นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร

ไทรเป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในสกุลเดียวกับพวกมะเดื่อ แพร่กระจายทั่วไปในป่าเขตร้อน ลำต้นเป็นร่างแหเลื้อยพันไม้ชนิดอื่น มีรากอากาศห้อยย้อยลงมา ทั่วโลกมีไทรอยู่มากถึง 900 ชนิด ส่วนไทรในประเทศไทยพบได้ประมาณ 88 ชนิด และมีหลายชนิดที่เป็นไม้เลื้อย ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หรือไม้เกาะพิง

ไทรถือได้ว่าเป็น “นักบุญแห่งป่า” เพราะเมื่อผลไทรสุกต้นไทรจะกลายเป็นงานเลี้ยงรวมญาติของเหล่าสัตว์ป่า เช่น กระรอก ลิง ชะนี โดยเฉพาะนกนานาชนิดตั้งแต่ นกเงือก นกขุนทอง นกปรอด นกโพระดก ฯลฯ ส่วนลูกที่หล่นลงสู่พื้นดินจะเป็นอาหารให้กับเก้ง กวาง และหมูป่า

ในขณะเดียวกันไทรก็เป็น “นักฆ่าแห่งพงไพร” คือเมื่อใดที่ไทรเติบใหญ่ อาหารที่ได้รับจากพื้นที่จำกัดบนต้นไม้ที่ตนเองอาศัยอยู่ไม่เพียงพอ รากอันแข็งแกร่งของไทรจะค่อย ๆ โอบรัดลำต้นเจ้าบ้านจนท่อลำเลียงไม่ทำงานเพื่อดิ่งลงสู่พื้นดินทำหน้าที่นำแร่ธาตุและน้ำกลับขึ้นไปเลี้ยงลำต้นด้านบน ขณะที่เรือนยอดด้านบนของไทรก็แผ่ขยายบดบังแสงแดดจนไม้เดิมไม่สามารถสังเคราะห์อาหารได้ เมื่อขาดทั้งน้ำและอาหารไม้ใหญ่จึงค่อยๆเหี่ยวเฉา และตายลงเหลือปรากฏแต่เพียงต้นไทรสูงตระหง่าน

และที่ขาดไม่ได้คือ ต่อไทร (Agaonid wasp) แมลงตัวจิ๋วที่มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยผสมพันธุ์ให้กับลูกไทร ถ้าไม่มีต้นไทร ต่อไทรก็จะไม่มีเช่นกัน เพราะดอกของต้นไทรคงไม่ได้รับโอกาสในการผสมเกสร ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดต่างก็มีวิวัฒนาการร่วมกันมาเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

 

 

ดูรายละเอียดเส้นทางศึกษาธรรมชาติมออีหืดเพิ่มเติม


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร