กลุ่มนิสิตนักศึกษา แสดงพลัง แฟลชม็อบ ไล่ฝุ่น หน้าทำเนียบฯ เร่งรัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง

กลุ่มนิสิตนักศึกษา แสดงพลัง แฟลชม็อบ ไล่ฝุ่น หน้าทำเนียบฯ เร่งรัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง

กลุ่มนิสิตนักศึกษาหลายสถาบันจัดกิจกรรม แฟลชม็อบ ไล่ฝุ่น หวังเร่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างจริงจัง

วันนี้ (14 ม.ค. 63)  เวลา 08.00 น. กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘Flash mob ไล่ฝุ่น’ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัดในประเทศไทย ได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ

นางสาวอ้อมทิพย์ เกิดพลานันท์ ตัวแทนกลุ่มนิสิตนักศึกษา กล่าวว่า ปัญหาเรื่อง PM 2.5 เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งการที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กมันได้เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านปัญหาสุขภาพ ดังนั้นจึงได้มีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างจริงจัง

“แม้ว่าจะมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 แต่ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กก็ยังกลับมาอีกครั้ง ซึ่งภาครัฐเองก็ไม่ได้มีการแจ้งเตือนกับประชาชน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ฉุกเฉินมาก อาจกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในเวลาต่อมา” นางสาวอ้อมทิพย์ กล่าว

นางสาวอ้อมทิพย์ เกิดพลานันท์ ตัวแทนกลุ่มนิสิตนักศึกษา

นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์โดยการสวมหน้ากากกันฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว เวลา 09.00 น. กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้มีการเดินทางไปยัง ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ให้ตอบสนองกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  3 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านการรับมือในระยะเร่งด่วน 
  • ภาครัฐกระจายข้อมูลข่าวสารและสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชน เตรียมพร้อมและรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างกะทันหัน
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งสถานการณ์ฝุ่นละอองผ่าน SMS โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์
  • ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ผ่านโทรทัศน์ที่ติดตั้งบนรถโดยสาร
  • รายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศต้องเป็นการรายงานภายในเวลา 3 ชั่วโมงย้อนหลัง ให้สอดคล้องกับระยะเวลาจริง
  • ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนัก ภาครัฐต้องควบคุมให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษทุกชนิดหยุดลงโดยทันที รวมถึงให้โรงเรียน สถานประกอบการ โรงงาน หยุดงานชั่วคราวจนกว่าปัญหาจะทุเลา
  • โรงงานอุตสาหกรรมต้องจัดทําบัญชีระบายมลพิษ โดยแจ้งให้ภาครัฐและเปิดเผยต่อภาคประชาชน เพื่อทราบปริมาณควันพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตอันนําไปสู่การป้องกันและดําเนินการทางนโยบายต่อไป
  1. ด้านการรับมือในระยะสั้น เรียกร้องให้รัฐบาลต้องเพิ่มจุดตรวจ PM2.5 ให้ทั่วประเทศ และมีมาตรฐานเดียวกัน
  • ภาครัฐต้องสนับสนุนและอุดหนุนราคาหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ฟอกอากาศ เพื่อลดภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ รวมถึงอํานวยความสะดวกประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนการทําวิจัยเพื่อหาสาเหตุของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากจนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุออกมาชัดเจนว่าสาเหตุที่แท้จริงของฝุ่นพิษเกิดจากอะไร ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
  • รัฐบาลดําเนินการทางการทูตในเชิงรุก กรณีปัญหาในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติ เช่น กรณีไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย
  • รัฐบาลพิจารณาผลกระทบจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ขยายพื้นที่ อุตสาหกรรมโดยขาดการวางผังเมืองร่วมกับคนในท้องที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้นายทุนข้ามชาติตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ปล่อยควันพิษที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนโดยไม่มีการตรวจสอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เรื้อรัง

3. ด้านการรับมือในระยะยาว เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง โดยร่วมมือกับหน่วยงาน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ

  • ปรับมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ให้ต่ำลง อ้างอิงตามองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทั้งมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 1 ปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง รวมถึงเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ด้วย เนื่องจากประเทศไทยกําหนดมาตรฐานที่ยอมรับได้ดังกล่าวสูงกว่าข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลกมาก ทําให้รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอื่น ๆ ได้อย่างจริงจัง และทําให้การแสดงผลค่าฝุ่นละอองในประเทศไทยผ่าน AQI มีระดับความรุนแรงที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับความเป็นจริง
  • ภาครัฐต้องจัดบริการขนส่งสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ เพื่อสนับสนุนให้คนใช้บริการรถสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
  • ภาครัฐต้องออกแบบและวางผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแก้ไขหรือวางผังเมืองใหม่โดยคํานึงถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงกระจายอํานาจการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่นและกระจายความเจริญด้านวัตถุสู่ที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ฯ เพื่อเพิ่มอํานาจประชาชนในการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่และลดความแออัดและการกระจุกตัวของประชากร
  • ภาครัฐต้องควบคุมวิถีการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนอย่างเคร่งครัด และออกกฎหมายควบคุมการผลิตของภาคเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงการผลักภาระให้ประชาชน
  • ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องจัดตั้งองค์กรดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอํานาจครอบคลุมทั่วถึงในการดูแลและแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด และการปฏิบัติขององค์กรต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
กลุ่มนิสิตนักศึกษาเดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี

ด้านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับหนังสือร้องทุกข์จากกลุ่มนิสิตนักศึกษา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล ฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว จะนำเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะมีคำสั่งไปยังหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มนิสิตนักศึกษายืนยันว่า หากไม่เกิดการตอบสนองหรือการเปลี่ยนแปลงเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็พร้อมที่จะออกมาแสดงพลัง โดยอาจจะมีการรวมตัวกับสมาชิกกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วทุกภูมิภาคที่มีความคิดเห็นตรงกัน รวมถึงกลุ่มชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

 


ข่าว/ภาพ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร