ปัญหาของการเรียกร้องสิทธิให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในทัศนะสุภาภรณ์ มาลัยลอย

ปัญหาของการเรียกร้องสิทธิให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในทัศนะสุภาภรณ์ มาลัยลอย

องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organizations) หรือเอ็นจีโอ เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ผ่านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การต่อสู่ความยุติธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

แต่องค์กรเหล่านี้มักถูกมองจากภายนอกในฐานะคู่ขัดแย้งตัวฉกาจของภาครัฐ

ซึ่งการปฏิบัติงานในฐานะสุนัขยาม (watchdog) อาจต้องพบเจอกับการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ที่ท้าทาย และอาจสร้างความสั่นคลอนให้กับการประกอบอาชีพของพวกเขาได้

รายการ SEUB INSPIRE ชวน ‘สุภาภรณ์ มาลัยลอย’ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) พูดคุยเรื่องประสบการณ์การทำงานเพื่อชุมชนและธรรมชาติ ในฐานะของนักสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม ที่ออกมาผลักดันให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย เพื่อคุ้มครองการใช้สิทธิของประชาชนและชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม

จนนำไปสู่แนวคิดการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับคนไทย
.

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คุณก้าวมาทำงานในบทบาทของนักสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม

จริง ๆ จบด้านบัญชีมาแล้วก็เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทกฎหมาย โชคดีที่ว่าได้เข้ามาทำงานในบริษัทที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน และชุมชนต่าง ๆ ช่วงเข้ามาตอนแรกก็เริ่มจากทำบัญชี ก็ได้ลงพื้นที่กับพี่ ๆ จนวันหนึ่งได้มีการตั้งกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เราก็เข้าไปช่วย โดยเบื้องต้นเราก็ไปในฐานะนักบัญชีทำการเงินไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ เราได้ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ช่วยดูเอกสารและพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งเราเริ่มเบื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านการทำเอกสาร

อันที่จริงทุกบทบาทมันก็มีความสำคัญของมัน แต่ขณะนั้นเรามองว่าในมิติกฎหมายมันเป็นตัวช่วยชุมชมเรื่องการใช้สิทธิด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเลยสนใจ และเริ่มช่วยเหลือพี่ ๆ ในการสอบข้อเท็จจริง บันทึกการประชุม จนพอมี ‘โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม’ ก็เลยก้าวเข้ามาตรงนี้ เลยเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป จากทำการเงินและเอกสาร ก็เป็นคนที่คลุกคลีกับบริบทของเนื้อหาแทน
.

ก่อนหน้านี้คุณมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหรือเปล่า

เดิมทีไม่ได้เป็นคนที่สนใจประเด็นทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เราสนใจเรื่องของการทำงานชุมชน เพราะสมัยเป็นนักศึกษาเคยออกค่ายอาสาพัฒนาได้ลงพื้นที่จริง จึงได้เห็นมิติที่ไม่เคยเห็น ว่ายังมีกลุ่มคนที่เรายังไม่รู้จัก พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และมีวิธีการดำรงชีพอยู่ที่แตกต่างจากพวกเรา ซึ่งภายในชมรมของเราก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็มีการพูดคุยถึงเรื่องโครงสร้าง สังคม และความเลื่อมล้ำ จนไปถึงเรื่องของปัญหาต่าง ๆ

พอมาทำงานบริษัทก็เริ่มทำงานกับชุมชน มันจึงเหมือนเป็นการหวนกลับไปสู่อดีต ทุกวันนี้เราจึงเห็นพ้องกันว่า ถ้ามันมีตัวช่วยด้านต่าง ๆ ไปเสริมหนุนความเข้มแข็ง มันก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการปัญหาการ ให้กับผู้คนที่ถูกริดรอนสิทธิ์จากรัฐ
.


.

ถือเป็นเรื่องยากไหม เมื่ออยู่ดี ๆ คุณต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป

การทำงานกับชุมชนไม่ได้ยาก แต่เมื่อนำมาสู่กระบวนทางกฎหมายมันยาก ช่วงหนึ่งเลยตัดสินใจไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นวิชากฎหมายพื้นฐาน เพื่อให้รู้หลักการเบื้องต้น และนำมาปรับใช้กับการทำงาน ดังนั้นการเปลี่ยนอาชีพไม่ได้เป็นสิ่งยาก แต่สิ่งที่ยากคือการหาคำตอบ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาให้กับชุมชนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง ในการเดินหน้าแก้ไขปัญหา

เอาเข้าจริงส่วนที่ยากคือ เรื่องรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะมันไม่ได้มีการสอนในห้องเรียน อย่างเช่น การอนุญาตสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เขื่อน หรือเหมือง ก็ไม่มีการลงลึกในเนื้อหา แต่ว่าเราต้องมาอ่านตัวบทกฎหมายที่เชื่อมโยงในเรื่องนั้น ๆ เอง

อีกปัจจัยคือการเปลี่ยนแปลงของข้อกฎหมาย ซึ่งก็ต้องคอยติดตามอยู่ตลอด โดยเฉพาะเราที่ต้องทำงานกับชุมชนมันไม่ใช่แค่การอ่านตัวบท ว่ากระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งที่กฎหมายมักไม่เขียนคือ กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือสิทธิของประชาชนในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเราก็ยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และรัฐธรรมนูญ ที่มีการรับรองสิทธิ์เหล่านี้ไว้อยู่แล้ว
.

EnLAW มีมุมมองการทำงานอย่างไร

เราไม่ได้เป็นนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่คอยวิ่งช่วยชาวบ้านสู้คดีต่าง ๆ แต่เรามีเป้าหมายใหญ่คือ การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการใช้สิทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการฟ้อง เพราะการฟ้องไม่ได้เป็นคำตอบของทุกอย่าง แต่เรามุ่งหวังไปถึงการทำให้ชุมชนตระหนักถึงสิทธิ์ของตน อันจะนำไปสู่การป้องกัน ตรวจสอบ การทำงาน หรือการเข้ามาใช้ทรัพยากรของหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชนต่าง ๆ
.

คิดว่าในตัวบทกฎหมายของบ้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

ตั้งแต่การเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการร่างรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายลูกต่าง ๆ  เยอะมาก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้วนแต่ลดทอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และจำกัดสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ดังนั้นแผนการทำงานของเราในช่วงนี้ จึงเน้นไปที่รัฐธรรมนูญ เพื่อบรรจุเรื่องสิทธิ์ในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเข้าไปเป็นอีกหนึ่งมาตราในกฎหมายสูงสุด รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่กระบวนการเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจเรื่องการจัดการทรัพยากรเลย
.


.

เรามักจะเห็นการถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ของผู้ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิ คุณมีมุมมองอย่างไรกับประเด็นดังกล่าวบ้าง

มันเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม จะมีอยู่สองส่วนที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านออกมาพูดเรื่องผลกระทบที่บ้านของตัวเอง หรือในมิติการตั้งข้อสังเกต สิ่งที่ชุมชนโดนกระทำคือ การถูกฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย อย่างเช่นกรณีที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องโรงงานขยะที่จังหวัดชลบุรี ก็ถูกฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ซึ่งจากการเข้าไปของเราและภาคี ส่งผลให้ในที่สุดคดีนี้ก็ถูกถอนฟ้องไป

แต่เราอาจไม่ได้เข้าไปช่วยทุกคดี เพราะมูลนิธิมีความเชี่ยวชาญด้านปกครอง หากอยู่ในส่วนของคดีแพ่ง คดีอาญา ก็จะมีทนายความเครือข่ายที่เราทำงานด้วยเข้าไปช่วยคดีแทน

เราคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ เมื่อประชนชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์แล้วถูกฟ้อง หรือถูกคุกคามถึงชีวิต เราก็ควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อความเป็นธรรม ในมิติต่าง ๆ
.

เพราะกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรายังไม่เข้มแข็งพอ จึงต้องออกมาแอคชันร่วมกับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

การที่เราออกมาส่วนหนึ่งก็มาจากประเด็นนี้ เคยมีกรณีที่เราไปลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบทิ้งขยะที่ชุมชนหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งนำโดยผู้ใหญ่ในชุมชนที่พาเราไปดูสถานที่เกิดเหตุ ต่อมาเขาก็ถูกยิงเสียชีวิต เหตุการณ์ในวันนั้นมันทำให้เรารู้สึกเสียใจ และต้องคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งต่อมาก็จับคนยิงได้ และมีการสาวถึงผู้จ้างวาน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถนำคนสั่งการมาลงโทษตามกฎหมายได้

มันเลยทำให้เราคิดว่ากระบวนการยุติธรรมและการสืบสวนสอบสวนยังมีปัญหาอยู่ เราลุกขึ้นมาพูดเพราะเราไม่มั่นใจและไม่เห็นกระบวนการที่จริงใจของหน่วยงานรัฐ ที่จะสร้างกลไกในการปกป้องผู้เรียกร้องสิทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อม
.

แล้วคุณคิดว่าในปัจจุบันการคุกคามในลักษณะที่กล่าวมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้างหรือเปล่า

เราไม่มีสถิติแน่ชัด แต่คาดว่ามีการคุกคามมากขึ้น ทั้งในส่วนความปลอดภัยของชีวิต และการดำเนินคดีความ ตรงนี้เราคิดว่ามันควรจะถูกพูดถึงในรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะมีการร่างใหม่ ว่าเราควรจะมีหลักประกันให้กับผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการมีส่วนร่วมในมิติต่าง ๆ อย่างไร คือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลย เพื่อที่จะสร้างกลไกที่มาในรูปแบบกฎหมายลูก หรือในรูปแบบองค์กรที่สร้างมาเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้คนให้เป็นรูปธรรม
.

การออกมาเรียกร้องมันเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเอ็นจีโอ คือคู่ขัดแย้งตัวฉกาจกับรัฐหรือเปล่า

ก็อาจจะจริง เพราะเราก็ทำหน้าที่ในการตรวจสอบทั้งรัฐและเอกชน ตามภารกิจขององค์กร เพราะเราสนับสนุนชุมชนที่ออกมาตั้งคำถามกับกิจการ หรือโครงการที่เกิดผลกระทบกับเขา ในมิติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งโครงการเหล่านั้นมันก็มาจากสองส่วน คือ รัฐ และเอกชน แต่ส่วนสำคัญคือภาครัฐ เพราะคิดว่ากลไกของรัฐคือ กลไกกลางที่จะต้องตรวจสอบเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน และเป็นกลไกกลางในกำกับเรื่องมาตรการที่จะเกิดขึ้นในภาคปฏิบัติ ฉะนั้นไม่แปลกที่ใครจะมองว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ แต่เราคิดว่าเป้าหมายของการเป็นฝ่ายตรงข้ามมันนำไปสู่อะไร เราอยากให้รัฐมองว่า เราร่วมกันตรวจสอบเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
.


.

ในฐานะของผู้ที่ทำงานในวงการสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม คุณเคยถูกคุกคามจากอำนาจที่มองไม่เห็นบ้างหรือเปล่า

เราเคยถูกตาม แต่ที่รู้สึกแย่มากคือมีคนมาบอกเราว่า รู้จักบ้านเรา ซึ่งอันนี้เราไม่โอเคเลย เราตรงไปตรงมาทุกครั้งในการลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่มาคุยเราก็คุย และให้ข้อมูลที่มาที่ไปพร้อมทั้งชื่อและเบอร์โทร เพราะเราบริสุทธิ์ใจในการทำงาน มันทำให้เรารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่มันกำลังคุกคามคนข้างหลังเราอีกด้วย
.

งานแบบนี้มันดูเสี่ยงดูไม่ปลอดภัย แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณยังคงเดินอย่างสง่างาม บนเส้นทางการเรียกร้องสิทธิ์ให้กันผู้คนและสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่บอกเล่ามันดูรุนแรงเนอะ แต่ถ้าคุณได้ไปเจอชาวบ้าน มันจะทำให้ได้รู้ว่า สิ่งที่เราโดนมันน้อยมา โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มันคือทั้งชีวิตของเขา เพราะเขาต้องอยู่กับมันในทุก ๆ วัน

ถ้าได้ไปเจอชาวบ้านที่ป่วยแล้วหมอบอกว่า ถ้าคุณจะหายคุณต้องย้ายบ้านออก ไปเจอชาวประมงที่ลุกขึ้นมาค้านเรื่องท่าเรือ แล้วเขาบอกว่าไม่ต้องรอผลกระทบเรื่องการสร้างท่าเรือหรอก แค่ตอกเสาอาชีพเขาก็หมดไปแล้ว

เราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันยังดูมีความหมาย เพราะเรายังมีคุณค่ากับกลุ่มบุคคลที่เราไปทำงานด้วย ตรงนี้แหล่ะ คือเหตุผลที่ทำให้ยังทำงานแบบนี้ต่อไป แม้มันอาจจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม
.

แล้วถ้าวันหนึ่งกฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ภาครัฐมีประสิทธิภาพ การคุกคามเรื่องสิทธิมันหายไป EnLAW จะทำอะไรต่อไป

พวกเราก็ไม่อยากทำตรงนี้ (หัวเราะ) พวกเราก็ยังอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรัฐสวัสดิการที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็อยากมีบ้านเล็ก ๆ สักหลัง และใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไปเหมือนกัน มันเคยมีการคุยเหมือนกันว่า ถ้ากฎหมายดีโครงสร้างรัฐดี เราคิดว่าทุกคนก็ไม่อยากมาเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐ หรือมาต้องมาคอยตรวจสอบเอกชน เพื่อเพิ่มความเสี่ยงให้กับชีวิตของตัวเอง

ซึ่งถ้าวันหนึ่งโครงสร้างมันดี สังคมเดินต่อไปได้ กลไกกฎหมายมันเป็นธรรม ก็ไม่ต้องมีองค์กรอย่าง EnLAW ก็ได้

.

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ