11 กุมภาฯ นี้ กรมอุทยานฯ เตรียมทำ MOU ส่งต่อเครื่องมือจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ ทั่วประเทศ

11 กุมภาฯ นี้ กรมอุทยานฯ เตรียมทำ MOU ส่งต่อเครื่องมือจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ ทั่วประเทศ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินโครงการการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ ซึ่งมีแนวทางในดำเนินการตามมติ ครม. และคำสั่ง คสช.ที่66/2557 สำรวจขอบเขตและพื้นที่ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชน ในการสำรวจข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่ป่า และป้องกันการขยายพื้นที่ทำกินป่าเพิ่มเติม ถือเป็นเครื่องมือในการรักษาป่า และแก้ปัญหาให้คนสามารถอยู่กับป่าได้

 

จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่า ตามมติครม. 30 มิถุนายน 41 ปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่แต่ยังไม่เรียบร้อย เพราะยังมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์หากให้ชุมชนอพยพออกก็ไม่มีพื้นที่ที่จะรองรับ สุดท้ายชุมชนก็ยังอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เป็นพื้นที่ 3.6 ล้านไร่ ทางกรมอุทยานฯ มีกรอบการทำงานตรงนี้อยู่แต่ไม่เคยขีดลงบนแผนที่ เมื่อมีคำสั่ง คสช. ที่66/2557 ออกมา จะให้คนที่อยู่ในพื้นที่ก่อนปี 57 จบลงให้ได้ ส่วนการขยายพื้นที่ทำกินหลังปี 57 ก็ต้องดำเนินการจับกุมให้หมด จึงมีการจัดทำแนวเขตที่ชัดเจน และส่งต่อให้พื้นที่นำไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

สมปอง ทองสีเข้ม ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

ด้านสมปอง ทองสีเข้ม ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า วิธีในการสร้างความชัดเจนในพื้นที่ในอดีต ใช้การแปลแผนที่ภาพถ่ายกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ แต่ วิธีนี้ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชน ดังนั้นวิธีดีที่สุดคือการเดินรอบพื้นที่การใช้ประโยชน์ของ ชุมชน เช็คระยะด้วยการจับGps ระหว่างเดิน กระบวนการเหล่านี้เราทำร่วมกับชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างเส้นเขตที่ชัดเจน ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

 

แนวทางการดำเนินการพื้นที่ที่ถูกบุกรุกตามมติ ครม. และคำสั่ง คสช. ที่66/2557

 

โดยแนวทางการดำเนินการสำหรับพื้นที่ซึ่งถูกขยายไปเป็นพื้นที่ทำกิน ตามมติ ครม. และคำสั่ง คสช. ที่66/2557 จะแยกพื้นที่ออกมาเป็น 3 ก้อน ก้อนแรกคือก่อนมติครม. 30 มิถุนายน 41 ให้ใช้กระบวนการตามมติครม.นี้ ก้อนที่สองคือหลัง 30 มิถุนายน 41 จนถึง 17 มิถุนายน 57 แบ่งออกเป็นสองกรณี สำหรับนายทุนรายใหญ่หรือนายทุนต่างถิ่น ยึดคืนทั้งหมด หรือดำเนินการตรวจเช็คจับกุม ส่วนที่สองคือผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยตามคำสั่ง 66 ข้อ 2.1 ต้องควบคุมไม่ให้มีการขยายพื้นที่ทำกิน แต่สามารถทำกินได้ในพื้นที่เดิมที่ทำอยู่ก่อนนี้แล้ว ซึ่งจะต้องมีกติกาชุมชนในการดูแลจัดการพื้นที่ พื้นที่ก้อนที่สาม คือหลัง 17 มิถุนายน 57 ต้องดำเนินการตรวจยึดจับกุมทั้งหมด เราจะขีดเส้นที่ 17 มิถุนายน 57 ต่อไปนี้จะไม่เสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปมากกว่านี้อีกแล้ว

จากข้อมูลของกรมอุทยานฯ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอยู่ 71 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ 66 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 5.2 ล้านไร่ หากแบ่งเป็นพื้นที่ทำกินที่ขยายออกมาตามช่วงเวลาพบว่ามีพื้นที่ทำกินก่อน มติครม. 30 มิถุนายน 41ทั้งหมด 3.6 ล้านไร่ พื้นที่ทำกินระหว่าง 30 มิถุนายน 41 ถึง 17 มิถุนายน 57 จำนวน 1.2 ล้านไร่ และพื้นที่ทำกินหลัง 17 มิถุนายน 57 จำนวน 5.6 หมื่นไร่ และเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิจำนวน 2.9 แสนไร่ (โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่ประกาศทับพื้นที่เอกชนเช่นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง) จากข้อมูลส่วนนี้หากพบว่าการขยายพื้นที่ทำกินระหว่าง 30 มิถุนายน 41 ถึง 17 มิถุนายน 57 ให้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติว่าผู้ที่ขยายพื้นที่ทำกินเป็นใคร หากเป็นผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย จะทำการสำรวจข้อมูลด้านเศรษฐกิจ และทำแผนพัฒนาชุมชนต้นน้ำและการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามหลักการจัดการลุ่มน้ำ และฟื้นฟูพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นการจัดการอย่างยั่งยืน แต่หากเป็นนายทุนจะยึดคืน ดำเนินคดี และจัดทำโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทดแทน

ปัจจุบันการดำเนินการสำรวจขอบเขตได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยวันที่11 กุมภาพันธ์ 2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดการประชุมเพื่อมอบหมายการปฏิบัติงานและลงนามบันทึกข้อตกลง การมอบหมายให้ปฏิบัติงานการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ แก่อุทยานแห่งชาติ จำนวน 154 แห่ง เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า จำนวน 62 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 77 แห่ง รวมทั้งสิ้น 293 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างอธิบดีกรมอุทยานฯกับหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้เกียรติเป็นพยานในการรับมอบครั้งนี้ และนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการทำข้อตกลงดังกล่าว

 


เรียบเรียงโดย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ Chinnavon Thongphayoong