โซนป่าเต็งรังที่ราบต่ำ

โซนป่าเต็งรังที่ราบต่ำ

ป่าแดง ป่าแพะ หรือที่รู้จักในชื่อ ป่าเต็งรัง เป็นป่าผลัดใบประเภทหนึ่ง ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง  พื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย กรวด หรือลูกรัง พบอยู่ทั่วไปในที่ราบ และตามเนินเขา

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดการคงอยู่ของป่าเต็งรังคือ ไฟป่า ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากไฟเป็นตัวจัดการโครงสร้างป่าและคัดเลือกพันธุ์ไม้ ต้นฤดูแล้งใบไม้ในป่าเต็งรังจะพร้อมใจกันผลัดใบเป็นสีแดง เหลือง ส้ม อย่างสวยงาม แล้วจะสลัดใบทิ้งจนหมดกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี หลังจากไฟผ่านไป พื้นป่าจะโล่งเตียน แต่เมื่อได้รับน้ำฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับเขียวสดขึ้นอีกครั้งด้วยหญ้าระบัด ดึงดูดสัตว์กินพืชหลายชนิดเข้ามา

ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าแดง หรือป่าเต็งรัง ได้แก่ เต็ง รัง เหียง แดง ตะแบก ส่วนไม้พื้นล่างที่พบมาก ได้แก่ ปรง หญ้าเพ็ก และหญ้าชนิดอื่น ๆ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าเต็งรัง เช่น วัวแดง กระทิง กวางป่า เก้ง กระต่ายป่า เสือ สุนัขจิ้งจอก ตลอดจนพวกสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกและสัตว์ปีก เช่น ไก่ป่า นกชนิดต่าง ๆ

 

 

ดูรายละเอียดเส้นทางศึกษาธรรมชาติมออีหืดเพิ่มเติม


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร