15 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ หนอนตัวแบนนิวกีนี

15 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ หนอนตัวแบนนิวกีนี

นับแต่เรื่องราวของสัตว์ไซส์จิ๋วอย่างหนอนตัวแบนนิวกีนีปรากฎสู่สาธารณะ เจ้าหนอนจิ๋วก็ไม่จิ๋วอีกต่อไป ด้วยสรรพคุณลืออ้างต่างๆ นานาถึงความร้ายกาจ เป็นต้นว่า สามารถทำให้คนเราตายได้ด้วยไวรัส ?

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ลองมาทบทวนและทำความเข้าใจกับ 15 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับหนอนตัวแบนนิวกีนี ที่ได้จากมาจากงาน “หนอนตัวแบนนิวกินี : แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด” กันอีกสักครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่ตื่นตระหนกจนเกินเลย

1

หนอนตัวแบนนิวกินี มีชื่ออังกฤษว่า New Guinea Flatworm ชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari De Beauchamp

 

2

หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับหนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนบก เช่น พลานาเรียบก หนอนหัวค้อน เป็นต้น

 

3

ลักษณะของหนอนตัวแบนนิวกินีจะแบนและเรียวยาว มีลำตัวสีน้ำตาลเข้มถึงดำยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กว้าง 5 มิลลิเมตร เส้นกลางลำตัวสีครีมหรือเหลืองอ่อนพาดยาวตลอดลำตัว หัวแหลมมากกว่าบริเวณท้าย มีตา 1 คู่ ปากและคอหอยอยู่ด้านท้องกลางลำตัวฝั่งท้อง บริเวณท้องสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน

 

4

หนอนตัวแบนนิวกินีถูกค้นพบครั้งแรกที่เกาะปาปัวนิวกินี ประเทศอินโดนีเซีย และแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะแปรซิฟิกข้างเคียง ส่วนประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้นำเข้าหนอนตัวแบนนิวกินีด้วยความจงใจที่จะใช้ประโยชน์จากหนอนตัวแบนนิวกินีในการกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกาที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน แต่หนอนตัวแบนนิวกินีกลับไปกินหอยท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบหนอนนิวกินีที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

 

5

IUCN ได้จัดหนอนตัวแบนนิวกินีให้อยู่ในบัญชี ‘ร้อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก’ (100 of the World’s Worst Invasive Alien Species) เพราะการล่าเหยื่อของมันทำให้จำนวนและความหลากหลายของทากบกบริเวณพื้นที่ลดลง

6

ประเทศไทยมีรายงานการค้นพบครั้งแรก โดยนายมงคล อันทะชัย ที่ได้โพสต์ภาพหนอนตัวแบนนิวกินีกำลังกินหอยทากในบริเวณบ้านแถบ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ทั้งนี้ทั้งนั้นได้คาดการว่าหนอนตัวแบนนิวกินีได้เข้ามายังประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วแต่เพิ่งได้รับการระบุชนิดพันธุ์และประกาศรายงานการค้นพบครั้งแรกในปี 2560

 

7

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ข้อมูลว่าเบื้องต้นหนอนตัวแบนนิวกินีจะอาศัยชุกชุมอยู่ตามพื้นที่ชุมชน แหล่งพื้นที่เสื่อมโทรม และยังไม่พบในพื้นที่ป่าชุมชนหรือพื้นที่อนุรักษ์ (พื้นที่ระบบนิเวศที่สมบูรณ์)

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส

 

8

พวกมันดำรงชีวิตอย่างอิสระ และล่าเหยื่อของหนอนตัวแบนนิวกินีเป็นอาหาร จากการศึกษาจะพบว่ามันกินหนอนตัวแบนชนิดอื่น หอยไม่มีเปลือก ไส้เดือนหอยทากบก ทากบก หนอนริบบิ้น หนอนหัวค้อน หอยทากยักษ์แอฟริกา เหาไม้ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยจะหากินเวลากลางคืน หรือหากมีความชื่นเพียงพอพวกมันก็สามารถออกหากินในเวลากลางวันได้

 

9

การล่าเหยื่อ ยกตัวอย่างหอยทาก หากหอยทากมีขนาดใหญ่หนอนตัวแบนจะช่วยกันล่าเป็นฝูง แต่หากเหยื่อมีขนาดเล็กมันก็สามารถล่าตัวเดียวได้ เมื่อหอยทากอยู่นิ่งหนอนตัวแบนนิวกินีก็สะดวกที่จะชอนไชเข้าไปด้านในฝาหอย และปล่อยน้ำย่อยจากท่อสีขาวๆ ที่อยู่บริเวณกลางลำตัวออกมาเพื่อย่อยเหยื่อจนตายแล้วใช้ท่อดูดสารอาหารจากเหยื่อ ดังนั้นหากเหยื่อมีขนาดใหญ่ เหล่าหนอนตัวแบนนิวกินีจะช่วยกันล่า เนื่องจากน้ำย่อยเพียงตัวเดียวไม่เพียงพอต่อการย่อยเหยื่อ

 

10

หนอนตัวแบนนิวกินีมีสองเพศในตัวเดียวกัน แต่หากต้องการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติต้องมีหนอนสองตัวจึงจะวางถุงไข่ได้ ภายในนั้นจะมีตัวอ่อน 3-9 ตัว ซึ่งใช้เวลา 6-9 วันในการฟักออกจากถุงไข่ ผ่านไป 3 สัปดาห์หนอนตัวแบนนิวกินีจึงจะโตเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ต่อไป ตามรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยถึง 2 ปี

 

11

โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศอีกทางหนึ่งก็คือหนอนตัวแบนนิวกินีมีกลไกในการป้องกันตัวเอง เมื่อมันขาดออกเป็นท่อนๆ มันจะสามารถเจริญเติบโตและเป็นตัวสมบูรณ์ภายใน 2 สัปดาห์ โดยนักวิจัยได้แบ่งหนอนตัวแบนนิวกินีเป็น 5 ส่วน พวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ในหนอนตัวแบนชนิดอื่นสามารถถูกแบ่งได้ถึง 700 ชิ้น และอาศัยสารอาหารจากเซลล์ในการเจริญเติบโต ส่วนหนอนตัวแบนนิวกินีจะเป็นเช่นไรนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

 

12

ปัจจุบันยังไม่พบการรายงานสัตว์ผู้ล่าตามธรรมชาติของหนอนตัวแบนนิวกินี

 

13

วิธีกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินี สามารถทำได้ด้วยการนำไปแช่น้ำร้อนหรือราดด้วยน้ำร้อน และอีกวิธีหนึ่งคือการโรยด้วยเกลือ แต่การโรยเหลือต้องเป็นไปด้วยคงามระมัดระวัง เนื่องจากหอยทากเองได้รับผลกระทบจากเกลือเช่นกัน

 

14

สำหรับความกังวลที่เป็นพาหะโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นพาหะของพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่งนั้น สามารถติดได้ต่อเมื่อกินหนอนชนิดนี้เข้าไป โดยในมนุษย์นั้นยังไม่พบรายงานจึงต้องมีการศึกษาต่อไป

 

15

ข้อควรระวังคือหลีกเลี่ยงในการสัมผัสหนอนตัวแบนนิวกินี หากพบเห็นขอให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ที่ สกว. และสกอ. ที่เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว และร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และจัดทำประเด็นวิจัยตามแนวทางสากลในระบบนิเวศของประเทศไทยและภูมิภาค

เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมและเพื่อการควบคุมการระบาด การวิเคราะห์สัตว์ที่เป็นเหยื่อของหนอน เพื่อเผยจุดแข็งจุดอ่อนของหนอนตัวแบนชนิดนี้ในด้านชีววิทยาแขนงต่าง ๆ รวมถึงทราบทิศทางการแพร่กระจายตั้งแต่อดีต การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นและมนุษย์ การเปรียบเทียบพื้นที่การแพร่กระจายในพื้นที่ถิ่นอาศัยของมนุษย์และพื้นที่อนุรักษ์จากข้อมูลวิจัยพื้นฐานที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร