เรียนรู้การออกแบบบ้านกลางเมืองให้ประหยัดพลังงาน

เรียนรู้การออกแบบบ้านกลางเมืองให้ประหยัดพลังงาน

เรายังคงนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการลดพลังงาน และเรื่องป่าในเมือง โดยในครั้งนี้จะเป็นเรื่องของบ้าน “ต้นคิดทิพย์ธรรม” ซึ่งเจ้าของบ้านคือ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ที่ออกแบบบ้านกลางเมืองที่ช่วยประหยัดพลังงาน และอีกที่หนึ่งคือที่ทำการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่มีความพยายามในการลดการใช้พลังงานมากว่าสองปีแล้ว

บ้านประหยัดพลังงานจากที่เคยใช้ไฟฟ้า 530 ยูนิต เหลือเพียง 52 ยูนิต ต่อเดือน หลังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม คุณต้นได้วางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนสร้างแล้วที่จะทำให้บ้านนั้น “เย็น” เพื่อประหยัดไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศซึ่งมีการใช้พลังงานที่สูง ทั้งการสร้างบ้านที่มีกำแพงสองชั้นแล้วตรงกลางระหว่างกำแพงนั้นมีฉนวนความร้อนที่ทำมาจากโฟม มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้เพื่อป้องกันแดดตอนบ่ายที่ร้อน  เมื่อกลับมาบ้านในตอนเย็นจะทำให้บ้านไม่ร้อนมาก แถมยังมีการออกแบบในเรื่องของทิศทางลม โดยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมนั้นประเทศไทยจะรับลมจากทางภาคใต้ จึงทำพื้นที่โล่งไว้ทางทิศใต้เพื่อให้ลมพัดเข้าบ้านด้วย แถมยังมีบ่อน้ำไว้สำหรับเลี้ยงปลาอยู่ทางทิศใต้เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของลมที่พัดผ่านบ่อก่อนจะพัดเข้าบ้านลงได้ด้วย น้ำที่เตรียมไว้สำหรับบ่อน้ำก็เป็นน้ำที่ได้มาจากการกับเก็บน้ำฝนทั้งสิ้น

ในช่วงแรกของบ้านหลังนี้ยังไม่ได้มีการใช้โซลาร์เซลล์ แต่คุณต้นบอกว่าช่วงหลัง ๆ มานี้อากาศค่อนข้างร้อน ประกอบกับปัญหาฝุ่น จึงไม่สามารถเปิดบ้านรับอากาศข้างนอกได้ จึงต้องเลือกใช้เครื่องปรับอากาศเข้ามา พร้อมกับการติดโซล่าเซลล์เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาด และประหยัดค่าไฟ โดยพบว่าค่าไฟของบ้านหลังนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์มีการใช้ไฟฟ้าไป 530 ยูนิต ต่อเดือน แต่พอหลังจากติดตั้งแล้ว มีการใช้แค่ 52 ยูนิต ต่อเดือน

แต่ทั้งนี้การที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงนั้นอาจจะขึ้นอยู่ได้กับหลายปัจจัย ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วก็คือพฤติกรรมการบริโภคของเรานี่แหละ ถ้าเดือนไหนใช้น้อยก็จ่ายน้อย อีกอย่างหนึ่งคือในด้านสภาพอากาศก็เป็นปัจจัยทำให้การใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าปริมาณการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจาก เครื่องปรับอากาศ ดังนั้นในช่วงเดือนที่เป็นฤดูร้อน อุณหภูมิสูงกว่าช่วงเดือนที่เป็นฤดูฝน และฤดูหนาว การที่เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลงในฤดูฝน และฤดูหนาวก็มีส่วนช่วยทำให้ค่าไฟลดลงได้ แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะฤดูฝน และฤดูหนาวนั้นมีแสงแดดสำหรับโซล่าเซลล์น้อย สำหรับผู้ที่พึ่งพาไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นหลักก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

มูลนิธิสืบฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เดินหน้าสำนักงานประหยัดพลังงาน


ปัจจุบันทางมูลนิธิสืบได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 5 ยูนิต ต่อวัน ไว้ที่หลังคาของที่ทำการมูลนิธิฯ เช่นกัน เพื่อทำการผลิตพลังงานใช้เอง แบบไม่มีแบตเตอรี่ (ผลิตแล้วใช้เลยไม่สามารถเก็บได้) แต่เนื่องจากทางมูลนิธิฯ มีการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง (1000-2000 ยูนิต ต่อเดือน) ตัวแผงโซลาร์เซลล์นั้นสามารถผลิตได้ 5 ยูนิต ต่อวัน แต่ในความเป็นจริงแล้วอยู่ที่ประมาณ 4 ยูนิต ต่อวัน (เพราะในเรื่องของประสิทธิภาพของเครื่องมือไม่มีทางได้ 100% อยู่แล้ว มีการสูญเสียพลังงานในระบบ ประกอบกับสภาพอากาศที่บางครั้งมีแสงแดดไม่เยอะจึงทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เต็มกำลัง) พอคำนวณออกมาแล้วแผงโซลาร์เซลล์นั้นสามารถผลิตได้ประมาณ 100 ยูนิต ต่อเดือน (ไม่นับวันเสาร์และอาทิตย์เพราะทางมูลนิธิไม่ได้ใช้ไฟฟ้า และไม่มีแบตเตอรี่ในการเก็บพลังงานไฟฟ้า) ทำให้ช่วยประหยัดไฟฟ้าไปได้ประมาณ 5 – 10% ในแต่ละปี

สาเหตุที่ทางมูลนิธิฯ มีการติดตั้งในจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเนื่องมาจากมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด และที่ไม่ได้มีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตในวันหยุดนั้น เพราะทางมูลนิธิฯ เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการติดตั้งเนื่องจากมีราคาสูง และอายุการใช้งานไม่นาน (ประมาณ 10 ปี) ถ้าเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ (ประมาณ 25 ปี) ประกอบกับทางมูลนิธิฯ นั้นไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่มากจึงไม่ได้ทำการติดตั้งแบตเตอรี่ 

หากเราลองพิจารณาอย่างรอบด้าน ผ่านการเก็บข้อมูลที่มากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตโซลาร์เซลล์ ว่ากระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไร อีกด้านหนึ่งคือปัจจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ผู้เขียนคิดว่าเราจำเป็นต้องเก็บข้อมูลในรอบปี เนื่องจาก 1 ปี มี 3 ฤดูกาล แต่ละฤดูกาลมีการใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน ทำให้การลดลงของค่าใช้จ่ายอาจจะมาจากสาเหตุของสภาพอากาศ และเรื่องสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเมื่อแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งานแล้ว โจทย์ของเราก็คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัด? เนื่องจากแผงโซล่าเซลล์มีโลหะหนักประกอบอยู่ด้วย เช่น ตะกั่ว และแคดเมียม ดังนั้นควรจะต้องมีระบบการจัดการขยะที่เกิดมาจากแผงโซล่าเซลล์ในไทยที่ชัดเจน (อ้างอิงจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) จึงควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงมือทำ ตั้งแต่จุดกำเนิดจนถึงจุดจบของผลิตภัณฑ์

ในปัจจุบันนี้หลายต่อหลายคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องพลังงานสะอาดที่จะช่วยให้เราได้ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เลยสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีนั้น ก็คือการทำความเข้าใจกับตัวเราซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่พวกเราทุกคนจะใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถช่วยกันทำได้คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้คุ้มค่าในแต่ละครั้ง และการเลิกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ถ้าเราลงมือที่จะเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลดีไปถึงอนาคต และยั่งยืนมากกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลยอย่างแน่นอน

ปลูกต้นไม้บนชั้นดาดฟ้าช่วยลดความร้อนในเมืองได้ 3-4 องศาเซลเซียส
การติดแผงโซล่าเซลล์ไว้บนที่ว่างบนหลังคาจะผลิตไฟฟ้าได้เกือบครึ่งของที่เราใช้

 


ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ เตือนโซล่าเซลล์หมดอายุกลายเป็น ‘ขยะพิษ’ สกว.หวั่นอีก 40 ปี ซากอันตรายพุ่ง 6 แสนตัน
เรียนรู้การออกแบบบ้านกลางเมืองให้ประหยัดพลังงานกับ เบิร์ด ธงไชย กันเถอะ! | ไฟจากฟ้า EP. 03
บทความ วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร