ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก

โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เป็นโครงการที่สนับสนุนและเสริมศักยภาพงานอนุรักษ์ให้กับพื้นที่คุ้มครองในผืนป่าตะวันตกทั้ง 17 แห่ง โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มโครงการมาตั้งแต่ มกราคม 2559 ปัจจุบันกำลังก้าวสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการ

ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบฯ มุ่งเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์เป็นหลัก โดยมีโจทย์ใหญ่ 4 ข้อ คือ (1) ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่สามารถคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าที่มีการทำกฎกติการ่วมกับชุมชนในโครงการจอมป่าไว้เดิมให้มีการการขยายพื้นที่ใช้ประโยชน์เพิ่ม (2) ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ (3) สำหรับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและรักษาสมดุลของป่าเอาไว้ด้วย และ (4) ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้ามามีบทบาทเสริมในงานอนุรักษ์ของผืนป่าตะวันตก

โดยนับแต่เริ่มโครงการมานั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะในเรื่องของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลปกป้องผืนป่าจากภัยคุกคาม

มูลนิธิสืบฯ ได้กำหนดเส้นทางลาดตระเวนร่วมขึ้นมาทั้งหมด 25 จุด นำเอาหน่วยงานที่เดินลาดตระเวนอย่างเข้มข้นแล้ว อย่างเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งด้านตะวันตกและด้านตะวันตออก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้พื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ทั้งป่าตะวันตก ได้เรียนรู้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ แล้วก็พัฒนาระบบร่วมกัน โดยมูลนิธิสืบฯ ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือในการทำงาน มีการจัดประชุมติดตามผล แล้วบริหารจัดการข้อมูล เช่น เจอการบุกรุกจะแก้ปัญหาอย่างไร เจอการล่าสัตว์จะแก้ปัญหาอย่างไร

“สิ่งที่เราทำโครงการมา 3 ปี มันมีประสิทธิผลขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ ตอนนี้กรมอุทยานฯ ก็มีโครงการในการพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ”

หมายความว่าพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศจะต้องมีระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเข้ามาใช้ในพื้นที่ โดยได้นำร่องเป็นกลุ่มพื้นที่ไป ปัจจุบันมีพื้นที่อนุรักษ์กว่า 60 แห่ง ที่กรมอุทยานฯ จัดสรรงบประมาณให้ไปดำเนินการ และก็มีคณะติดตามผลการดำเนินงาน

สำหรับในพื้นที่ป่าตะวันตกที่มีพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง ปัจจุบันกรมอุทยานฯ ได้อนุมัติการดำเนินโครงการไปแล้วทั้งหมด 15 พื้นที่ และให้การสนับสนุนในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการที่มูลนิธิสืบฯ ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

จากการพัฒนาระบบงานลาดตระเวนโดยกรมอุทยานฯ ทำให้ ภาณุเดช มองว่า ในอนาคตมูลนิธิสืบฯ จะต้องปรับบทบาทในการที่จะสนับสนุนการทำงานของพื้นที่อนุรักษ์อย่างไรไม่ให้มันทับซ้อนกัน เพื่อเป็นการยกระดับระบบงานอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับงานพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนนั้น มูลนิธิสืบฯ มีความคิดที่จะผลักดันกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เคยส่งเสริมและสนับสนุนให้อยู่อย่างเป็นมิตรกับผืนป่านั้น สามารถพัฒนาตัวเองให้มั่นคงและยั่งยืนในลักษณะของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นกลุ่มที่มันมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง มีรูปแบบการจัดการที่ชัดเจน เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงสำหรับกลุ่มอาชีพ

“ในวันนี้ทีมผ้าทอจอมป่าเองที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเป็นของอำเภออุ้มผาง ของพัฒนาชุมชนหรือว่ากลุ่มกาแฟที่ได้รับการจดทะเบียน ก็มีทุนให้พาไปดูงาน ทุนพัฒนาอะไรต่างๆ ทุนเครื่องมือ อะไรพวกนี้ก็ถือว่าเป็นรูปธรรมที่เราต้องการผลักดันให้ชาวบ้านเขามีกลุ่มที่ชัดเจน และสิ่งที่จะต้องมาเพิ่มเติมหลังจากนี้ คือ ต้องตอบโจทย์ว่าอาชีพหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมมันไปตอบโจทย์ในเรื่องของการดูแลป่าอย่างไร”

ในส่วนนี้มูลนิธิสืบฯ ต้องสำรวจข้อมูลว่า โดยรอบชุมชนในปัจจุบัน มีกิจกรรมของชุมชนไปมีผลกระทบกับสัตว์ป่าอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกับชุมชนต่อ

อย่างไรก็ตาม ในมุมของเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ มองว่า สิ่งที่ชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ คือ เรื่องของการไม่ใช้เคมีในพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำ และก็เรื่องของการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งเป็นลักษณะของการเชื่อมนิเวศที่จะทำให้สัตว์ป่าที่อยู่โดยรอบพื้นที่ชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์หรือว่าเป็นตัวผ่านไปยังอีกจุดหนึ่งได้ แต่อีกส่วนสำคัญ คือ กระบวนการอาชีพ กระบวนการที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน มันทำให้ชุมชนเกิดกลุ่มที่ให้ความสนใจเรื่องอนุรักษ์ขึ้นมา

“ปัจจุบันก็มีกลุ่มในหมู่บ้านต่างๆ เดินลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ ดูแลรักษาป่าที่อยู่โดยรอบชุมชน ซึ่งก็ถือว่าเป็นกระบวนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสัตว์ป่าและผืนป่าโดยรอบ อันนี้ก็เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คิดว่ารูปแบบของการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ มันไม่ได้จบแค่พื้นที่อย่างเดียว”

นอกจากนี้ ก้าวหน้าของโครงการที่สำคัญ คือการมีส่วนร่วมในส่วนการผลักดันเชิงนโยบาย ปัจจุบันนี้มูลนิธิสืบฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกต่างๆ เช่น เป็นคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ  เป็นส่วนหนึ่งของทีมทำงานในการที่จะแก้ระเบียบหรือว่าสร้างกิจกรรมเพื่อการแก้ปัญหาชุมชนที่อยู่ในป่าของพื้นที่อนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านบัตรสะสมแต้มบางจาก

 


รายงาน ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร