เหี้ยน โกร๋น กุด : นิยามการดูแลต้นไม้ในมหานคร กับรุกขมรดกของคนเมืองที่ต้องสูญเสีย

เหี้ยน โกร๋น กุด : นิยามการดูแลต้นไม้ในมหานคร กับรุกขมรดกของคนเมืองที่ต้องสูญเสีย

กรุงเทพมหานครเมืองแห่งเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รอบด้าน อันเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนอาศัยอยู่ ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนรถยนตร์ที่สัญจรบนท้องถนนประมาณหลายล้านคัน ส่งผลให้เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้อาจต้องประสบกับปัญหาจากมลพิษ ที่มักจะส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยตรง 

‘ต้นไม้’ พืชยืนต้นขนาดใหญ่ที่ถูกวางบทบาทให้สร้างความร่มรื่นและเป็นดั่งเครื่องฟอกอากาศให้กับคนกรุงเทพฯ ว่ากันว่า ต้นไม้ที่โตเต็มที่ 1 ต้น มีคุณสมบัติช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 48 ปอนด์ต่อปี และปล่อยก๊าซออกซิเจนคืนสู่อากาศประมาณ 260 ปอนด์ต่อปี 

ความสามารถในการแปลงสภาพอากาศให้เกิดความบริสุทธิ์ของต้นไม้ กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้คนกรุงเทพฯ หวงแหนไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เหล่านี้ ซึ่งอันที่จริงก็สามารถพบเห็นได้อยู่ทั่วไปตามสวนสาธารณะ บาทวิถี หรือบริเวณเกาะกลางถนน แต่เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ของเมืองหลวง ส่งผลให้ต้นไม้เหล่านี้อาจไม่สามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติของพวกมัน

ต้นไม้ ‘เหี้ยน โกร๋น กุด’ ที่มักจะพบเห็นได้ตามทางเท้าฟุตปาธ หรือเกาะกลางถนน เป็นภาพที่แลดูสวนทางกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและไอแดดที่ส่องตรงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกระแสวิพากษ์วิจารย์ต่าง ๆ นา ๆ เกี่ยวกับวิธีการดูแลต้นไม้ในเมืองที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ

หากย้อนกลับไปดูถึงปัจจัยที่ผู้รับผิดชอบมักบอกเสมอคือ ‘สิ่งจำเป็น’ ที่จะต้องทำกับต้นไม้ในลักษณะดังกล่าวคงไม่พ้นเรื่องราวของ ปัญหาสายไฟฟ้า และเรื่องการผุผังของลำต้นและกิ่งก้าน ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

จุดเกิดเหตุที่ถนนวิทยุ

มีประเด็นที่น่าสนใจเมื่อโลกโซเชียลต่างจับกระแสได้ว่า มีการตัดแต่งต้นไม้ในลักษณะ ‘เหี้ยน โกร๋น กุด’ โดยเพจเฟซบุ๊ก ‘เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์’ ได้โพสต์รูปภาพของต้นไม่บริเวณริมถนนวิทยุข้างสวมลุมพินี ตั้งแต่แยกพระราม 4 ถึงแยกสารสิน ที่ถูกเจ้าหน้าที่เขตปทุมวันตัดแต่งจนมีลักษณะไม่สวยงาม

ต่อมาผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวัน นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับสาเหตุที่ต้องตัดต้นไม้ให้อยู่ในสภาพดังกล่าวว่า ต้นไม้ที่ได้มีการปลูกไว้อยู่บนถนนวิทยุนั้น ส่วนใหญ่เป็นต้นหางนกยูงและต้นประดู่ แต่ละต้นมีอายุประมาณ 25 – 30 ปีแล้ว 

โดยนางมาศวัลย์ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานเขตฯ ได้ให้รุกขกรเข้าตรวจเช็กสภาพพบว่า บางต้นมีสภาพภายในเป็นโพรงกลวงเนื่องจากถูกมอดกิน บางต้นก็หมดอายุขัยไปแล้วไม่สามารถบำรุงรักษาได้อีกต่อไป จึงตัดและเตรียมขุดทิ้งเพื่อปลูกต้นใหม่ชนิดอื่นทดแทน 

สำหรับบริเวณกลางที่ต้นไม้ถูกตัดจนยอดกุดนั้น เนื่องจากต้องตัดให้ถึงตาไม้ ให้พ้นจุดที่มอดกิน ทั้งนี้ การตัดแต่งต้นไม้ข้างต้น เพื่อเป็นการป้องกันการโค่นล้มซึ่งจะส่งผลให้ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

Photo : Sansiri blog ภาพต้นไม้ที่อดีตเคยร่มรื่นบนถนนวิทยุ

ด้านอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี (BIG trees) ได้กล่าวในรายการสุทธิชัยไลฟ์ว่า จากกรณีดังกล่าวถือเป็นการสั่งการที่ผิดพลาด เนื่องจากเป็นการตัดสินใจในระดับสำนักงานเขต ซึ่งผู้สั่งการก็ไม่ได้เข้าใจในเรื่องหลักการตัดแต่งต้นไม้

ความจริงแล้วในส่วนกลางกรุงเทพมหานครเองก็มี ‘สำนักงานสวนสาธารณะ’ ที่ขึ้นตรงกับสํานักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับกลุ่มบิ๊กทรี โดยในอดีตมีหลาย ๆ เขตที่ได้ขอความช่วยเหลือทางกลุ่ม เพื่อขอคำแนะนำในการตัดแต่งต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานเขตบางรักที่ไม่แน่ใจเรื่องวิธีการตัดแต่งต้นไม้สูง ซึ่งในวันปฏิบัติการก็ได้เชิญกลุ่มบิ๊กทรีไปช่วยชี้แนะ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ออกมาถูกต้องและสวยงาม

ประเมินก่อนตัด ด้วยแนวคิด ‘Tree risk assessment’

จากการสำรวจต้นไม้ริมถนนและในพื้นที่สาธารณะ 9 เขตในกรุงเทพมหานครของเพจ KU รุกขกร (Kasetsart University Arborist Club) เมื่อปี 2561 พบว่า ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายในระดับสูงที่สุด มักจะมีลำต้นผุ เอน กิ่งแห้ง หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพดินรอบโคนต้น ซึ่งมีจำนวนเกือบ 12% จากข้อมูลข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่า มีต้นไม้จำนวนหนึ่งในพื้นที่สาธารณะ ที่มีแนวโน้มจะโค่นล้มลง 

ดังนั้น บุคคลากรที่ดูแลต้นไม้ต้องมีความรู้ด้านการประเมินความเสี่ยงของต้นไม้ (Tree risk assessment) เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้การประเมินดังกล่าวถือเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ดูแลทราบในเรื่องของสุขภาพต้นไม้แล้ว ก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่เจ้าหน้าที่ต้องประเมินก่อนตัดแต่ง 

ภาพถนน Rua de Carvalho Goncalo ในประเทศบราซิล (ไม่ทราบที่มาภาพ)

หากไม่จริงจัง ปอดของกรุงเทพก็จะถูกทำลาย

มีแนวคิดที่น่าสนใจจาก ราดล ทันด่วน รุกขกรผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ที่มองว่าต้นไม้หรือป่าในเมือง มีความสำคัญเท่า ๆ กับงานระดับเสื้อผ้าหน้าผมของมนุษย์ และมีปัจจัยหลักอยู่ 2 ประการที่ส่งผลให้เกิดการบิดเบี้ยวในการจัดการต้นไม้คือ 

ผู้บริหารเมืองให้ความสนใจในเรื่องน้อยกว่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง เทศบาล กรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่การไฟฟ้าฯ และกรมทางหลวงให้น้ำหนักคุณค่าของต้นไม้น้อยกว่าที่คิด “เมื่อผู้บริหารไม่มียุทธศาสตร์ที่จะอยากรักษาต้นไม้เอาไว้ เลยพาเรามาอยู่จุดนี้” ราดล ทันด่วน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2560 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เคยร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง ‘ต้นไม้กับสายไฟฟ้า จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร’ 

มีแนวคิดที่น่าสนใจจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ เช่น การไฟฟ้า กรุงเทพมหานคร หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ควรให้บุคลากรมาร่วมอบรมการตัดต้นไม้อย่างถูกวิธี ซึ่งมีศาสตร์แห่งการตัดแต่งต้นไม้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้ในต่างประเทศ อันเป็นวิธีที่สามารถการแก้ปัญหาดังกล่าวได้คือ การตัดแบบเบี่ยงทิศ (Directional Pruning) โดยตัดกิ่งหรือลำต้นที่ขวางแนวสายไฟออก เป็นการบังคับให้ต้นไม้เติบโตแบบหลบสายไฟได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเครื่องการดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นเรื่องที่ฝ่ายอำนวยการยังคงต้องตระหนักในเรื่องความสำคัญด้านต่าง ๆ สุดท้ายนี้เครื่องฟอกปอดของคนเมือง (ในพื้นที่ต่าง ๆ) จะมีสภาพเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นของมนุษย์ในรักษา ‘ต้นไม้ในมหานคร’

 


ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม ต้นไม้ในเมืองยังหัวกุด รุกขกรชี้เหตุหน่วยงานยังใช้ TOR แบบเดิม
วิจารณ์สนั่น! ตัดต้นไม้ถนนวิทยุเหลือแต่ตอ หนุ่มโพสต์เดือดเป็นวิธีตัดต้นไม้ที่แย่ที่สุด
การบั่นยอด …เป็นการทำร้ายต้นไม้จริงหรือ
ภาพเปิดเรื่อง มติชนออนไลน์
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร