10 บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด ปี 2020 บนเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

10 บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด ปี 2020 บนเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2020 แล้ว ในปีนี้ถือเป็นอีกปีที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมดุเดือดตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ป่า โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้โลกต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ และปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น อันจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของมนุษย์โลก ซึ่งหลายบทความที่ติดอันดับในครั้งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

ในปีนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้นำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เดือนสุดท้ายของปีเราจึงรวบรวมบทความที่มีคนเข้าอ่านมากที่สุดบนเว็บไซต์ www.seub.or.th ใน 10 อันดับแรก และบนความที่คนเข้าอ่านมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ก็คือ รายงานสถานการณ์ป่าไม้ 2019-2020 ที่ทางมูลนิธิฯ ได้เก็บข้อมูลและเผยแพร่เป็นประจำทุกปี

 อันดับ 2 เรียนรู้ชีวิต ‘สุภาพสตรีไพร’ ผ่านเรื่องราวของ สร้อยเพชร มูสิกะชาติ ผู้พิทักษ์ป่าหญิงแห่งแม่วงก์

 อันดับ 3 ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ ถูกปรับสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

 อันดับ 4 “ตลาดค้าสัตว์ป่า” แหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี

อันดับ 5 พบไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับโควิด-19 ในตัวนิ่ม

อันดับ 6 อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ เสือโคร่ง ในประเทศลาว ‘สูญพันธุ์’

อันดับ 7 จากป่าทุ่งใหญ่ฯ สู่ถนนราชดำเนิน : เมื่อการล่าสัตว์ของพรานบรรดาศักดิ์ นำมาซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ ‘วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม’

อันดับ 8 ภาพลูกเสือโคร่งจากดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คือประกายแห่งความหวัง

อันดับ 9 หากคุณสามารถรักษาผืนป่าให้กับโลกใบนี้ได้ คุณอยากทำอะไรบ้าง ? ชวนอ่านการทำงานเชิงรุกของ กรมป่าไม้ เพื่อดูแลป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่า

อันดับ 10 โลกจะไม่ได้เห็นพวกเขาวิ่งไปมาอีกแล้ว เมื่อการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งที่ 6 เกิดขึ้นแล้ว!

อันดับ 1 รายงานสถานการณ์ป่าไม้ 2562-2563

ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561 – 2562 จำนวน 102,484,072.71ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2560 – 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่

จากข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. 2563 พบว่า ในพื้นที่ 227 ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) ไม่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1 แห่ง ส่วนอีก 226 ป่าอนุรักษ์ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 4,295,501.24 ไร่

โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 126 แห่ง มีจำนวน 2,745 หมู่บ้าน เนื้อที่ 2,550,044.18 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง 1,003 หมู่บ้าน 1,471,908.37 ไร่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 40 แห่ง 444 หมู่บ้าน 273,548.69 ไร่ ถือเป็นตัวเลขสำรวจที่สมบูรณ์ ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันที่สุด ตั้งแต่ที่มีหน่วยงานรัฐได้ดำเนินการสำรวจมา

มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและมีการเดินรังวัดที่ดินอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการรับรองของชุมชนโดยเฉพาะจากผู้ที่ใช้ประโยชน์ในแปลงข้างเคียง เพื่อเป็นการทวนสอบข้อมูลที่สำรวจได้อีกทางหนึ่งด้วย

อันดับ 2 เรียนรู้ชีวิต ‘สุภาพสตรีไพร’ ผ่านเรื่องราวของ สร้อยเพชร มูสิกะชาติ ผู้พิทักษ์ป่าหญิงแห่งแม่วงก์

การดูแลคุ้มครองความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ หรือสัตว์ป่าจึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้พิทักษ์ไพร มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวนคุยกับ สร้อย –นางสาวสร้อยเพชร มูสิกะชาติ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ วัย 33 ปี สุภาพสตรีไพรผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผืนป่า 

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้สร้อยเพชรได้ถ่ายทอดประสบการณ์การลาดตระเวนในผืนป่าที่ใช้เวลามากกว่า 5 วัน ในการเดินลาดตระเวนแต่ละครั้ง ด้วยความเป็นผู้หญิงในไม่กี่คนของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงทำให้สร้อยเพชรมีเรื่องเล่ามากมายให้ได้พูดคุย 

 

อันดับ 3 ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ ถูกปรับสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

อนาคตของ “ลิ่น” หรือ “นิ่ม” หรือที่นิยมเรียกกันว่า ตัวลิ่น หรือ ตัวนิ่ม กำลังตกอยู่ในความมืดมน หลังสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินให้ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ มีสถานะที่ใกล้ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุมูลเหตุของการปรับสถานะครั้งนี้ว่า การลดลงของตัวนิ่มอาจมีที่มาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะผืนป่าถูกบุกรุกและถูกล่าเพื่อสนองความต้องการบริโภคในตลาดเนื้อสัตว์

“นี่เป็นข่าวที่น่ากลัวอย่างมาก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ที่ตอนนี้มีสายพันธุ์ของตัวนิ่มทั้ง 3 ชนิด ถูกจำแนกอย่างเป็นทางการว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” Audrey Delsink ผู้อำนวยการสัตว์ป่าแอฟริกาแห่ง Humane Society International กล่าว 

อันดับ 4 “ตลาดค้าสัตว์ป่า” แหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี

งานวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยลงพื้นที่สำรวจทั้งหมด 93 ตลาด ใน 15 จาก 17 จังหวัดของประเทศลาว เพื่อระบุตำแหน่งว่าตลาดไหนหรือพื้นที่ไหนที่มีการค้าสัตว์ป่า และชิ้นส่วนของสัตว์ป่า การสำรวจนี้ใช้เวลาทั้งหมดถึง 3 ปี

จากการสำรวจขั้นแรกทั้งหมด 93 ตลาด นักวิจัยได้ทำการบันทึกว่ามีสัตว์สำหรับขายกว่า 33,752 ตัว และมีเกือบ 7,000 ตัวที่เป็นสายพันธุ์มีความเสี่ยงกับการสูญพันธุ์ เช่น เต่า กวาง ลิงลม และอื่น ๆ ปริมาณการค้าสัตว์ป่าในระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่นี่ที่เดียว แต่ยังมีในที่อื่น ๆ อีกที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า เช่น พม่า จีน และอิเควทอเรียลกินี

ถึงแม้ว่าการรักษาสุขอนามัยให้เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคลงได้มาก แต่นักวิจัยก็ได้เจอกับความไม่ใส่ใจต่อการรักษาสุขอนามัยของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด 

“ในการเก็บข้อมูลผู้ขายเนื้อ 11 ราย ในตลาด 7 แห่งที่มีปริมาณการค้าสัตว์ป่าที่สูง รายละครึ่งชั่วโมง มีอยู่แค่รายเดียวที่ล้างมือ” ยิ่งไปกว่านั้นตลาด 7 แห่งมีแค่ 4 แห่งที่มีน้ำใช้ และมี 5 จาก 6 ตลาดที่ขายเนื้อปศุสัตว์ด้วย

 

อันดับ 5 พบไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับโควิด-19 ในตัวนิ่ม

ตัวนิ่มคือหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกล่าและซื้อขายอย่างผิดกฎหมายเป็นที่แพร่หลาย โดยจะถูกนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารและยาแผนโบราณ ดร. ทอมมี แลม (Dr. Tommy Lam) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า สามารถระบุตัวโคโรนาไวรัสสองกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการระบาดของวิด-19 ในมนุษย์ ซึ่งทั้งสองกลุ่มพบในตัวนิ่มมลายูที่ถูกลับลอบนำเข้ามาในประเทศจีน

นักอนุรักษ์ระบุว่าคงเป็นเรื่องเลวร้ายหากข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การล่าตัวนิ่มที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ เกล็ดของมันเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งเพื่อทำยาแผนโบราณในประเทศจีน ในขณะที่เนื้อตัวนิ่มจัดอยู่ในประเภทอาหารหาทานยากราคาแพง “นี่คือห้วงเวลาสำคัญที่ประชาสังคมทั่วโลกจะต้องกดดันในรัฐบาลหยุดการล่าและซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างจริงจัง” เอลิซา พันแจง (Elisa Panjang) จากมหาวิทยาลัยคาดิฟฟ์และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ภาคสนามในมาเลเซียนให้สัมภาษณ์

ต่อมาประเทศจีนได้ประกาศห้ามไม่ให้รับประทานเนื้อสัตว์ป่าเมื่อพบการระบาด กฎหมายดังกล่าวก็ประกาศเช่นกันในประเทศเวียดนาม

อันดับ 6 อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ เสือโคร่ง ในประเทศลาว ‘สูญพันธุ์’

บ่วงกับดักจำนวนมากในผืนป่าอาจเป็นสาเหตุที่พรากชีวิตเสือโคร่งตัวสุดท้ายไปจากประเทศลาว – นี่คือข้อสรุปจากการศึกษาชิ้นใหม่ที่ยืนยันว่า “ไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของ เสือโคร่ง ในประเทศลาวอีกแล้ว”

สัตว์ส่วนใหญ่ที่ติดบ่วงจะถูกนำไปขายในตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่า แม้ว่าส่วนที่ผู้ค้าสัตว์ป่าต้องการจากเสืออาจจะเป็นขนที่มีมูลค่าหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้นว่าเสือโคร่งจะรอดพ้นจากกับดักจำนวนมากที่ถูกวางไว้

จากข้อมูลประชากรเสือโคร่งของประเทศลาวที่เผยแพร่คร้ังล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2559 ระบุว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติ 2 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการตั้งกล้องสำรวจจำนวนประชากรเสือในปีแรกที่เริ่มวิจัย ซึ่งเป็นเพียงครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ทีมวิจัยสามารถจับภาพเสือทั้งสองเอาไว้ได้ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้พบเสือทั้งสองตัวอีกเลย

อันดับ 7 จากป่าทุ่งใหญ่ฯ สู่ถนนราชดำเนิน : เมื่อการล่าสัตว์ของพรานบรรดาศักดิ์ นำมาซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ ‘วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม’

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ 2516 ในช่วงเวลาบ่ายเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อเบลล์ของกองทัพบก หมายเลข ทบ.6102 ตกที่เขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 ราย และพบซากสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะกระทิง 

ข่าวดังกล่าวจองพื้นที่กรอบหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ภายหลังได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ได้เข้าพื้นที่ไปกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัย (เดินทางมาสังเกตการณ์อยู่ก่อนแล้ว) ซึ่งได้มีการยืนยันว่า มีคณะนายทหารตำรวจและนายทุนจำนวนประมาณ 50 คน เดินทางเข้ามาล่าสัตว์ในบริเวณ ‘ทุ่งใหญ่นเรศวร’ โดยมีการใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำเป็นพาหนะและลำเลียงซากสัตว์ออกจากผืนป่า

จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นชนวนแห่งปรากฏการณ์การแสดงออกบนท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถือเป็นเชื้อไฟสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย

อันดับ 8 ภาพลูกเสือโคร่งจากดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คือประกายแห่งความหวัง

กล้องดักถ่ายภาพบริเวณผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ฝั่งตะวันออก ถ่ายติดภาพลูกเสือโคร่งตัวน้อย นับว่าเป็นภาพถ่ายที่นักอนุรักษ์เฝ้ารออย่างยาวนานและเป็นสิ่งยืนยันว่าเสือโคร่งกระจายพันธุ์อยู่ในป่าผืนนี้

นักอนุรักษ์ซึ่งทำการสำรวจผืนป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพจากศูนย์อนุรักษ์เสือโคร่งทับลาน-ปางสีดา ซึ่งล่าสุดมีรายงานพบประชากรเสือโคร่งกลุ่มเล็กๆ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยประชากรเสือกลุ่มนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นเสือโคร่งอินโดจีน หรือเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือโคร่งเอเชียแผ่นดินใหญ่ (P.t. tigris) ซึ่งรวมถึงเสือเบงกอลและเสือไซบีเรีย

ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีประชากรเสือโคร่งอินโดจีนราว 221 ตัวในสองประเทศแถบเอเชียคือไทยและพม่า หลังจากการศึกษาโดยใช้กล้องดักถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2562 พบว่าประชากรเสือโคร่งกลุ่มสุดท้ายในลาวได้หายตัวไป เช่นเดียวกับเสือโคร่งในเวียดนามและกัมพูชาที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ในระดับพื้นที่

อันดับ 9 หากคุณสามารถรักษาผืนป่าให้กับโลกใบนี้ได้ คุณอยากทำอะไรบ้าง ? ชวนอ่านการทำงานเชิงรุกของ กรมป่าไม้ เพื่อดูแลป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่า

แผนงาน กรมป่าไม้ เพื่อดูแลป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 หากจะเพิ่มพื้นที่ป่าตามเป้าหมายที่วางไว้จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่

กรมป่าไม้วันนี้ได้เปลี่ยนระบบการทำงานจาก หน่วยป้องกันรักษาป่า เป็น หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ มีเป้าหมายเพื่อการปกป้องพื้นที่ป่า เพิ่มบทบาทการมีส่วนรวมของชุมชนให้เป็นกลไกในการเพิ่มพื้นที่ป่า อีกทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลพื้นที่ป่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยี Thailand 4.0

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของป่าไม้แนวใหม่ แต่จะมีการยกระดับศักยภาพจากการทำงานแบบเดิมมากขึ้น 

อันดับ 10 โลกจะไม่ได้เห็นพวกเขาวิ่งไปมาอีกแล้ว เมื่อการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งที่ 6 เกิดขึ้นแล้ว!

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกออกแบบมาให้ศึกษาว่าในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมานั้น การกระทำของมนุษย์มีผลอย่างไรต่ออัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก) ในรายงานยังได้บอกอีกว่าโลกกำลังจะเจอกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งที่ 6 และจะใหญ่ที่สุดในรอบ 3,500 ล้านปี

หลายศตวรรษที่ผ่านมานั้น มนุษย์ได้ทำลายระบบนิเวศบนโลกใบนี้ไปแค่ไหน เราได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อแลกกับการผลิตสินค้า และบริการ ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการวาดจุดจบของเรื่องให้เราเห็นแล้ว แต่มันก็อาจจะยังไม่พอที่จะหยุดพวกเราไว้ก่อนที่จะเดินไปถึงจุดจบนั้น

ร่วมสนับสนุนการทำงานและรักษาป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 


เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร