บทเรียนที่ได้จากการเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นกาแฟรักษาป่าต้นน้ำ ของณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา

บทเรียนที่ได้จากการเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นกาแฟรักษาป่าต้นน้ำ ของณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา

เมื่อพูดถึงกาแฟภายใต้สโลแกนที่มีคำว่า “รักษาป่า” ต่อท้ายในปัจจุบัน เชื่อว่าคงมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก จนเลือกกันไม่หวาดไม่ไหว

ซึ่งหากคุณกำลังประสบปัญหานี้ เราขอรวบรัดตัดตอนแนะนำให้รู้จักหนึ่งในผลผลิตกาแฟรักษาป่าทีลอซู กาแฟที่การันตีว่า ทุกแก้วที่คุณดื่มหมายถึงการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่กลองในอำเภออุ้มผาง

SEUB INSPIRE ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา แกนนำการปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่า รักษาต้นน้ำ แห่งหมู่บ้านแม่กลองน้อย อ.อุ้มผาง จ.ตาก ชายหนุ่มที่เริ่มต้นจากเปลี่ยนตัวเองก่อน และจึงชวนคนรอบข้างเปลี่ยน

จนไปถึงจุดเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวของชุมชน เป็นสวนกาแฟผสมผสานแสนร่มรื่นและสมดุล
.
.
.

.

ทำไมต้องเป็น ทีลอซู

เพราะเป็นกาแฟที่ปลูกอยู่ใน อ.อุ้งผาง ซึ่งมีน้ำตกชื่อดังอย่าง “น้ำตกทีลอซู” และเพื่อให้ทุกคนในชุมชนตระหนักว่า ถ้าอยากมีน้ำตกที่สวยงามต้องรักษาป่าต้นน้ำ
.

หนึ่งต้น – กล้า – เปลี่ยน – เพื่อป่าและชุมชน

การปลูกกาแฟมันยาก แต่ความยากที่สุดคือการลงมือทำ เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่เราทุกคนไม่มีประสบการณ์มาก่อน และยิ่งเราต้องเป็นคนเริ่มต้น อุปสรรคย่อมมีอยู่แล้ว ทั้งในด้านองค์ความรู้ที่ต้องศึกษาเอง หรือคำพูดบั่นทอนกำลังใจ

เราก็มีเข้าไปพูดคุยพร้อมศึกษาดูงานกับกลุ่มคนที่เขาปลูกกาแฟมาก่อน กลุ่มเพื่อนองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่ทำกาแฟ เพื่อเอามาเป็นแรงกำลังใจเพื่อปลายทางที่ยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา
.

ทดลอง เรียนรู้ ด้วยตัวเอง

ตราบใดที่เราเป็นคนปลูกกาแฟ แต่เรากลับไม่กินกาแฟของตัวเอง มันก็จะไม่มีโอกาสได้รู้ว่ากาแฟของเราต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เราเคยไม่ชอบกินกาแฟสมัยเด็ก แต่พอเรามาทำกาแฟก็ต้องหัดเรียนรู้ ทำอย่างไรเพื่อให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพมากขึ้น
.
.

.

เน้นคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ

แม่กลองน้อยอยู่บนพื้นที่สูง มีอากาศเย็นเหมาะสมกับพืชเมืองหนาว พวกแมคคาเดเมีย อะโวคาโด อย่างไม้พื้นถิ่นก็เนียง และไม้ป่าอื่นๆ ที่โตในบึงน้ำ เราก็เรียนรู้จากตรงนี้ว่ามันมีอะไรเหมาะที่จะนำมาปลูกบ้าง

ข้อดีของการปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่ มันก็เหมือนเราบริโภคอาหารครบ 5 หมู่ มันจะมีธาตุอาหารจากใบไม้ต่างๆ ที่ย่อยสลายและไปสะสมในเมล็ดกาแฟ ทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพดี มีรสชาติที่มีความเป็นผลไม้

ชุมชนที่นี่มีพื้นที่แค่ครอบครัวละ 10 ไร่ เราทำปริมาณแข่งกับคนที่มีพื้นที่เยอะๆ ไม่ได้ (เพราะจะไม่ต่างอะไรกับการบุกรุกป่าทำพืชเชิงเดี่ยว) เราจึงทำให้มีคุณภาพ เพื่อให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
.

ขยายความคิดรักษาป่า

ตอนนี้คนในชุมชนเริ่มแบ่งพื้นที่ ที่ตัวเองเคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำเป็นสวนเกษตรผสมผสาน เริ่มจากไร่สองไร่ แล้วค่อยๆ ขยายไป ที่เห็นตรงนี่ก็เริ่มทำมาได้ 3 ปีแล้ว น่าจะ 50% แล้วที่ชุมชนเปลี่ยนมาทำเป็นเกษตรยั่งยืน

เราทำงานกันแบบวิสาหกิจชุมชน เรามีหน้าที่สอนการแปรรูป การปลูกที่ถูกต้อง การดูแลรักษา การเก็บผลที่สุก จนคั่ว เริ่มต้นต้องคั่วเพื่อบริโภคเองให้เป็นก่อน พอทุกคนกินเป็น ก็จะรู้ว่าเมล็ดกาแฟตัวเองต้องปรับปรุงยังไงให้ได้คุณภาพมากขึ้น พอเมล็ดกาแฟมีปริมาณที่เยอะขึ้น ก็จะส่งมาให้เราเป็นคนรวบรวมเพื่อส่งไปให้โรงคั่ว
.

สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ

มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องหลักๆ ที่ต้องทำให้มันมีความสมดุลกัน ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจคืออะไร “สมมุติผมทำกาแฟ จะตอบโจทย์เรื่องรายได้ของชุมชน และเศรษฐกิจชุมชน ตอบโจทย์เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็คือทำเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ”

“และก็ตอบโจทย์ให้สังคมรู้ว่า เราทำอาชีพที่อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่กลองฯสังคมส่วนใหญ่เขาจะได้รับรู้ว่าเราทำอาชีพนี้อยู่ ทำให้เรายังอยู่ที่ป่าต้นน้ำได้”

เพราะทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องใหญ่แล้ว มีผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ทั้งหมด จะทำอะไรให้เราคำนึงถึงปัจจัยทั้ง 3 เรื่องนี้ให้มันสมดุลกัน