ถอดบทเรียน 3 ปี โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เป็นไปได้ไหมที่คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ถอดบทเรียน 3 ปี โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เป็นไปได้ไหมที่คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ความเข้มแข็งในการรักษาผืนป่านั้นมิได้ขึ้นอยู่กับการทำงานเชิงรับเพียงอย่างเดียว แต่การสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืนนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเชิงรุกที่จะนำไปสู่เกราะป้องกันอันเข้มแข็งในป่าปกป้องผืนป่า

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งที่มาของโครงการใหญ่ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังดำเนินการในปัจจุบัน คือ โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และดำเนินโครงการเรื่อยมาเป็นปีที่ 3

เพราะอะไรมูลนิธิสืบนาคะเสถียรต้องใส่ใจและมุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน ร่วมติดตามและถอดบทเรียนการทำงานไปกับ คุณยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก

 

ทำไมมูลนิธิสืบนาคะเสถียรถึงต้องทำงานส่งเสริมด้านอาชีพ และการส่งเสริมอาชีพมีความเกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ป่าอย่างไร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำโครงการแรกชื่อว่า โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Area – JoMPA) หรือ โครงการจอมป่า เป็นการเข้าไปทำงานจัดการที่ดินในเขตอนุรักษ์ให้เกิดความชัดเจน พอเราได้แผนที่สำหรับการจัดการที่เราเรียกว่าเส้นจอมป่าหรือเส้นขาวแล้ว เราก็แยกแยะได้แล้วว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ของชุมชน หรือพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เราก็นำชุดข้อมูลที่เป็นของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำเสนอไปที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในมุมมองตอนนั้นคิดว่านั่นคือเส้นบนแผนที่

ด้วยสภาพความเป็นจริงของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เขาก็ต้องใช้ชีวิตหากินกับระบบเดิม ฉะนั้นปัญหาของชุมชนทั้งเรื่องพืชเชิงเดี่ยว การบุกรุกทำมาหากิน การอนุรักษ์ต่างๆ มันเป็นเพียงแผนที่ หากไม่มีอะไรมารองรับอาชีพให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือตอบโจทย์ชีวิตเขาได้ เขาก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และด้วยกระบวนการของพืชเชิงเดี่ยวมันเอื้อให้เกิดการบุกรุกต่ออยู่แล้ว เพราะจำต้องใช้พื้นที่เยอะๆ มันก็จะมีการขยายบุกรุกทำมาหากินด้วยการผลิตพืชเชิงเดี่ยวเรื่อยๆ

ดังนั้น เราเลยคิดกันว่า “เราต้องทำงานกับชุมชนด้วยเพื่อตอบโจทย์ที่ต้นเหตุ” ในเมื่อปากท้องเขายังไม่อิ่มก็จะคุยเรื่องการอนุรักษ์ไม่รู้เรื่อง จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เขามีอาชีพ แล้วได้ขมวดเป็นข้อความว่า “อาชีพเป็นมิตรกับผืนป่า” เขาจะได้อยู่กินกับมัน โดยหลักการให้เขาผลิตอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย ใช้พื้นที่น้อย ได้ผลตอบแทนเยอะ และลดพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำที่เขาอาศัยอยู่จะได้ไม่มีสารเคมีลงไปละลายในพื้นที่ต้นน้ำ จึงเป็นที่มาและเกิดเป็นโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตกขึ้น แล้วพัฒนามาเป็นโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตกจนถึงทุกวันนี้

 

ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัมนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก

 

อาชีพที่มูลนิธิสิบฯ เข้าไปส่งเสริมในชุมชนต่างๆ นี้ ใครเป็นคนเลือก

วิธีการตอนเราเข้าไปทำงาน เราเข้าไปเก็บข้อมูล พูดคุยกับชุมชนว่าวันนี้เขาทำมาหากินอะไร อะไรคือต้นสายปลายเหตุ ปรับทุกข์สุขกันจนได้องค์ความรู้มา เช่นในป่าตะวันตกมีคนสนใจจะทำเรื่องสมุนไพร กาแฟ ผ้าทอ หรือการทำการเกษตรอื่นๆ พอเราเข้าไปเจอข้อมูล และพอดีกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเองอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรอยู่พอดี จึงเป็นเรื่องแรกที่เราดำเนินการ

พื้นที่แรกที่เราดำเนินการคือจังหวัดกาญจนบุรี ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ นำร่องที่แรกด้วยงานชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก ซึ่งอาชีพถูกคัดเลือกและประเมินจากความเหมาะสม ทางด้านความถนัด เพราะเขาเคยประกอบอาชีพนี้อยู่แล้ว และด้านการตลาด เพราะโอกาสทางการตลาดจากที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเข้ามาทำให้มีความพร้อมว่าทำแล้วเอาไปขายที่ไหน เหลือแค่ไปสร้างกระบวนการในสิ่งที่เขาถนัดอยู่แล้ว แล้วพอเราทำแบบครบองค์ ตั้งแต่การส่งเสริม ปลูก และขายได้ โครงการมันก็คืบหน้า มีการเก็บข้อมูล ถูกพัฒนามาจากชุมชนเป็นคนเลือก และเราเอามาประกอบกับเราเอง ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทความเหมะสม ชุมชนแต่ละแห่ง และการตลาด อาชีพต่างๆ ถูกเลือกโดยการประมวลภาพรวมจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้

 

เท้าความถึงความสำเร็จเป็นรูปธรรมของงานด้านพัฒนาอาชีพให้ชุมชนอยู่อย่างเป็นมิตรกับผืนป่าที่ทำไว้ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร

พอเรารู้ว่าเขาชอบอะไร ทำอะไรได้ เรามาสร้างกระบวนการกลุ่ม ในตัวกระบวนการกลุ่มมันมีอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ (1) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (3) ชุมชน และ (4) ลูกค้า คือมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมีส่วนอื่นๆ เพิ่มมาอีกจากภาคี เช่น องค์กรท้องถิ่นเข้ามาช่วย เราสร้างกระบวนการผ่านส่วนเหล่านี้ขึ้นมาโดยมองภาพรวมร่วมกัน เช่น เรามุ่งเป้าไปที่อยากให้ชุมชนอยู่อย่างยั่งยืน ลดสารเคมี และเป็นมิตรกับผืนป่า เราจึงเอาสิ่งนี้ไปคุยกับเขาแล้วสร้างกระบวนการขึ้นมาแล้วเลือก

แรกๆ อาจมีคนสนใจจำนวนมาก มีคนเข้ามาเป็นร้อย แต่พอถึงเวลาเราสรุปข้อมูลว่าอะไรเราทำได้และอะไรที่ห้ามทำก็เป็นการคัดกรองคนออกไป เหลือแต่คนที่สนใจจริงๆ หรือคนที่เคยผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวกับพืชเชิงเดี่ยวมาเริ่มทดลอง ผ่านกระบวนการแยกแยะในเรื่องของคน มีการตั้งระเบียบกติกาการทำงานขึ้นมาอย่างชัดเจนว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ และเราจะทำกันอย่างไร เป็นเรื่องของทั้ง 4 ส่วนนี้มาประชุมร่วมกัน โดยยุคนั้นมีประมาณ 40 ข้อ ยกตัวอย่างเช่น ไม่บุกรุกถางป่าเพื่อนำมาปลูกสมุนไพร, เราจะทำเกษตรอินทรีย์, ไม่ใช้สารเคมีกัน พอเรากำกับจนได้กลุ่ม เราทำงานไปพร้อมๆ กัน เราได้ออเดอร์มาก็เริ่มพัฒนาการผลิต

เช่นปีแรก พอเราทำกระบวนการกลุ่มเสร็จ เราก็คุยกับชุมชนว่าเราจะทำอะไรกันดี ในป่าตะวันตกบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ยกตัวอย่างตัวแรก คือ “รางจืด” ที่มันขึ้นเยอะไปหมดในป่าหรือแม้กระทั่งหัวไร่ปลายนา พืชชนิดแรกที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยื่นออเดอร์ให้เราคือใบรางจืด ใบรางจืดเป็นการเก็บหาของที่มีอยู่ในธรรมชาติ เขาไม่จำเป็นต้องใช้เคมีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันเขาก็นำชนิดพันธุ์ในป่ามาเพาะในแปลงของตัวเอง ระหว่างรอผลผลิตในแปลงก็เก็บจากป่ามาขาย พอเริ่มมีรายได้กลับมาเขาก็มองว่ามันมีโอกาสที่จะทำ นี่คือโมเดลแรกที่สำเร็จ เขาก็เก็บหาของจากธรรมชาติมาขายโดยที่เราเป็นคนควบคุมกระบวนการเก็บ เพราะรางจืดเราก็เก็บแต่ใบไม่ได้ทำลายต้นมันก็ได้ผลขึ้นมา พอเริ่มขายได้ก็เริ่มมองว่ามันมีโอกาส คนก็เข้ามา

ระยะเวลาผ่านไป 1-2 ปี เราเริ่มรู้ว่าพืชอะไรเหมาะกับพื้นที่เราทำงาน ก็เริ่มผลิตพืชที่เหมาะ อย่างเช่น แชมเปี้ยนโปรดักท์ของเราคือขมิ้นชัน ขมิ้นชันเป็นพืชที่เหมาะมาก ปลูกตามฤดูกาล ไม่ต้องให้น้ำ รอน้ำฝน พอเราเริ่มผลิตขมิ้นชันกลายเป็นว่าเราเก่งเรื่องขมิ้นชัน ผลผลิตต่อไร่เราสูงเมื่อเทียบกับที่อื่น คุณภาพเราดีกว่า มันก็เกิดบทเรียนที่สำเร็จ พอเขาเห็นเขาก็เริ่มชวนกันมาทำภายใต้กติกาที่มีอยู่ มันก็เริ่มนับหนึ่งมาตั้งแต่ประมาณปี 2552 ขยับมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของเราคือผลผลิตและรายได้ หากเป็นหน่วยงานราชการหรือองค์กรอื่นๆ ที่คอยส่งเสริมเขาไม่ได้ทำแบบครบองค์เขาทำเพียงส่งเสริมเมื่อส่งเสริมเสร็จแล้วก็ไป แต่มูลนิธิสืบฯ เราดูหมดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งการปลูก การขาย คุณภาพผลผลิต พอปลูกแล้วขายได้ เขาไม่ต้องไปดิ้นรนเองจึงอยู่ต่อเรื่อยมา

 

หัวใจของการทำงานที่เรียกว่าโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนคืออะไร และมุ่งเน้นไปในส่วนใดมากที่สุด

วันนี้หลักๆ เรามองว่าปากท้องของชาวบ้านมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ฉะนั้นถ้าจะให้เขาร่วมการอนุรักษ์ป่ากับเรา แสดงว่าเราต้องทำให้เขามีรายได้เพียงพอที่เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้นหัวใจคือทำอย่างไรก็ได้ให้เขาได้รายได้ในระหว่างที่เขาพยายามจะปรับตัวเองเข้ามาสู่กระบวนการในเรื่องของอนุรักษ์

ในขั้นตอนของมันคือให้เขารู้สึกว่าปลูกแล้วได้เงิน ถึงมันจะมีความยุ่งยาก มีกระบวนการมากมาย มันก็ยอมรับได้ และเรามุ่งเน้นให้เขาอยู่แบบวินวิน วินวินในที่นี้คือ การปลูกของเราจะไม่ทำลายป่า เราจะใช้พื้นที่เดิมที่เขาอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ตามมติ ครม. เราพยายามให้เขาใช้เกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพเขาเอง เพราะเขาคลุกคลีกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรมาตลอดชีวิต จุดหนึ่งที่ทำให้เขาใช้เงินไปกับการรักษาสุขภาพมาจากอาชีพของเขาเองนี่แหละ เราได้ของดีที่ปลอดสารเคมีกลับไปคืนสู่ผู้บริโภค และสุดท้ายสิ่งแวดล้อมก็ได้กลับมา เราพยายามควบคุมให้เกิดกระบวนการนี้

 

บทบาทของมูลนิธิสืบฯ ทำอะไรในงานตรงส่วนนี้

ถ้าเรามองแยกชัดๆ คือ กรมอุทยานฯ คือเจ้าของพื้นที่ ชาวบ้านคือผู้ผลิต มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรคือลูกค้า และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคือผู้จัดการให้ทุกอย่างให้การดำเนินการมันประสบความสำเร็จ มูลนิธิสืบฯ จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน กับทุกคน เป็นผู้จัดการ ผู้ประสาน โดยตำแหน่งแรกที่ผมทำคือการเป็นผู้ประสานโครงการ ประสานงานให้เกิดงานจากสามสี่ส่วนนี้ เพื่อนำไปสู่แนวทางที่วางแผนกันไว้

 

การสร้างกระบวนกลุ่มหรือเครือข่ายให้แก่ชุมชนช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างไรกับชุมชน

สมัยก่อนเกษตรกรหรือชาวบ้านเขาต่างคนต่างทำ เห็นเขาทำอะไรก็ทำตาม ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยปรึกษาหารือกันว่าจะขายอะไรอย่างไร พอเราเข้ามาทำกระบวนการ เราพบว่าการลุยเดี่ยวๆ คนเดียวไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถต่อรองได้ พัฒนาอะไรไม่ได้ ดังนั้นการสร้างกระบวนการมันทำให้เกิดกลุ่มก้อน เกิดความเหนียวแน่น เกิดความร่วมมือกันขึ้นมา เพราะเราชี้ให้เห็นว่าการทำคนเดียวไม่สามารถทำอะไรได้ แล้วพอทำกระบวนการกลุ่มเรามีกติกา มีการจัดการที่ชัดเจน กลุ่มก็แข็งแรง อีกทั้งยังนำไปสู่การจัดการผลผลิตด้วย

ยกตัวอย่างว่าผลิตออกมาคนหนึ่ง 100 กิโลกรัม ขนส่งของไปจังหวัดปราจีนบุรี มีค่าขนส่งต่อเที่ยวไม่คุ้มค่า แต่เมื่อเราขนทีละ 1 ตัน เอาค่าเฉลี่ยของการขนส่งมาเฉลี่ยกันทุกคนก็จะได้ลดต้นทุนค่าขนส่ง ก็จะเป็นเรื่องของความร่วมมือของการขนส่งและอื่นๆ

กระบวนการกลุ่มตรงนี้ยังทำให้เกิดความเข้มแข็งในการต่อรองซื้อขาย กลุ่มมีความแข็งแรงมากขึ้น รวมถึงกลุ่มมีการจัดการผลผลิตด้วย อีกส่วนคือความสามัคคีของชุมชน เพราะการทำงานเป็นกลุ่มสิ่งที่ต้องทำคือต้องเห็นด้วยร่วมกัน ของเราไม่ใช้วิธีโหวตแล้วตัดคนใดคนหนึ่งทิ้ง แต่เราใช้วิธีเสนอความคิดเห็น หากมีคนไม่เห็นด้วยสักคนหนึ่งก็ต้องหาเหตุผลมาให้ได้ว่าเพราะอะไร และทุกคนต้องเห็นด้วยจึงจะทำ ทุกคนก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการได้ ได้มากได้น้อยก็ว่ากันไป มันเป็นการแชร์ความรู้สึก แชร์ประสบการณ์การบริหาร

 

ความคืบหน้าของวันนี้เป็นอย่างไร รูปธรรมที่สำคัญของโครงการ

รูปธรรมที่ชัดเจนคือทุกวันนี้เขามีรายได้ที่ชัดเจนมาตลอด ในตัวของผลิตอาจล้มเหลวบ้าง แต่ในภาพรวมเราทำงานมาประมาณ 9 ปี เฉลี่ยแล้วเงินที่กลับไปสู่ชุมชนไม่น่าจะต่ำกว่า 20 ล้านบาท ก็ถือเป็นรายได้ที่เข้าไปสู่ชุมชนที่เห็นชัดเจนที่สุด ซึ่งเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจและเงินทอง

ส่วนเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ชุมชนได้ประสบการณ์ เรียนรู้ในเรื่องการผลิตว่าผลิตอะไรได้ผลิตอะไรไม่ได้ เรียนรู้ในเรื่องใช้ประโยชน์ เช่น ปลูกสมุนไพรแล้วจะใช้สมุนไพรรักษาตัวเองอย่างไร เรียนรู้ในเรื่องของการตลาด เราก็เรียนรู้ไปด้วยกันหมด เขาก็สามารถขายของเองได้แล้ว นี่คือรูปธรรมที่เขาเรียนรู้และเราเห็นชัดว่าเขาผ่านประสบการณ์นั้นมา

และที่สำคัญคือการเป็นมืออาชีพด้านการผลิต บทเรียนนี้เป็นสิ่งที่เห็นชัด พอมันมีแผนในแต่ละปี ทุกคนจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตเท่าไร ได้ประมาณ 70-80% ไม่ถึง 100% แต่ก็ถือว่าสำเร็จ พวกเขาเข้าใจกระบวนการแล้ว โดยวิธีการผลิตในรอบ 1 ปี ก็จะมีแผนการผลิต ระยะหลังแค่เรารู้ออเดอร์ และส่งออเดอร์ลงไป เขาก็จะสามารถทำต่อได้เลย

 

กังวลไหมว่าในมิติหนึ่งที่ชุมชนเห็นว่างานตรงนี้สร้างความมั่นคงทางรายได้แล้ว งานบางอย่างจะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรุกป่าเพิ่ม เรามีกระบวนการควบคุมส่วนนี้อย่างไร

ส่วนหนึ่งเราควบคุมส่วนนี้ด้วยกติกา เรื่องนี้คือสิ่งที่เรากังวลกันมาตั้งแต่ต้น ตอนทำโครงการก็เหมือนกัน เรากังวลไปจนถึงว่าหากเราทำแล้วทุกคนทุกคนสนใจจะผลิตกันหมด เราจะเอาตลาดที่ไหนส่ง ในเมื่อความต้องการของตลาดไม่ได้มีมากมายจนเหลือล้นที่จะสามารถผลิตได้ทุกคน การทำกติกาจึงเป็นเรื่องที่สร้างมาตรฐานคัดกรองคนที่จะเข้ามาหาเรา

กับสิ่งหนึ่งที่ทำควบคู่การมีกติกาที่เข้มแข็ง คือเรื่องการให้ความรู้ด้านการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นี่เป็นหัวใจเช่นกัน เพราะโดยธรรมชาติของคนเราทั้งโลกมันไม่มีใครพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่หรอก ดังนั้นสิ่งที่เขาจะพอใจในสิ่งที่เขามีอยู่ เขาควรเรียนรู้ว่าเขาจะพอใจแค่ไหน ฉะนั้นการที่เราพยายามให้ข้อมูลความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเขาอยู่ในพื้นที่อะไร และเขาควรจะพอแค่ไหน ถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร

รวมถึงเรื่องกลไกตลาด ปริมาณที่เขาจะสั่งผลผลิตจากเรามันเป็นสิ่งที่ขึ้นลง เลยเป็นการควบคุมภายในตัว ควบคุมภายในตัวหมายถึง หากเขาจะปลูกเยอะ แต่หากเรามีออเดอร์ให้เขาได้น้อยเขาก็ต้องปลูกแค่นี้ หรือหากมีออเดอร์สั่งมาเยอะแต่เราประเมินแล้วว่ามันจะมีผลกระทบต่อป่าเราก็ไม่รับ

จริงๆ สิ่งนี้มันเป็นนัยยะที่ผมบริหาร แต่เราไม่สามารถพูดแบบนี้กับชุมชนได้ แต่ในฐานะที่เราเป็นมูลนิธิสืบฯ ซึ่งเป็นคนกลางและเห็นภาพรวม เราเองพยายามจะดึงไว้ไม่เกิดการใช้ประโยชน์เกินความพอดี นี่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่มูลนิธิสืบฯ ต้องรักษาสมดุลไว้ด้วยเหมือนกัน

 

ปัญหาหรืออุปสรรคของงานพัฒนาวิสาหกิจชุมชนคือเรื่องใด

พื้นที่ทั้งหมดที่มูลนิธิสืบฯ ทำงานเป็นพื้นที่ห่างไกล ตั้งอยู่ในป่า ต้นทุนจะมาจากการขนส่งและการจัดการเยอะ จนทำให้ต้นทุนของการผลิตมันสูงกว่าเจ้าอื่นๆ ดังนั้นโอกาสในการแข่งขันทางการตลาดมันจะน้อยกว่า นี่คือปัญหาหนึ่ง

สองคือระบบการจัดการพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนอยู่ในป่าไม่มีระบบชลประทานเลย เขาก็ต้องใช้ฤดูกาลในการกำหนดผลผลิต ทำให้เขาไม่สามารถเพาะปลูกได้ทั้งหมด ก็ทำได้เฉพาะสิ่งที่เหมาะสมกับภูมิอากาศและภูมิประเทศ ฉะนั้นโอกาสในการผลิตก็มีให้เลือกไม่มากนัก

เรื่องสุดท้าย คือ สภาพแวดล้อมและคน เราทำงานกับพี่น้องหลายชาติพันธุ์มาก ลักษณะนิสัยก็แตกต่างกันไป บางคนก็ขยัน บางคนก็ไม่ขยัน ซึ่งการไม่ขยันไม่ได้หมายถึงว่าเขาขี้เกียจ เพียงแต่เขาใช้วิถีชีวิตแบบนั้น เขาเคยมีความสุขไม่ต้องดิ้นรนเขาก็ใช้ชีวิตแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่นผ้าทอ เราเปิดตลาดผ้าทอแล้วผ้าทอขายดีมากเลย เราเลยบอกว่าอยากให้เขาผลิตเยอะๆ แต่เขาไม่ทำเพราะเขาเหนื่อยเขาจะทำเท่าที่เขาอยากทำ นี่เป็นในส่วนของเรื่องชาติพันธุ์ และยังมีเรื่องข้อกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบางอย่างก็ทำได้บางอย่างก็ทำไม่ได้ บางอย่างทำแล้วขนออกไม่ได้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ยังติดขัดอยู่บ้างในเรื่องของที่ดิน

 

มูลนิธิสืบฯ ทำงานทั้งกับชุมชนที่อยู่ในป่าและนอกป่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เงื่อนไขการทำงานตรงไหนยากกว่ากัน

ที่ชัดเจนคือพื้นที่ในป่ากับพื้นที่ขอบป่าที่เราทำงานด้วยทั้งหมด ในวันนี้เราให้ความสำคัญกับพื้นที่ในป่ามากกว่าพื้นที่ขอบป่า เพราะเราอยากให้โอกาสแก่คนที่อยู่ในป่ามากกว่า ส่วนคนที่อยู่ขอบป่าเขามีโอกาสในการเลือกผลผลิตมากกว่า มีโอกาสทางการตลาดมากกว่า เราจึงให้ความสำคัญกับคนในป่ามากกว่า

รายละเอียดที่ต่างกันคือพื้นที่ในป่ามันก็มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อป่า ส่วนพื้นที่นอกป่าเราถือว่าเป็นพื้นที่แนวกันชน ที่เขาบุกรุกทำลายไปแล้ว แต่ที่ทำงานนอกป่าด้วยเพราะเราต้องป้องกันไม่ให้เขาบุกไปใช้พื้นที่ในป่าเท่านั้นเอง ดังนั้นเราจึงให้โอกาสด้านในป่ามากกว่าด้านนอก

และอุปสรรคที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การทำงานกับชุมชนในป่าจะเป็นเรื่องที่คุยไปข้อที่แล้ว แต่สำหรับชุมชนนอกป่าจะมีเรื่องของความร่วมมือ เพราะในเมื่อเขามีโอกาสเยอะกว่า เขามีทางเลือก จึงไม่ค่อยร่วมมือกับเราเท่าไหร่ ฉะนั้นพอไม่ให้ความร่วมมือจึงเห็นรูปธรรมไม่ค่อยชัดเจน

 

การได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่อนุญาตให้เราเข้าไปทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ได้ แล้วความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานส่วนนี้เป็นอย่างไร

มูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งไม่สามารถเข้าไปทำงานในเขตพื้นที่อนุรักษ์ได้ด้วยตัวเอง ตอนเราทำงานเราพัฒนาโครงการขึ้นมาแล้วเสริมผ่านไปยังกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ พัฒนาขึ้นเป็น MOU ร่วมกับกรมอุทยานฯ ภายใต้โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หรือโครงการในอดีตอย่างโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก เราพัฒนาโครงการพัฒนาทั้ง 2 โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบของกรมอุทยานฯ และทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เข้าไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในเขตต่างๆ ที่เราเข้าไปทำงาน ซึ่งในการทำเราเข้าไปทำงานถูกกฎหมายโดยผ่าน MOU กับกรมอุทยานฯ ค่อนข้างจะชัดเจนในเรื่องของการทำโครงการแบบนี้ และเป็นที่รับรู้ว่าเราทำเป็นตัวอย่างเพื่อนำร่องในเรื่องของการพัฒนาด้านอาชีพของชุมชน ฉะนั้นตัวโครงการถูกกฎหมายและถูกยอมรับโดยกรมอุทยานฯ

 

โครงนี้จะพัฒนากลุ่มอาชีพในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง และ “ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรของชุมชน” การดูแลทรัพยากรตรงนี้หมายถึงอะไร

ตอนเราดำเนินการกระบวนการกลุ่ม สิ่งแรกๆ ที่เราคุยคือเราไม่ได้ต้องการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว เราจะทำมาหากินบนความยั่งยืน เมื่อเราเน้นความยั่งยืนเราก็ต้องขจัดข้อขัดแย้งที่เขาเคยมีมาก่อน ซึ่งเมื่อก่อนชุมชนมีข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทะเลาะกันเพราะใช้พื้นที่โดยการถางป่า ดังนั้นเราจึงตั้งกติกาว่าเราจะไม่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เราจะเข้าพื้นที่ที่เราได้สิทธิ์ในการเกษตรเท่านั้น เมื่อลดข้อขัดแย้งได้เขาก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน เมื่อเขาตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินก็หมายความว่า จากที่เขาจะสนใจเข้าป่าล่าสัตว์เขาก็เปลี่ยนมาทุ่มเทพลังงานเรื่องการผลิต ผลกระทบต่อป่าและสัตว์ป่าก็ลดลง นี่ก็เป็นหนทางสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มแข็ง พอเขาได้โดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งเขาก็อยู่ได้โดยไม่ต้องหนี ไม่ต้องหลบเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องแอบทำ พอเขาทำแบบนี้ได้ก็แปลว่าเขาก็จะมุ่งมั่นทำมาหากิน

แต่ในที่นี้เราไม่สามารถทำได้กับชาวบ้านทุกคน แต่เราสามารถพัฒนาแกนนำชาวบ้านได้ค่อนข้างจะเยอะ ก็จะเห็นภาพชัดเจนได้ว่าเขาสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ เขาก็ไปบอกเพื่อนฝูงของเขาว่า ต่อไปอย่าไปล่าสัตว์ หรือระยะหลังเจ้าหน้าที่เริ่มเข้มงวดกวดขันมากขึ้น เขาก็ถางป่าไม่ได้แล้ว เขาก็เรียนรู้ว่าถ้าผลิตแบบปราณีตแบบที่เราสอนมันได้ผลจริงเขาก็จะเริ่มหันมองเรา พอเขาเข้มแข็งแล้วมันก็จะมีผลต่อการใช้พื้นที่อย่างมีประโยชน์และยั่งยืน

 

ในแผนงานโครงการนี้ระบุไว้ด้วยว่า จะเป็นการพัฒนาฐานรายได้ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรสู่ความยั่งยืนขององค์กร กระบวนตรงนี้เป็นอย่างไร

ตอนที่คิดเรื่องนี้เราใช้กระบวนการตลาดนำกระบวนการผลิต คือ ต้องมีการตลาดที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการผลิต พอเรามองในเชิงการตลาด เรามองไปถึงอนาคตความมั่นคงของเกษตรกรเอง และของมูลนิธิสืบฯ เช่นกัน ซึ่งมูลนิธิสืบฯ ควรจะพัฒนาการตลาดของมูลนิธิสืบฯ จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการที่เราทำงาน เช่น ผลิตภัณฑ์กาแฟจอมป่าซึ่งเป็นผลผลิตจากชุมชน มูลนิธิสืบฯ ก็ช่วยทำการตลาด มาเปิดร้าน มาขายของ ชาวบ้านได้ขายผลผลิต มูลนิธิสืบฯ ได้ค่าจัดการ มีเงินทำงานไปจ้างเกษตรกรผลิต นี่เรียกว่าฐานความยั่งยืน

ในเมื่อผลผลิตมันขายได้และเราใช้กลไกของมูลนิธิสืบฯ เราเป็นคนจัดการ และผลของการจัดการนำไปสู่การได้กำไรกลับมาสู่คนทำงานและชุมชน เราจึงมองเรื่องของการขยายฐานการตลาดสินค้าชุมชน โดยมูลนิธิสืบฯ เป็นผู้จัดการตลาดและได้ค่าตอบแทน และทำให้เห็นว่ารายได้ส่วนหนึ่งต่อจากนี้ไปในอนาคตนั้นสร้างฐานความมั่นคงรายได้ให้กับมูลนิธิสืบฯ ด้วย อย่างน้อยๆ เราก็จ้างคน 2-3 คน ภายใต้โครงการนี้ได้เพราะเขามีรายได้จากการจัดการผลผลิต นี่ก็เป็นที่มาของการพัฒนาฐานรายได้มูลนิธิสืบฯ เพราะที่ผ่านมามูลนิธิสืบฯ จำหน่ายเสื้อผ้า หากเรามีรายได้จากสินค้าชุมชนมาช่วยเสริม ปัจจุบันถึงแม้จะน้อย แต่ในอนาคตถ้าเราพัฒนาไปได้ไกลๆ ก็จะทำให้มูลนิธิสืบฯ มีทุนทำงานต่อ

 

แผนงานของโครงการในปีต่อไป ต้องทำเรื่องอะไร

วันนี้หลักๆ เราทำ 3 เรื่อง ที่ประสบความสำเร็จแล้ว คือ (1) สมุนไพรอินทรีย์ (2) ผ้าทอจอมป่า (3) กาแฟจอมป่า สามส่วนนี้คือประสบความสำเร็จแล้ว แต่ส่วนที่ 4 ที่เรากำลังพยายามพัฒนาต่อไปในอนาคต คือ เรื่อง “ป่าเศรษฐกิจ” หรือ “พันธบัตรป่าไม้” ที่เป็นเรื่องของพื้นที่ชุมชนที่เดิมเขาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว แต่เราจะฟื้นพื้นที่สีเขียวจากพื้นที่ที่เขามีอยู่แล้ว ก็จะเอาเรื่องพันธบัตรป่าไม้เข้ามาเสริมชุมชน ก็จะเป็นอีกทิศทางที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเรา โดยเข้ากับนโยบายป่าเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะทำ นี่ก็เป็นทิศทางใหม่ที่กำลังคิดอยู่ อยู่ในช่วงการพัฒนา

 

หากต้องประเมินโครงการที่ทำมาจนถึงวันปิดโครงการคิดว่ามีโอกาสทำสำเร็จตามเป้ามากแค่ไหน ถ้าไม่สำเร็จเพราะอะไรเป็นอุปสรรค

วันนี้เรากล้าพูดว่าที่เราทำมามันค่อนข้างจะสำเร็จ แต่ในสมัยก่อนงานที่ทำในป่าอนุรักษ์ไม่มีเรื่องของงานส่งเสริมอาชีพ ไม่เคยมองชุมชนเลย แต่ปัจจุบันใครก็ตามที่ต้องทำงานโครงการในพื้นที่อนุรักษ์ จะต้องมีเรื่องการส่งเสริมอาชีพอยู่ เห็นได้ชัดในทุกโครงการ ฉะนั้นผมถือว่าเราเป็นโมเดลนำร่องที่ประสบความสำเร็จแล้ว เขาหันกลับมามองชุมชนแล้ว เมื่อก่อนเขามีแต่จะให้ชุมชนออกจากป่าโดยไม่สนความเป็นจริง คือ เอาเขาออกจากป่าไม่ได้ เราพัฒนาวิธีการอยู่ร่วมกับป่าจนออกมาเป็นโมเดล ในระดับของความสำเร็จว่าสำเร็จขนาดไหนอย่างไร ในแต่พื้นที่และแต่โครงการมันมีความแตกต่างกัน คงสรุปจบยังไม่ได้ เพราะในอนาคตเราก็ต้องพัฒนาต่อไปตามศักยภาพของคนแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งยังต้องไปอีกไกล ในขณะเดียวกันชุมชนเองก็เติบโตเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด เพราะฉะนั้นงานลักษณะส่งเสริมอาชีพก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่มันจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นจนไปสู่การทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ในพื้นที่ 17 พื้นที่ ขนาดประมาณ 2 ล้านกว่าไร่ ในวันนี้มีชุมชนที่ทำงานกับเรา 24 ชุมชน ใน 24 ชุมชนมีคนที่ทำงานร่วมกับเราอยู่ประมาณ 400-500 ครอบครัว ในขณะที่ป่าตะวันตกมีคนอยู่ประมาณ 5,000 คน ฉะนั้น 400 คนจาก 5,000 คน ถือว่าค่อนข้างจะบุกเบิกทิศทางไปได้เยอะแล้ว เพียงแต่ว่าด้วยเงื่อนไขคนที่ทำงานร่วมกับเราทั้งเรื่องคน การตลาด ล้วนเป็นผลกับเราหมด เราไม่สามารถให้ทุกคนทำแบบนี้ได้ หากทุกคนทำแบบนี้เราก็ไม่รู้จะหาตลาดให้อย่างไรเหมือนกัน ในขณะที่เราเลือกเฟ้นและคัดกรองคนที่จะทำมันก็จะมีผลในเรื่องของการนำร่อง

และในทิศทางการเจริญเติบโตที่ทำมา 9 ปี เราก็พบว่าจำนวนสมาชิกที่ทำงานร่วมกับเรานั้นไม่นิ่ง มีการเข้าออกเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอด ดังนั้นมันเป็นการเรียนรู้ของตัวชุมชนเองด้วย ชุมชนเขาเรียนรู้ว่ามันมีทางเลือกใหม่ที่จะเข้าร่วมขบวนกับเราแล้วมันสำเร็จ บางคนไม่สำเร็จก็ออกไป ก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมัน คนที่ออกไปผ่านการเรียนรู้ก็ถือเป็นผลสำเร็จ ส่วนเขาจะกลับเข้ามาอยู่ในกระบวนการอีกไหมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเทียบจำนวนคนทั้งเข้าและออกน่าจะประมาณ 1,000 คน ซึ่งคนพวกนี้เข้าออกด้วยเงื่อนไขทั้งส่วนตัว ส่วนรวม เศรษฐกิจ และอื่นๆ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เก็บองค์ความรู้ตลอดเวลาที่เขาอยู่กับเราก็ถือเป็นการได้ความรู้ไป

 

ถ้ามูลนิธิสืบฯ ไม่ทำงานตรงนี้ คิดว่าหน่วยงานตรงไหนที่ควรเข้ามามีบทบาทดูแล

ในมุมมองของผม มูลนิธิสืบฯ เป็นเพียงแค่เอ็นจีโอ เรามีพื้นที่ทำงานในผืนป่าตะวันตก และเรามีเพดานในการทำงานค่อนข้างจำกัด ทั้งเรื่องบุคคลากร และงบประมาณ ทุกอย่างจำกัดหมด หน้าที่หลักของหน่วยงานคือเจ้าของพื้นที่ เราฝันอยากเห็นเจ้าของพื้นที่คือกรมอุทยานฯ ไม่ว่าจะเป็นโดยสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสามารถเข้าไปทำงานดูแลในพื้นที่ของตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปแยกชาวบ้านออกจากเขต

วันนี้ถ้าเรามองว่าเจ้าของพื้นที่ คือ พ่อแม่ที่ดูแลลูก ผมมองว่าตัวพื้นที่มีลูกอยู่ 2 คน (1) เจ้าหน้าที่ เขาก็เลี้ยงเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลพื้นที่ให้เขา (2) พี่น้องประชาชนและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เขา เมื่อก่อนเขาอาจใช้งานเชิงป้องกันเป็นหลัก ไปลาดตระเวนป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายล่าสัตว์ตัดไม้ แต่กับลูกอีกคนเขาไม่ได้ทำ แต่ถ้ากรมอุทยานฯ รับภาระเลี้ยงลูก 2 คน เท่าๆ กัน เขาก็ต้องดูแลลูกคนที่สองให้มีอยู่ดีมีกินเพื่อไม่บุกรุกป่าเช่นกัน นี่ก็จะเป็นงานรูทีนของเขาในอนาคต

ผมมองว่าสุดท้ายแล้วกรมอุทยานฯ เองก็ต้องดูแลให้เบ็ดเสร็จ เพราะถ้าเขาดูแลไม่ได้เขาก็ต้องป้องกันอยู่จนตาย แต่ถ้าดูแลได้ชุมชนหรือเกษตรกรในพื้นที่เขาก็จะสงบสุข งานป้องกันเขาก็ลดลง ทำงานง่ายขึ้น แต่งานนี้เป็นงานยากเพราะกรมอุทยานฯ ไม่มีประสบการณ์ เราก็พัฒนาและนำร่องให้เขาเห็นภาพ

สิ่งที่เราอยากเห็นคืองานนี้จะกลายเป็นหน้าที่หลักของกรมอุทยานฯ

 

ยืนยันได้ไหมว่าคนสามารถทำอาชีพอยู่อย่างเป็นมิตรกับผืนป่าได้จริงๆ

ประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้ คือ เราไม่สามารถเอาพี่น้องทั้งหมดออกจากป่าได้ เราไม่มีพื้นที่ให้เขาอยู่ได้แล้ว เราไม่สามารถไปจัดการเขาได้แล้ว เราติดทุกเงื่อนไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ เขาจะไปอยู่ที่ไหน ติดด้วยเงื่อนไขอาชีพ ออกมาจะทำอะไร ติดด้วยเงื่อนไขสิทธิมนุษยชน เขามีวัฒนธรรมของเขามา 200-300 ปี คุณจะเอาเขาไปไว้ที่ไหน หลายๆ ตัวอย่างก็เห็นแล้วว่าเอาออกมาไม่ได้ วิธีจัดการจากนี้ไปคือเราจะทำอย่างไรให้เขาจะอยู่ตรงนั้นโดยร่วมมือกับเราให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน สุดท้ายแล้วเราต้องร่วมงานกับเขา เราก็ยังฟันธงว่าชาวบ้านต้องอยู่ในพื้นที่ที่เขาเคยอยู่ แต่เอาวิธีบริหารจัดการเข้าไปพัฒนาตัวเขาให้ได้ มันถึงจะอยู่ร่วมกันได้

คือเราเข้าไปทำงานแค่ 9 ปี แต่หมู่บ้านอย่างเลตองคุ (อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก) เขาอยู่มากว่า 200 ปี วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม 9 ปีที่เราทำงานยังไม่ถึง 1 ใน 10 ที่เขาอยู่มา ถึงโลกจะหมุนไปตามภาวะทุนนิยม โซเชียลมีเดียต่างๆ ยังไงมันก็เข้าไปถึงหมดทุกที่ แต่จะทำอย่างไรให้เขาปรับตัวและอยู่ได้โดยไม่สร้างปัญหานั่นแหละคือเรื่องที่ทุกคนต้องทำ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่กรมอุทยานฯ ต้องทำเพียงฝ่ายเดียว ทุกภาคส่วนต้องทำ เพราะว่าหากเขาปรับตัวไม่ทันเขาก็ถูกเอาเปรียบ

ทุกวันนี้ปัญหาที่เขาอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนจำต้องใช้ทรัพยากรเยอะๆ มันเกิดจากการเข้าไปเอาเปรียบบางส่วนโดยทุนนิยมจากภายนอก ไปซื้อถูกมาขายแพง ไปกินกำไรในส่วนที่พวกเขาควรจะได้ แต่เราทำงานการพัฒนาอาชีพในส่วนที่เขาควรได้เราก็แบ่งให้เขาไป ฉะนั้นผลตอบแทนของเขาก็จะสูงขึ้น ในขณะที่ระบบพ่อค้าทั่วไปเขาก็จะเอาส่วนที่เป็นกำไรเข้าตัวผลตอบแทนที่กลับไปสู่ชุมชนก็ต่ำ เขาจึงต้องทำมากขึ้นๆ เพิ่มการผลิตนำไปสู่การเบียดเบียนป่า ถ้าเราตัดวงจรพ่อค้าออกได้ เขาเข้มแข็งด้วยกระบวนการกลุ่มได้ นั่นแปลว่าเขาจะได้ในกำไรส่วนที่เขาควรจะได้ มันก็อยู่กันได้ยาวขึ้น เมื่อเขาอยู่ได้การบุกรุกใช้ประโยชน์ทรัพยากรลดลง โดยธรรมชาติแล้วชาวบ้านหรือชุมชนกลัวที่สุดคือการมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล หรือมีปัญหากับรัฐบาล ฉะนั้นถ้าเขามีกินมีใช้เขาก็ไม่ต้องไปดิ้นรนหรอก แต่ที่เขาดิ้นรนก็เพราะเขาไม่มีทางเลือก ก็ไปทำให้เขามีกินมีใช้ แต่ก็ย่อมมีคนแหกคอกล่าสัตว์กิน ซึ่งผมถือว่าแม้เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ 100% แต่ถ้าเราลดลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งแล้งทุกคนเห็นชอบตามสิ่งที่เราเป็น และทิศทางเห็นชอบของชุมชนที่แอนตี้คนพวกนี้ เขาก็จะมีที่ยืนในสังคมน้อยลง ทิศทางก็จะบวกมากขึ้น

แต่ปัจจุบันชุมชนบางพื้นที่ไม่มีทางเลือก บางชุมชนพอถึงฤดูฝน 3-4 เดือน ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน กินแต่ผัก เขาจะหาเนื้อจากที่ไหนหากไม่ล่าสัตว์ การเดินทางต้องใช้เวลาประมาณ 2 วัน ไม่มีรถที่ไหนออกมา มันเป็นธรรมชาติที่เขาเป็นแบบนั้น ในส่วนนี้หากเขาจะหาอยู่หากินจากการล่าในส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่ปัญหานะ แต่เมื่อไหร่ที่เป็นธุรกิจแลกเงินนั่นคือปัญหา ในวิถีชีวิตที่เราเห็นเราอย่าไปประเมินว่ามันเลวร้ายทั้งหมด เพราะวันนี้มันถูกกำหนดโดยเงื่อนไขที่เลือกไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งเราบอกว่าเราจะไปพัฒนาคนในชุมชนนี้ เขาขาดโปรตีนเนื้อสัตว์ เราส่งเสริมการเลี้ยงให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนให้เขาอยู่ได้ มีของกินระหว่างที่เข้าออกภายนอกไม่ได้ ผมเชื่อว่าปัญหาการล่าก็จะลดลง เรื่องพวกนี้ต้องมองให้ครบทุกมิติและต้องให้ความเป็นธรรมกับชุมชนด้วย ดังนั้นต้องมีวิธีการให้เขา เขาถึงจะอยู่ได้อย่างเป็นมิตรกับผืนป่าได้

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร