พรชัย ช่วยนุกูล พ่อบุญธรรมแห่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชายที่มีลูกบุญธรรมเป็นเสือและสัตว์ป่า

พรชัย ช่วยนุกูล พ่อบุญธรรมแห่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชายที่มีลูกบุญธรรมเป็นเสือและสัตว์ป่า

“ลูก มาหาพ่อเร็ว” เสียงขรึม ๆ ของพี่เขียว ที่กำลังเรียกหาเสืองโคร่งเบงกอล 2 ตัว เจ้าของนามว่าแตงกวา-แตงไทย ที่กำลังนอนหลบร้อนอยู่ในกรง หลังจากที่ได้เดินอวดโฉมให้กับผู้มาแวะเวียนสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มาตลอดทั้งวัน

พรชัย ช่วยนุกูล หรือพี่เขียว พนักงานจ้างเหมาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือพ่อบุญธรรมของเสือ ได้เล่าให้ฟังว่าปกติเวลาที่พี่เขียวเดินผ่านกรง เจ้าแตงกวา-แตงไทยจะเดินมาหาหน้ากรงและเอาหน้าถูไปกับลวดเหล็ก ส่งเสียงคำรามเป็นสัญญาณของการทักทายกัน คล้ายอากัปกิริยาของเด็กน้อยที่อยากออดอ้อนผู้เป็นพ่อ 

แตงกวา-แตงไทย ลูกเสืออายุ 5 ขวบ ได้จากการจับกุมของตำรวจทางหลวง จ.ขอนแก่น จากการลักลอบค้าสัตว์ป่าแต่ก็ไม่สามารถหลุดรอดจากสายตาผู้บังคับใช้กฎหมายได้ เสือทั้งสองตัวจึงถูกยึดเป็นสัตว์ป่าของกลาง พี่ต่าย นายตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงทำเรื่องขอรับดูแลเสือสองตัวนี้แทน ตอนเข้ามาที่สถานีเพาะเลี้ยงใหม่ ๆ แตงกวา-แตงไทยมีอายุเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น

 

พรชัย ช่วยนุกูล พนักงานจ้างเหมาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

การดูแลลูกเสืออายุ 3 สัปดาห์ในขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก เพราะสถานียังขาดพื้นที่ที่สามารถรองรับแตงกวา-แตงไทย พี่ต่ายจึงต้องนำเสือทั้งสองตัว ไปเลี้ยงที่บ้านพักที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยง เพราะจำเป็นต้องดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพวกเขาเป็นวัยที่ต้องการการดูแลและต้องการนมจากแม่ แต่เมื่อวันนี้เสือทั้งสองตัวกลับกลายเป็นเสือกำพร้า พี่ต่ายและพี่เขียวจึงต้องกลายเป็นพ่อบุญธรรมที่มีลูกบุญธรรมเป็นเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่อยู่ในที่แห่งนี้แทน 

พวกเขาได้รับการเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่ในสถานีเพาะเลี้ยงเป็นอย่างดีเสมือนเป็นเด็กน้อยในบ้านและได้เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง … กาลเวลาผ่านมา 5 ปี แม้พวกเขาจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี แต่พวกเขาจะต้องอยู่ในกรงแห่งนี้ไปตลอดชีวิต ถูกจำกัดอิสระภาพอยู่ภายในพื้นที่แคบ ๆ เนื่องจากสถานีเพาะเลี้ยงไม่สามารถปล่อยเขาคืนสู่ธรรมชาติได้ พวกเขาขาดสัญชาติญาณของสัตว์ป่า หากปล่อยไปพวกเขาก็ไม่อาจอยู่รอดได้ 

นอกจากแตงกวา-แตงไทยแล้ว ที่นี่ยังมีเสือตัวอื่น ๆ ที่ทางสถานีเพาะเลี้ยงตั้งใจจะเลี้ยงขยายพันธุ์ และมีแนวคิดที่จะปล่อยรุ่นลูกกลับคืนสู่ธรรมชาติ เสือทุกตัวที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงแห่งนี้ ยังมีนิสัยของความเป็นสัตว์ป่าอยู่ อย่างไรเสียการดูแลเจ้าแตงกวา-แตงไทย และเสือตัวอื่น ๆ ก็ต้องระมัดระวังอยู่พอสมควร แม้เขาแค่อยากหยอกล้อกับคน แต่ด้วยพลกำลังที่เขามีก็อาจทำให้เราบาดเจ็บได้ 

 

ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีสัตว์ป่ามากกว่า 70 ชนิด รวมกว่า 900 ตัว บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ภารกิจหลัก ๆ ของที่นี่ จริง ๆ คือการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่า ได้แก่ เนื้อทราย ละมั่ง และเลียงผา ในแต่ละปีเนื้อทรายจะผลิตลูกได้ 50-60 ตัว และจะทำการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่วนสัตว์ป่าแก้ไขปัญหา และสัตว์ป่าของกลางที่มีอยู่ เช่น หมี ม้า เสือ จระเข้ นาก ชะนี พญาแร้ง และลิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังมีคนลักลอบล่าสัตว์ป่า บางส่วนก็มีคนเอาอาหารไปให้ ทำให้พฤติกรรมของสัตว์ป่ากลุ่มนี้เปลี่ยนไปและไม่สามารถปล่อยพวกเขาคืนสู่ธรรมชาติได้ นอกจากจะขยายเพาะพันธ์ุสัตว์ป่าบางชนิดอย่างเสือ และทำการปล่อยรุ่นลูกกลับเข้าสู่ป่าแทน

 

ในระหว่างที่พวกเรากำลังเดินอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยง ทุกคนก็ได้ยินเสียงสัตว์เหมือนกำลังทะเลาะกัน เป็นเสียงจากไกล ๆ แต่ได้ยินชัด เสียงนั้นค่อนข้างดุดันและน่ากลัว พี่เขียวซึ่งเป็นไกด์คอยแนะนำพื้นที่และเล่าที่มาที่ไปของสัตว์ป่า ก็พูดขึ้นมาว่าเป็นเสียงของแรมโบ้และจังโก้ หมีควายอายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ทั้งสองเป็นลูกหมีที่หนีจากเหตุการณ์ไฟป่าใน ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นจึงเข้าไปช่วยและนำตัวมาส่งให้สถานีเพาะเลี้ยงรับดูแลต่อ 

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีพญาแร้ง หนึ่งสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่เคยบินอยู่ใจกลางป่าห้วยขาแข้ง แต่เมื่อปี 2535 ซึ่งขณะนั้นมีประชากรประมาณ 30-50 ตัว นายพรานวางยาฆ่าแมลงในซากสัตว์ป่าเพื่อล่อเสือโคร่งแต่พญาแร้งพบซากเสียก่อนจึงโฉบลงไปกิน เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พญาแร้งแห่งป่าห้วยขาแข้งตายหมดยกฝูง และนั่นถือเป็นการสูญเสียด้านสัตว์ป่าครั้งใหญ่ที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

พญาแร้งสองตัวที่อยู่ในความดูแลของสถานีเพาะเลี้ยง ตัวผู้มีอายุกว่า 20 ปี ขณะที่ตัวเมีย อายุประมาณ 10 ปี ซึ่งทางสถานี หวังให้ทั้งสองตัวจับคู่ทำรังวางไข่ ตั้งเป้าฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับมาโบยบินในป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง

 

ในงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะเป็นอีกหนึ่งฐานกิจกรรมที่เปิดให้ทุกคนได้เข้าไปเรียนรู้และทำความรู้จักสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งกิจกรรมฐานเรียนรู้จะจัดขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ หากใครสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รายละเอียดกิจกรรมฐานเรียนรู้ป้องกันและรักษาป่าห้วยขาแข้ง (คลิก)

 


อ้างอิง : ฟื้นพญาแร้งในผืนป่าห้วยขาแข้ง
บทความ/ภาพ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร