ถอดบทเรียน 3 ปี โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

ถอดบทเรียน 3 ปี โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

ในภารกิจดูแลรักษาผืนป่าใหญ่อย่างกลุ่มป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างระบบการดูแลรักษาผืนป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ คือ ทำงานทั้งในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกือบ 12 ล้านไร่ ที่ดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และยังรวมไปถึงพื้นที่ป่าสงวนโดยรอบพื้นที่อนุรักษ์ที่ดูแลโดยกรมป่าไม้อีกกว่า 8 ล้านไร่ เป็นยุทธศาสตร์การจัดการผืนป่าตะวันตก 20 ล้านไร่

นอกจากนี้ยังได้วางยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เข้าไว้อีกงาน เพื่อดูแลชุมชนที่อยู่ในผืนป่าและรอบป่า ลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากผืนป่า และให้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า ประกอบเป็นเนื้องานเดียวกัน

เมื่อนำทั้ง 2 ส่วนมาประกอบร่างกัน เราหวังว่านี่จะเป็นแนวทางในการดูแลรักษาผืนป่าให้กับประเทศไทยได้

ทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการต่างๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำลังจะผ่านพ้นปีที่ 3 ของการทำงาน และเป็นการเดินทางผ่านครึ่งหนึ่งของภารกิจ

เราได้ชวน 3 ผู้จัดการโครงการใหญ่ของมูลนิธิสืบฯ ที่กำลังสร้างระบบต้นแบบการดูแลรักษาผืนป่าอยู่ที่กลุ่มป่าตะวันตกมาทบทวนที่มาของโครงการและความคืบหน้าสำคัญว่าตอนนี้ ป่าใหญ่ที่เรากำลังพยายามรักษา ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนกันแล้ว

เรื่องราวนี้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ภาค ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก การพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก

เริ่มต้นที่ภารกิจแรก กับ โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก โดย นริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เป็นโครงการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบกลุ่มป่า โดยกระบวนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและรับผลได้จากการจัดการอย่างยั่งยืนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และสาธารณชนทั่วไป

องค์ประกอบสำคัญของโครงการ คือ การบริหารจัดการพื้นที่ผืนป่าตะวันตก ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ” โดยพิจารณาพื้นที่ที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศที่สำคัญในผืนป่าตะวันตก และใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพแบบกลุ่มพื้นที่อย่างสม่ำเสมอมาเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนงาน เพื่อติดตามข้อมูล โดยจะมีพื้นที่คุ้มครองหลักในแต่ละกลุ่มพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบและถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการลาดตระเวนสู่พื้นที่คุ้มครองอื่นๆ

 

นริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

 

ทำไมมูลนิธิสืบฯ ถึงมุ่งเป้าหมายไปในเรื่องงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

เมื่อก่อนการเดินลาดตระเวนมีเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติยังไม่มีการดำเนินการ แต่เมื่อเรามีเป้าหมายในการดูแลป่าตะวันตกให้ได้ จะต้องดูแลไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม และต้องรวบรวมข้อมูลระบบนิเวศและสัตว์ป่าเพื่อการบริหารจัดการ เลยเอากิจกรรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol เข้ามาใช้ในผืนป่าตะวันตก

 

อะไรคือความสำคัญของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และแตกต่างจากงานลาดตระเวนทั่วไปอย่างไร

การลาดตระเวนในสมัยก่อนเป็นการขับรถไปยังจุดต่างๆ เพื่อดูพื้นที่ หากไม่พบบุคคลกระทำความผิด ไม่พบการบุกรุก ก็จะเดินทางกลับ ไม่มีการบันทึกข้อมูล หรือเก็บหลักฐาน มีแค่เส้นแทรคตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ได้ไปยังจุดต่างๆ แต่การเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพเน้นเรื่องการเดินเป็นสำคัญ และต้องมีการจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีหมวดหมู่ มียุทธวิธี รวมถึงแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานชัดเจน เช่น ในชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพจะมีเจ้าหน้าที่ 7 คน แบ่งหน้าที่คนนำ คนคุ้มกัน คนปิดท้าย คนถ่ายรูป และจับพิกัดจีพีเอส ถ้าเจอร่องรอยสัตว์ป่าหรือภัยคุกคามอย่างการก่อกองไฟ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็จะจดบันทึก ถ่ายรูป ระบุพิกัดไว้ในจีพีเอส และต้องมาคิดวิเคราะห์ให้ความเห็นจากร่องรอยว่าพรานได้สัตว์ป่าอะไรไป เพราะอะไร เป็นเช่นนี้ตลอดการพบเจอระหว่างการเดินลาดตระเวนบนเส้นทางจนได้ข้อมูล

ข้อมูลที่ได้ก็นำมาแบ่งเป็นหมวดหมู่ในการจัดเก็บ มีทั้งหมด 5 หัวข้อ คือ (1) ข้อมูลเส้นทางเดินว่าเดินลาดตระเวนไปทิศทางไหนบ้าง โดยข้อมูลจะปรากฏในจีพีเอส (2) ข้อมูลสัตว์ป่าที่เจอในเส้นทางการเดินลาดตระเวน (3) หากพบภัยคุกคาม จะมีการจัดประเภทภัยคุกคาม พร้อมผลวิเคราะห์และลงความเห็นจากชุดเดินลาดตระเวน (4) ข้อมูลระบบนิเวศ อาทิ ชนิดพันธุ์ต้นไม้ โป่ง แหล่งน้ำ และพืชที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และ (5) สิ่งที่ไม่สามารถจำแนกได้

ความแตกต่างอีกอย่าง คือ พอเดินลาดตระเวนเสร็จแล้ว จะมีการประชุมวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปให้ข้อมูลที่ได้มามีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด ผู้เข้าร่วมได้เห็นรับทราบข้อเท็จจริงร่วมกัน กรณีเกิดปัญหาหรือพบภัยคุกคามจะหารือแนวทางการแก้ไข มีโปรแกรมสำเร็จที่สามารถดึงออกมาแสดงและรายงานผลได้

ตรงนี้สามารถพูดได้ว่าการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพในปัจจุบันเป็นการทำงานแบบวิทยาศาสตร์ มีข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์ และสามารถนำมาประมวลผลได้อีกด้วย

 

 

ทำไมต้องมีการเดินลาดตระเวนร่วมกันระหว่างพื้นที่

ตอนที่ทำโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ได้มีการกำหนดเส้นเดินลาดตระเวนทั้ง 25 เส้นในผืนป่าตะวันตก แล้วพบว่าเส้นทางลาดตระเวนนั้นเป็นเขตรอยต่อระหว่างพื้นที่ เช่น หนึ่งอุทยานแห่งชาติหนึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงใช้รูปแบบการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาร่วมกันในแนวเขตของพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกัน

คนที่มีประสบการณ์ในการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพไม่ต่ำกว่า 10 ปี อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและด้านตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง สามารถเป็นพี่เลี้ยงแบ่งปันเทคนิคการวิเคราะห์ เทคนิคการดู และประสบการณ์ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้พื้นที่ปฏิบัติจริงนอกเหนือไปจากห้องเรียนทำให้เกิดการเรียนรู้

อีกเรื่องคือการประชุมแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งในอดีตยังไม่มีการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ยกเว้นอธิบดีสั่งการหรือเป็นนโยบายของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และตามแนวตะเข็บพื้นที่อนุรักษ์อาจมีปัญหาที่ต้องแก้ร่วมกัน เช่น พราน เข้าจากพื้นที่อุทยานฯ และทะลุเข้าไปยังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มันจึงต้องมีการทำงานร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ในระดับพื้นที่อนุรักษ์มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว และอีกส่วนคือพื้นที่ตามแนวตะเข็บพื้นที่อนุรักษ์ก็จะเกิดประสิทธิภาพอีกแบบเพื่อร่วมกันปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรร่วมกัน

 

รูปแบบการกำหนดชุดการเดินลาดตระเวนทั้ง 25 เส้น ใน 17 พื้นที่อนุรักษ์มีความสำคัญอย่างไร

ป่าตะวันตกมี 17 พื้นที่อนุรักษ์ ได้กำหนดเส้นทางการเดินลาดตระเวนโดยอิงความสำคัญของแต่ละแห่งตามจุดเด่นของพื้นที่ เช่น สมมุติฐาน ฐานข้อมูลเก่าด้านสัตว์ป่า ภัยคุกคาม และกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลต่อป่าตะวันตก

ยกตัวอย่างโซนพื้นที่ป่าเขาเขียว-เขาใหญ่ เป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ของอดีตหัวหน้าที่ดำเนินงานในพื้นที่ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รับลม มีพันธุ์ไม้ชนิดพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ และป่ามีความสมบูรณ์ เราอยากปกป้องป่าผืนนี้จึงเลือกเป็นที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อเก็บข้อมูลและอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

หรือโซนป่าโปตาน่า จากการสำรวจโดยการขึ้นเครื่องบินพบนกเงือกเป็นฝูง โดยบริบทของพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ติดชุมชน ป่ามีลักษณะเป็นยางใหญ่ ไม่มีใครเชื่อว่ามีนกเงือกจริงหรือไหม ซึ่งพื้นที่คาบเกี่ยวกับสองพื้นที่อนุรักษ์ 3 พื้นที่ โดยแต่เดิมในฐานข้อมูลไม่มีข้อมูลการอาศัยอยู่ของนกเงือกคอแดง แต่ปัจจุบันเรามีข้อมูลเรื่องนกเงือกในพื้นที่มากมาย

บางโซนเลือกจากภัยคุกคาม เช่น ฐานข้อมูลเดิมของพื้นที่อนุรักษ์ที่สามารถจับพรานได้หลายครั้ง หรือพบการล่าสัตว์ป่าบริเวณนั้นๆ จำนวนมาก หรือโซนทางน้ำที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดการยากและลำบาก ซึ่งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ก็นำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อลดภัยคุกคาม ป้องปรามนักท่องเที่ยวไม่ให้กระทำผิดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

 

  • ชุดที่ 1 เขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก-อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
  • ชุดที่ 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก-อุทยานแห่งชาติเขาแหลม-อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
  • ชุดที่ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก-อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
  • ชุดที่ 4 อุทยานแห่งชาติไทรโยค-อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
  • ชุดที่ 5 อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์-เขตห้ามล่าศรีสวัสดิ์
  • ชุดที่ 6 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์-อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
  • ชุดที่ 7 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ-อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์-เขตห้ามล่าศรีสวัสดิ์
  • ชุดที่ 8 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
  • ชุดที่ 9 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
  • ชุดที่ 10-11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-อุทยานแห่งชาติพุเตย
  • ชุดที่ 12-13 อุทยานแห่งชาติเอราวัณ-อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีครินทร์
  • ชุดที่ 14 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-หน่วยป้องกันรักษาป่าที่นว.1 (แม่กะสี)
  • ชุดที่ 15 อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-หน่วยป้องกันรักษาป่าที่นว.1 (แม่กะสี)-กรรมการป่า-ฐานปฏิบัติการที่ 4
  • ชุดที่ 16 อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.5 (ยอดห้วยแก้ว)-กรรมการป่าแม่วงก์
  • ชุดที่ 17-18 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
  • ชุดที่ 19-20 อุทยานแห่งชาติคลองลาน-อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
  • ชุดที่ 21-22 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง- หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กพ.7 (เขาวังเยี่ยม)-หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กพ.2 (โกสัมพี)
  • ชุดที่ 23-24 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
  • จุดที่ 25 จุดสกัดทีชอแม

 

บทบาทของมูลนิธิสืบฯ อยู่ตรงไหนของงานพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ ทำอะไรบ้าง

มีทั้ง (1) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ อย่างที่บอกว่าทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีประสบการณ์การเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาร่วม 10 ปี แต่อุทยานแห่งชาตินั้นมีน้อยมากหรือบางพื้นที่ไม่มีเลย เราก็ไปพัฒนาศักยภาพให้เขารู้ว่าการลาดตระเวนเชิงคุณภาพคืออะไร มีวิธีการอย่างไร มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร เราก็จัดอบรมและฝึกบุคลากร (2) แล้วมูลนิธิสืบฯ ก็สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และมีเสบียงอาหารต่างๆ (3) เป็นเจ้าภาพเรื่องการประชุมร่วม ระหว่างพื้นที่ที่ทำงานร่วมกัน เพราะในอดีตพื้นที่ไม่มีการประชุมร่วมกัน ในเมื่อทำงานร่วมกันแล้วจึงมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน

(4) มูลนิธิผลักดันให้เกิดข้อมูลระดับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และเกิดศูนย์ข้อมูลของสำนัก ซึ่งในป่าตะวันตกเองมีทั้ง 3 สำนักบริหาร ได้แก่ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) และสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ในการรวบรวมเป็นข้อมูลสำนักเพื่อบริหารจัดการระดับสำนัก และ (5) มูลนิธิปลดล็อคนโยบายในระดับกรมฯ ซึ่งมีคำสั่งจากอธิบดีลงไปให้สามารถทดลองหรือทำโครงการหรือทำงานร่วมกันได้ในระดับพื้นที่

 

งบประมาณมาจากไหน ใช้ไปในกิจกรรมใดบ้าง

งบประมาณที่ได้มาจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนำมาสนับสนุนงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั้งระบบ ทั้งระบบหมายถึงทั้งเรื่องการประชุม การสนับสนุนเสบียง อุปกรณ์ การพัฒนาบุคคลากรเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการยามเจ้าหน้าที่เจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ใช้ในกิจกรรมที่เกิดปัญหาที่เกิดการลาดตระเวนแล้วและจำเป็นต้องแก้ไขในโซนพื้นที่นั้นก็สามารถนำเงินมาดำเนินการได้ และทำสรุปเป็นข้อมูลรูปแบบสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์และให้ผู้ร่วมประชุมได้รับทราบข้อมูลพื้นที่ต่อไป สนับสนุนเรื่องศูนย์ข้อมูลของแต่ละสำนัก ในเรื่องการติดตามการทำงานและด้านอุปกรณ์ในการจัดทำข้อมูลอย่างคอมพิวเตอร์ และใช้ประชุมกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นภาพรวมของป่าตะวันตกเพื่อนำเรียนสู่ผู้บริหารระดับกรมหรือผู้บริหารระดับโครงการ

 

 

สิ่งที่ได้จากการลาดตระเวนคือข้อมูล แล้วข้อมูลที่ได้นำมาทำอะไร พื้นที่ได้ประโยชน์อะไรจากข้อมูล และมูลนิธิสืบฯ จะนำข้อมูลตรงนี้ไปต่อยอดทำอะไร

ข้อมูลที่ได้มาแบ่งเป็นหลายระดับ หากมองในระดับพื้นที่ ข้อมูลที่ได้มาจะแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่ปรากฏในแต่ละเดือน เช่น เจอภัยคุกคาม เจอคนเข้าไปเยอะ เจอเส้นทางใหม่ เมื่อประชุมเสร็จเขาก็ปิดเส้นทาง อีกส่วนเป็นข้อมูลในระดับสำนัก นำไปใช้เรื่องของการบริหารจัดการคนและพื้นที่เองด้วย เช่น บริเวณนี้มีภัยคุกคามเยอะ มีสัตว์ป่าเยอะ แต่หน่วยมีไม่เพียงพอ ก็นำข้อมูลตรงนี้ไปขอจัดตั้งจุดสกัด หรือหน่วยชั่วคราว หรือหน่วยถาวรได้ในอนาคต นี่คือข้อมูลในระดับพื้นที่

พอข้อมูลมันเกิดขึ้นเป็นภาพรวมของป่าตะวันตก เจตนารมณ์ของมูลนิธิสืบฯ จะทำเป็นข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการป่าตะวันตก ซึ่งเป็นภาพรวมของป่าตะวันตกเลย แล้วเราก็จะผลิตหนังสือมาสำหรับการทำงานที่ผ่านมาเพื่อเผยแพร่ และต้นปีหน้าจะมีงานวิชาการการบริหารจัดการป่าตะวันตก โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดของเราคือเราอยากให้ป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ เป็นมรดกโลก หรือให้ป่าตะวันตกมีมาตรฐานเดียวการดูแลรักษากับมรดกโลกทั้ง 20 ล้านไร่ นี่คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของโครงการนี้ เพราะเราจะได้รักษาป่า 20 ล้านไร่ โดยที่จะใช้มาตรฐานตามที่สากลยอมรับ

เราเชื่อว่าการดูแลรักษาพื้นที่ป่า นิเวศป่า อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแล้วในตอนนี้ และพอเป็นมรดกโลกแล้วมันเป็นสมบัติของชาติ มันมีคนช่วยกันดูแลและปกป้องรักษา ก็เป็นการยกระดับการปกป้องดูแลรักษา อดีตได้รับการดูแลรักษาโดยชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรบ้าง องค์กรอื่นบ้าง หากมันสามารถเป็นมาตรฐานมรดกโลกได้ทุกคนก็จะมาช่วยกันดู มันเป็นอะไรที่มันน่าภาคภูมิใจ

 

 

ตอนนี้การทำงานเรื่องข้อมูลอยู่ในขั้นตอนไหน

อยู่ในขั้นตอนผลิตเอกสาร ข้อมูลถูกรวบรวมโดยฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 จะมีงานวิชาการเรื่อง การจัดการพื้นที่ป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ เอกสารนี้จะเป็นแนวทาง 25 แนวทาง 25 เรื่อง สำหรับนำเสนอในวันนั้น แล้วข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปสู่สำนักวัตกรรมอุทยานแห่งชาติเพื่อให้กรมอุทยานฯ สามารถบริหารจัดการต่อไป

จริงๆ แล้วเราทำ 25 เส้นนี้เป็นพื้นที่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ป่าตะวันตกเลย เพียงแต่เราแสดงให้เห็นว่ามีการบริหารจัดการพื้นที่แบบนี้ มีการลาดตระเวนแบบนี้ แล้ววันนึงจุดเด่นเรื่องพวกนี้ต้องขยายผลอย่างไรในพื้นที่ป่าตะวันตกให้ครอบคลุมทั้ง 11 ล้านไร่ ที่เราลาดตระเวนอยู่ตอนนี้ไม่น่าถึง 1 ล้านไร่ แต่มันสามารถตั้งให้เป็นโมเดลเป็นแม่แบบให้เห็นในเรื่อง การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การทำงานร่วม การนำข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาบริหารจัดการพื้นที่

 

พอเป็นงานข้อมูลก็จะเชื่อมร้อยการทำงานเข้ากับฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบฯ ด้วย อธิบายบทบาทการทำงานอนุรักษ์ป่าตะวันตกจากฝ่ายวิชาการหน่อยว่าทำอะไร

เราแบ่งงานเป็น 2 ส่วน ส่วนปฏิบัติการที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ภาคสนามของเรา ซึ่งมีประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ตาก นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี พอได้ข้อมูลแล้วจะถูกฝ่ายวิชาการนำไปวิเคราะห์ตามแนวทางของมูลนิธิเพื่อปกป้องผืนป่าตะวันตก และนำไปสู่การขยายแนวคิดไปกลุ่มป่าอื่นๆ ข้อมูลดิบต่างๆ จะถูกฝ่ายวิชาการวิเคราะห์ตามวิสัยทัศน์ของมูลนิธิสืบฯ อีกครั้งหนึ่ง

ที่ผ่านมานั้นฝ่ายวิชาการได้วิเคราะห์การพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในระดับพื้นที่และระดับผู้ปฏิบัติการ การดึงจุดเด่นของแต่ละเส้นการเดินลาดตระเวนว่ามีอะไรบ้าง เช่น นกเงือกคอแดง วัวแดง และฝ่ายวิชาการก็จะรวบรวมจัดทำเป็นเอกสารหรือหนังสือที่ผลิตโดยมูลนิธิสืบฯ และพอออกมาเป็นเอกสารหรือหนังสือแล้วมันก็เป็นขั้นตอนของการใช้เป็นคู่มือหรืออ้างอิงการบริหารจัดการในกลุ่มป่าตะวันตก ถ้าหากเรามีแนวทางที่ได้วิเคราะห์แล้ว เราจะเอาเอกสารชุดนี้นำสู่สาธารณชนในเวทีงานวิชาการที่จะเกิดขึ้นต้นปีหน้า และอีกอย่างหนึ่งจะนำข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการของกรมอุทยานฯ ซึ่งผลักดันให้เกิดการจัดการต่อไปในอนาคต

 

ตลอดการทำงานมีปัญหาและอุปสรรคอะไร

การบริหารโครงการเป็นเรื่องใหม่ของมูลนิธิสืบฯ รวมถึงของเจ้าหน้าที่ด้วย เรื่ององค์ความรู้ต่างๆ เราเองต้องดิ้นรนหาความรู้มาใส่ตัวเราเองให้เยอะที่สุด ตั้งแต่การเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพคืออะไร มีเทคนิคการปฏิบัติอย่างไร ในเมื่อเราจะไปเป็นผู้นำแล้วเราจะไม่รู้จักเลยมันก็ไม่ได้ ที่สำคัญโครงการนี้มันไปปรับเปลี่ยนการทำงานเดิมของผู้พิทักษ์ป่า เลยต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนแนวคิด ความคิด และวิธีการ คือเขาต้องเหนื่อยมากขึ้น ต้องจดบันทึก มีการนอนค้างคืน และเมื่อลงมือปฏิบัติจริงมันมีสิ่งของจำเป็นต่างๆ ที่ต้องใช้ในการปกป้องรักษาป่า เช่น เป้ เปล ปืน เสบียงอาหาร แล้วอุปกรณ์เหล่านี้มันยังขาดแคลนอยู่

ในเรื่องขวัญกำลังใจก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ คือการเดินป่าเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก ทั้งอุบัติเหตุ ไข้ป่า และพราน หากเกิดอะไรขึ้นมามันต้องมีกลไกในการช่วยดูแลต่อ ซึ่งมีเจ็บกันทุกเดือน โดนไม้เกี่ยวตา ตกเขา โดนอะไรต่อมิอะไรสารพัด พอเรามาทำงานเรื่องการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เราเห็นบุคคลากรปฏิบัติการในสนามมีไม่เพียงพอ คือพื้นที่ป่าตะวันตก 12 ล้านไร่ มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการอยู่ประจำตอนนี้ประมาณ 200 คน ไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาป่า และเรื่องสุดท้ายเรื่องความมั่นคงของพนักงานเจ้าหน้าที่มันไม่เกิด มีการปรับเปลี่ยนคนตลอดเวลา แต่การทำงานตรงนี้มันเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ความเข้าใจ เราก็ต้องฝึกกันใหม่อยู่ตลอด ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจถึงจะทำงานได้ มันลำบาก… เพราะอาชีพนี้มันไม่มีความมั่นคง มีคนเก่าออกไปคนใหม่เข้ามาเสมอ พอมานั่งคุยกันว่ามันเป็นเพราะอะไร ก็สรุปได้ว่ามันเป็นเรื่องความมั่นคงของเจ้าหน้าที่ ถามว่าเจ้าหน้าที่มีความภาคภูมิใจในการทำงานป่าไม้ไหม พวกเขามี แต่พอมาทำงานแล้วมันไม่มีอนาคต จึงกลายเป็นปัญหา

 

ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะดันระบบงานให้เข้าที่

เราใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง เรื่องต่างๆ เริ่มเข้าที่ เข้าที่ในที่นี้ทั้งด้านการเรียนรู้ว่าการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นอย่างไร มีกระบวนการและวิธีการอย่างไร มีตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาจากข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เจ้าหน้าที่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้กรมอุทยานฯ เองก็มีนโยบายให้พื้นที่อนุรักษ์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะได้ละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน ก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่ผ่านมาในทีมนิเทศของผมต้องสอนเทคนิคเรื่องการวิเคราะห์ทุกเดือน เพราะมันมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ไปพบเจออะไรใหม่ๆ ทุกเดือน ก็เป็นการเรียนรู้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ไป

 

ตอนนี้ทางกรมอุทยาน พยายามผลักดันงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพแล้วเช่นกัน จากนี้บทบาทเรื่องการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์จะดำเนินการอย่างไรต่อ

ตอนนี้กรมอุทยานฯ รับเรื่องการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นนโยบายของกรมเองแล้ว มูลนิธิสืบฯ ก็จะยุติการสนับสนุนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ แต่ในบางพื้นที่ที่กำลังดำเนินการไปอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาก็ยังสนับสนุนอยู่ โดยรูปแบบงานอนุรักษ์ต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อพื้นที่ 12 ล้านไร่ได้รับการบริหารจัดการตามระบบแล้ว การดูแลสัตว์ป่าและระบบนิเวศเกิดแล้วโดยใช้ระบบมาตรฐาน เราจะหวนกลับมาดูเรื่องชุมชนในป่าตะวันตกที่มีอยู่ราว 131 ชุมชน จะต้องมีการฟื้นฟูดูแลต่อให้เป็นชุมชนสามารถอยู่อย่างเป็นมิตรกับป่าตะวันตกให้ได้ คือการที่จะทำให้ป่าตะวันตกอยู่ได้ต้องมีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และมีข้อมูลในการบริหารจัดการ สิ่งนี้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งผืนป่าด้วยนโยบายของกรมอุทยานฯ ส่วนเราจะทำงานด้านฟื้นฟูดูแลชุมชน 131 ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เข้าไปไปงานด้านการส่งเสริมอาชีพจนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่าอย่างเป็นมิตรแล้วหลายชุมชน เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นไปเรื่องของการฟื้นฟูชุมชนในป่าตะวันตกเลย

อย่างเรื่องการบุกรุกพื้นที่มันแทบไม่เกิดขึ้นแล้วในป่าตะวันตก หรือเกิดขึ้นน้อยมาก ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในป่าตะวันตกไม่เกินราว 7-10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ก็ต้องมาดูกันว่าเราจะฟื้นฟูพื้นที่ตรง 7-10 เปอร์เซ็นต์นี้ให้เป็นมิตรกับป่าได้อย่างไร เราเลือกทำเป็นแม่แบบในการจัดการพื้นที่ 7-10 เปอร์เซ็นต์ตรงนี้ เข้าไปสร้างแม่แบบให้เห็นว่าหากอยู่กับป่าโดยเป็นมิตรกับผืนป่าจะต้องอยู่อย่างไร ประกอบอาชีพแบบไหน เราต้องไปทำกับสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ซึ่งเป็นงานตรงของส่วนงานนี้ในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยเจตนาคือต้องการฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนและพัฒนาชาวบ้านให้เกิดรูปแบบหรือเทคนิคในการอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล แผนกิจกรรมกำลังจะเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ว่าจะดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเป็นโครงการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิสืบฯ กับสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ เพื่อฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ป่าตะวันตก พอสร้างแม่แบบเสร็จแล้วก็จะนำข้อสรุปไปสู่การการผลักดันเชิงนโยบายต่อในอนาคต

ทีนี้ลองหลับตาฝันดูว่าการดูแลรักษาป่ากรมอุทยานฯ ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการดูแลผืนป่าตะวันตกแล้ว การเก็บข้อมูลเกิดเป็นข้อมูลการบริหารป่าตะวันตก ทั้งด้านสัตว์ป่าและภัยคุกคามในป่าตะวันตก แล้วในส่วนของชุมชนสามารถทำมาหากินได้ อยู่กับป่าได้ โดยไม่มีพิษมีภัย ป่าตะวันตกก็จะเป็นป่าที่สมบูรณ์อยู่กับเราตลอดไป

 

 

ตอนนี้ผ่านมาครึ่งทางของโครงการแล้ว ประเมินว่างานที่ทำจะไปถึงเป้าหมายได้ครบหมดทุกส่วนไหม ส่วนไหนจะได้หรือไม่ได้

โครงการเหลือประมาณ 2 ปี ปีหน้าเป็นการสรุปผลโครงการเชิงประจักษ์และนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชน สู่นักวิชาการต่างๆ และปีสุดท้ายคือการผลักดันสู่นโยบาย แต่ปีนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การสรุปงาน ทำรูปเล่ม แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการเพื่อให้ได้เอกสารที่สมบูรณ์ เรามีการประชุมนักวิชาการเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลที่เราผลิตมาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งมันถือเป็นการสร้างการยอมรับของสังคม นักอนุรักษ์ นักวิชาการต่างๆ ว่าข้อมูลที่เราทำมานั้นถูกตีตราด้วยกระบวนการเวที กระบวนการนำเสนอ และนักวิชาการ พอจบที่ความเท่าทันของนักวิชาการต่างๆ แล้ว เอกสารที่สมบูรณ์ก็จะสามารถนำไปสู่แนวทางปฏิบัติและนำเสนอเป็นนโยบายได้

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร