วัฒนธรรมกับการรักษาผืนป่าจากบทสนทนาของ ‘คนต้นทะเล’

วัฒนธรรมกับการรักษาผืนป่าจากบทสนทนาของ ‘คนต้นทะเล’

‘อุ้มผาง’ เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดตาก ถือเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย หากเปรียบเทียบกับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครแล้ว อุ้มผางมีขนาดใหญ่กว่าถึง 3 เท่า ด้วยภูมิประเทศที่แวดล้อมไปโดยธรรมชาติของผืนป่าตะวันตก วางแนวตามเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวยาวจากเหนือสู่ใต้เชื่อมติดกับผืนป่าของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

หากพูดถึงความสำคัญของอุ้มผางในเชิงพื้นที่แล้ว อุ้มผางถือเป็น ‘ป่าต้นน้ำ’ แหล่งกำเนิดของ ‘ลำน้ำแม่กลอง’ แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน นับตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ณ จังหวัดสมุทรสงคราม

การเป็นพื้นที่ใกล้ชายขอบขัณฑสีมาของประเทศ ผนวกกับความห่างไกลจากเขตเมือง ทำให้เห็นมนต์เสน่ห์อีกอย่างของอุ้มผางคือ ความมีเอกลักษณ์ของคนในท้องที่ อย่างชาวกะเหรี่ยงปกาญอ อันเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ตำบลแม่จัน ประกอบไปด้วย กุยเลอตอ กุยต๊ะ กุยเคลอะ พอกะทะ มอทะ หม่องกั๊ว และไกบอทะ 

แม้อุ้มผางจะมีความห่างไกลเป็นปราการชั้นเอก ในการรักษาความบริสุทธิ์ให้กับผืนป่าในท้องที่ แต่ความเจริญย่อมสามารถส่งผ่านถนนหนทางที่ตัดผ่านไปทุกหนทุกแห่ง ‘พืชเชิงเดี่ยว’ ซึ่งถือเป็นพืชเชิงพาณิชย์ ค่อย ๆ กลายเป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มมีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ‘ต้นน้ำแม่กลอง’ แห่งนี้

ดังนั้นการถือกำเนิดของ ‘กลุ่มต้นทะเล’ ที่ก่อตั้งโดย สมหมาย ทรัพย์รังสิตกุล หรือ จ้าเหย่ ปราชญ์อาวุโสชาวปกาญอ แห่งหมู่บ้านหม่องกั๊ว จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มสมาชิกให้มีความตระหนักถึงเรื่องการดูแลรักษาผืนป่า ควบคู่ไปกับการธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

แน่นอนว่า การทำหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มต้นทะเล คงไม่อาจไปถึงจุดหมายได้ ถ้าขาด ‘การสืบทอดแนวคิด’  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สนทนากับ กรรชัย ปราโมทย์ธาดา หรือ จอแทะ ประธานกลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นทะเล วัย 30 ปี ผู้ที่มีความคิดสืบทอดความรู้เรื่องการปกป้องธรรมชาติควบคู่ไปกับการรักษาธรรมเนียมประเพณีของชาวปกาญอ

 

กรรชัย ปราโมทย์ธาดา ประธานกลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นทะเล

 

จุดเริ่มต้นของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นทะเล

แต่เดิมกลุ่มต้นทะเลจะมีแต่ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้านเป็นสมาชิก แต่เมื่อปี 2557 ได้มีการจัตตั้ง ‘กลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นทะเล’ เพื่อเรียนรู้งานจากผู้อาวุโสในพื้นที่ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเกิดความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกในสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวปกาญอ

“เมื่อก่อนยังไม่มีกลุ่มเยาวชน มีแต่ผู้ใหญ่ซึ่งก็เป็นปู่ย่าตายายพ่อแม่เราทั้งนั้นแหล่ะ แต่พอเวลาผ่านไปก็มีการจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนขึ้ันมา เพื่อให้ผู้อาวุโสได้มาอบรมสั่งสอนสมาชิกรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงวิธีการดูแลผืนป่า และสั่งสอนเรื่องราวที่มาที่ไปของชาติพันธุ์ปกาญอของเรา เพื่อให้เกิดความรักความผูกพันธ์ในเชื้อชาติให้กับเด็ก ๆ” กรรชัยอธิบายถึงที่มาที่ไปของการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นทะเล ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและเป็นกันเองกับผู้เขียน

ชาวกะเหรี่ยงวัย 30 ปี อธิบายต่อว่า เด็กรุ่นใหม่บางคนอยู่ในป่าก็เหมือนอยู่ในป่าอย่างเดียว ไม่ได้มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์ หรือทราบคุณค่าของธรรมชาติเลย ดังนั้นเยาวชนที่เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายก็จะได้ศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านผู้ที่มีประสบการณ์ในหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายฯ ได้มีการขยายตัวไปยัง 7 หมู่บ้านในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง รวมไปถึงบางหมู่บ้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก อันมีหน่วยพิทักษ์ป่าทีชอแมเป็นประตูแบ่งพรมแดนระหว่างสองเขตรักษาพันธุ์ ผ่านมา 6 ปี กลุ่มเยาวชนต้นทะเลมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 66 คน สมาชิกที่เยาว์วัยที่สุดอยู่ที่อายุ 13 ปี และมีอายุมากที่สุดคือ 30 ปี  

“การใช้คำว่าเครือข่ายนั้น มาจากการที่กลุ่มเยาวชนต้นทะเลของเรา มีการกระจายตัวอยู่ในหลายหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตรักษาพันธุ์ป่าอุ้มผาง นับตั้งแต่หมู่บ้านกุยเลอตอไปจนถึงหม่องกั๊ว ปัจจุบันก็มีสมาชิกจากหมู่บ้านยูไนท์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ตะวันออก อนาคตเราก็หวังว่า เครือข่ายเยาวชนของเราจะสามารถเผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังพื้นที่บริเวณโดยรอบ ให้เกิดการพัฒนาในระดับบุคคลของกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่อไป”

ผนึกกำลังร่วมรักษาผืนป่า

หัวใจหลักของการตั้งเครือข่ายเยาวชนต้นทะเลคือ การเรียนรู้งานอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น แน่นอนว่าขั้นตอนเชิงปฏิบัติต่าง ๆ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ปกาญอรุ่นเยาว์ทุกคนจะได้รับ 

สำหรับสมาชิกเพศชายเมื่ออายุย่างเข้าเลข 16 ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะให้พวกเขาเหล่านี้ไปลงพื้นที่ร่วมตระเวนไพร ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มทำหน้าที่ ‘ผู้เฝ้าป่า’ ในนามกรรมการป่าชุมชนรุ่นเยาว์ สำหรับเพศหญิงหรือสุภาพสตรี ซึ่งไม่อาจที่จะออกลาดตระเวนร่วมกับชายฉกรรจ์ได้นั้น ทางเครือข่ายฯ ได้มีการจัดฝึกอบรมเรื่องการทอผ้าพื้นเมือง อันเป็นเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวปกาญอ ซึ่งรายได้ที่ได้มาจากการจัดจำหน่าย 100 บาท จะหักเข้ากองทุน 10 บาท เพื่อนำไปพัฒนาการทำงานของกลุ่มต้นทะเลในการร่วม (อาสา) ตระเวนไพรรักษาผืนป่าในเขตพื้นที่ต่อไป

“ผู้หญิงก็มีส่วนช่วยในการดูแลผืนป่าเหมือนกับผู้ชายนะ เพราะเราสอนให้พวกเขาทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งพอมีรายได้ก็เก็บเข้ากองทุน บางทีเวลาคณะกรรมการป่าชุมชนเดินลาดตระเวน แล้วต้องมีภาระเรื่องค่าเสบียงอาหารก็จะดึงเงินที่ได้จากกองทุนมาใช้จ่าย ก็เหมือนกับว่าถึงแม้ผู้หญิงเขาจะลาดตระเวนกับเราไม่ได้ แต่เขาก็สามารถช่วยสนับสนุนเราทางอื่น ดังนั้นจึงถือได้ว่า สมาชิกผู้หญิงของเราเป็นแนวร่วมสำคัญที่คอยผลักดันให้เกิดการรักษาผืนป่าในระดับชุมชน”

 

กระแสโลกาภิวัฒน์กับปัจจัยที่ส่งผลต่อปกาญอรุ่นเยาว์

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสที่เกิดขึ้นในสังคมโลกล้วนส่งผลต่อการรับรู้และความต้องการของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ ‘สังคมออนไลน์’ ที่ล้วนกลายเป็นดาบสองคมให้กับผู้ใช้ แน่นอนว่าในหมู่บ้านกลางป่าที่ห้อมล้อมไปดัวยธรรมชาติและขุนเขา เทคโนโลยีในรูปแบบของสมาร์ตโฟน และสัญญาณอินเทอร์เน็ต กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาพัฒนาความเจริญ รวมไปถึงอาจสร้างผลเสียให้กับผู้ที่ใช้ผิดวิธีด้วย

ตามคำบอกเล่าของกรรชัยนั้น ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า ในพื้นที่ 7 กลุ่มหมู่บ้านตำบลแม่จัน นับตั้งแต่หมู่บ้านกูยเลอตอไปจนถึงหมู่บ้านหม่องกั๊ว ชาวกะเหรี่ยงรุ่นเยาว์หลายต่อหลายคน ต่างได้รับอิทธิจากโลกภายนอกผ่านการใช้สมาร์ตโฟน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้โซเชียลมีเดีย ประเภท เฟซบุ๊ก และไลน์ ในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งประธานเครือข่ายเยาวชนต้นทะเลได้ให้ความเห็นว่า จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งที่ดีคือใช้เพื่อติดต่อสื่อสารรวมไปถึงรับข้อมูลต่าง ๆ ที่มีสาระประโยชน์ แต่ก็มาพร้อมกับข้อเสีย ที่ส่งผลเด็กหลายคนใช้เพื่อความบันเทิงจนลืมหน้าที่ของตัวเองไป

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้กระเเสที่เข้ามาของโซเชียลมีเดีย ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดเด็ก ๆ ของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก กับ ไลน์ ซึ่งเราก็พยายามอธิบายให้เยาวชนของเรารับรู้ว่า กระแสที่เข้ามาเราสามารถตามไปได้มากแค้ไหน โลกออนไลน์ล้วนมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นควรที่จะรับรู้และตระหนักถึงกระแสดังกล่าว ซึ่งจริง ๆ แล้วมีอย่างหลายสิ่งหลายอย่างเป็นความรู้ที่ล่องลอยอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต บางทีการที่เราได้ศึกษาข้อมูลมันอาจจะส่งผลให้เราได้อะไรกลับมาพัฒนาตนเองและสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่มัวแต่เล่นโทรศัพท์มือถือจนไม่ทำงานทำการ” 

นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับวัยรุ่นชาวปกาญอแล้ว ภาวะทางอารมณ์ที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพของหนุ่มสาววัยแสวงหา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ดูแลเครือข่ายเยาวชนต้นทะเลต้องให้ความสำคัญ 

“การรับข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก อาจส่งผลกระทบต่อเด็กในกลุ่มของเรา เครือข่ายเยาวชนต้นทะเลจึงมีกติกาที่ถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อสร้างให้เกิดความสามัคคี อันนี้ต้องเข้าใจว่ากลุ่มคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ดังนั้นสภาะทางอารมณ์ที่แปรปรวนอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน ดังนั้นเราจึงต้องมีการอบรมเพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะกันเอง รวมไปถึงบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในหัวใจสำหรับเรื่องทางเพศ เพื่อที่จะไม่ให้สมาชิกของเราทำอะไรที่ผิดศีลธรรม หรือไปสร้างความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจให้กับผู้อื่น”

 

 

ถ้าเราลืมวิถีชีวิตของเรามันก็เหมือนกับว่าเราลืมรากเหง้าของตัวเอง

การดูแลรักษาผืนป่าควบคู่ไปกับการธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชาติพันธุ์ คือหมุดหมายสำคัญที่ทำให้กลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นทะเลต้องตระหนัก เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่เริ่มเหลียวหลังให้กับวัฒนธรรมดั่งเดิมที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวปกาญอ

“ปัจจุบันวัฒนธรรมของเรามันก็เริ่มจางหายลงไปทุกที ถ้าเราไม่รักษาตรงนี้ไว้ประเพณีต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเป็น ‘เรา’ คงจะหายไป แน่นอนว่าความเจริญคืบคลานเข้ามาเราไม่สามารถห้ามอะไรเหล่านี้ได้ แต่เราสอนสมาชิกทุกคนเสมอว่า การที่เราลืมวิถีชีวิตของเรามันก็เหมือนกับว่าเราลืมรากเหง้าของตัวเอง ความท้าทายของเราคือ จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่อยู่กับเราได้ เข้ากับสังคมได้ บางคนพอรับอะไรมาเยอะ ๆ มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงไป อย่างบางคนหันไปทำไร่ข้าวโพด หรือใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม เขาก็อาจจะมีเงินเยอะหน่อย แต่ก็ถือว่าเขาไม่ให้ความเคารพต่อธรรมชาติเนื่องจากทำลายผืนป่า ดั้งนั้นเราควรที่จะต้องอยู่อย่างพออยู่พอกิน ไม่หลงระเริงไปกับเงินตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเงินที่ได้มาจากการทำลายป่าเขา” 

แนวคิดการตั้งเครือข่ายและปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวปกาญอรุ่นเยาว์ ถูกเล่าผ่านน้ำเสียงที่เป็นมิตรและจริงใจของประธานเครือข่ายเยาวชนต้นทะเล จนถึงช่วงท้ายของการสนทนา ผู้เขียนถามกรรชัยว่า ‘อยากฝากอะไรถึงคนภายนอกบ้าง’ ปกาญอหนุ่มนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบออกมาด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า 

 

 

“ชาวปกาญอเราถือว่า ถ้ารักษาป่าอย่างเดียวมันก็ไม่ได้แต่เราต้องรักษาวิถีชีวิตไปด้วยกัน แต่ถ้าเรารักษาแต่วิถีชีวิตเราอย่างเดียวมันก็ไม่สามารถรักษาป่าได้ ดังนั้นเราก็ต้องเดินทางสายกลางดูแลควบคู่กันไป หากอิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเปลี่ยนไปหมด ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างไม่คำนึงต่อสภาวะที่แปรเปลี่ยนไป ก็อยากฝากให้ช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะเป็นชาวปกาญอ คนไทย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใด ๆ ในโลก  อยากให้ช่วยกันดูแลผืนป่า เพราะถ้าเราไม่รักษาต่อไป สิ่งที่เราจะได้เจอก็คงไม่พ้นวิกฤตการทางธรรมชาติ…จงช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าควบคู่ไปกับการดูแลรักษารากเหง้าของเราเอง” กรรชัย ปราโมทย์ธาดา กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร