“เสือปลา” นักล่าแห่งพงไพร

“เสือปลา” นักล่าแห่งพงไพร

ชวนทำความรู้จักเรื่องราวของ “เสือปลา” สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กแห่งระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ปัจจุบันมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
.


.

สัตว์ผู้ล่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่ใกล้สูญพันธุ์

เสือปลา เป็นสรรพนามที่ใช้เรียกสัตว์ชนิดหนึ่งที่อ้างอิงตามราชบัณฑิตไทย ลักษณะภายนอกเป็นเสือชนิด Felis viverrina ในวงศ์ Felidae พื้นลําตัวสีเทา มีลายสีดําเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วตัว

มักอาศัยอยู่ในป่าละเมาะหรือพุ่มไม้เล็กใกล้น้ำ หนองน้ำที่มีพืชน้ำจำพวกกก หรือตามริมทะเล ป่าชายเลน และลุ่มแม่น้ำทั่วไป

เสือปลาจะกินอาหารจำพวก ปลา ปู หอย หนู นก และสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นบนสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำ

ปัจจุบัน เสือปลาอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ...สวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกล่าและการสูญเสียถิ่นอาศัย จากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง แหล่งอาหารและแหล่งหลบภัยจึงไม่เพียงพอ

สภาพที่เกิดขึ้นยังมีผลให้เกิดความเครียดในสัตว์ ทำให้อัตราการขยายพันธุ์ต่ำ ภูมิต้านทานโรคลดลง และเกิดการติดต่อโรคได้ง่าย

เสือปลาถูกจัดให้อยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
.


.

ลักษณะของเสือปลา

เสือปลาเป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ถูกจัดเป็นกลุ่มเสือและแมวขนาดเล็ก ในกลุ่มของ Prionailurus โดยมีเครือญาติอีก 3 ชนิด ได้แก่ แมวดาว (Leopard cat), แมวป่าหัวแบน (Flat-headed cat) และแมวจุดสนิม (Rusty spotted cat)

เสือปลามีถิ่นที่อยู่อาศัยกระจายอยู่แถบเอเชีย เช่น ในป่าของประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ, ริมทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา, พื้นที่ปากแม่น้ำสาละวิน อิรวดี สินธุโขง และสินธุ ส่วนในไทยเคยมีรายงานพบเสือปลาในป่าหลายแห่ง เช่น ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยลักษณะทางกายภาพของเสือปลา มีรายละเอียดดังนี้

ส่วนหัวกลมและยาว แก้มมีไฮไลท์สีขาว รอยดำดวงตา หูสั้นและกลม บริเวณหลังหูมีสีดำ จมูกมีสีชมพูหรือสีอิฐเข้ม

ลำตัวมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าแมวบ้าน รูปร่างอ้วนหนาบึกบึน

ส่วนหางมีกล้ามเนื้อตั้งต่ำและหางสั้น มีแถบสีเข้มหกหรือเจ็ดแถบล้อมรอบ ซึ่งแตกต่างจากแมวดาว

ส่วนเท้ามีเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างนิ้วเท้าและยังมีกรงเล็บที่ยื่นออกเล็กน้อย (สามารถหดกลับได้)

ทางด้านพฤติกรรม เสือปลาหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่หากินกับน้ำโดยเฉพาะ ไม่เคยห่างจากแหล่งน้ำเลย ชอบแหล่งน้ำที่ไหลช้าและนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลน ฯลฯ ซึ่งจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร เช่น ปลา หนู และนก อีกทั้งเสือปลามีนิสัยดุมากกว่าแมวทั่วๆ ไป และไม่มีทางเชื่องได้ง่าย
.

แมวป่าขนาดเล็ก 2 ชนิด ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีแมวป่าขนาดเล็ก 2 ชนิด ได้แก่ เสือปลา ( Prionailurus viverrinus) และแมวดาว (Prionailurus bengalensis)

คนส่วนใหญ่ที่พบเห็นมักจะแยกชนิดไม่ออกระหว่างเสือปลาและแมวดาวเพราะหากมองเผินๆ สัตว์ทั้งสองชนิดนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

แต่จริงๆแล้วเสือปลาและแมวดาวมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากจดจำลักษณะเด่นของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งได้ ก็สามารถแยกประเภทได้เช่นกัน

เสือปลาจะมีสีพื้นออกเทาๆ ลายเป็นจุดเดี่ยว หรือเป็นลูกศรเล็กๆ แต่ไม่มีดอกดวง หางสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว

แต่แมวดาวสีพื้นจะออกน้ำตาลแกมเหลืองหรือแกมแดง ลายจุดจะเป็นดอกเป็นดวง หางยาวกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว

อีกทั้งยังมีพฤติกรรมต่างกันเล็กน้อย เสือปลาหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่หากินกับน้ำโดยเฉพาะ ไม่เคยห่างจากแหล่งน้ำเลย ชอบแหล่งน้ำที่ไหลช้าและนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลน ฯลฯ

ต่างจากแมวดาวที่ส่วนใหญ่จะหากินเวลากลางคืนทั้งบนดินและต้นไม้ ชอบนอนในโพรง บางครั้งกระโจนจากต้นไม้เพื่อจับสัตว์กิน เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง
.

ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้และข้อมูลทางชีววิทยา เพื่ออนุรักษ์ประชากรเสือปลาและถิ่นอาศัย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ ผ่านงานเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ในด้านความรู้ เพื่อการอนุรักษ์เสือปลาให้รอดพ้นจากสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ต่อไปในระยะยาว

 


อ้างอิง
อ้างอิงรูปภาพ
  • https://www.petcitiz.info/เสือปลา/
  • https://bit.ly/3nt9nsy
  • https://www.mr7land.com/
  • @CEG KMUTT & DNP
.
ผลงานชิ้นนี้ จัดทำโดย นางสาวกนกวรรณ คีราวงค์ นางสาวเกวลิน หวังใจ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ดูน้อยลง