื่องงานลาดตระเวนให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสำนักบริหารพื้นที่ในผืนป่าตะวันตกให้มากขึ้น แทนที่เป็นการหารือกันเฉพาะพื้นที่ เนื่องจากภัยคุกคามที่พบจากการลาดตระเวนนั้น หลายๆ ประเด็นไม่สามารถแก้ไขได้โดยการทำงานของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการทำงานประสานร่วมกันในหลายระดับ โดยสำนักบริหารพื้นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาภัยคุกคามผืนป่าดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

อีกเรื่องคือการการผลักดันให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถเซ็ทระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งในปัจจุบันกรมอุทยานฯ มีแผนสำหรับผลักดันให้พื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งต้องทำงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพแต่ก็ยังมีข้อติดขัดทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องการพัฒนาบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ กรมอุทยานฯ จะต้องเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรตรงนี้แทนที่มูลนิธิสืบฯ ที่ได้นำร่องไปแล้วในบางส่วน

เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เชื่อว่า งานลาดตระเชิงคุณภาพในผืนป่าตะวันตกจะดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะหน่วยงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ตอนนี้มีความเข้าใจเรื่องระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพมากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่ทุกคนบอกว่าทำ แต่เมื่อลงรายละเอียดแล้วกลับไม่มีใครรู้เรื่อง

“เมื่อมาทดลองเดินด้วยกัน ก็ทำให้พื้นที่ที่ไม่เคยลองได้รู้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พอมีโครงการของกรมอุทยานฯ พื้นที่อนุรักษ์ก็สามารถรับนโยบายเอามาทำงานต่อได้เลย เพราะมีงานของเรารองรับ งานก็จะเดินหน้าเร็วมากยิ่งขึ้น”

เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เน้นย้ำว่า ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ประโยชน์ไม่ได้เป็นของมูลนิธิสืบฯ แต่จะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เดินลาดตระเวนว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อป้องกันรักษาป่า

 

ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านบัตรสะสมแต้มบางจาก

 


บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร