หลังไฟเหนือมอดดับ : กับวิธีการฟื้นฟูผืนป่าที่ไม่ได้ทำแค่ ‘ปลูกต้นไม้’

หลังไฟเหนือมอดดับ : กับวิธีการฟื้นฟูผืนป่าที่ไม่ได้ทำแค่ ‘ปลูกต้นไม้’

ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมีรายงานว่า มีฝนตกในหลายจังหวัดทางภาคเหนือส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลง และเริ่มมีกระแสจากภาครัฐในการวางแผนฟื้นฟูธรรมชาติหลังไฟเหนือมอดดับ

โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมกล้าไม้กว่า 70 ล้านต้น เพื่อปลูกฟื้นฟูป่าที่เสียหายจากไฟป่า โดยจะเริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก ในวันที่ 21 พฤษภาคม ต่อมาได้เกิดการตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน ว่าการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหลังจากที่เกิดไฟไหม้ถือเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักอนุรักษ์หรือเปล่า 

ผศ.ดร. กอบศักดิ์ วันธงไชย อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า อันดับแรกควรรู้จักกับลักษณะของต้นไม้และสภาพพื้นที่ที่เกิดไฟป่าก่อน 

หากพูดถึงพื้นที่ป่าภาคเหนือของประเทศไทยส่วนใหญ่ตามตัวเลขของกรมป่าไม้ ประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์เป็น ‘ป่าผลัดใบ’ ซึ่งประกอบไปป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสน ซึ่งที่เหลือก็จะเป็น ‘ป่าไม่ผลัดใบ’ 

ดังนั้นจึงต้องขอจำแนกแยกป่าในภาคเหนือออกเป็น 2 กลุ่มคือ ป่าผลัดใบ และป่าไม่ผลัดใบ ซึ่งป่ากลุ่มแรก นั้นสามารถปรับตัวกับไฟป่าได้ง่าย พูดได้ว่าไฟกับป่าผลัดใบเปรียบเสมือนเป็นของคู่กัน ซึ่งต้นไม้ที่อาศัยอยู่ในป่าแถบนี้จะมีกลไกในการปรับตัวให้เข้ากับไฟ 

อย่างเปลือกของต้นไม้ในพื้นที่มักมีคุณสมบัติ ‘ทนต่อความร้อน’ ซึ่งโดยส่วนใหญ่หากเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าดังกล่าวอันมีลักษณะ ‘ไฟผิวดิน’ ต้นไม้เหล่านี้มักจะยังคงอยู่รอด และแม้จะเกิดไฟไหม้ที่ผิวดิน แต่ต้นไม้ในป่าผลัดใบมักจะมีตออยู่ใต้ดิน ดังนั้นพอเข้าสู่ฤดูฝนก็จะฟื้นฟูตัวเองตามปัจจัยแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

พระเพลิงกับปัจจัยในการเจริญเติบโตของต้นไม้

ในส่วน ‘เมล็ดไม้’ ของต้นไม้ในป่าผลัดใบนั้น มักมีคุณสมบัติในการปรับตัวต่อไฟป่า อย่างเช่น มะค่าโมง ไม้สัก ไม้แดง ฯลฯ จะมีเมล็ดที่มีเปลือกแข็ง ซึ่งเมื่อโดนไฟจะส่งผลให้เกิดความเปื่อยยุ่ย ทำให้น้ำและออกซิเจนสามารถเดินทางเข้าสู่ภายในของเมล็ด ส่งผลให้เกิดกระบวนการเจริญเติบโต นี่จึงเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของป่าผลัดใบสามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ

สำหรับต้นไม้ที่อยู่ในป่าผลัดใบอันมีเปลือกเมล็ดที่ไม่แข็งมาก ซึ่งเป็น ‘เมล็ดไม้วงศ์ยาง’ อย่าง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พยอม ฯลฯ เมื่อโดนไฟอาจตายหมด แต่เมล็ดเหล่านี้มีกลไกอันอัศจรรย์ตรงที่ ส่วนใหญ่จะไม่ร่วงในขณะที่เกิดไฟป่า แต่จะตกจากต้นหลังเกิดการเผาไหม้ไปแล้ว ที่เห็นชัดเจนคือ หลังไฟไหม้ป่าจะโล่งซึ่งจะมีขี้เถ้าอยู่ เมล็ดไม้วงศ์ยางก็จะร่วงลงมารวมอยู่กับขี้เถ้าและสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ 

ผศ.ดร.กอบศักดิ์ ย้ำว่า แม้ป่าผลัดใบจะมีกลไกในการฟื้นฟูตัวเอง แต่ไฟป่าจะต้องเกิดในลักษณะที่เหมาะสมไม่เกิดซ้ำซากทุกปี เพราะถ้าเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตอหรือหน่อที่เกิดอยู่ใต้ดินและเมล็ดต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้เหล่านี้จะไม่สามารถเติบโตได้ ดังนั้นจึงต้องมีระยะเวลาให้ธรรมชาติได้พักฟื้นจากความร้อน

“ลองคิดภาพตามนะ ต้นไม้มันต้องใช้พลังงานในการสร้างกลไก ถ้าดึงพลังดังกล่าวมาบ่อย ๆ ในระยะยาวประสิทธิภาพของกลไกดังกล่าวก็จะค่อย ๆ ลดลง นั้นหมายความว่า ในปีแรกอาจฟื้นฟูได้ดี แต่ในปีถัดมาก็จะเริ่มมีคุณภาพน้อยลงจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้”

ผศ.ดร.กอบศักดิ์ เล่าว่า ส่วนตัวเคยทำวิทยานิพนธ์ที่ห้วยขาแข้งสมัยศึกษาปริญญาเอกพบว่า ในระยะเวลา 10 ปี ควรจะมีไฟไหม้ในป่าเต็งรัง (ถือเป็นหนึ่งในชนิดของป่าผลัดใบ) ประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ 

“ต้องเข้าใจว่า ป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณมีอายุหลายแสนหลายล้านปีมาแล้ว ซึ่งมนุษย์ก็เกิดมาพร้อม ๆ หรือไล่เลี่ยกัน และมีการใช้ประโยชน์จากป่ามานานมาก เพราะฉะนั้นสังคมพืชในป่ากลุ่มนี้ มันจึงปรับตัวในแวดล้อมแบบนี้มาโดยตลอด”

Photo : ภาพไฟป่าบริเวณดอยสุเทพ โดยทีมโดนอาสา จ.เชียงใหม่

ลักษณะของป่าที่ ‘ลอยเทียมเมฆ’ กับปัจจัยการกู้ชีวิตต้นไม้

สำหรับป่าไม่ผลัดใบนั้นโดยธรรมชาติมักจะไม่เกิดปัญหาไฟป่า เนื่องจากมีความชื้นสูงและถึงแม้จะอยู่ในช่วงของฤดูแล้งก็จะยังคงความชุ่มชื้น อันเป็นผลมาจากลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ๆ เวลามีก้อนเมฆเคลื่อนตัวผ่านก็จะปะทะกับป่าเหล่านี้ ส่งผลให้มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา ผนวกกับปัจจัยเรื่องการร่วงหล่นของใบไม้ 

เพราะป่าดิบเขาเป็นป่าที่ไม่ผลัดใบ โดยความจริงต้นไม้ในป่าดังกล่าวมีกระบวนการในการผลัดใบแต่มันไม่ได้ผลัดพร้อมกันทั้งต้น ทำให้ใบไม้ที่ร่วงลงมาอยู่กับพื้นดิน สามารถค่อย ๆ ย่อยสลายไม่ก่อให้เกิดเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีความแตกต่างกับป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่มักจะมีการผลัดใบพร้อมกันในช่วงฤดูร้อน ซึ่งใบไม้เหล่านี้ล้วนเป็นชนวนไฟที่สำคัญ

ทั้งนี้ เนื่องจากความแห้งแล้งที่มากกว่าปกติในปี 2563 ทำให้ไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ป่าผลัดใบสามารถลุกลามเข้ามาสู่พื้นที่ป่าไม่ผลัดใบได้ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า หากเกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ป่าไม่ผลัดใบ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายหนักกว่าป่าผลัดใบ เนื่องจากธรรมชาติในพื้นที่ไม่ได้มีการปรับตัว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือเมล็ดพันธุ์ไม่ได้มีความแข็ง รวมถึงเปลือกไม้ก็ไม่หนา และการแตกหน่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ

“ลองนึกถึงภาพพืชประเภทมอสต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ตามป่าดิบเขา ซึ่งปีนี้มันแล้งมันก็แห้ง นี่แหล่ะเชื้อไฟอย่างดีแป็ปเดียวมันก็ลุกลามไปทั่วพื้นที่ได้ไม่ยาก” ผศ.ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

Photo : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย

วิธีการฟื้นฟูผืนป่าที่ไม่ได้ทำแค่ ‘ปลูกต้นไม้’ 

ในตอนนี้สิ่งที่เหมาะสมที่สุดคือการประเมินและสำรวจ เพื่อดูสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มป่าไม้ผลัดใบ หากไม่ได้มีความเสียหายมากนัก มนุษย์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแลหรือเยียวยา เพราะตามลักษณะของป่าดังกล่าวสามารถดูแลตัวเองได้

แต่สำหรับพื้นที่ป่าไม่ผลัดใบหรือป่าดิบเขานั้น ก็จะต้องใช้วิธีการประเมินแบบเดียวกันกับป่าผลัดใบ แต่จะต้องในช่วงที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้เห็นว่าธรรมชาติในพื้นที่เสียหายมากน้อยเพียงใด

“เราอย่าเอาภาพในวันที่ไฟพึ่งไหม้เสร็จมาเป็นตัวประเมินว่า ป่าของเราได้รับความเสียหาย เพราะภาพ ณ วันนั้นมันเป็นช่วงที่เห็นแล้วรู้สึกว่าเกิดความเสียหายแน่นอน ดังนั้นควรต้องให้ระยะเวลามัน อย่างตอนนี้ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วเพราะฝนเริ่มตกลงมา เราจะเริ่มเห็นสิ่งมีชีวิตบางอย่างกลับคืนสู่ระบบนิเวศ เราจะเห็นว่าต้นไม้ที่ถูกไฟไหม้มันจะเริ่มแตกหน่อแตกตาขึ้นมาหรือไม่อย่างไร”

ผศ.ดร.กอบศักดิ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากมีการประเมินแล้วเกิดความเสียหายและต้องได้รับการฟื้นฟูก็ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือจะเกิดช่องว่างในผืนป่า เมื่อเกิดช่องว่างก็จะมีแสงสว่างส่องลงมา ซึ่งจะมีวัชพืชอย่างหญ้าขึ้นปกคลุมและกลายเป็นเชื้อเพลิงในอนาคตที่คอยแทรกตัวอยู่ในผืนป่า

หากจะมีการฟื้นฟูอาจไม่สามารถนำไม้เดิมไปปลูกในพื้นที่ได้ในทันที เนื่องจากธรรมชาติของไม้ป่าดิบเขามักต้องใช้ระยะเวลาในการเติบโต ดังนั้นต้องหาพันธุ์ไม้ที่โตเร็วกว่าเพื่อไม่ให้หญ้าเข้ามาแทนที่ สิ่งที่จะมาปลูกแทนในช่วงแรกทางวิชาการเรียกว่า ‘ไม้เบิกนำ’ ซึ่งพอไม้ที่ถูกปลูกไว้เพื่อขัดตราทัพโตขึ้นจึงค่อย ๆ ปลูกไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่เดิมแทรกเข้าไป 

ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องนำความสำเร็จจากอดีตมาพัฒนาเพื่อฟื้นฟู

อันที่จริงการฟื้นฟูป่าในลักษณะการปลูกไม้เบิกนำเคยมีทำกันแล้ว ในอดีตที่บริเวณสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา โดยก่อนหน้านี้มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งแต่ถูกชุมชนนำมันสำปะหลังมาปลูก แต่เมื่อสภาพพื้นที่ไม่อำนวยต่อการขยายผลผลิต ชาวบ้านเหล่านั้นจึงทิ้งพื้นที่ไป ส่งผลให้กลายเป็นที่รกร้างเต็มไปด้วยหญ้าคาจนเกิดปัญหาไฟไหม้มาโดยตลอด ต่อมาได้มี ‘โครงการใจกล้า’ ที่กรมป่าไม้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น วิธีปลูกไม้เบิกนำจึงถูกเริ่มใช้และส่งผลให้หญ้าคาในพื้นที่หายไป 

“อยากให้รัฐนำโมเดลแห่งความสำเร็จที่เคยทำไว้ในอดีตมาปรับใช้ อย่างผลงานของกรมป่าไม้ในพื้นที่สะแกราช อาจารย์ก็รู้สึกเสียดาย แทนที่เขาจะนำกลับมาขยายผลแต่เขากลับลืม”

ผศ.ดร.กอบศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในรูปแบบไหน ‘คน’ คือ ส่วนสำคัญที่สุด ดังนั้นชาวบ้านในพื้นที่หรือชุมชนในละแวกนั้น ต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และต้องได้รับประโยชน์จากการที่เข้ามาช่วยดูแลฟื้นฟูวิกฤตในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทางตรงหรือทางอ้อมทั้งนี้ เพื่อเป็นกุศโลบายให้เกิดการดูแลทรัพยากรด้วยใจ ตามแนวคิด ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้’

 


ภาพเปิดเรื่อง www.hedlomnews.com
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร