โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีช็อกโกแล็ต ชวนรู้จักแนวคิดซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อการลดขยะ Zero Moment Refillery

โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีช็อกโกแล็ต ชวนรู้จักแนวคิดซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อการลดขยะ Zero Moment Refillery

Save the earth, it’s the only planet with chocolate.
ช่วยกันดูแลโลกของเราเถอะ มันเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีช็อกโกแล็ตนะ

ประโยคน่ารัก ๆ ที่ติดอยู่บนฝาผนังร้านซุปเปอร์มาเก็ตเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า  Zero Moment Refillery

ซุปเปอร์มาเก็ตแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งร้านที่เปิดขึ้นมาเพื่อหวังลดปริมาณขยะที่ใช้แล้วทิ้ง เพราะที่นี่มีการจำหน่ายสินค้าด้วยวิธีการเติม (Refill) หากลูกค้าคนไหนสนใจมาใช้บริการก็ต้องนำภาชนะมาเอง ด้วยไอเดียร้านค้า Zero waste ขยะเป็นศูนย์

 

Zero Moment Refillery เกิดจากความสนใจของคุณฤดีชนก จงเสถียร หรือคุณเมี่ยว เจ้าของกิจการ ผู้ที่มีความสนใจที่อยากทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และบังเอิญได้ไปเห็นร้านคอนเซปต์ Zero waste ที่ต่างประเทศและรู้สึกว่ามันสามารถลดขยะได้จริง ๆ จึงเกิดร้านนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไทย

“เราเห็นเป็นปัญหาเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะในกรุงเทพขยะเยอะเต็มไปหมด แม้กระทั่งข้างทางไปจนถึงเรื่องของการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ที่ไปทำลายธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากทำอะไรที่สามารถลงมือทำได้เลย เป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เกิดจากคนหลาย ๆ คนแล้วมันสร้างแรงกระเพื่อมได้ ก็เลยคิดว่าร้านนี้น่าจะเป็นคำตอบเล็ก ๆ คำตอบหนึ่งที่จะช่วยได้” คุณเมี่ยวกล่าว

 

คุณฤดีชนก จงเสถียร หรือคุณเมี่ยว เจ้าของร้าน Zero Moment Refillery

สินค้ากว่า 200 รายการ ทั้งแบบทั่วไปและออร์แกนิกจากเกษตรกรอินทรีย์

สินค้าภายในร้านจะมีทั้งหมด 3 หมวด หมวดแรกเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารนำมาใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น แปรงสีฟันไม้ไผ่ คอตตอนบัตไม้ไผ่ และหลอดสแตนเลส เป็นต้น

หมวดที่สองจะเป็นพวกอาหารแบ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร กับอาหารทานเล่น และหมวดที่สามจะเป็นพวกน้ำยาที่ใช้ในบ้าน เช่น น้ำยาถูพื้น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน กับอีกส่วนหนึ่งเป็นน้ำยาที่ใช้กับตัว เช่น แชมพู สบู่เหลว เป็นต้น

“แบรนด์เราจะมีหลากหลายไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือลูกค้าสามารถนำภาชนะมาเติมเองได้มันจะมีราคาถูกกว่าการที่เขาไปซื้อปลีกประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นแล้วแต่ชนิดสินค้า สินค้าเรามีทั้งแบบทั่วไปและออร์แกนิก”

 

อีกหนึ่งความตั้งใจของคุณเมี่ยวคือการสนับสนุนสินค้าจากเกษตรกรไทยที่ทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ผ่านคนกลาง

“สินค้าภายในร้านเราจะเลือกสินค้าที่มาจากเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตโดยตรง โดยเฉพาะคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ หลาย ๆ อย่างในร้าน เช่น แมคคาเดเมีย ข้าว หรือน้ำตาลมะพร้าว เราพยายามเต็มที่ที่จะสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้ก่อน แต่บางอย่างที่ไม่สามารถหาได้เราก็นำเข้าจากต่างประเทศบ้าง”

 

ภาพจาก : facebook page ZeroMoment Refillery

ก่อนการจบบทสนทนาของวันนี้คุณเมี่ยวได้กล่าวว่า “อยากให้ทุกคนลองคิดดูว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ มันอยู่ใกล้ตัวคุณมากเลยเพราะว่ามันคืออากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราใช้ ทุกจังหวะของการใช้ชีวิตมันคือการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลกระทบกับเรื่องพวกนี้ได้ ถ้าเราได้ลงมืออะไรนิด ๆ หน่อย ๆ จับจุดต่าง ๆ ของการใช้ชีวิต ในการใช้ทรัพยากรให้มันมีคุณค่ามากขึ้น เมี่ยวเชื่อว่ามันน่าจะช่วยแก้ปัญคนละเล็กคนละน้อยได้”

แม้วันนี้จะเป็นวันที่มีฝนตกปรอย ๆ ตลอดทั้งวันแต่คุณเมี่ยวก็ยังคงต้อนรับลูกค้าเหมือนทุกวัน และก่อนที่ลูกค้าขาประจำจะเดินออกจากร้านคุณเมี่ยวก็ได้พูดทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “ขอบคุณนะคะ วันนี้เราช่วยลดขยะพลาสติกได้ 1 ใบแล้ว”

มันคงจะจริงอย่างที่คุณเมี่ยวว่า ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยเชื่อว่ามันจะแก้ปัญหาได้ และในอีก 50-60 ปี เราจะได้มีบรรยากาศดี ๆ สิ่งแวดล้อมดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ อีกอย่างเราจะได้มีช็อกโกแล็ตเก็บไว้ทานไปนาน ๆ 

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร