แผนแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เขาอ่างฤๅไน กับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของ ‘คนกับช้างป่า’

แผนแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เขาอ่างฤๅไน กับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของ ‘คนกับช้างป่า’

ปัญหาการออกนอกพื้นที่ป่าของ ‘ช้างป่า’ ถือเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นอยู่ทั่วไป ทั้งจากสื่อสำนักต่าง ๆ ที่นำเสนอในรูปแบบข่าว จากเสียงร้องของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตแนวป่า หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คนเมื่อต้องเดินทางผ่านเข้าไปยังพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.)  หรืออุทยานแห่งชาติ (อช.) ที่ต่าง ๆ และ เขาอ่างฤๅไน ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด 

‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน’ ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าตะวันออก หรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว มีขนาดพื้นที่ราว 643,750 ไร่ หรือประมาณ 1,030 ตารางกิโลเมตร (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561)  ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยภายใน ขสป.อ่างฤาไน นั้นถือเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วย ‘สัตว์ป่า’ หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนก  สัตว์เลื้อยคลาย สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อาทิ ‘ช้างป่า’ เนื่องด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนมีลักษณะเป็น ‘ป่าพื้นราบ’ ซึ่งเหมาะสำหรับการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า ซึ่งในพื้นที่มีจำนวนราว 230 ตัว

ตามธรรมชาติแล้วช้างป่ามักจะหลีกเลี่ยงการอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงชัน เนื่องจากจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการใช้ชีวิตมากกว่าการที่ต้องดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ราบ รวมถึงปัจจัยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อุดมไปด้วยแหล่งน้ำ แหล่งโป่ง และมีสภาพพื้นที่ป่าอันเหมาะสมต่อการดำรงชีพของช้างป่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันพื้นที่ราบถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น อาทิ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าลดลง ส่งผลให้ช้างป่าต้องออกมาหากินนอกพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ โดยการเข้ามาหากินในพื้นที่ทำการเกษตรและแหล่งน้ำที่บริเวณโดยรอบผืนป่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำรงชีพอยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไปเรื่อย ๆ 

ย้อนดูรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่นำเสนอเรื่องปัญหาช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 20 แห่งพบว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ในช่วงปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา มีการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า จำนวน 1,770 ครั้ง

ผลที่ตามมาไม่ใช่แค่เรื่องการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับช้างป่า ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการที่ช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร หรือทำร้ายมนุษย์ และการตอบโต้ของชาวบ้านโดยการทำร้ายช้างป่า ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตคนและช้างป่า รวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมากมาย 

ข่าว ‘ยิงดับช้างป่าเขาอ่างฤๅไน เจ้าของสวนอ้างร่วม 20 ตัว บุกกินสวนปาล์ม’ ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2562  โดยมีเนื้อหาว่า ช้างป่าเพศเมียขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3 ตันเศษ อายุราว 13 ปี ถูกยิงตายอยู่กลางสวนปาล์ม โดยผู้สังหารเป็นเจ้าของสวนวัย 61 ปี ต่อมาได้ให้การว่า กลางดึกขณะออกตรวจสวนปาล์ม พบโขลงช้างประมาณ 20 ตัว บุกเข้ามากัดกินยอดปาล์ม ซึ่งตนก็พยายามใช้ประทัดจุดไล่แต่ช้างไม่กลัว และยังส่งเสียงขู่คำรามพยายามจะเข้ามาทำร้าย ตนตกใจและกลัวเลยใช้ปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าไป 2 นัด ท่ามกลางความมืดมองอะไรไม่เห็นไม่คิดว่ากระสุนจะถูกช้างจนล้มลงขาดใจตาย ยืนยันไม่ได้มีเจตนาฆ่า ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีต่อผู้สังหาร โดยตั้งข้อกล่าวหาครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน หรือมีอาวุธปืน พกพาไปในที่สาธารณะ ซึ่งต่อมาหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาล่าสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 (หลังพิสูจน์ซากพบว่า เป็นการใช้ปืนอานุภาพสูงโดยไม่ใช่ปืนลูกซองตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง) 

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2562 ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานต่างด้าวและชาวสวนยางที่เสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้าย ณ บริเวณ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี อันเป็นเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน 

จากกรณีที่ยกมาข้างต้นรวมถึงการรวบรวมข้อมูลสถิติของกรมอุทยาน ฯ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพิพาทกันระหว่าง ‘ช้างป่า’ กับ ‘คน’ ในพื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์ป่าเขาอ่างฤๅไน เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับช้างป่า เพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางแผนปฏิบัติการ ฯ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ปี 2563 – 2567 โดยกำหนดแผนการดำเนินงานระดับปฏิบัติการขึ้นหลายส่วน ภายใต้ชื่อ ‘แผนปฏิบัติการการจัดการช้างป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน งบประมาณปี 2563 – 2567’ ดังนี้

งานวิจัย การศึกษาพฤติกรรม และกลุ่มประชากรช้างป่า โดยมีการ ‘ศึกษา’ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจำนวนประชากร โครงสร้างประชากร การกระจาย ความหนาแน่น และการเปลี่ยนแปลงประชากรช้างป่า (ที่เป็นปัจจุบัน) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และนำไปสู่การวางแผนการจัดการ และกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ไปจนถึง ‘รวบรวมข้อมูลการเคลื่อนย้ายฝูงของประชากรช้างป่านอกพื้นที่’ เพื่อการวางแผนผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติ

การฟื้นฟูแหล่งอาศัยและอาหารของช้าง โดยกำหนดพื้นที่ ‘ดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัย’ รวมถึงติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์

การประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะมีการ ‘ลงพื้นที่ชุมชนเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน’ ไปจนถึงขั้นตอน ‘เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดการช้างป่าตามแผน ฯ และ ได้รับความร่วมมือจากคนทั้งภายในพื้นที่ และภายนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อีกทั้งเกิดชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าร่วมกับชุมชน

การผลักดันช้างป่าเข้าพื้นที่ โดยมีการ ‘ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดทิศทางการผลักดันและจุดที่ช้างป่าจะกลับเข้าพื้นที่อันเหมาะสมปลอดภัยทั้งต่อช้างป่าและผู้ปฏิบัติงาน และไม่ส่งผลต่อสุขภาพรวมถึงพฤติกรรมของช้างป่า พร้อมทั้งไม่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ผลผลิตทางการเกษตร และชีวิตของมนุษย์

การป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งจะมีการ ‘จัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ในบริเวณที่ยังไม่มีการสร้าง’ เพื่อไม่ให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีการ ‘ปรับปรุงและเสริมสร้างความแข็งแรงในบางจุดที่จำเป็น’ และสุดท้ายคือการ ‘จัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมของชุมชนและช้างป่า’ เพื่อให้คนกับช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้แผนการจัดการอย่างมีส่วนร่วม

การตรวจสอบสิทธิถือครองที่ดินและการท่องเที่ยว ซึ่งจะมี ‘แผนการจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่กลุ่ม B’ (บริเวณแก่งหางแมว ซึ่งเป็นจุดที่ช้างป่าอาศัยอยู่ประจำ และมีการออกลูก) เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่มีการจัดการปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ ‘ตรวจสอบสิทธิถือครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมายกลุ่ม B’ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการพื้นที่และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าต่อไป

สุดท้ายคือ การจัดการภายนอกพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน มีแผนการลดผลกระทบจากช้างป่า และเสริมสร้างศักยภาพชุดเฝ้าระวังช้างป่า’ โดยระยะสั้นจะมีการประสานงานกองทุนสาธารณภัย และมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า สำหรับระยะยาวจะมีการจัดให้มีชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าในพื้นที่เป้าหมายอย่างเหมาะสม โดยจะมีการสนับสนุนองค์ความรู้ในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับชุดเฝ้าระวัง เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้ยังมี ‘การป้องกันและคุ้มครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยมีการพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สัตว์ป่า และช้างป่า พร้อมทั้ง ‘พัฒนาศูนย์ดูแลช้างป่าออกนอกพื้นที่’ เพื่อเป็นพื้นที่ดูแลรักษาช้างที่ป่วย หรือได้รับบาดเจ็บจากปัญหาความขัดแย้ง และช้างป่าที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไม่สามารถดำรงชีวิตได้ในธรรมชาติ

โดยแผนการทำงานจะอยู่ภายใต้พันธกิจหลักคือ ‘จัดการพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อย่างยั่งยืนตามหลักวิชาการ’ รวมไปถึง ‘การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ องค์กรเอกชน และชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนเพื่อการจัดการอย่างมีส่วนร่วม’

นางสาวกมลเนตร จันทร์แก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ร่วมทำแผนขั้นปฏิบัติการฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน มาจากการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ ฯ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบของผืนป่า เป็นแปลงเกษตรที่เกิดจากเพาะปลูก และมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอยู่รอบเขต รวมถึงช้างป่าบางส่วนไม่ยอมกลับเข้าผืนป่า

ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมทั้ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอน ‘การวางแผนปฏิบัติการ’ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนนำไปพิจารณาตรวจสอบ ทั้งนี้ อาจจะต้องมีขั้นการปรับแก้ตามความเหมาะสมต่อสภาพการทำงาน และดำเนินการส่งมอบแผนไปยังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน ฯ เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามกระบวนการที่เหมาะสมต่อไป

“พอมีข่าวเรื่องช้างป่าออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ ฯ และเกิดการกระทบกระทั่งกับชาวบ้านบ่อย ๆ จนเกิดความสูญเสียทั้งช้างและคน ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้มีการจัดทำแผน ฯ ขึ้นร่วมกับกรมอุทยาน ฯ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งตอนนี้แผนในเชิงปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบและปรับแก้ก่อนที่จะส่งต่อไปเพื่อออกงบประมาณต่อไป” เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว

ท้ายที่สุด การจัดทำแผนขั้นปฏิบัติการจะออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต้องพึ่ง ‘ประชาชนในพื้นที่’ และ ‘หน่วยงานที่รับผิดชอบ’ ร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ ‘ผืนป่า’ และ ‘สัตว์ป่า’ โดยการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ และไม่เบียดเบียนรุกล้ำพื้นที่อันเป็น ‘บ้าน’ ของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ เพื่อความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันต่อไป

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง ทรงวุธ ต๊ะน้อย
ภาพประกอบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน