เครือข่ายแบน ‘พาราควอต’ นัดชุมนุม 5 มิ.ย.

เครือข่ายแบน ‘พาราควอต’ นัดชุมนุม 5 มิ.ย.

พาราควอต หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ ‘กรัมม็อกโซน’ เป็นสารเคมีที่ใช้ฆ่าวัชพืชที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่การเกษตรหลายประเทศทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้มีราคาที่ถูก หาง่าย ใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชได้ดี แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีแล้ว ย่อมมีผลเสียหลังใช้ตามมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการตกค้างในพืชผัก ปนปื้อนในแหล่งน้ำ หรือแม้กระทั่งว่าเคยมีเหตุการณ์ คนฆ่าตัวตายโดยการกินสารเคมีชนิดนี้เข้าไป หรือการใช้สารเคมีตัวนี้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็สามารถทำให้ชาวเกษตรกรบางรายต้องเข้าโรงพยาบาลและต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วนมาแล้ว

นี่จึงเป็นเหตุให้หน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยได้ตระหนักถึงพิษภัยของยาฆ่าวัชพืช และมีการตั้งกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อพิจารณาว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส หรือไม่ ในที่สุดที่ประชุมสามฝ่ายของผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มีความเห็นว่าควรสั่งแบน จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน

แต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อฯ ถึงผลของวาระการพิจารณาการยกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่จัดประชุมไปว่า ที่ประชุมมีมติไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ แต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยหลังจากนี้จะให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลการนำเข้าและการใช้ กลับไปจัดทำหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้ภายใน 2 เดือน เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยอ้างเหตุผลว่า ข้อมูลด้านผลกระทบต่อสุขภาพที่ขณะคณะอนุกรรมการเสนอเข้ามานั้น ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะการประกาศยกเลิกการใช้

เมื่อผลของการประชุมออกมาในลักษณะนี้ ปรากฏว่ามีกระแสต่อต้านและกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลหลายกลุ่มถึงการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกที่จะไม่แบนสารเคมีทั้งสามชนิดนี้

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ ไทยแพน (Thai – Pan) คือหนึ่งกลุ่มที่ต่อต้านผลของการประชุมไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามตัวในครั้งนั้น ทางกลุ่มไทยแพนจึงจัดประชุมร่วมกับตัวแทนเครือข่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มเกษตรกรจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ และมีมติร่วมกันว่าจะไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ โดยเครือข่ายจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเรียกร้องใน 2 ประเด็น คือ

1. ให้สั่งการคณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เพราะเข้าข่ายใช้กระบวนการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีกรรมการบางคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับการพิจารณาว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

2. ขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 1 ชุด ที่เป็นกรรมการจากองค์กรด้านสุขภาพ เช่น กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสุขภาพ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพิจารณาประเด็นที่ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม คณะกรรมการวัตถุอันตรายระบุว่าที่ยังอนุญาตให้ใช้สารทั้ง 3 ชนิดนี้ต่อไปได้ เพราะข้อมูลด้านสุขภาพยังไม่ชัดเจน และหากว่าในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะขอปักหลักสู้ต่อไป

 


บทความ ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน