รู้ไหม มนุษย์เราสามารถสร้างขยะได้แม้แต่ในอวกาศ

รู้ไหม มนุษย์เราสามารถสร้างขยะได้แม้แต่ในอวกาศ

เราเคยสังเกตแสงระยิบระยับบนท้องฟ้ามั้ย? บางครั้งนั่นอาจไม่ใช่ดวงดาว แต่มันอาจเป็นดาวเทียม หรือไม่ก็ขยะอวกาศที่ลอยอยู่ในวงโคจรของโลก

ช่วงสงครามเย็นระหว่างปี ค.ศ. 1947-1991 ได้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหภาพโซเวียตและอเมริกา ซึ่งนอกจากการแข่งกันสร้างระเบิดนิวเคลียร์แล้ว ยังมีสงครามแห่งเทคโนโลยีในอวกาศอย่างดาวเทียมเกิดขึ้นอีกด้วย

ดาวเทียมดวงแรกถูกส่งขึ้นอวกาศด้วยเหตุผลทางการทหาร โดยในปี 1957 สหภาพโซเวียต ได้ปล่อย Sputnik 1 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพื่อทดลองส่งสัญญาณวิทยุกลับลงมาบนพื้นโลก

อย่างไรก็ตาม Sputnik 1 มีอายุใช้งานเพียง 21 วัน แบตเตอรีก็หมดพลังงาน จึงกลายเป็นขยะล่องลอยอยู่ในอวกาศ และในปี 1958 อเมริกาได้จัดตั้งองค์กรนาซ่า เพื่อทำปฏิบัติการทางอวกาศและวิจัยห้วงอวกาศ รวมถึงบริหารโครงการอวกาศต่าง ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมกิจกรรมทางการทหารของสหรัฐฯ

จากจุดเริ่มต้นการปล่อยดาวเทียมดวงแรกจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้ปล่อยยานอวกาศราว 6,000 ดวง แต่ดาวเทียมที่สามารถใช้งานจริงมีเพียง 40% เท่านั้น ที่โคจรอยู่รอบโลก อีก 60% เป็นดาวเทียมที่ปลดประจำการแล้ว หรือกลายเป็นขยะอวกาศ

ขยะอวกาศไม่ได้มีเพียงดาวเทียมเก่าที่หมดอายุเท่านั้น แต่รวมไปถึงท่อนจรวดนำส่งดาวเทียมและยานอวกาศ ฝาครอบดาวเทียมส่วนหัวจรวด น็อต ข้อต่อ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของจรวด รวมทั้งเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการพุ่งชนกันเองของขยะอวกาศ และการระเบิดของซากจรวดและดาวเทียม

สถาบัน European space agency (ESA) หนึ่งในผู้เก็บข้อมูลขยะอวกาศของยุโรปได้รายงานสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศ และคาดการณ์ตัวเลขขยะอวกาศในปี 2020 อาจมีขยะอวกาศขนาดต่าง ๆ ลอยอยู่ในวงโคจรโลก ขนาดมากกว่า 10 เซนติเมตร จำนวน 34,000 ชิ้น ขนาดมากกว่า 1 ถึง 10 เซนติเมตร จำนวน 900,000 ชิ้น และขนาด 1 มิลลิเมตรถึง 1 เซนติเมตร จำนวน 128 ล้านชิ้น

แต่ขยะอวกาศที่สามารถติดตามได้จาก Space Surveillance Network (SSN) มีเพียง 26,510 ชิ้นเท่านั้น ตั้งแต่ขนาดเท่าสมาร์ทโฟน ไปจนถึงขนาดเท่าสถานีอวกาศ

ปัจจุบันการส่งยานอวกาศและดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสาร สัญญาณโทรทัศน์ การนำทาง และการพยากรณ์อากาศ และภายในปี 2028 อาจมีดาวเทียมในอวกาศเพิ่มเป็น 15,000 ดวง จากที่มีอยู่ตอนนี้ราว 6,000 ดวง

ในปี 2018 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ ได้อนุมัติแผนการปล่อยดาวเทียม ทั้งหมด 30,000 ดวง ของบริษัท SpaceX เพื่อกิจการโทรคมนาคม และเมื่อต้นปี 2020 บริษัท SpaceX ได้ทำการปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรโลกไปแล้วกว่า 200 ดวง นอกจากนี้ยังมีของบริษัท Amazon และ WebNet ที่ทำการเตรียมปล่อยดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคม ซึ่งจะยิ่งทำให้วงโคจรโลกเนืองแน่นไปด้วยวัตถุต่าง ๆ มากขึ้น

ขยะอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะชิ้นส่วนของจรวดเคยตกลงมาที่ทะเลภูเก็ตเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

จากการรายงานสำนักข่าวไทยพีบีเอส ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 64 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มีการแถลงผลการเก็บกู้ถังเชื้อเพลิงของจรวดที่ถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ค้นพบที่บริเวณเกาะแอล จ.ภูเก็ต

จาการตรวจสอบพบว่า สารไฮดราซีน ที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุในถังเชื้อเพลิง น่าจะถูกใช้งานจนหมดเรียบร้อย ประกอบกับการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบจุดที่พบ สภาพแวดล้อมทางทะเลปกติมีสัตว์น้ำ ปะการัง หอยเม่น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ชิ้นส่วนดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านใน จ.อุบลราชธานี ที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาว พบวัตถุบางอย่างระเบิดกลางอากาศในช่วงกลางดึก วันที่ 15 พ.ย. 60

จากการตรวจสอบพบเป็นชิ้นส่วนโลหะของยานอวกาศที่สลัดทิ้งหลังใช้งาน และหลุดเข้ามาในวงโคจรชั้นบรรยากาศของโลกจนเกิดการเสียดสีลุกไหม้ ก่อนเกิดการระเบิดเสียงดังได้ยินครอบคลุม 3-4 อำเภอของไทยและของประเทศลาวฝั่งเมืองชนะสมบูรณ์ แขวงจำปาสัก เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีรายงานบ้านเรือนเสียหายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บจากวัตถุดังกล่าวตกใส่

อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนอวกาศที่ตกลงมาในไทยจะถูกตรวจสอบอีกครั้งเพื่อส่งคืนประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศตามกฎหมายการดำเนินกิจกรรมอวกาศ

ขยะอวกาศเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยหลายพันปี โดยเฉพาะจรวดขนาดใหญ่ ที่ลอยอยู่ในห้วงอวกาศนานหลายทศวรรษ ที่เปรียบเหมือนระเบิดเวลา เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะระเบิด หรือถูกวัตถุบางอย่างพุ่งชน แล้วมันจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลายหมื่นชิ้น ซึ่งยากต่อการตรวจจับ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะยิ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้น

 


ภาพเปิดเรื่อง: สถาบัน European space agency (ESA)
ที่มาข้อมูล: ชิดชนก วิมุกตานนท์, จาก “สงครามอวกาศ” สู่ “ขยะอวกาศ”, ป่าสาละ
BBC, ขยะอวกาศคืออะไร และสร้างปัญหาอย่างไรให้ชาวโลก
BBC, ขยะอวกาศห่อหุ้มโลกนับล้านชิ้น จะจัดการกันอย่างไร ?
BBC, อวกาศ : ญี่ปุ่นกำลังคิดค้นดาวเทียมทำจากไม้ หวังลดขยะนอกโลก
ThaiPBS, ไม่พบ “สารไฮดราซีน” ตกค้างในถังจรวดเชื้อเพลิงจมทะเลภูเก็ต
ผู้จัดการออนไลน์, ขยะอวกาศระเบิดกลางน่านฟ้าไทย-ลาว ชาวบ้านแห่เก็บส่งทางการตรวจสอบ 
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร