การก้าวสู่อนาคตของผ้าทอจอมป่า # 2

การก้าวสู่อนาคตของผ้าทอจอมป่า # 2

ความเดิมที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานของกลุ่มป่าทอจอมป่าที่กำลังจะหัดใช้เครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุกไปนั้น ในวันนี้กลุ่มผ้าทอได้ออกเดินหน้าสู่การเรียนรู้ และลงมือทำผลงานใหม่ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว

ท้าวความถึงที่มาของการเรียนรู้และลงมือทำงานนี้กันสักนิด โดยปกติแล้วกลุ่มผ้าทอจอมป่า จะทอผ้าด้วยเครื่องทอผ้ากี่เอว ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะทอเสร็จออกมาเป็นผืน (บางครั้งขึ้นอยู่กับลวดลาย) ไม่สามารถทอในขนาดที่ใหญ่มากนัก และด้วยวิถีชีวิตของชุมชนที่ยังต้องหาเลี้ยงปากท้องด้วยการทำไร่ ทำให้มีเวลาไม่มากพอในการผลิตงานให้สำเร็จตามเป้าที่กลุ่มตั้งไว้ ทางกลุ่มเลยมีความเห็นร่วมกันว่าอยากเรียนรู้การทอผ้าวิธีอื่นๆ ดูบ้าง โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ให้การสนับสนุนทุนในการซื้อเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุก ซึ่งเป็นเครื่องทอขนาดใหญ่ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้ในปริมาณที่มากขึ้น

พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เล่าว่า หลังจากที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้สนับสนุนเครื่องทอผ้ากี่กระตุกไป เมื่อวันที่ 24 – 31 มกราคมที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มได้นัดรวมตัวกันเพื่อฝึกการทอผ้าด้วยเครื่องกี่กระตุก ที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มต้นทะเล หมู่บ้านหม่องกั๊วะ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นช่างทอผ้ามืออาชีพในอำเภออุ้มผางเป็นผู้สอน

“เราเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างตั้งแต่การขึ้นด้าย วนด้าย พันด้าย เทคนิคการทอ หากทอผิดจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ตอนนี้สมาชิกบางคนก็เริ่มทอเป็นแล้ว แต่ยังไม่ชำนาญมาก ยังต้องฝึกฝนกันต่ออีกสักระยะ”

แม้จะบอกว่าเป็นการอบรม แต่บรรยากาศของการเรียนรู้เป็นไปอย่างสบายๆ ไม่บังคับว่าสมาชิกกลุ่มทั้งหมดจะต้องมาเรียน เพราะถึงแม้จะมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนชิ้นงานของกลุ่ม แต่หัวใจสำคัญของงานคือต้องไม่เป็นการไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชุมชน

ปัจจุบัน กลุ่มผ้าทอจอมป่ามีสมาชิก 105 คน ทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและโผล่วที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก สมาชิกทั้งหมดเป็นกลุ่มแม่บ้านมีวิถีชีวิตหาอยู่หากินด้วยการทำไร่นาปลูกข้าวเป็นหลัก ส่วนการทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้น ปัจจุบันเป็นการทำเพื่อไว้ใช้สอยกันเองในช่วงว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เห็นความสามารถตรงนี้จึงได้ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมในครอบครัว โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2552 สามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนด้วยวิธีคิดที่ว่าให้คนสามารถอยู่ได้อย่างมีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า และยังถือเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไว้ไม่ให้สูญหายไปอีกด้วย

“การอบรมครั้งนี้ขอให้แต่ละหมู่บ้านส่งตัวแทนมาหมู่บ้านล่ะ 2-3 คน ใครสะดวกมาวันไหนก็มา วันไหนไม่สะดวกต้องทำไร่ก็ไม่บังคับ เพราะถึงไม่ได้มาเรียนกับวิทยากร ก็ยังสามารถมาเรียนรู้ในวันต่อไปจากสมาชิกกลุ่มคนที่ทอเป็น หรือใครไม่อยากทอด้วยเครื่องทอแบบนี้จะทอผ้าแบบดั้งเดิมเราก็ไม่ได้บังคับ”

พัชราภรณ์ ยอมรับว่า การอบรมครั้งเดียวคงไม่สามารถทำให้เก่งได้ทันที เธอจึงมีแผนที่จะจัดอบรมให้แก่กลุ่มสมาชิกอีกครั้ง เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียน เติมศักยภาพให้คนที่ทอเป็น รวมถึงเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ว่างมาอบรมในครั้งแรกได้เข้ามาเรียนรู้ในครั้งต่อไป

สำหรับขั้นต่อไปในการดำเนินการของกลุ่มผ้าทอจอมป่า เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการทดลองและฝึกหัดการทอ ผลงานที่ออกมาก็จะแบ่งให้กับสมาชิกไว้ใช้กันเองจนกว่าจะทอคล่อง มีผลงานได้มาตรฐาน (ไม่มีตำหนิ) แล้วจึงค่อยนำออกวางจำหน่าย โดยใช้ศูนย์เรียนรู้ต้นทะเลเป็นจุดศูนย์กลางของการทอ (เครื่องทอกี่กระตุกตั้งไว้ที่นี่) ให้สมาชิกผลัดเวรมาช่วยกันทอ และได้วางระบบไว้ว่าใครจะมาทอช่วงไหนเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสทอผ้า พัฒนาฝีมือ และสร้างรายได้กันอย่างทั่วถึง

กลุ่มผ้าทอจอมป่าได้มีมติร่วมกันว่า เมื่อทอสำเร็จ ได้คุณภาพพร้อมจำหน่ายแล้ว รายได้จะแบ่งสรรออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนของค่าใช้จ่าย เช่น การซื้อด้าย 10% 2) เข้ากองทุนกลุ่ม 10% 3) ใช้สำหรับสนับสนุนงานลาดตระเวนของชุมชน 10% 4) แบ่งเป็นรายได้ให้แก่สมาชิก

อนึ่ง ในส่วนรายได้ของผ้าทอแบบกี่กระตุกนั้น รายได้จะแบ่งให้กับสมาชิกที่ผลัดกันมาเข้าเวรทอผ้า ส่วนสมาชิกที่ยังทอผ้าแบบกี่เอว มูลนิธิสืบฯ ก็ยังรับหน้าที่ช่วยเหลือด้านการนำผลิตภัณฑ์ออกมาจัดจำหน่ายเช่นเดิม

 

ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านแอพลิเคชั่น True Money Wallet

 


รายงาน พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร