แบน 3 สารเคมีอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ใครได้-ใครเสีย?

แบน 3 สารเคมีอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ใครได้-ใครเสีย?

คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แบน 3 สารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 

ข่าวนี้ได้สร้างความยินดีให้กับหลาย ๆ ฝ่าย ในงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ผลกระทบที่เกิดจากพาราควอตสัมพันธ์กับการเกิดโรคพาร์กินสัน เป็นพิษเฉียบพลันสูงจากการสูดดม ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สารเคมีปนเปื้อนลงสู่ดิน แหล่งน้ำ และตกค้างในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศนั้นด้วย 

ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ต่อต้านการแบน 3 สารเคมีอันตราย ซึ่งมองว่ามติในครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับและสรรหาสารทดแทนที่ราคาเทียบเท่า 3 ชนิดนี้ และอาจจะทำให้ต้นทุนทางการเกษตรพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสารทดแทนที่จะมาแทนพาราควอต-ไกลโฟเซต คือกูลโฟติเนตมีราคาแพงกว่าเท่าตัว จาก 300-400 บาท/ลิตร ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีสารที่ใช้แทนกันได้กว่า 100 ชนิด เช่น โกรฟิโนคอส ไกรอะโซฟอส ราคา 190-350 บาท/ลิตร ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ทั้งยังส่งผลกระทบกับร้านค้าที่จำหน่ายสารเคมีที่ยังคงค้างสต๊อกมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท 

จากการรายงานของกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่เหลืออยู่ในประเทศ (ณ วันที่ 30 มิ.ย.62) ตกค้าง 34,688 ตันอยู่ในสต๊อกของโรงงาน ร้านค้าในต่างจังหวัด 11,868 ตัน ร้านค้าในกรุงเทพฯ 5.72 ตัน ผู้ผลิตและผู้นำเข้า 18,850 ตัน และผู้จัดจำหน่าย (ขายส่ง) อีก 3,964 ตัน รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เฉพาะในปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย ตามด้วยสารไกลโฟเซต ที่ไทยนำเข้า 59,852 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,283 ล้านบาท (อ้างอิงจากการรายงานสำนักข่าวบีบีซีไทย)

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ปีย้อนหลัง จากการรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี 2559-2561 สูงถึง 1,786 ราย ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจำนวน 14,528 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 65.82 ล้านบาท และตัวเลขล่าสุดตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561-17 ก.ค. 2562 พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท

เราทุกคนต่างก็ต้องการอาหารที่สะอาดและปลอดภัย แต่นโยบายรัฐต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โจทย์ของวันนี้คือจะทำอย่างไรให้เกษตรอินทรีย์ชนะเกษตรเคมี เกษตรกรอยู่ได้ และประชาชนสามารถบริโภคอาหารที่สะอาดในราคาที่เหมาะสม

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพาราควอต

 


ที่มา : พาราควอต : 1 ใน 3 สารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมการเกษตร
สั่งแบนสารพิษพาราควอต ชาวไร่แห่ตุนร้านขายปุ๋ยป่วน
ภาพเปิดเรื่อง : www.seegerweiss.com
เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร