การวิเคราะห์ข้อมูลลาดตระเวน 25 จุดสำคัญทั่วผืนป่าตะวันตก

การวิเคราะห์ข้อมูลลาดตระเวน 25 จุดสำคัญทั่วผืนป่าตะวันตก

จากกิจกรรมที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสนับสนุนให้เกิดงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพใน 25 จุดสำคัญ ทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก ตลอดปี 2560 ในระยะเวลา 1 ปี 12 เดือน กับ 25 เส้นทางลาดตระเวน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนพบอะไรบ้าง

หากสิ่งที่พบระหว่างการออกลาดตระเวน จัดแบ่งข้อมูลเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ สามารถแยกได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย (1) สัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว ฯลฯ (2) สัตว์กินพืช เช่น ช้าง กระทิง กวาง เก้ง (3) ความสำคัญทางนิเวศวิทยา เช่น นกเงือก ชะนี ตาน้ำ โป่ง ไทร (4) ภัยคุกคาม เช่น ร่องรอยการล่าสัตว์ ตัดไม้ การหาของป่า การทำปศุสัตว์ ฯลฯ

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการจัดเก็บและประเมินในระยะแรก ว่าพื้นที่ไหนมีอะไร เป็นอย่างไร (ยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดเชิงพื้นที่) และยังต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมในปีต่อๆ ไปเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำต่อการนำไปประเมินคุณภาพของผืนป่าในด้านต่างๆ และนำไปสู่การจัดทำข้อมูลแผนการจัดการผืนป่าตะวันตกทั้งระบบในอนาคต

สำหรับข้อมูลที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังดำเนินการจำเก็บอยู่นี้เกิดขึ้นจากการประสานงานและการจัดประชุมสรุปผลงานลาดตระเวนอย่างเข้มข้นในทุกๆ เดือน ของเจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียรประจำพื้นที่ต่างๆ โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นทีมวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

การรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนนี้ นอกจากเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการบริหารจัดการกลุ่มป่าในอนาคตแล้ว กิจกรรมสนับสนุนงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพใน 25 จุดสำคัญทั่วทั้งผืนป่าตะวันตกยังเป็นการขยายกระบวนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้เกิดการลาดตระเวนในลักษณะนี้ทั่วพื้นที่อนุรักษ์ในป่าตะวันตก ตลอดจนเป็นการประสานให้เกิดการลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์เพื่อดูแลป้องปรามภัยคุกคามในพื้นที่เสี่ยงอีกแรงหนึ่ง

 


รายงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร